เงากระต่าย


เดือนกุมภาพันธ์ 2544 แพทย์แถลงอมีบากินสมองคน 2 ราย พาดหัวยักษ์แทบทุกสื่อ เด็กเล็กบ้านริมคลองล้วนเหมือนมีชีวิตถูกสาป ถูกห้้ามลงเล่นน้ำคลองเด็ดขาด ผู้คนตั้งคำถามว่าระบบน้ำประปาของถิ่นที่ตนอยู่สะอาดพอไหม สระน้ำล้วนเงียบเหงา เพราะสังคม'กลัวน้ำ'อย่างปุบปับ 

ผมยังเคยคิดเล่น ๆ ว่า อมีบากินสมองคน ไม่น่ากลัวเท่ากับความบ้าคลั่งตามแห่ 'ตามกระแสสังคม'

อมีบากินสมองคนคงไม่บ่อย และกินได้ทีนึง ก็คงไม่กี่สมอง

แต่'กระแสสังคม'นี่ กินสมองคนได้ในวงกว้าง กินทีนึงเป็นล้าน ๆ สมอง

น่ากลัวผิดกันเยอะ

ผ่านไปหกปี ตอนนี้ใครพูดคำ "อมีบากินสมองคนน่ากลัวมาก" แม้แต่คนที่เคยผ่านวันเวลาช่วงนั้นมา ก็คงมองหน้าคนพูดว่าไอ้บร้านี่มันกำลังพูดถึงเรื่องอะไรฟะ ไม่คุ้นอ๊ะ

สังคมไทยขี้ลืมครับ

มองในมุมบวก นี่คือความเสน่ห์ ความน่ารักของสังคมไทย

หลังเกิดเหตุการลอบฆ่าคนด้วยระเบิดใน กทม ในวันส่งท้ายปีเก่าปี 2549 สิ่งที่เกิด ดูเหมือนจะทำให้คนจำนวนมากตกใจ กลัว ระแวง คล้ายกับกรณีอมีบากินสมองคน

ตกใจเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจมาก่อน เพราะเชื่อว่าสังคมไทยรักความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ไม่น่าจะมีใครมาชวนตี

ผมเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ ยังมีผู้คนไม่น้อย อาจยังอยู่ในระยะของการปฎิเสธความเป็นจริงของโลกภายนอก ปฎิเสธว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่เคยเกิดขึ้น

เหมือนคนที่รู้ข่าวว่าตัวเองติดโรคร้ายใหม่ ๆ จะปฎิเสธว่า ไม่จริง เป็นไปไม่ได้ ที่สิ่งนี้เกิดกับตัวเอง (มีผู้เขียนเล่าไว้ที่ปฏิกิริยาทางจิตใจเมื่อทราบการวินิจฉัย)

และอาจมีบางคน ที่ผ่านไปสู่อีกระยะ กลายเป็นคนหวาดระแวง จิตใจเป็นเหมือนกระต่ายที่พร้อมจะกระโดดผึงเมื่อมีอะไรมากระตุ้น  กระโดดได้ แม้เมื่อเห็นเงาตัวเอง และวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ดังในเรื่องเล่าคนเก็บของเก่าจากถังขยะ

แต่พูดในฐานะของคนใต้ที่อยู่ในถิ่นที่โดนวางระเบิดบ่อย สิ่งหนึ่งที่จะเล่าสู่กันฟังได้ก็คือ ช้าหรือเร็ว เรื่องเช่นนี้ก็จะถูกเลือนลืม และผ่านไป เหมือนกับเรื่องอื่น

แต่แน่นอนว่า สิ่งนี้จะทิ้งแผลเป็นไว้ในเบื้องลึก ซึ่งคงเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเริ่มปรับใจได้ สิ่งที่จะเป็นคือ ไม่หวาด แต่จะระแวดวะวัง โดยไม่ตื่นตูม

เพราะเมื่อลองตรองดูในระยะยาวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้ชีวิตกว่าเดิมสักเท่าไหร่ เมื่อนึกถึงว่า ชีวิตมีความเสี่ยงแวดล้อมในชีวิตประจำวันในระดับที่มากกว่าความเสี่ยงตรงนี้เยอะอยู่แล้ว

สังคมมักเย้ยหยันการใช้สถิติว่าเป็นเครื่องมือของคนเลว แต่สถิติเอามาใช้ในด้านดีก็ได้ โดยใช้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการ"คิดอย่างแยบคาย" หรือ "คิดอย่างเป็นภววิสัย (เป็นกลาง ๆ)"

เราเสี่ยงที่จะตายเพราะสารพิษในชีวิตประจำวันในผัก ปลา เนื้อ น้ำ มากกว่าเสี่ยงที่จะตายจากการฆาตกรรมทางสังคมไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า

เราเสี่ยงที่จะตายเพราะอุบัติเหตุทางถนนหรือทางน้ำ มากกว่าเสี่ยงที่จะตายจากการฆาตกรรมทางสังคมไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า

แล้วชีวิตก็จะกลับมาเดินต่อไป พร้อมกับลืมอดีตส่วนใหญ่ไว้เบื้องหลัง เสมือนหนึ่งไม่เคยเกิดขึ้น

แผลเป็นสังคมคงเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นแล้ว การดิ้นรนไม่ยอมรับว่าไม่เคยเกิดขึ้น รังแต่ทำให้ตนเองหดหู่สับสน เท่ากับวางระเบิดทางจิตใจไว้ในตัว ให้ทำลายตนเอง 

ไม่มีประโยชน์ที่จะทำให้สังคมเสียโฉมด้วยการให้ตัวเองตื่นตระหนกเกินเหตุ

ระลึกไว้ว่า อมีบาเวอร์ชัน 2.0 จะช้าหรือเร็ว มันก็จะผ่านไป

 

หมายเลขบันทึก: 71144เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท