ชีวิตที่พอเพียง  4400. เรียนรู้เรื่องศาลเยาวชนและครอบครัว


 

หลานสาว (อายุ ๖๕) ของภรรยามาเยี่ยมอวยพรปีใหม่ ในบ่ายวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕    และคุยเรื่องการทำหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบ  ในศาลเยาวชนและครอบครัวกลางสาขามีนบุรี   ผมซักเพื่อเรียนรู้อยู่ถึงชั่วโมงเศษ    ได้เรียนรู้เรื่องราวในบ้านเมือง     และในกรณีของปัญหาครอบครัว และปัญหาเยาวชน อย่างน่าตกใจและกังวลใจ           

เตือนให้ผมตระหนักว่า ชีวิตของผม เป็นชีวิตที่การรับรู้ไม่กว้างขวาง    หากมีโอกาสต้องเรียนรู้จากคนรุ่นหลังให้มากๆ   

และเตือนว่า สังคมของเรามีทั้งด้านขาว เทา และดำ   ชีวิตของผมและครอบครัวโชคดีที่เข้าไปอยู่ในสังคมสีขาว     ไม่เกลือกกลั้วสีเทาและสีดำเลย    เป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดในชีวิต    ข้อดีคือเรามีชีวิตที่มีความสุข ความราบรื่น   ข้อเสียคือเราไม่เข้าใจสังคมอย่างแท้จริง   

ที่ศาลนี้มีผู้พิพากษาจริงๆ ๕ คน    ผู้พิพากษาสมทบ ๒๐ คน    ผู้พิพากษาสมทบทำหน้าที่ทั้งร่วมพิจารณาคดี    และร่วมทำหน้าที่ฝึกอบรมให้แก่ครอบครัว และเยาวชนที่มีปัญหา    ผู้พิพากษาสมทบได้รับค่าตอบแทนไม่สูงนัก     ผมเพิ่งทราบว่า ผู้พิพากษานอกจากได้เงินเดือน ยังได้ค่าตอบแทนเป็นรายคดีอีกด้วย   

ฟังเรื่องเล่าแล้ว ก็เห็นว่ามนุษย์ที่เกิดมา ส่วนหนึ่งโชคร้าย เกิดมาในครอบครัวที่มีปัญหา    ที่พ่อแม่หรือสังคมรอบข้างอยู่ในอบายภูมิ    จึงได้รับการหล่อหลอมให้มิติด้านชั่วร้ายของมนุษย์ออกมาครองใจครอบความประพฤติ    กลายเป็นคนที่สร้างปัญหาให้แก่สังคม    ในช่วงที่เป็นเยาวชนเขาควรได้รับความเมตตา หาทางช่วยให้กลับตัวกลับใจไปเป็นคนดี   แต่ไม่ง่าย เพราะชีวิตของเขายังอยู่ในระบบนิเวศแบบเดิม   เยาวชนเหล่านี้จึงมักอยู่ในสภาพทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า   การช่วยให้ออกจากวงจรนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายของสังคม และของเจ้าตัวเอง

ผมจึงคิดว่า  ควรมีมาตรการ (working platform) ที่ใช้เรื่องราวชีวิต (โดยเฉพาะชีวิตครอบครัว และสภาพแวดล้อมของสังคมรอบตัว) ของเยาวชนที่มีปัญหาเหล่านี้เป็นข้อมูลเพื่อหมุน Kolb’s Experiential Learning Cycle  และวงจรเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือ DE – Developmental Evaluation ช่วย   นำสู่การแก่ปัญหาในระดับป้องกันปัญหา และสร้างเสริมสังคมดี   ที่น่าจะเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม.     

เกิดคำถามว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่เชิงตั้งรับ หรือเชิงรุก    การทำหน้าที่เชิงรุกคือเชิงสร้างสรรค์ และป้องกันปัญหาสังคม    เพื่อลดปัญหาเยาวชนและครอบครัว    นำสู่คำถามว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวทำงานร่วมกับกระทรวง พม. แค่ไหน อย่างไร   

หลักคิดของผมคือ  ปัญหาคือโอกาส   ศาลเยาวชนและครอบครัวทำหน้าที่แก้ปัญหาโดยตัดสินคดี    ทำหน้าที่เผชิญปัญหา    ควรทำหน้าที่เปลี่ยนปัญหาไปเป็นโอกาส ในการสร้างระบบนิเวศของสังคมที่เอื้อให้เยาวชนเป็นคนดี     โดยร่วมมือกับกระทรวง พม.  จัดวงจรเรียนรู้จากปัญหา     นำสู่การสร้างเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวและสังคม และแก้ปัญหาสังคม   

หากดำเนินการตามที่เสนอ    ผู้พิพากษาสมทบ ของศาลเยาวชนและครอบครัว     จะไม่เพียงทำหน้าที่เชิงตั้งรับ    จะทำหน้าที่เชิงรุกเพื่อหาทางร่วมมือกับหลายฝ่ายในสังคมของพื้นที่นั้นๆ    อย่างกรณีเขตมีนบุรี เป็นชุมชนมุสลิม    โอกาสร่วมมือกับผู้นำทางศาสนาอิสลาม    และร่วมมือกับผู้นำชุมชน   ในการรุกออกใช้ข้อมูลความรู้ที่ได้จากเยาวชนที่มีปัญหา    สู่การร่วมกันคิดสร้างระบบนิเวศใหม่ที่เอื้อให้เด็กละเยาวชนได้รับการหล่อหลอมด้านความดี   

ไม่ทราบว่า ข้อสะท้อนคิดนี้ มีทางเป็นจริงได้หรือไม่   จะเป็นจริงได้  ต่อเมื่อฝ่ายต่างๆ ในบ้านเมือง   หันมาใคร่ครวญสะท้อนคิดหาทางทำหน้าที่เชิงรุก   หลุดออกจากความเคยชินในการทำงานเชิงตั้งรับ    และหันมาทำงานเชิงร่วมมือหลายฝ่าย     หลุดจากความเคยชินในการทำงานแบบโซโล 

ผมบอกหลานภรรยาว่า   การทำหน้าที่ตัดสินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว   ต้องใช้ความรู้สองด้าน    คือด้านกฎหมาย ที่ผู้พิพากษาตัวจริงมีความชำนาญ   กับความรู้ด้านสังคม ที่ผู้พิพากษาสมทบมีความชำนาญ    เพราะผ่านชีวิตมามาก    และนำเอาประสบการณ์ในชีวิตหลากลายด้านมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินคดี    แต่ผู้พิพากษาสมทบ  จะยิ่งทำประโยชน์ต่อสังคมด้มากยิ่งกว่า     หากหาทางทำงานเชิงรุก   

ผมภูมิใจที่หลานภรรยาท่านนี้    มีชีวิตที่พัฒนาต่อเนื่อง    จนมาทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากขนาดนี้    และมีโอกาสทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๖

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711676เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท