ผลการปฏิรูปการศึกษาไทยที่แลกมาด้วยการยึดอำนาจ


ผลการปฏิรูปการศึกษาไทยที่แลกมาด้วยการยึดอำนาจ

10 กุมภาพันธ์ 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

 

ไฮไลท์รอบปี 2565 คือ Big Rock (กิจกรรมปฏิรูปประเทศ) หรือรายงานการปฏิรูปประเทศทั้ง 62 กิจกรรม ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาทุกไตรมาส ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มรดก คสช.ที่มีวาระการปฏิรูป 37 วาระ และมีข้อเสนอการปฏิรูป 1,342 ข้อ จนกระทั่งสกัด Quick Win หรือวาระเร่งด่วน(ที่สุด)แห่งชาติ ออกมาได้ 2 วาระและบรรจุบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 258 ง. และ มาตรา 258 จ. คือ (1) การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) และ (2) การปฏิรูปด้านการศึกษา และแน่นอนว่าประเด็น “การปฏิรูปการศึกษาไทย” ยิ่งใหญ่เสมอ ด้วยงบประมาณรายจ่าย ปี 2561 สูงเกือบ 9 แสนล้านบาท ในปี 2566 จำนวนยังคงสูงมากเป็นลำดับหนึ่งถึง 3.25 แสนล้าน คิดเป็น 10.2% จากยอดรวมงบประมาณทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท

ปัญหาการศึกษาไทยคือความเหลื่อมล้ำ

ผลสำรวจโพล ม.สวนดุสิต (16-19 สิงหาคม 2565) เกี่ยวกับการศึกษาและครูไทย ชี้ว่าปัญหาการศึกษาไทยมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ” แต่ผ่านไปแล้ว 4 ปี อันดับทางการศึกษาของไทยนั้นตกจากอันดับโลก 64 ประเทศลงไปอยู่อันดับที่ 56 และอยู่อันดับ 8 อาเซียน ถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว” แม้จะมีการอ้าง “วาระแห่งชาติ” แผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการอ้างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติว่า ยุทธศาสตร์การศึกษาสร้างชาติ สร้างสมรรถนะเด็กตามนโยบายชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และหลักสูตรเน้น เก่ง ดี มีสุข ถอดรหัส สู่การปฏิบัติ ตามบริบท สรุปว่า แม้อ้างอิงยุทธศาสตร์ชาติก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ระบบการศึกษาไทยยุคดิจิทัลยังเหมือนเดิม ล้มเหลว การนำลัทธิการลอกเลียนแบบมากำหนดให้เยาวชนทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะแต่ละสังคมตามแต่ละภูมิประเทศ แต่ละภาค ไม่เหมือนกัน ต้องสอบแข่งขัน ต้องแย่งชิงตำแหน่ง ชิงความเป็นเลิศ ซึ่งก็เท่ากับการสร้างสังคมให้เป็นสังคมของการแข่งขัน ไม่ใช่สังคมแห่งการแบ่งปันหรือช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น การล็อกการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีระยะเวลาที่ยาวนาน จะก้าวไม่ทันโลกที่ disrupt อย่างรวดเร็ว ไม่สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของโลกปัจจุบัน

นักวิชาการ (เสรี พงศ์พิศ, 2565) เสนอให้มีการ “ปฏิวัติการศึกษา” ที่ต้องมาจาก “ข้างใน” และจาก “ข้างล่าง” ซึ่งทำให้มีการคัดค้าน “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” หนักขึ้น เริ่มจากกระทู้คัดค้านของ ส.ส.ในปี 2564 ครูทั่วประเทศเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าว ด้วยการแต่งชุดดำไว้อาลัยตั้งแต่วันที่ 10-16 มกราคม 2566 มีข้อเสนอแนะจากสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งบางประเด็นอาจส่งผลกระทบความเป็นอิสระทางวิชาการ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ปิดกั้น กดทับศักยภาพของผู้เรียน ในการพัฒนาตนเองสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21

การศึกษาคือคานงัดเพื่อการพัฒนา

ข้อเสนอการพัฒนาการศึกษา โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI, 2553) เสนอ “จุดคานงัด” ประเทศไทยเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ในรอบปี 2561-2564 มีการกล่าวถึงกันมากในวงวิชาการในแนวคิด “คานงัดเพื่อการพัฒนา” ซึ่งวรากรณ์ สามโกเศศ (2561) เห็นว่าการศึกษาเป็นเป้าหมายของคานงัดประการหนึ่งในสามประการที่สำคัญ ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท. (2563) เชื่อว่าคานงัดการศึกษาไทยคือ “ครู” สุวิทย์ เมษินทรีย์ (2563) เห็นว่า “เศรษฐกิจฐานราก คือ คานงัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและความมั่นคงของประเทศ” ในส่วนของเอกชน อนันต์ อัศวโภคิน (2563) เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ เห็นว่า เนื้อหาและแรงบันดาลใจเรื่องการฝึก "การสร้างนิสัยแห่งความสุข" (มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด, 2016) เพื่อระบบการศึกษาที่ดีต้องมิใช่เพียงให้เรียนเก่ง ในขณะที่คนอื่นๆ บอกว่าต้องเร่งยกระดับการศึกษาของชาติ เพราะ “เด็กคืออนาคตของชาติ” ด้วยจำนวนเด็กที่น้อย ดังนั้นเด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเพื่อให้เติบโตมีพัฒนาการสมวัย เป็นกำลังของประเทศสืบไป

นวัตกรรมการศึกษาไทยที่ไม่(ค่อย)ทันยุค Disrupt

(1) นวัตกรรมใหม่ยุคข่าวสารไร้พรมแดน การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็น “การศึกษาทางไกล” (Distance Learning Television : DLTV) เริ่มจากเมื่อปี 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดใหม่ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) แห่งใหม่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้ทันสมัย แต่ยังยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี 2565 ได้ปรับผังการออกอากาศ 15 ช่องสัญญาณตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูวิชาเอกจำนวนมากจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 

(2) หลักสูตรนวัตกรรมแห่งทุน (2561) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เจตนาที่จะให้เสรีภาพแต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนเอง ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 เป็นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อลดเด็กมีปัญหาที่แปลกแยกห่างไกลจากชุมชน ตามที่ นพ.ประเวศ วะสี ว่ามีปัญหา 2 ส่วนใหญ่คือ (1) การแยกชีวิตออกจากการศึกษา ทำให้คนลืมรากเหง้าของตัวเอง เหมือนกับสังคมไทยถูกตัดรากเหง้าทางวัฒนธรรม และ (2) ทำให้สังคมไม่เกิดความสมดุล ในกรณีของโรงเรียนในท้องถิ่นนั้น โรงเรียนกับชุมชนต้องพึ่งพากัน คนท้องถิ่นเอื้อเฟื้อโรงเรียนมาตลอด กฐินผ้าป่าทำบุญโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียน ฉะนั้น โรงเรียนก็ต้องเอื้อเฟื้อท้องถิ่นเช่นกัน ไม่ใช่มาอ้างต้นสังกัด (สพป., สพม.) หลักสูตรก็เอื้อเฟื้อเจือจุนท้องถิ่นพัฒนาไปด้วยกัน

(3) มีการจัดการเรียนการสอนด้วย “Active Learning” หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำนั้น ขณะนี้ เลขา กพฐ. (25 สิงหาคม 2565) กล่าวว่า สพฐ.ได้นำการเรียนรู้ในเรื่องนี้เข้าสู่สถานศึกษาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะได้มีการปรับปรุงไปแล้วในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2561 แต่ยังไม่เกิดจริงในสถานศึกษา ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าสพฐ.จะมุ่งเป้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Active Learning และในปีนี้จะต้องพัฒนาครูให้ได้ 100% เพื่อที่ในปีการศึกษาหน้าครูจะได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกลไกลหลักสูตร แผนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล

(4) ในเวทีโลกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้กล่าวถ้อยแถลง ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit 2022 : TES) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ย้ำเรื่องเพิ่มเม็ดเงินหนุนเข้าถึงการศึกษาเสมอภาค เพื่อบรรลุสันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ล่าสุดมีการประชุมสื่อสารสร้างความเข้าใจ (OBECTVONLINE) การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้ อปท.เข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 

บทวิพากษ์ปัญหาการศึกษาในหลากหลายมิติ

เนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก การวิพากษ์ประเด็นปัญหาการปฏิรูปการศึกษา มีมุมมองได้ในมิติต่างๆ มากมาย ในที่นี้ลองมาสำรวจทัศนะในบางประเด็นที่พอจะอ้างอิงได้ เพื่อเป็นการต่อยอดแนวคิดการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกเชิงลบหรือการเห็นด้วยหรือความเห็นต่างก็ตาม 

(1) สภาพปัญหาที่ประสบมานานนับตั้งแต่ปี 2560 จำนวนเด็กนักเรียน เด็กเกิดในแต่ละปีน้อยลงเป็นจำนวนมาก จากเดิมเด็กเกิดปีละ 7-8 แสนคน แต่ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลงเพียงปีละ 4แสนคน จำนวนเด็กน้อยลงถึงครึ่งของจำนวนเดิม ทำให้มีสถานศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถควบรวมกันได้ จึงมีปัญหาเกิดในหลายประการขึ้น ในจำนวนงบประมาณที่จะได้รับการอุดหนุนลดลง ไม่ว่าอัตราครู งบค่าอาหารกลางวัน อาหารเสริมนม ค่ารายหัวนักเรียน นอกจากนี้ ปรากฏการณ์การทุจริต เช่น อาหารกลางวันเด็กนักเรียน (ผอ.ขนมจีน) สนามกีฬา (สนามฟุตซอล) ห้องเรียนอัจฉริยะ เขตพื้นที่การศึกษา (นำไปรวม ข้อ 10 ตอน 2)

(2) ในความเห็นแย้งการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลว ปลัด ศธ. (2566) โต้แย้งว่า ปัจจุบันการดำเนินการต้องสอดคล้องกับแผนงบประมาณ เพราะอัตราการเกิดไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 2513 รร.รับเด็กเกิดน้อยลง ทำให้มี รร.ขนาดเล็กผุดมากขึ้น จนต้องควบรวม รร. อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ พบว่างบประมาณปี 2566 กระทวงศึกษาธิการที่มากเป็นอันดับ 1 ถึง 10.2% (3.25 แสนล้าน) ปรากฏว่างบประมาณส่วนใหญ่ จำนวน 62.6% ของงบ ศธ. (2.04 แสนล้าน) เป็นรายจ่ายของบุคลากรหรือเงินเดือนครูและอาจารย์ที่มีจำนวนมากถึงสี่แสนเศษ ซึ่งเป็นงบลงทุนเพียง 4.9% (1.6 หมื่นล้าน)

(3) ประเด็นงบค่าอาหารกลางวันโรงเรียน จากฐานข้อมูลเก่าเมื่อ 7 กันยายน 2561 มีจำนวนเด็กในโรงเรียนกว่า 5 ล้านคน สังกัด อปท. 13,000 แห่ง และ ศพด. กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อีกกว่า 30,000 แห่ง จึงจะได้อาหารทั้งสะอาดปลอดภัยและมีคุณค่าสารอาหารตามที่เด็กควรได้รับ การปฏิรูป “อาหารกลางวันเด็ก” ไม่แค่อิ่มท้อง แต่ต้องมีคุณภาพ ถึงเวลาแล้ว “โภชนาการเด็ก” ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ทุกภาคส่วน “ใส่ใจจริงจัง” เพิ่มงบประมาณจาก 20 บาทต่อหัวให้เป็น 35 บาท แต่ด้วยงบประมาณรัฐกลับเพิ่มได้เพียง 22-36 บาท อัตราใหม่ตามขนาดสถานศึกษา ที่น่าจะไม่เพียงพอ ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.2/ว 9433 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ข่าวการโกงอาหารกลางวันโรงเรียน ต้องไม่ให้มีการสมยอมกับผู้ขายและผู้ตรวจรับอาหาร เช่น “หมู/ผักสด” ว่าเบิกครบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นไปตามหลักโภชนาการ โดยต้องมีการกำชับมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันด้วย อย่างให้อาหารด้อยคุณภาพและเรียกรับเงินหัวคิวจากผู้รับจ้างทำอาหาร 

(4) การศึกษาปฐมวัย คือ ฐานรากของการศึกษาทุกระดับ ผลผลิต คือตัวผู้เรียน ครูควรเรียนรู้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์หลักสูตรและแผนการจัดประสบการณ์ ทำให้เกิดคุณภาพ ผลลัพธ์ของงานที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2561 มี 3 อย่าง คือ (1) ผู้เรียน (2) ครู (3) พลเมือง มีคุณภาพระดับดีขึ้นไป ประเมินคุณค่าโดยรวมคือ SAR ได้มาตรฐานตามเป้าหมาย เป็น Best Practice 

(5) สาเหตุที่การศึกษาไทยแย่ลงประการหนึ่ง เพราะผู้ปกครองคาดหวังมุ่งคุณภาพแบบโดดเด่นเชิงธุรกิจ จ่ายก็ยอม ขอให้ลูกไปเรียนโรงเรียนดังๆ แต่ครูหลายคนไม่ยอมให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านที่ตนเองสอน ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีนักศึกษาที่เรียนจบตกงาน มีสภาพการว่างงานของบัณฑิตถึง 47.91% หรือคิดเป็นจำนวนเกือบ 5 แสนคน รวมถึงการทำงานที่ไม่ได้ตรงกับที่ได้เรียนมา นี่คือผลิตผลที่ผสมกลมกลืนกันระหว่างค่านิยมทางสังคมกับความด้อยคุณภาพไร้ทิศทางของการศึกษาไทย ในคุณภาพการศึกษา พบว่ามีข่าว (2565) เด็กไทยยังนิยมเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แห่ลาออกกลางคันเทียบวุฒิอเมริกาเพียบ นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนแบบ “Home School” เกิดขึ้นด้วย ถือเป็นโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ของเด็ก และผู้ปกครองด้วย

(6) ปัญหาหนี้สินครู เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะครูทำงานมานานจนเกษียณอายุ ต้องมานั่งชดใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อบริโภคในครอบครัวหลังเกษียณ ซึ่งไม่ถูกต้อง รัฐบาลต้องใส่ใจ เช่นในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ สหกรณ์ครูฯ บางแห่งคิดดอกเบี้ยครูสูงถึง 7% ต่อปี ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยสวัสดิการควรจะต้องถูกกว่านี้ ยิ่งเมื่อก่อนดอกเบี้ยเคยสูงถึง 15% ครูที่กู้เงินมา 3 ล้าน แต่ต้องส่งจริงถึง 10 ล้าน ครูจึงเป็นหนี้ทั้งชีวิต ต้องลดภาระให้ครู โดยการลดดอกเบี้ยลงมา เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำคืนเงินกองทุนเพื่อความมั่นคง โครงการเงินกู้ ช.พ.ค./ช.พ.ส.กว่า 25,000 ล้านบาท เพราะเป็นเงินที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

(7) ข่าวการทุจริตโครงการอื่นๆ ในโรงเรียนโดยมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นตัวอย่างประสบการณ์กรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี เจ็บปวดกับนักการเมือง เพราะครูต้องถูกลงโทษทางวินัย ถูกปลดออก ไล่ออก เช่น คดี ป.ป.ช.โกงสนามฟุตซอล จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้ สพฐ. ต้องปลดออกจาก ผอ.โรงเรียน ข้าราชการครู เป็นจำนวนถึง 65 คน จาก 50 โรงเรียน และต้องขึ้นศาลคดีอาญาทุจริตต่อสู้คดีที่ยาวนาน

(8) ผลกระทบจากจำนวนนักเรียน ทำให้เกิดระบบการศึกษาเชิงพาณิชย์ขึ้น มีทั้งหลักสูตรเร่งรัด ระยะสั้น ระยะยาว หลักสูตรเฉพาะทางวิชาชีพ ฝึกทักษะ กลุ่มอาชีพ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก (ภาคพิเศษ) หลักสูตรการศึกษาออนไลน์ มากมาย ทั้งการเรียน ด้านการอาชีพ การศึกษาพิเศษ การสอนเสริม การฝึกทักษะ อีกทั้งมีสำนักติวสอบเพื่อการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง การเข้าสอบแข่งขันต่างๆ การเรียนเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษา ด้วยค่าเทอมที่แพง อาจเกิดปัญหาด้านคุณภาพ ที่ร้ายไปกว่านั้น นอกจากคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นในสถานศึกษาอุดมศึกษาเอกชน (หลักสูตรอินเตอร์) ทำให้มีนักศึกษาต่างชาติอาเซียน เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ลาว และจีน เข้ามาเรียนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทจำนวนมาก ข่าวการเทคโอเวอร์และซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทยหลายแห่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาโดยทุนจีนเป็นเรื่องจริง เพราะสถาบันการศึกษาไทยมีคุณภาพ มีหลากหลายสาขาวิชา มีอาคาร ห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนครบพร้อม การลงทุนให้นักศึกษาจีนมาเรียนจึงง่ายกว่าการไปลงทุนตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ที่ประเทศจีน ที่เปลืองงบประมาณมากกว่า 

(9) การศึกษาดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายรวมถึงการศึกษาของระบบราชการหรือองค์กรเอกชน ในระบบ in-service training ซึ่งเป็นการศึกษาอบรมภายในหน่วยงานแก่บุคลากรของตน และยังไม่ได้รวมถึงการอบรมประชาชน หรือการบริการสังคม ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยงานเอกชน หน่วยงาน NGO 

ข้อสังเกตส่งท้ายว่า จาก Quick Win “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ที่มากมายกว่าจะสกัดออกมาได้ที่แสนยาก เพราะต้องแลกว่าด้วยการรัฐประหาร คสช. ใช้เวลาผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 นานร่วม 8-9 ปีแล้ว  ลองนึกย้อนหลังความคืบหน้าในแต่ละปีที่ผ่านมาดู แทบจะล้มลุกคลุกคลานย่ำอยู่กับที่เสียมาก ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม การรายงานต่อรัฐสภาเป็นเพียงการรายงานผลคืบหน้างาน routine ในกิจกรรมต่างๆ เพียงนำเสนอปริมาณตัวเลข มากกว่าการรายงานว่ามีสัมฤทธิผลโดยการประเมินความสำเร็จเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะ “การปฏิรูปการศึกษาไทย” ผลทำให้บรรดาครูนักวิชาการการศึกษาออกมาคัดค้าน นี่คือการปฏิรูปประเทศไทย แม้ว่าการศึกษาคือหัวใจ ก็ต้องทำใจ

บทความนี้เผยแพร่ในสยามรัฐออนไลน์

ผลการปฏิรูปการศึกษาไทยที่แลกมาด้วยการยึดอำนาจ : บทความพิเศษ/ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 10 กุมภาพันธ์ 2566,   https://siamrath.co.th/n/422108 
 

หมายเลขบันทึก: 711657เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2023 01:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท