30 มกราคม 2566
: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
การปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการศึกษา
Big Rock รายงานการปฏิรูปประเทศเพียงการรายงานผลการปฏิบัติ
มีผู้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่ามีอะไรใหม่บ้าง จากสมัย สปช.และ สปท. ในช่วงปี 2557-2559 การปฏิรูปด้านการศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องปฏิรูปก่อนเป็นลำดับแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (1)-(4) และมาตรา 261 ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และตามมาตรา 4(1) แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 270 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 การดำเนินกิจกรรมภายในปี 2565 หรือช่วงเวลาที่แผนการปฏิรูปประเทศต้องสำเร็จผล โดยการรายงานความคืบหน้าของกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาทุกไตรมาส แต่ในสภาพที่ปรากฏกิจกรรมจำนวนมากแสดงผลการดำเนินการว่าเป็นไปตามแผน ซึ่งอาจไม่ได้แสดงถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างแท้จริง เพียงแต่มีผลในการนำเสนอตัวเลขในเชิงประสบความสำเร็จมากกว่า ทำให้ไม่อาจการประเมินความสำเร็จเชิงประจักษ์ได้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน มาทบทวนเหตุการณ์ล่าสุดในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา “เชิงประจักษ์” เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปด้านการศึกษาไทย
ความสำคัญของการฝึก "นิสัย"
คำกล่าวของอนันต์ อัศวโภคิน (2563) เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ ที่ได้เนื้อหาและแรงบันดาลใจยิ่ง เรื่องการฝึก "การสร้างนิสัยแห่งความสุข" (มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด, 2016) เพื่อระบบการศึกษาที่ดีต้องมิใช่เพียงให้เรียนเก่ง ในขณะที่คนอื่นๆ บอกว่าต้องเร่งยกระดับการศึกษาของชาติ แต่คุณอนันต์ ตั้งคำถามว่า คนที่ประสบความสำเร็จ จะต้องเรียนเก่งจริงหรือไม่ ประเทศไทยเน้นเรื่องการศึกษามาก จนลืมเรื่องความสำคัญของการฝึก "นิสัย" คนไทยควรจะมีนิสัยอย่างไร จึงจะเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทุกวันนี้โลกวุ่นวายไม่ใช่เพราะคนไม่มีการศึกษา แต่เพราะคนนิสัยไม่ดี และมีการศึกษาเยอะต่างหาก
หลักสูตรท้องถิ่นนวัตกรรมแห่งทุนท้องถิ่น
(11 มิถุนายน 2561)
ระบบการศึกษาของไทยปัจจุบัน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เจตนาที่จะให้เสรีภาพแต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนเอง
ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 เป็นการกระจายอำนาจ กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดหลักสูตรท้องถิ่น
แต่การศึกษาไทยประสบปัญหาที่แปลกแยกจากชุมชน ขาดการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชน เด็กไทยยิ่งเรียนสูง ยิ่งห่างไกลจากชุมชน ไม่รู้จักรากเหง้าของตนเอง ตามที่ นพ.ประเวศ วะสี ว่ามีปัญหา 2 ส่วนใหญ่คือ (1) การแยกชีวิตออกจากการศึกษา ทำให้คนลืมรากเหง้าของตัวเอง เหมือนกับสังคมไทยถูกตัดรากเหง้าทางวัฒนธรรม และ (2) ทำให้สังคมไม่เกิดความสมดุล
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ในปี พ.ศ.2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดใหม่ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) แห่งใหม่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้ทันสมัย แต่ยังยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในปี 2565 ได้ปรับผังการออกอากาศ 15 ช่องสัญญาณตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูวิชาเอกจำนวนมากจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากระบบความคมชัดมาตรฐาน (Standard Definition : SD) เป็นระบบความคมชัดสูง (High Definition : HD) โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เด็กๆ เกือบทั่วโลกต้องหยุดเรียนในสถานศึกษาเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
การปลดล็อกผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.)
เมื่อ 31 สิงหาคม 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(ก.ย.ศ.) (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 27 มาตรา โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก
การพิจารณามาตรา 13 แก้ไข พ.ร.บ.กองทุน ก.ย.ศ. มาตรา 41 กำหนดให้ผู้กู้เงินกองทุนจะต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมี กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติ และมีส.ส.ขออภิปรายจำนวนมาก ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น และผู้แปรญัตติ ด้วยมติ 182 ต่อ119 งดออกเสียง1 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง เท่ากับว่าที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นด้วยว่าให้ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้ หรือหมายความว่าไม่เห็นด้วยกับคณะ กมธ.เสียงข้างมาก
การพิจารณามาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุน ก.ย.ศ. เกี่ยวกับผู้กู้ยืมเงินจะต้องมีหน้าที่ชำระเงินกู้ยืมที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เสนอให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 2% แต่ต่อมาคณะ กมธ.เสียงข้างมาก ปรับลดให้เก็บอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ โดยฝ่ายเสียงข้างน้อยเสนอไม่ให้เก็บดอกเบี้ย และไม่ให้เก็บเบี้ยปรับ
ซึ่งผู้จัดการ กยศ. ได้แถลงการณ์เตรียมความพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่เปิดเผยสรุปว่า (29 ธันวาคม 2565) สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของวุฒิสภา โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ทุกราย
ในขณะที่ข่าว (24 สิงหาคม 2565) สหรัฐ เตรียมยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คนละไม่เกิน 1 หมื่นดอลล์
โพล ม.สวนดุสิตเกี่ยวกับการศึกษาและครูไทย
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2565 พบว่า ประชาชนคิดว่าปัญหาการศึกษาไทย ณ วันนี้ เกิดจาก ความเหลื่อมล้ำทางสังคม 61.19% รองลงมาคือ การบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ 59.49% โดยเห็นด้วยว่าในช่วงโควิด-19 “ครูไทย” ปรับตัวได้ดีทันกับการเปลี่ยนแปลง 70.71% ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนา “ครูไทย” คือ เงินเดือนและค่าตอบแทน 65.34 รองลงมาคือการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 64.49% ทั้งนี้ครูไทยที่ดีควรรักในอาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู 74.98% รองลงมาคือ กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีการแบบเดิมๆ 67.42% และประชาชนมองว่าอาชีพครูยังเป็นอาชีพที่คนอยากเป็น 57.97% รองลงมาคือ ไม่อยากเป็น 40.99%
จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลเกี่ยวกับ “การศึกษาและครูไทย” หลายปีที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยยังคงมาจากความเหลื่อมล้ำและการบริหารงานที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง แม้จะต้องการปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้นแต่ก็ยังคงมีปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 กลับพบว่าบุคลากรสำคัญอย่าง “ครูไทย” นั้น ปรับตัวได้เป็นอย่างดี สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย ทั้งนี้บทบาทของครูไทยที่ประชาชนคาดหวังก็คือการเป็นครูที่รักในอาชีพและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่คนไทยอยากเป็น และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษาไทยต่อไป
สำหรับในเรื่องการทุจริต ข้อมูล ป.ป.ช. (3 มกราคม 2565) พบว่า 5 หน่วยงานรัฐถูกร้องทุจริตสูงสุด กระทรวงศึกษาธิการลำดับที่ 4
วิพากษ์ประเด็นการศึกษา
(1) โรงเรียนกับชุมชนต้องพึ่งพากัน คนท้องถิ่นเอื้อเฟื้อโรงเรียนมาตลอด กฐินผ้าป่าทำบุญโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียน ฉะนั้น โรงเรียนก็ต้องเอื้อเฟื้อท้องถิ่นเช่นกัน ไม่ใช่มาอ้างต้นสังกัด (สพป., สพม.) หลักสูตรก็เอื้อเฟื้อเจือจุนท้องถิ่นพัฒนาไปด้วยกัน
(2) ระบบการศึกษาไทยยุคดิจิทัลยังเหมือนเดิม ล้มเหลว การนำลัทธิการลอกเลียนแบบมากำหนดให้เยาวชนทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะแต่ละสังคมตามแต่ละภูมิประเทศ แต่ละภาค ไม่เหมือนกัน ต้องสอบแข่งขัน ต้องแย่งชิงตำแหน่ง ชิงความเป็นเลิศ ซึ่งก็เท่ากับการสร้างสังคมให้เป็นสังคมของการแข่งขัน ไม่ใช่สังคมแห่งการแบ่งปันหรือช่วยเหลือกัน จึงมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก แต่ผ่านไปแล้ว 4 ปี วันนี้อันดับทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกลงไปอยู่ที่ 56 ในการเปรียบเทียบจาก 64 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน ซึ่งต้องถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว”
(3) มีข่าวเด็กไทยยังนิยมเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แห่ลาออกกลางคันเทียบวุฒิอเมริกาเพียบ (30 สิงหาคม 2565)
(4) ปลัด ศธ.โต้แย้งเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวว่า สอดคล้องกับแผนงบฯ อัตราการเกิดไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 2513 รร.รับเด็กเกิดน้อยลง ทำให้มี รร.ขนาดเล็กผุดมากขึ้น จนต้องควบรวม รร.
(5) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 17.40 น. ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ย้ำอัดเม็ดเงินหนุนเข้าถึงการศึกษาเสมอภาค ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit 2022 : TES) ในช่วง Leaders’ Round Tables ซึ่งอยู่ระหว่างสัปดาห์ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่ละประเทศต่อประเด็นการศึกษาทั่วโลกที่อยู่ในสภาวะวิกฤตและการพัฒนาการศึกษาเพื่อบรรลุสันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
(6)การจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำนั้น ขณะนี้ เลขา กพฐ. กล่าวว่า (25 สิงหาคม 2565) สพฐ.ได้นำการเรียนรู้ในเรื่องนี้เข้าสู่สถานศึกษาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะได้มีการปรับปรุงไปแล้วในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2561 แต่ยังไม่เกิดจริงในสถานศึกษา ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าสพฐ.จะมุ่งเป้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ Active Learning และในปีนี้จะต้องพัฒนาครูให้ได้ 100% เพื่อที่ในปีการศึกษาหน้าครูจะได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกลไกลหลักสูตร แผนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
(7) มิติใหม่การคุ้มครองสิทธิพื้นฐานนักเรียน มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านการศึกษา นร.-นศ.ตั้งครรภ์ โรงเรียนห้ามกดดันให้ออก
(8) การบูลลี่ (Bullying) เด็กเป็นเรื่องต้องห้าม มิได้มีกระแสเฉพาะในเมืองใหญ่ ข่าวผู้ปกครอง-นร.ร.ร.มัธยมแห่งหนึ่งที่ อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ฮือถือป้ายชุมนุมจี้เขตตรวจสอบผอ. ผอ.มีพฤติกรรมบริหารงานไม่โปร่งใสหลายโครงการ ใช้คำพูดบูลลี่เด็กนักเรียนเพศที่สามหรือเพศทางเลือกหรือ LGBTQ (กลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ) ทำให้เด็กน้อยใจอับอาย (19 ธันวาคม 2565)
อ้างอิง
บทความเอกสารวิชาการ/รายงานวิจัย
"การบริหารโดยสถานศึกษาและชุมชนเป็นฐาน" (School and Community Based Management : The Challenge of Educational Reform in the Second Decade) by Sukanya Chaemchoy (สุกัญญา แช่มช้อย), วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม–เมษายน 2555, https://www.academia.edu/t/beP84-PTvANTX-bamRpM/resource/work/7586067/การบริหารโดยสถานศึกษาและชุมชนเป_นฐาน?email_work_card=view-paper
21st Century Themes Learning, กรอบการปฏิรูปการศึกษาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยดร.อนุชา โสมาบุตร, 25 กันยายน 2556, https://teacherweekly.wordpress.com/2013/09/25/การเรียนรู้แห่งศตวรรษท/
ข่าว
มท.เต้น โกงอาหารกลางวันโรงเรียน อปท.สั่งผู้ว่าฯ ทั่ว ปท.เข้ม พบโรงเรียนสมยอม ผู้ขาย คนตรวจรับ เบิกครบ “หมู/ผักสด” ขาดอื้อ, ผู้จัดการออนไลน์, 31 พฤษภาคม 2561,19:04, https://mgronline.com/politics/detail/9610000054144
หลักสูตรท้องถิ่นนวัตกรรมแห่งทุนท้องถิ่น โดย วิทยา เกษรพรหม, มติชน, 11 มิถุนายน 2561, https://www.matichon.co.th/education/news_995514
ทุนจีนจ้องซื้อมหา'ลัยดังอีกกว่า 10 แห่ง หลังเทกฯ “เกริก-แสตมฟอร์ด” สำเร็จ, ผู้จัดการออนไลน์, 15 พฤศจิกายน 2562, https://mgronline.com/specialscoop/detail/9620000109613
เนื้อหาดีๆ ที่อยากแบ่งปัน จากคุณอนันต์ อัศวโภคิน, LinkedIn, 9 สิงหาคม 2563, https://th.linkedin.com/pulse/เนอหาดๆทอยากแบงปน-จากคณอนนต-อศวโภคน-watchara-jantarach
'วิษณุ'ชมคุณหญิงกัลยา 3 ปีผลักดันการศึกษาไทยก้าวไกลสู่สากล, ไทยโพสต์, 15 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/education-news/200848/
ในหลวง เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแห่งใหม่, ไทยโพสต์, 20 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/hi-light/204584/
ดุสิตโพล ชี้ปัญหาการศึกษาไทยมาจากความเหลื่อมล้ำ-การบริหารงานของศธ., ไทยโพสต์, 21 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/education-news/204674/
‘โจ ไบเดน’ ปธน.สหรัฐ เตรียมยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้คนละไม่เกิน 1 หมื่นดอลล์, มติชน, 24 สิงหาคม 2565, https://www.matichon.co.th/foreign/news_3525906
'อัมพร'ลั่นปีการศึกษาหน้า มุ่งเป้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ควบคู่เรียน-สอนแบบActive Learning, ไทยโพสต์, 25 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/education-news/207760/
เด็กไทยฮิตเรียนต่อมหา’ลัย ตปท.แห่เทียบวุฒิอเมริกา ลาออกกลางคันเพียบ แฉเบื่อระบบการศึกษาไทย, มติชน, 30 สิงหาคม 2565, https://www.matichon.co.th/education/news_3531755
เฮลั่น สภาฯ ปลดล็อก 'ผู้ค้ำประกัน' กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, ไทยโพสต์, 31 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/general-news/211756/
พระราชวิสัยทัศน์พระราชา ลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม, ไทยโพสต์, 31 สิงหาคม 2565, https://www.thaipost.net/royal-court/211496/
นับถอยหลังแผนการปฏิรูปประเทศต้องเห็นผลสิ้นปี 65 แต่ยังไม่บรรลุเป้า ตั้งเกณฑ์ง่าย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง, iLaw, 3 กันยายน 2565, https://ilaw.or.th/node/6239
การศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ยุคสมัยเปลี่ยนไป...แต่ทำไมระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม, โดยไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว, ไทยโพสต์, 14 กันยายน 2565, https://www.thaipost.net/articles-news/221543/
'ปลัด ศธ.' โต้ 'นักวิชาการด้านการศึกษา' การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับแผนงบฯ รับเด็กเกิดน้อยลง ทำให้มีรร.ขนาดเล็กผุดมากขึ้น จนต้องควบรวม, ไทยโพสต์, 15 กันยายน 2565, https://www.thaipost.net/education-news/222370/
‘บิ๊กป้อม’ โผล่ยูเอ็น สหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา, มติชน, 20 กันยายน 2565, https://www.matichon.co.th/politics/news_3571806
ระดับโลก 'บิ๊กป้อม' กล่าวถ้อยแถลงการประชุมผู้นำฯเวทียูเอ็น ย้ำอัดเม็ดเงินหนุนเข้าถึงการศึกษาเสมอภาค, ไทยโพสต์, 20 กันยายน 2565, https://www.thaipost.net/politics-news/225193/
'ร่าง พ.ร.บ.กยศ. 'เปิดมิติใหม่ระบบการเงิน หนี้ค้างชำระให้หักเงินต้นก่อนดอกเบี้ย ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องแล้ว สามารถแปลงหนี้ได้, ไทยโพสต์, 29 ธันวาคม 2565, 19:01 น., https://www.thaipost.net/general-news/293585/
หมดปี 2565 แล้วก็หมายความว่าเวลาของ "การปฏิรูปประเทศ" ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้เป็นเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจก็หมดลงเช่นกัน, iLaw, 31 ธันวาคม 2565, https://m.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10167456003395551/?type=3
ป.ป.ท.เผย 5 หน่วยงานรัฐถูกร้องทุจริตสูงสุด “มหาดไทย” เต็งหนึ่ง, Thai PBS News, 3 มกราคม 2565, https://www.thaipbs.or.th/news/content/323177
ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายคุ้มครอง นร.-นศ.ท้อง โรงเรียนห้ามกดดันให้ออก คุ้มครองสิทธิด้านการศึกษา, สยามรัฐออนไลน์, 13 ธันวาคม 2565, 17:08 น., https://siamrath.co.th/n/407003
ผู้ปกครอง-นร.ฮือถือป้ายชุมนุมจี้เขตตรวจสอบผอ.บริหารไม่โปร่งใสบูลลี่เด็กเพศที่สาม, สยามรัฐออนไลน์, 19 ธันวาคม 2565, 22:25 น., https://siamrath.co.th/n/408674
NB : บทความนี้เผยแพร่ใน FB เพจสิทธิมนุษยชนและการแรงงาน, วิวาทะการปฏิรูปการศึกษาไทย (Educational Reform)(3), 29 มกราคม 2566 : ทึมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), https://www.facebook.com/100062494300418/posts/pfbid02QDDReNsBKzRtPHnQhHBukxpS2jKwvmWdqUqBZCmaqbbHcMVxEvvYWYjTwLAi7b1vl/?mibextid=cr9u03
เห็นว่ายากลำบากกันแทบทุกฝ่ายและยาวนานทีเดียว แต่ก็ยังมีความเห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างคนอื่นเขา ถ้าจะปรามาสว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องยังมีคุณภาพไม่ดีพอ ก็คงมีคนไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าจะเรียกว่าอย่างไรดี ขอความคิดเห็นครับ….วิโรจน์ ครับ
นิสัย comes from repetitions, repetitions come from needs or traditions or beliefs. We can say that habits are personal or cultural or both. if education is about building habits then we have to focus on individuals AND society at large.