Developmental Evaluation : 60. ออกแบบ DE ของระบบ ววน.


 

สองชั่วโมงของการ “ประชุมถอดบทเรียนการประเมิน DE และวางแผนการทำงานประเมิน PMU ในระยะต่อไป”  ของ สกสว.   ในสายวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๕   ให้ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ DE ในบริบทไทยแก่ผมอย่างสูงยิ่ง

ข้อเรียนรู้ข้อแรกคือ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องตีโจทย์ให้แตกดังโพละ เสียก่อน    ว่าทำไปทำไม  เพื่อคุณค่าอะไร    และที่สำคัญต่อหน่วยงานแบบ สกสว. คือ   ต้องให้คุณค่านั้นชัดเจนต่อหน่วยงานรับการประเมินที่จริงๆ แล้ว DE ไม่ได้เน้นการประเมิน แต่เน้นการเรียนรู้ เพื่อหนุนให้หน่วยงานเหล่านั้น (PMU) ทำงานบรรลุเป้าหมายยากๆ    ที่มีความ wicked  สูง ได้เป็นผลสำเร็จ

เพราะตีโจทย์นี้ไม่ชัด แล้วดำเนินการ จึงได้รับบทเรียนความเจ็บปวดที่มีคุณค่ายิ่ง   ที่ผมคิดว่าการที่ทีมงานของ สกสว. จัดให้ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ รับงานถอดบทเรียน จึงเป็นการเลือกคนถูก เพราะท่านเป็นคนที่คิดลึกซึ้งและเชื่อมโยง     และการจัดการประชุมในวันนี้ก็เป็นการดำเนินการที่ดี และได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาก   ทั้งในระบบ systems และระดับปฏิบัติ   เสียแต่ว่า เป็นช่วงใกล้ปีใหม่ ผู้มีประสบการณ์ใช้ DE โดยตรงบางท่านจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แม้จะเป็นการประชุม ออนไลน์       

เป็นตัวอย่างของการประชุมระดมความคิด หาทางเรียนรู้จากความล้มเหลว ที่เยี่ยมยอดมากสำหรับผม    แต่ก็ยังคิดว่า ทีมงานของ สกสว. น่าจะจัดการประชุมเป็นการภายในอีกสักครั้ง   ในลักษณะของ “post mortem” หรือการเรียนรู้จากความล้มเหลว    ว่าความล้มเหลวในครั้งนี้สอนอะไรเราบ้าง    หากมีโอกาสทำใหม่ จะทำต่างจากเดิมอย่างไร    ซึ่งก็คือ ทำกระบวนการ critical reflection  หรือ AAR นั่นเอง 

ย้ำว่า ทีมงานของ สกสว. ต้องตีความโจทย์นี้ให้แตกในระดับนิยามปฏิบัติการ (operational definition)   ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของ สกสว. ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ สื่อสาร และแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสมในการติดต่อประสานงานกับ PMU เพื่อการนี้   รวมทั้งวิธีเขียนรายงานเชิง DE เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผล   ในลักษณะของการนำเสนอกระบวนการเรียนรู้เชิงระบบ  และในลักษณะของการนำเสนอพัฒนาการของระบบกลไกของ ววน.   ให้เห็นพัฒนาการเชิงระบบ    เพื่อสร้างระบบนิเวศ และบรรยากาศ ววน. ของประเทศ ที่มี solidarity แห่งความหวัง ความมุ่งมั่น และความฮึกเหิม    

โดยขอทบทวนความจำว่า สมัยสามสิบปีก่อน ผมย้ำแล้วย้ำอีกกับเจ้าหน้าที่ของ สกว. ว่า    ต้องไม่ทำตัวเหนือนักวิจัย    ต้องให้เกียรตินักวิจัยและหน่วยงานวิจัย เพราะเขาเป็นผู้ผลิตผลงานให้แก่สังคม   สกว. เป็นเพียงหน่วยสนับสนุน    และ สกว. จะมีผลงานได้ ต้องอาศัยความสามารถของนักวิจัย    ดังนั้น สกว. กับนักวิจัยต้องช่วยกันทำให้มีการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและคุณค่า ให้สังคมได้ประจักษ์    โดยอาวุธ หรือเครื่องมือ ของ สกว. คือ ให้การสนับสนุนตามผลงาน   ซึ่งจะทำให้นักวิจัยต้องเอาจริงเอาจังต่อการผลิตผลงานคุณภาพสูง และผลกระทบสูง 

จะเห็นว่า กระบวนทัศน์แบบนี้เป็นสากล   ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย   และในทุกบริบทของงาน   

กลับมาที่คำถามของ ดร. คมสัน สุริยะ ผู้บริหารของ สกว. ว่า   ในขั้นตอนต่อไป สกสว. ควรดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่อง DE   ผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุม มีฉันทามติว่าต้องเดินหน้าต่อ   แต่เปลี่ยนวิธีการ และเปลี่ยน mindset    โดยใช้บทเรียนของ ๑ ปีที่ผ่านมา นำสู่วิธีดำเนินการที่จะก่อผลดี ในการพัฒนาระบบ ววน. ได้อย่างแท้จริง   

ฟังการเสวนาในที่ประชุมแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า    กลยุทธของ สกสว. ในการใช้ DE ต้องทำตามธรรมชาติ ความ wicked ของ DE    ต้องไม่หลงใช้ DE แบบสมการชั้นเดียว    และต้องทำให้เห็นชัดต่อ PMU โดยเร็ว     ว่านี่คือเครื่องมือช่วยให้เขาทำงานบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น    คือเป็น empowerment tool  มากกว่าเป็น evaluation tool   

ผมเสนอ 10 keywords สำหรับนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ operation platform  ของการใช้ DE เพื่อหนุนการพัฒนาระบบ ววน. ให้บรรลุเป้าหมายความเชื่อถือของสังคมไทย   ว่าเป็นระบบที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างคุ้มค่าการใช้ภาษีอากรของราษฎร   

  1. DE เพื่อใคร   สำหรับใช้กำหนด mindset  และ attitude ของผู้ทำงานนี้   สู่ท่าที empowerment ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    (คำตอบคือ เพื่อประเทศไทย  และเพื่อ PMU   ไม่ใช่เพื่อ สกสว.) 
  2. Self-evaluation   ผมให้ข้อมูลว่า DE ที่ใช้อยู่ในวงการศึกษา หนุนโดย กสศ.    และ ที่ใช้อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย่างได้ผลดีในระดับที่น่าพึงพอใจ   ใช้ระบบ self-evaluation ทั้งสิ้น    ไม่ได้ใช้ทีมประเมินแยกต่างหาก    เป็นการปรับตามบริบทของงาน    ไม่ได้ทำตามตำราอย่างเคร่งครัด    มีผลให้หน่วยงานไม่เกร็ง   
  3. ข้อมูล   ต้องมีข้อมูลของงาน  ครบถ้วนแม่นยำ สำหรับนำมาตีความ  โดย stakeholders
  4. การตีความ  โดย stakeholders ที่หลากหลาย    ได้การตีความที่มีมุมมองแตกต่างกัน    สำหรับนำมาตั้งวง dialogue กัน 
  5. Stakeholders   ที่ครบถ้วน หลากหลาย   และมีเป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมกัน (shared purpose)    และพร้อมที่จะกระทำการ ณ จุดทำงานของตน ตามข้อตกลงจากวง dialogue 
  6. Dialogue  ในกลุ่ม stakeholders   ที่มีการ facilitate อย่างทรงพลัง   ได้การตีความข้อมูลจากหลากหลายมุมมอง   สู่การเรียนรู้ระดับ Double-loop learning   และสู่ข้อตกลงสิ่งที่ต้องช่วยกันลงมือทำเพื่อพัฒนาผลงานสู่ purpose ร่วม   
  7. Feed forward   จากวง dialogue เพื่อการเรียนรู้และปรับตัว   ในระดับ Double-loop learning  
  8. Steering Committee   ช่วยให้คำแนะนำกลยุทธเชิงหลักการ และเชิงระบบ 
  9. Success Story   จากผลงานในปีที่ ๑   ที่มีบาง PMU ได้รับประโยชน์จากกระบวนการ DE    นำมาสะท้อนคิดร่วมกัน  เพื่อเข้าสู่วง dialogue   
  10. wicked systems    มีกระบวนทัศน์ร่วมกันว่า งานที่กำลังทำ และมีความท้าทายสูงร่วมกันนั้น   ยิ่งกว่าซับซ้อน ยิ่งกว่าเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่เปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก    มีความไม่คงเส้นคงวา   ต้องมีระบบและกลไกช่วยให้เรียนรู้และปรับตัวได้เร็ว          

ที่จริงตอนเสนอในที่ประชุม มีเพียง 7 keyword    แต่คิดออกอีก ๑ ตอนจะจบการประชุม    คิดเพิ่มอีก ๒ ตอนเขียนบันทึกนี้    และจริงๆ แล้ว 10 keywords ก็ยังไม่ครบ ต่อการใช้งาน ให้ก่อผลจริง   ต้องการกลยุทธที่แยบยลในระดับปฏิบัติอีกมาก    ที่ต้องคุยกันตอนปฏิบัติจริง    สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเอาชนะคือ ความเคยชินเดิมๆ ของกระบวนทัศน์การทำงานแบบ simple & linear   และต่างหน่วยต่างทำ (บางทีก็ขัดขากัน)    ต้องปรับสู่การทำงานในระบบที่ wicked    และมีเป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมที่สูงส่ง    จนทุกหน่วยงานในระบบ ววน. รู้ดีว่า รวมกันเราอยู่   แยกกันเราตาย   

ก่อนออกแบบ เป้าหมาย (ที่ทรงคุณค่า) ต้องชัด    และเป็นเป้าหมายร่วมที่ทรงพลังของ stakeholders ทั้งหมด

ทั้งหมดนั้น เป็นข้อสะท้อนคิดของผม จากการประชุม    เพื่อเสนอต่อ สกสว. และต่อ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์    สำหรับเป็นข้อมูล นำไปคิดต่อ    เพื่อออกแบบ DE  ของระบบ ววน. ให้ก่อคุณค่าต่อการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศได้จริง   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๕

 

 

                                                                                                                                  

 

 

หมายเลขบันทึก: 711625เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2023 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2023 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท