ชีวิตที่พอเพียง  4399. ทำตามมาตรฐาน กับ ทำตามบริบท


 

ในการ“ประชุมถอดบทเรียนการประเมิน DE และวางแผนการทำงานประเมิน PMU ในระยะต่อไป”  ของ สกสว.   วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๕  รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เอ่ยเรื่องการทำงานในแบบ standardization  กับแบบ contextualization    นำสู่ชื่อบันทึกนี้    คือผมนำมาใช้เป็นหัวข้อใคร่ครวญสะท้อนคิด เพื่อการเรียนรู้ของตนเอง 

“มาตรฐาน” เป็นเสมือนพระเจ้า ในหลากหลายกรณี    ยิ่งในระบบนิเวศการทำงานแบบ bureaucracy ยิ่งเป็นพระเจ้าชั้นสูง   ผมชักชวนเพื่อนร่วมงานให้ทำงานเพื่อ beat the standards   ไม่ใช่แค่ meet the standards มาตั้งแต่อายุสามสิบกว่าๆ    และยังยึดหลักการนั้นตลอดมา   

จะเห็นว่า ผมไม่ปฏิเสธมาตรฐาน   และมองมาตรฐานว่าเป็นของดี   เป็นตัวช่วยให้เราทำงานอย่างมีหลักการ และมีเป้าหมายที่ถูกต้อง    ไม่เดินผิดทาง    มองในมุมหนึ่ง มาตรฐานเป็นคล้ายเข็มทิศ    เป็นปัญญา 

สิ่งที่ผมไม่สนับสนุน คือการทำตามมาตรฐานแบบหลับหูหลับตาหลับสมอง   ไม่ใช้ความคิด นำเอามาตรฐานนั้นมาตีความตามบริบทของเรา   เพื่อปรับวิธีการหรือเป้าหมายในมาตรฐานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หรือท้าทายยิ่งขึ้น    แล้วหาวิธีบรรลุผลตามมาตรฐานนั้น    หรือให้ดีกว่ามาตรฐานที่กำหนด   

มาตรฐานจึงมีไว้ตีความ ไม่ใช่มีไว้ทำตามต้อยๆ อย่างไร้เดียงสา    การตีความ และนำไปทดลองใช้    แล้วหมุนวงจร Kolb’s Experiential Learning Cycle จึงเป็นทั้งบ่อเกิดแห่งปัญญา และเส้นทางสู่การบรรลุผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน   

มาตรฐานจึงเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา    หากเราใช้เป็น    แต่มาตรฐานจะเป็นบ่อเกิดแห่งความเขลา หากเราใช้แบบหลับหูหลับตามดำเนินการตาม   

บริบท (context) คืออะไร    ผมตีความว่า คือข้อมูล สารสนเทศ หลักฐาน ของการปฏิบัติงาน   ที่หากเรานำมาใช้เป็น   จะนำสู่ปัญญา   สู่การตีความมาตรฐานให้เหมาะสมตามบริบทของเรา    เพื่อนำไปทดลองทำงานและใช้ประสบการณ์จากการทำงาน สู่การสะท้อนคิดตาม Kolb’s Experiential Learning Cycle   ได้เรียนรู้หลักการใหม่ๆ ผ่านการสะท้อนคิดและสร้างสรรค์ของตนเอง หรือของทีมงาน   

รวมทั้งได้ยกระดับคุณภาพ และประสิทธิภาพ ผลงาน   อย่างต่อเนื่อง   

ขอเพิ่มเติมว่า ในการทำงาน หากเรารู้จักใช้  Kolb’s Experiential Learning Cycle  คือ รู้จักทำให้การทำงานเป็นแหล่งเรียนรู้    เราจะพัฒนาตัวเราเอง หรือพัฒนาทีมงานของเราเอง ในด้านวิธีทำงาน ด้านเรียนรู้หลักการที่เกี่ยวข้อง และด้านเรีบนรู้บริบทของงาน

สิ่งที่เรามักเผลอละเลย คือการเรียนรู้ ตีความ ทำความเข้าใจบริบทของงานของเรา    หรือไม่มีทักษะในการตีความทำความเข้าใจบริบท    หรือสะท้อนคิดตีความบริบทไม่เป็น    หรือองค์กรไม่จัดกระบวนการให้พนักงานร่วมกันสะท้อนคิดตีความบริบทการทำงานของตน    เท่ากับเป็นการ “ปล่อยให้โอกาสสร้างปัญญาลอยนวล”   

ไม่ว่า มาตรฐาน หรือบริบท ต้องนำมาไว้ในกำมือของเราเอง   ไม่นำไปไว้บนหิ้งบูชา   และปฏิบัติตาม แบบหูหนวกตาบอดสมองบอด   โดยจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอพร      

เมื่ออยู่ในกำมือของเรา ก็ต้องเอามาพิจารณาตีความหาความหมายหาคุณค่า   แล้วทดลองใช้เพื่อหาทางยกระดับคุณภาพงาน และยกระดับความรู้ความเข้าใจทั้งในระดับปฏิบัติ และระดับหลักการ    เป็นการให้พรตนเอง ให้พรต่อกันและกันในหมู้ทีมงาน    ไม่ต้องจุดธูปเทียนขอจากหิ้งบูชาหรือจากสวรรค์    

เพื่อใช้พลังของมาตรฐาน และพลังของบริบท   ต้องนำทั้งสองสิ่งมาไว้ในกำมือเรา   และนำเอามาเป็นเครื่องมือหมุนวงจรเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ผ่านประสบการณ์การทำงาน   

กระบวนทัศน์ และสมรรถนะเช่นนี้ สร้างได้โดยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑  ที่เรียนรู้ผ่านการเรียนรู้เชิงรุก  เรียนฝึกการตั้งคำถาม และหาคำตอบเองจากการปฏิบัติ    มากกว่าเรียนจำคำตอบ 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๕

    

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711670เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2023 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2023 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท