ชีวิตที่พอเพียง 4412. PMAC 2023 : 1. Nan Sandbox


 

วันที่ ๒๒ - ๒๔ คณะกรรมการจัดประชุมนานาชาติ ของ PMAC ไปเยี่ยมชมกิจการของโครงการ Nan Sandbox และประชุม PMAC 2024 IOC ครั้งที่ ๑ ที่นั่น 

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๖ เราบินไปจังหวัดน่าน ไปเยี่ยมชมกิจการของโครงการ Nan One  Health    ที่ดำเนินการโดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ    โดยมีกรรมการจัดการประชุมนานาชาติ และทีมงาน ๓๘ คนไปร่วม   ใช้เวลาเยี่ยมชมกิจการของ Nan One Health สองวันครึ่ง    ช่วงบ่ายวันที่ ๒๔ มีการประชุมคณะกรรมการจัดประชุมนานาชาติ   กลับกรุงเทพค่ำวันที่ ๒๔ 

เราได้ไปชมวิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน  ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปเพียง ๒๐ นาทีทางรถยนต์    ที่ชาวบ้านพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกันขึ้นเอง และพัฒนาเรื่อยมา     มีการจัดตั้งบริษัทชีววิถีเฮิร์บจำกัด ทำหน้าที่จัดจำหน่าย  ผลิตภัณฑ์สมุนไพรใน เครื่องหมายการค้า ชีวาร์ (Chewa)    เน้นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพราะมีการเพิ่มมูลค่าสูง    ผมซื้อ แชมพูใบหมี่อัญชัญขิง มาลองใช้  พบว่าคุณภาพดี    ตั้งใจว่าจะเป็นลูกค้าตลอดไป 

อำเภอบ่อเกลือ ที่เป็นอำเภอเล็กที่สุดของจังหวัดน่าน ประชากรเพียง ๑.๒ หมื่นคน    โรงพยาบาล ๑๐ เตียง    แต่กำลังก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยการสนับสนุนของเจ้าสัวปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) อดีตเจ้าเมืองน่าน สมัย ๖๐๐ ปีก่อนกลับชาติมาเกิด    ที่เราได้เห็นรูปเทวีของท่าน ที่นำมาตั้งบูชาตอนท่านรับประทานอาหารเย็นร่วมกับแขกจาก PMAC ค่ำวันที่ ๒๓ ที่สนามหน้าบ้าน (วัง) ของท่าน      

บ้านน้ำจูน ต้องนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นไป   โดยทางช่วงหนึ่งเป็นถนนดิน   ได้ไปเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่าลัวะ  ที่บอกว่าเขาตัดป่าเพื่อปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน ไม่ได้ปลูกข้าวโพด    ชาวบ้านเดินขึ้นลงเขาระยะทางสามสี่กิโลเมตร    ไปเยี่ยมชม สุขศาลาร่วมใจบ้านน้ำจูน ที่คุณบัณฑูร สร้างให้ ทดแทนสุขศาลาเก่าที่ถูกไฟไหม้เมื่อปลายปี ๒๕๖๔    ที่มีคุณสุภาดา ใจปิง คนท้องถิ่นที่มีการศึกษา และได้รับการฝึกปฐมพยาบาล และจ่ายยาง่ายๆ ทำหน้าที่ให้บริการ    ทั้งที่สุขศาลาและเยี่ยมบ้านด้วยรถมอเตอร์ไซคล์ ที่คุณบัณฑูรมอบให้ 

ค่ำวันที่ ๒๓ คณะ PMAC IOC ได้รับฟังการบรรยายประกอบภาพและเพลง เรื่องพื้นที่จัดการพิเศษจังหวัดน่าน เพื่อทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน และการจัดการสิ่งแวดล้อม    โดยคุณบัณฑูร ที่บ้านของท่าน    ได้ทราบว่าท่านมาพัฒนาจังหวัดน่านได้ ๑๔ ปีแล้ว    แต่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จมาก่อนแล้ว   และได้ตั้งมูลนิธิรัก(ษ์)ป่าน่าน   และคุณบัณฑูร ตั้ง KAI – Kasikorn Agro-Innovate Institute มีคุณอนันต์ ลาภสุขสถิต เป็นผู้จัดการ   สององค์กรนี้ทำงานร่วมมือกัน    โดยธนาคารกสิกรไทยหนุน ตลอดสองวันแรก คุณพิพิธ อเนกนิธิ (บี๋) กรรมการผู้จัดการ (หนึ่งในสี่ท่าน) ของธนาคารกสิกรไทย อยู่กับพวกเราตลอด   

เป้าหมายคือ หาทางให้ชาวบ้านมีรายได้พอกิน โดยรักษาป่าไว้ได้    และฟื้นป่าที่ถูกทำลายร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ป่าสงวน    ให้ฟื้นเป็นพื้นที่ป่าปลูกร้อยละ ๑๘  ร่วมกับปลูก “หญ้ายา” (medicinal grass) ใต้ต้นไม้    ที่จะปลูกไร่ละ ๑๐๐ ต้น    มีการให้ทุนวิจัยแก่ มทร. ล้านนาในการหา หญ้ายา ที่ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวได้ดี   และให้ทุนวิจัยแก่ ๔ มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยค้นหาสรรพคุณใหม่ จากสมุนไพรที่รู้จักกันอยู่แล้ว    มีเป้าหมายเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สมัยใหม่เทคโนโลยีสูง มูลค่าสูง   

เราไปเยี่ยมชมศูนย์วนเกษตร – พฤกษเภสัช (PAD – Pharma-Agroforestry District)   ทดลองปลูกพืชสมุนไพรคุณภาพสูง    และการปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ ที่ มทร. ล้านนา    และรับฟังการบรรยายสรุปโครงการวิจัยค้นหาและสกัด สารออกฤทธิ์ใน “หญ้ายา” (medicinal grass) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงออกสู่ตลาด    โดยมีคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา และมหิดล มานำเสนอเอง   

เป็นกลยุทธพัฒนายา จากพืชที่มีความรู้อยู่แล้วว่าเป็น “หญ้ายา”    โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงในการสกัดสารออกฤทธิ์ และพัฒนาขึ้นเป็นยา เริ่มจากเป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม  ยาทาภายนอก  ยากิน และยาฉีด     ตัวอย่าง “หญ้ายา” ที่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยได้แก่ ผักเชียงดา (Gymnema indorum - รักษาโรคเบาหวาน)    รางจืด (Laurel Clock Vine - ยาลดไข้)    ขมิ้นชัน ใช้ทารักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)   ดอกอัญชัน (Butterfly Pea) ใช้รักษาโรคผมร่วง เป็นต้น                  

เป็นโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่นำโดยภาคธุรกิจเอกชน ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่และเป็นกุศลยิ่ง   และหลังไมค์ ผมได้รับคำบอกเล่าว่า   มีกระแสต่อต้านลับๆ จากนายทุนที่สูญเสียผลประโยชน์    และผมเองมองว่า การแก้ปัญหาสังคมที่ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องการกลยุทธที่มีความซับซ้อนสูงด้วย   เช่น ยังขาดโครงการ bottom-up community development ทำคู่กันกับโครงการที่มีอยู่แล้ว   เชื่อมเข้าหากัน   และใช้พลัง DE สร้างพลังเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ    ที่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (experiential learning)     

เรื่องนี้ต้องทำระยะยาวมาก   และการพัฒนาคนน่าจะเป็นอีกด้านหนึ่งที่น่าจะดำเนินการ   ซึ่งหมายถึงการพัฒนาระบบการศึกษาในจังหวัดน่าน    ที่สำคัญคือ การใช้พลังเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาภาคบังคับ  เป็นพลังขับเคลื่อนอุดมการณ์   

เมื่อปี ๒๕๖๐ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดการประชุมวิชาการ ประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ยั่งยืน  และจัดทำเอกสารสรุปการประชุมไว้อย่างดีเยี่ยม    สะท้อนว่า สังคมที่ยั่งยืนมีมิติด้านสังคมที่ล้ำลึกมาก   เราต้องเข้าใจว่า โครงการ Nan One Health จับเพียงมิติการทำมาหากิน  และมิติสุขภาวะ   และเมื่อคุยกันหลังไมค์ ก็ได้รับรู้ว่า มีกระแสต่อต้านจากบางฝ่ายอยู่ด้วย   เพราะเขาเสียประโยชน์ ความเป็นจริงในสังคมเป็นเช่นนี้เอง     

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มกราคม ๒๕๖๖    ปรับปรุง ๓ ก.พ. ๖๖  และ ๒๗ ก.พ. ๖๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 711859เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2023 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2023 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชมวิดีทัศน์เรื่องราวและบรรยากาศที่เราไปเห็นได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8QhoiNjUftU

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท