ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๑


ปัญหาเรื่องศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป

ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๑

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

เรื่อง ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน นำมาจากพระสูตร ปารายนวรรค คือหมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง (ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท) ซึ่ง พาวรีพราหมณ์ สั่งคณะพราหมณ์ลูกศิษย์ทั้ง ๑๖ คนให้ทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้านั้น 

แสดงให้เห็นว่า พราหมณ์ลูกศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปัญญาและมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยคือยังไม่รู้แจ้ง ดำรงตนเป็นผู้ไม่มีทิฎฐิมานะ และไม่ได้ทระนงตนว่าเป็นอาจารย์ผู้ที่มีลูกศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน ทำตนเป็นน้ำครึ่งแก้ว สามารถเรียนรู้ได้จากผู้รู้แจ้งที่มีปัญญาเหนือกว่าตนได้อีก จึงได้มาเรียนถามปัญหาที่ยังสงสัยต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้แต่ละคนรวมทั้งลูกศิษย์ได้บรรลุมรรคบรรลุผล เป็นพระอรหันต์รวมกว่า ๑๖,๐๐๐ คน และฝูงชนทั้งหลายจำนวนมหาศาล รวมถึงเหล่าเทวดาที่มาร่วมฟังนับได้ ๑๔ โกฏิ ได้ตรัสรู้ธรรมในคราวนั้นด้วย 

อชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้าอันเตวาสิก (ลูกศิษย์) เป็นผู้ถามปัญหาเป็นคนแรก ส่วนท่านปิงคิยะพราหมณ์เป็นผู้ถามปัญหาคนสุดท้าย ท่านปิงคิยะกลับไปหาอาจารย์คือพาวรีพราหมณ์ ได้กล่าวธรรมะที่ได้รับรู้มาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าให้แก่พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ได้รับทราบ และพระพุทธเจ้าได้โปรดมาเทศน์สั่งสอนเพิ่มเติม ทำให้พาวรีพราหมณ์ได้บรรลุเป็นบุคคลพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี ส่วนศิษย์ ๕๐๐ ของพาวรีพราหมณ์ได้เป็นพระโสดาบัน 

            ผู้ที่สนใจในเรื่องพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน ที่ได้มาถามปัญหากับพระพุทธเจ้าว่ามีที่มาอย่างไร สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎก ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก (เป็นประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา) คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปารายนวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง 

            เอกสารนี้ ได้นำคำอธิบายทั้งคำถามและคำตอบ โดยอาศัยนิทเทสบางส่วนจาก ปารายนานุคีติคาถานิทเทส ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ซึ่งพระสารีบุตรได้อธิบายขยายความพระสูตรปารายนวรรคนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจธรรมะอันลึกซึ้งเพิ่มเติมขึ้นอีก 

ในการนำมาเสนอในครั้งนี้ ได้นำส่วนที่เป็นคำอ้างอิงส่วนขยาย (เชิงอรรถ) มาใส่ไว้ในวงเล็บเล็กทันทีหลังคำศัพท์นั้น ๆ และบทความที่นำเสนอนี้ ยังคงวงเล็บใหญ่ที่มีตัวเลขไทยอยู่ภายใน [xxxx] ที่บอกลำดับของพระธรรมคำสอนนั้น ๆ คงไว้ตามเดิม เพื่อที่สามารถรู้แหล่งที่มาที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกตอนนั้น ๆ และเล่มนั้น ๆ 

ข้อสังเกตในบางตอนของเรื่องในพระสูตรจะเห็นได้ว่า คำถามคำตอบมีสั้น ๆ แล้วทำให้พราหมณ์ผู้ถามและลูกศิษย์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่ออ่านแล้วปุถุชนแบบเราและท่านทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจ เมื่อได้อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมก็จะรู้ว่า เป็นพระธรรมที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะใช้ปัญญาธรรมดาวิเคราะห์ได้ แต่ที่ท่านเหล่านั้นเห็นแจ้งในธรรมะนั้น เป็นเพราะเคยบำเพ็ญบารมีในชาติก่อน ๆ และในชาตินี้ก็ได้ศึกษากับพราหมณ์ครูบาอาจารย์อีก จนบารมีเต็มแล้ว เปรียบเสมือนบัวพ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์จึงบานออกอย่างงดงาม

จุดมุ่งหมายในการนำเสนอครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระชินสีห์ให้มีความแพร่หลายมากขึ้น ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับบุคคลบางกลุ่ม เพราะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความหลากหลายตามประเภทของบุคคลที่มาฟังธรรม และมีความลึกซึ้งแตกต่างกันไป มีทั้งผู้มีปัญญามากเป็นถึงเจ้าสำนัก ตลอดจนถึงชาวบ้านทั่วไป 

คาดหวังว่าคงมีบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการแสวงหาความรอบรู้ทางวิชาการในทางพระพุทธศาสนา เพื่อแก้ไขบางปัญหาบางประการที่ยังอาจค้างคาใจได้ แต่ไม่รู้จะหาคำตอบได้ในที่ใด เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วอาจพบคำตอบที่องค์พระศาสดาได้อธิบายให้กับพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน รวมถึงคำอธิบายเพิ่มเติมโดยพระสารีบุตร แล้วทำให้เกิดมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”  จึงขออนุโมทนามาไว้ ณ ที่นี้

*****************************


 

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๕. ปารายนวรรค

หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง

วัตถุกถา

พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา

 

             [๙๘๓] เรื่องพราหมณ์พาวรีผู้เรียนจบมนตร์ ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศลอันรื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท

             [๙๘๔] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะต่อกัน (เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกษาและผลไม้

             [๙๘๕] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์ ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น

             [๙๘๖] ท่านบูชาพิธีมหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว พราหมณ์อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาถึง

             [๙๘๗] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ

            [๙๘๘] พราหมณ์พาวรีเห็นเขานั้นแล้วก็เชิญให้นั่ง ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า

             [๙๘๙] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด เราบริจาคไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย

             [๙๙๐] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า) ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่ ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง

             [๙๙๑] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก แสดงท่าทาง(หลอกลวง)กล่าวคำทำให้น่ากลัว พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์

             [๙๙๒] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน

             [๙๙๓] เทวดา (เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในอาศรมของพราหมณ์พาวรี) ผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว เป็นทุกข์อยู่ จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า

             [๙๙๔] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

             [๙๙๕] พราหมณ์พาวรีคิดว่า เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้ (จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน

             [๙๙๖] (เทวดากล่าวว่า) แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น

             [๙๙๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

             [๙๙๘] (เทวดากล่าวว่า) พระโอรสของเจ้าศากยะ เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว

             [๙๙๙] (เทวดากล่าวว่า) พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ

             [๑๐๐๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด พระองค์จักตรัสตอบปัญหานั้นแก่ท่านได้

             [๑๐๐๑] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า ก็มีความเบิกบานใจ มีความโศกเบาบางและได้รับปีติเปี่ยมล้น

             [๑๐๐๒] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ เกิดความปลาบปลื้มใจ จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น (และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม พวกเราพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

             [๑๐๐๓] (เทวดากล่าวว่า) เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงชนะมาร มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของชนชาวโกศล เขตกรุงสาวัตถี

             [๑๐๐๔] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา

             [๑๐๐๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนืองๆ ในโลกนั่นหาได้ยาก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า เธอทั้งหลายจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

             [๑๐๐๖] (มาณพทั้งหลายถามว่า) ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายพบแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด

             [๑๐๐๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) ก็ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับว่า

             [๑๐๐๘] บุคคลใดมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นอยู่ในตัว บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย

             [๑๐๐๙] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือนจะพึงครอบครองแผ่นดินนี้ ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

             [๑๐๑๐] แต่ถ้าบุคคลนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง (กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา) อันเปิดแล้ว

             [๑๐๑๑] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้น ถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่นๆ ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

             [๑๐๑๒] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้ เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา

             [๑๐๑๓] ครั้นได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู

             [๑๐๑๔] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต

             [๑๐๑๕] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี

             [๑๐๑๖] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน (มาณพ ๑๖ คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญวาสนาที่จะติดตามตัวไป) ทั้งนั้น

             [๑๐๑๗] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร

             [๑๐๑๘] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ (วนสวหยะ มีชื่อ ๒ ชื่อ คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี)

             [๑๐๑๙] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา

             [๑๐๒๐] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ

             [๑๐๒๑] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น

             [๑๐๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า

            [๑๐๒๓] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น

             [๑๐๒๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะบริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

             [๑๐๒๕] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า) ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร

             [๑๐๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท

             [๑๐๒๗] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่าๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้) พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ (นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon) หรือภิธานศัพท์ (Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์) และเกฏุภศาสตร์ (เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์) ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน

             [๑๐๒๘] (อชิตมาณพทูลถามว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้ ขอพระองค์จงทรงประกาศความเด่นชัดแห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย

             [๑๐๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้ มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด

             [๑๐๓๐] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงตอบ ก็ปลาบปลื้มใจประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่างๆ ว่า

             [๑๐๓๑] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อถามปัญหาด้วยใจ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหานั้นกับใครเล่า

             [๑๐๓๒] (อชิตมาณพกราบทูลว่า) พราหมณ์พาวรีถามเรื่องศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหานั้น กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด

             [๑๐๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

             [๑๐๓๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว ทำหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท

             [๑๐๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์

             [๑๐๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ขอพราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์จงมีความสุข และแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ

             [๑๐๓๗] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่เธอและมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงถามเถิด

             [๑๐๓๘] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปฐมปัญหากับพระตถาคต ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น

วัตถุกถา จบ

----------------------------------------

 


 

 

ข้อความอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปารายนวรรค

วัตถุกถา

               อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต               
               อรรถกถาวัตถุคาถา     แห่งปารายนวรรค

                มีเรื่องอยู่ว่า ครั้งอดีตกาล มีช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี. ไม่มีใครเป็นสองในสำนักอาจารย์ของตน. ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่งๆ มีอันเตวาสิกคนละ ๑,๐๐๐ คน. อาจารย์และอันเตวาสิกเหล่านั้นรวมเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้. ทั้งหมดนั้นอาศัยกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ ได้ไปใกล้ภูเขาเอาไม้มาสร้างปราสาทชนิดต่างๆ ณ ที่นั้นขาย แล้วผูกแพนำมากรุงพาราณสี ทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา.
               ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของอันเตวาสิกเหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ กรรมนี้ทำได้ยาก จึงเรียกอันเตวาสิกทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อย มีต้นมะเดื่อเป็นต้นมา.
               อันเตวาสิกเหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ไปนำมา.
               อาจารย์นั้นเอาไม้ทำเป็นนกแล้วใส่เครื่องยนต์เข้าไปภายในนกนั้น. นกไม้กระโดดขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วลงเบื้องหน้าอันเตวาสิกทั้งหลาย.
               ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติในชมพูทวีปได้ทั้งสิ้น แม้พวกท่านก็จงทำพาหนะไม้นั้น เราจะยึดราชสมบัติดำรงชีพ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก.
               ศิษย์เหล่านั้นได้ทำตามนั้นแล้วแจ้งให้อาจารย์ทราบ.
               ลำดับนั้น อาจารย์จึงกล่าวกะพวกศิษย์ว่า เรายึดราชสมบัติที่ไหนก่อน. พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์. อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะพวกเรายึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงช่างไม้ว่า พระราชาช่างไม้ พระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด.
               ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นพาหนะไม้ สอดอาวุธมุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ไปปรากฏในพระราชมณเฑียรนั่นเอง. ศิษย์เหล่านั้นยึดราชสมบัติในนครนั้นอภิเษกอาจารย์ไว้ในราชสมบัติ.
               อาจารย์นั้นได้ปรากฏชื่อว่า พระเจ้ากัฏฐวาหนะ แม้นครนั้นก็ได้ชื่อว่ากัฏฐวาหนนครเหมือนกัน เพราะพระเจ้ากัฏฐวาหนะยึดได้. แม้รัฐทั้งสิ้นก็มีชื่ออย่างนั้น.
               พระราชากัฏฐาวหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม. อนึ่ง ทรงตั้งพระยุพราชและทรงตั้งศิษย์ ๑๖ คนไว้ในตำแหน่งอาจารย์. พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่งสมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราชการเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี.
               อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศนำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา. พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน. ทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสี พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด. พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว. พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย. พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ.
               พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหนะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา. พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย. แม้พระราชากัฏฐวาหนะก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควรให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย.
               ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลกๆ อันสมควรเพื่อจะเห็นเพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้น ให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง. พระราชากัฏฐวาหนะทรงส่งพระราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน.
               เมื่อพระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนี้ คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกินมีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อนๆ. พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่าเราจักส่งไปให้สหายของเรา จึงให้ช่างทำงาสลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้ว ทรงส่งอำมาตย์ไปรับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพราราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ.
               พวกอำมาตย์พากันไปได้ถวายแด่พระเจ้าพาราณสี.
               พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ แกะตราประทับคลี่ผ้าพันออก เปิดสมุกทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน ทรงเขินว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ตกมา ผอบงาแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่นๆ ในผอบทั้งหมดได้มีเหมือนๆ กัน. ผ้ากัมพลผืนหนึ่งๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก.
               มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ดีดนิ้วมือยกท่อนผ้าโบก ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ พระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่งๆ ผ้ากัมพลทั้งหลายหาค่ามิได้เลย. ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการภายหลัง ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาครั้งแรก สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี. ครั้งนั้น พระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะสูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้วแก่สหาย.
               พระเจ้าพาราณสีนั้นตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า
               พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง พระธรรมเกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก เป็นบุญเขตที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้.
               และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัตด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมว ลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบประทับตรา ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐมีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยด้วยกังสดาลทุกชนิดเคลื่อนไป ให้ตกแต่งทางจนถึงเขตรัชสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง. เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้นแล้ว ทรงส่งบรรณาการไปถึงเจ้าประเทศราชทั้งหลายว่า อันพวกเราผู้เคารพอย่างนี้ควรส่งบรรณาการนี้ไป.
               พระราชาเหล่านั้นได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงเสด็จมาต้อนรับ ทรงนำไปจนถึงเขตรัชสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ.
               แม้พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับแล้วก็เสด็จมาต้อนรับทรงบูชาเหมือนอย่างนั้น ทูลเชิญเข้าพระนครรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอดแสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก ดังนี้
               ทรงดำริว่า ถ้ากระไร เราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลกพวกท่านนึกว่าควรจะทำอะไร.
               อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คนพร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก ผิว่า ไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าจักกลับมา แล้วพากันไป.
               ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชา ถวายบังคมพระราชาในภายหลังกราบทูลว่า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป.
               พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้ารู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย. พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป.
               พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี. เมื่อพวกอำมาตย์ยังไปไม่ถึงนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว. พวกเขาเที่ยวไปจนทั่ววิหารเห็นสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่า ใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน.
               สาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้านิพพานเสียแล้ว.
               พวกอำมาตย์เหล่านั้นพากันคร่ำครวญว่า โอ เรามาไกล แต่ไม่ได้แม้เพียงเห็น จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือ.
               พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม.
               อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นอำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น. อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือเอาบริโภคธาตุ มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ. ต้นโพธิ บาตรและจีวรเป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ. พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้.
               พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหารประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปบังเกิดในกามาวจรเทวโลก. แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คนก็พากันบวชถึงมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ได้ไปเป็นบริวารของพระราชานั้นนั่นเอง.
               อำมาตย์เหล่านั้นอยู่ในเทวโลกสิ้นไปพุทธันดรหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ ได้เคลื่อนจากเทวโลก อาจารย์เกิดเป็นบุตรของปุโรหิตผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่าพาวรี ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ถึงฝั่งแห่งไตรเพท เมื่อบิดาล่วงลับไปได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน.
               แม้อำมาตย์ที่เหลืออีก ๑๖,๐๐๐ คนได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง. บรรดาอันเตวาสิก ๑๖,๐๐๐ คนเหล่านั้น อันเตวาสิกผู้ใหญ่ ๑๖ คนได้เรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์. อันเตวาสิก ๑๖,๐๐๐ คนนอกนั้นก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของอันเตวาสิก ๑๖ คนนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทั้งหมดจึงมาประชุมกันอีก.
               แม้พระราชามหาโกศลก็ได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว. จึงได้อภิเษกพระเจ้าปเสนทิขึ้นครองราชสมบัติ. พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้น. พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิต. แม้พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช. พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ท่านอย่าบวชเลย. พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า. พระราชาไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า. อาจารย์พร้อมด้วยศิษย์ ๑๖ คนกับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คนได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน. พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้นทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า.
               อยู่มาวันหนึ่ง อันเตวาสิกทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์ เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย.
               อาจารย์รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา. พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวายในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด. แต่นั้น อาจารย์พร้อมด้วยชฎิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวารได้รับอนุเคราะห์จากพวกอำมาตย์ จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท.

จากพระนครโกศล. พราหมณ์นั้นอยู่ในแคว้นใกล้พรมแดนในระหว่างสองแคว้น คือแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ. ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี. แม่น้ำโคธาวรีแยกออกเป็นสองสายได้กระทำเกาะในระหว่างประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ ประเทศนั้น สรภังคดาบสเป็นต้นอาศัยอยู่. 

ได้ยินว่า อาจารย์เห็นประเทศนั้นแล้วจึงแจ้งแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช. พวกอำมาตย์ได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อถือเอาภูมิประเทศนั้น. พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานประเทศนั้นและประเทศอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมประเทศทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์.       

 นัยว่า ประเทศนั้นอยู่ในระหว่างเขตรัชสีมาของพระราชาเหล่านั้น. พวกอำมาตย์สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำแม้ทรัพย์อื่นมาจากกรุงสาวัตถี จัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป.

พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญด้วยส่วนอันเกิดแต่บ้านนั้น คือพราหมณ์พาวรีนั้นได้บูชามหายัญด้วยส่วยแสนหนึ่ง อันเกิดแต่กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น กฏุมพีทั้งหลายถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะทูลว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด. แม้อาจารย์ก็ไม่รับส่วยนั้นเป็นของตนได้บูชามหายัญ. อาจารย์นั้นได้ให้ทานทุกๆ ปี ด้วยประการฉะนี้....

(เรื่องราวต่อมาคือ พราหมณ์พาวรีเมื่อได้ฟังเทวดากล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระปัญญาประเสริฐคือมีพระปัญญาอุดมไพบูลย์หรือมีปัญญาประเสริฐยินดียิ่งในความเป็นจริงไม่มีที่เปรียบ สามารถแก้ปัญหาเรื่องธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุที่ทำให้ศีรษะตกไป พาวรีพราหมณ์จึงส่งพราหมณ์ลูกศิษย์ ๑๖ คนพร้อมคณะลูกศิษย์ของแต่ละคนรวมอีกทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน เพื่อทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ... ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า พวกชฎิลของพราหมณ์พาวรีพามหาชนมามาก อินทรีย์ของชฎิลเหล่านั้นยังไม่ถึงความแก่กล้าก่อน ทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบาย ปาสาณกเจดีย์ในเขตมคธเป็นที่สบายของชฎิลเหล่านั้น ก็เมื่อเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม พวกชฎิลเข้าไปยังนครทั้งปวงแล้วพากันมา จักมาพร้อมด้วยชนมากขึ้นไปอีก จึงทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์.
               พวกชฎิลเหล่านั้นก็มากรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหารตรวจตราดูว่า ใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ไหน พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฎีที่อาศัย เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ปลงใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิลพัสดุ์เป็นต้นตามลำดับ เพิ่มมหาชนขึ้นอีก เสด็จไปปาสาณกเจดีย์. แม้พวกชฎิลก็พากันออกจากกรุงสาวัตถีทันทีทันใด เข้าไปยังนครเหล่านั้นทั้งหมดแล้วได้ไปยังปาสาณกเจดีย์เหมือนกัน. (ปาสาณกเจดีย์ เมื่อก่อนได้มีเทวสถานอยู่ ข้างบนแผ่นหินเป็นอันมาก. แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้น มีวิหารเกิดขึ้น วิหารนั้นท่านเรียกว่า ปาสาณกเจดีย์ ตามคำเรียกเดิมนั่นเอง.) 

ชฎิลเหล่านั้นรีบติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้า พากันไปแต่เช้าสู่ทางที่เสด็จไปในตอนเย็น และไปตอนเย็นสู่ทางที่เสด็จไปในตอนเช้า ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปีติปราโมทย์พากันขึ้นไปสู่พระเจดีย์นั้น. 

อชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้าอันเตวาสิก เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ มหามณฑปที่ท้าวสักกะสร้าง ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำสัมโมทนียกถาตอบโดยนัยมีอาทิว่า สบายดีหรือ ฤๅษีทั้งหลาย จึงกระทำปฏิสัณฐานแม้ด้วยตนเองว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สบายดีพระเจ้าข้า เป็นต้น มีใจร่าเริงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถามปัญหาด้วยใจ. (พราหมณ์พาวรี ฝากคำถามมากับลูกศิษย์เพื่อถามพระพุทธองค์ว่า ท่านทั้งหลายจงถามปัญหา ๗ ข้อเหล่านี้ด้วยใจ. ถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่นๆ ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป. ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา.) 

อชิตมาณพถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกชาติของอาจารย์ของพวกข้าพระองค์เถิด... พราหมณ์ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถามปัญหาสองข้อที่เหลือ จึงกราบทูลว่า ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น จึงตรัสคาถามีอาทิว่า อวิชชา ชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ ดังนี้. ในบทเหล่านั้น เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ.
               อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ (ความพอใจใคร่เพื่อจะทำ) และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

ลำดับนั้น อชิตมาณพได้ฟังการพยากรณ์ปัญหานี้ เกิดมหาปีติเป็นล้นพ้นเบิกบานใจ ถึงความเป็นผู้ไม่หดหู่ทางกายและจิตมีความยินดียิ่ง. อชิตมาณพกล่าวว่า พราหมณ์พาวรีขอหมอบลงแทบพระบาท.
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุเคราะห์พาวรีนั้น จึงตรัสคาถาว่า ขอพราหมณ์พาวรีจงมีความสุขเถิด. ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาเป็นการปวารณาของพระสัพพัญญูว่า ความว่า จงถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด.

                                     จบอรรถกถาวัตถุกถาแห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
                          -----------------------------------------         

หมายเลขบันทึก: 711852เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2023 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2023 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท