10 เรื่องน่ารู้ของวันเกษตรแห่งชาติ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566


  1. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันเกษตรแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมของไทย และยังเป็นการนำเอาแนวพระราชดำริของพ่อหลวงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ทั้งในด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่
  2. ประวัติวันเกษตรแห่งชาตินั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงสนับสนุนให้เกิดงานเกษตรแห่งชาติ เพื่อเป็นการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการ
  3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มจัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้น ครั้งแรกในวันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ.2491 เป็นประจำทุกปี ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 
  4. “งานเกษตรแฟร์” คือ งานวันเกษตรแห่งชาติ ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับงานในปีนี้  จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ตามแนวคิด "80 ปี เกษตรนนทรี นำวิถีใหม่ ไทยยั่งยืน" ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีการดำเนินการสอนด้านการเกษตร ได้จัดงานเกษตรแฟร์ขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
  5. กิจกรรมที่จัดขึ้นในงานวันเกษตรแห่งชาติ อาทิ การจัดนิทรรศการด้านการเกษตร การจัดแปลงสาธิตด้านการเกษตร การจัดงานอบรมสัมนาและงานประกวดด้านการเกษตร การออกร้านขายของสินค้าทางการเกษตรของเกษตรกร เป็นต้น
  6. “กษัตริย์-เกษตร” คือ พระฉายาของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 อันทำให้เกิดพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเกษตรและการชลประทานของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการปลูกหญ้าแฝก โครงการแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นต้น
  7. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรของรัชกาลที่ 9 มีมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย  อาทิ 
    • โครงการพระราชดำริทางภาคเหนือ 
      • โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
      • โครงการแปลงรวบรวมไม้ผลพันธุ์ดีและพันธุ์พื้นเมือง บ้านป่าบงมูลนิธิชัยพัฒนา ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน
      • โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
    • โครงการพระราชดำริทางภาคกลาง
      • โครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
      • โครงการปลูกไผ่เชิงเศรษฐกิจโดยใช้วิธีเกษตรธรรมชาติ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
      • โครงการฟาร์มทดสอบสาธิตมีนเกษตรสองน้ำ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
    • โครงการพระราชดำริทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      • โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
      • โครงการพัฒนาพื้นที่การเกษตรแบบผสมผสานบ้านติ้ว จ.อุดรธานี
      • โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแดนสามัคคี ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
    • โครงการพระราชดำริทางภาคใต้
      • โครงการปลูกพืชผสมผสานของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.คุระบุรี อ.คุระบุรี จ.พังงา
      • โครงการอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน ต.แม่นางขาว อ.คุระบุรี จ.พังงา
      • โครงการศึกษาทดลองการเพาะปลูกพันธุ์ปาล์มน้ำมันและเกษตรผสมผสาน อ.คุระบุรี จ.พังงา
  8. เกษตรทฤษฎีใหม่ เกิดขึ้นจากกรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก ทำให้เกษตรกรเลี้ยงตนเองได้และมีความพออยู่พอกิน
  9. สาเหตุที่เรียกว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะเป็นแนวคิดที่ยังไม่เคยมีใครคิดขึ้นมาก่อนในด้านการจัดการที่ดินและน้ำแบบพอเพียง โดยมีการแบ่งจัดสรรที่ดินขนาดเล็กเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนเพื่อการเกษตรและการยั่งชีพได้ตลอดปี มีการคำนวณด้านปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บไว้เพื่อการเกษตรได้ตลอดปี และมีวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อการจัดสรรที่ดินต่อการอยู่อาศัยและการทำมาหากินของเกษตรกรรายย่อย
  10. โคก หนอง นา โมเดล เกิดขึ้นมาจากหลักคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ผสมผสานกับหลักคิดภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้เกิดเป็นการเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนในชุมชน 
หมายเลขบันทึก: 711438เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2023 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2023 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี