มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน  โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี 


 

มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน  โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี   

สถาบันพระบรมราชชนก : มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน

และการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑

 

 

 

 

โดย

 

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี

ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

 

 

 

 

ปาฐกถาพิเศษในการประชุมวิชาการของสถาบันพระบรมราชชนก

๙ มกราคม ๒๕๖๖


 

 

๑.

สถาบันพระบรมราชชนกคือโอกาส

ในการบูรณาการระหว่างการผลิตบุคลากรสุขภาพกับระบบบริการ

 

ในอดีตโครงการอนามัยโลกจัดประชุม เรื่อง การวางแผนการผลิตกำลังคนเพื่อสุขภาพ (Health Manpower Production) ระดับโลก หลายครั้งหลายหน ข้อเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือ 

 

“บูรณาการการวางแผนระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้”

 

แต่ไม่เคยสำเร็จเพราะทั้ง ๒ ฝ่าย เสมือนสร้างดาวกันคนละดวง คือ

ผู้ผลิตหรือมหาวิทยาลัยเน้น เรื่อง ความเป็นเลิศทางเทคนิคหรือวิชาการ

กระทรวงสาธารณสุขเน้นระบบบริการที่ทั่วถึงเป็นธรรม

หลักสูตรการผลิตบุคลากรสุขภาพที่ทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐานมา ๑ ศตวรรษ โดยข้อเสนอแนะของ Abraham Flexner เมื่อ ค.ศ.1911 เป็นการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง อย่างที่เรารู้จักกันดี

เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและวิจิตร (Sophisticated) ยิ่งขึ้น ๆ การผลิตบุคลากรสุขภาพก็ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ๆ จนกระทบต่อระบบ

ระบบบริการสุขภาพแพงขึ้นลิบลิ่ว และให้ผลไม่คุ้มค่า ไม่ cost-effective ดังเช่น สหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณเพื่อสุขภาพถึง ๑๗ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ให้ผลตอบกลับทางสุขภาพต่ำ ประชาชนไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพใด ๆ ทั้งสิ้น ระบบสุขภาพที่แพงขึ้น ๆ และให้ผลไม่คุ้มค่าก่อให้เกิดวิกฤตบริการสุขภาพ (Healthcare crisis) ซึ่งแก้ไขได้ยาก ขนาดประธานาธิบดีคลินตันและสุภาพสตรีหมายเลข ๑ คือ Hillary Clinton เป็นผู้นำการปฏิรูปเอง ก็ไม่สำเร็จ


 

 

         ระบบบริการสุขภาพที่ดี นิยามด้วยอักษร ๓ ตัว คือ EQE

E = Equity              ... มีความทั่วถึงเป็นธรรม

Q = Quality            ... มีคุณภาพ

E = Efficiency         ... มีประสิทธิภาพ

คุณภาพมีความหมายกว้างและลึกมากกว่ามิติทางเทคโนโลยีอย่างเดียว การแพทย์ตติยภูมิและการแพทย์ทุติยภูมิมีความเป็นเลิศทางวิชาการเป็น technic - oriented care ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดระบบบริการที่ดี EQE

จำเป็นต้องคิดถึง ระบบบริการแบบ EQE หรือ System – oriented care

การเอาระบบเป็นตัวตั้งไม่ได้หมายถึง ทอดทิ้งเทคนิคเทคนิคเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แต่ระบบมีหลายมิติเข้ามาประกอบกันเป็นองค์รวมที่ให้คุณสมบัติ EQE

ระบบสุขภาพชุมชน คือ คำตอบ

         ในปีค.ศ.2011 เมื่อครบ ๑ ศตวรรษของระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพแบบเอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง คณะกรรมการระดับโลกได้เสนอ

21st Century Health Profession Education

         ซึ่งโดยสรุปเปลี่ยนกระบวนทรรศน์จากการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง สู่การเอาระบบเป็นตัวตั้ง เพื่อแก้วิกฤตระบบบริการสุขภาพ

         กว่า ๑ ทศวรรษผ่านไป ยังไม่ปรากฏการเปลี่ยนทิศทาง การศึกษาบุคลากรสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญ

         สถาบันพระบรมราชชนก ในฐานะมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เหมาะสมที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อน 21st Century Health Profession Education หรือ 21 HPE 

         อีกทั้งนายกสภาสถาบันกับรองอธิการบดีท่านหนึ่งก็เป็นผู้ที่ได้ทุ่มเท เรื่อง 21 HPE มาเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี


 

 

๒.

ระบบสุขภาพชุมชนคือกุญแจ

สู่การสร้างระบบบริการสุขภาพ EQE

 

ระบบสุขภาพชุมชน หรือระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครอบคลุมประชากรเต็มพื้นที่และเป็นบริการแบบองค์รวม ซึ่งรวมกันป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพด้วย ต่างจากระบบทุติยภูมิและตติยภูมิที่เน้นความเป็นเลิศทางการรักษารายบุคคล

ระบบสุขภาพชุมชน หรือบริการปฐมภูมิ น่าจะประกอบด้วยหน่วยบริการ ๘ หน่วย ซึ่งเชื่อมโยงกัน อาจเรียกว่า

มรรค ๘ แห่งระบบสุขภาพชุมชน ดังนี้

  1. ประชาชนและครอบครัวดูแลตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนด้วยข้อมูลความรู้อย่างดีที่สุด อาจสร้าง AI เป็นที่ปรึกษาของครอบครัว
  2. ควรมีพยาบาลชุมชน มีบุคลากร ๓ คน คือ พยาบาล ๑ ผู้ช่วย ๒
  3. อาสาสมัครชุมชน เช่น อสม. หรืออื่น ๆ ที่ได้รับการฝึกอย่างดี
  4. ร้านขายยาใกล้บ้าน สนับสนุนด้วยข้อมูลความรู้และการอบรม
  5. ควรมีศูนย์การแพทย์แผนไทย ๑ แห่งต่อตำบล
  6. คลินิกเอกชนในชุมชน (ถ้ามี)
  7. รพ.สต. ๑ แห่งต่อตำบล
  8. โรงพยาบาลชุมชน ๑ แห่งต่อ ๑ อำเภอ

ทั้ง ๘ หน่วย ควรทำงานเชื่อมโยงบูรณาการกัน ใช้เทคโนโลยีสื่อสารระหว่างกัน และกับศูนย์การแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นระบบบริการปฐมภูมิอัจฉริยะ

การมีระบบสุขภาพชุมชนที่ดี จะทำให้ประชาชนทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องด้วยคุณภาพสูง เป็นระบบบริการสุขภาพ EQE โดยแท้


 

 

โรงพยาบาลชุมชน คือ จุดยุทธศาสตร์[1]

 

 


 

 

๓.

บูรณาการ

การพัฒนาคือการเชื่อมโยง

 

การพัฒนาทุกวันนี้ทำแบบแยกส่วนเป็นส่วน ๆ เป็นบางส่วนตัดขาดจากกัน การชำแหละอะไรออกเป็นส่วน ๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นชีวิต อะไรที่ไม่มีชีวิตก็เรียนรู้ไม่ได้ งอกงามไม่ได้ เป็นประดุจไม้ที่ตายแล้ว (dead wood) ความมีชีวิตเกิดจากการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้ามาบูรณาการสู่องค์รวม เช่น ร่างกายของเรา เมื่อมีชีวิตก็เรียนรู้ได้ งอกงามได้

ฉะนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนต้องเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้ามาบูรณาการกัน อย่างน้อย ๙ ส่วน ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยสร้างความเป็นภาคีกับโรงพยาบาลชุมชน เพราะโรงพยาบาลชุมชนตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างสังคมข้างล่างกับสังคมข้างบน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์
  2. พัฒนานโยบายให้เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเป็นสถาบันทางวิชาการเพื่อชุมชน สามารถทำการสอน วิจัย และบริการได้อย่างดีเลิศ
  3. โรงพยาบาลชุมชนในทุกอำเภอเป็นภาคีกับ พชอ. (คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน) เพื่อร่วมพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ[2] การพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่ คือ คุณภาพชีวิตระดับอำเภอ คือสังคมสุขภาวะ คือระบบสุขภาพชุมชน
  4. สถาบันพระบรมราชชนกนำร่องส่งนักศึกษาของสถาบันทุกสาขา ไปฝึกปฏิบัติงานในระบบสุขภาพชุมชน โดยมีฐานอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน นี่คือภาคปฏิบัติของ 21st Century Health Profession Education มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่ดีที่สุด
  5. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเป็นภาคีกับเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนจำนวนหนึ่ง ร่วมมือกันทำงานทางวิชาการและการวิจัยพื้นที่ เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ และเพื่อมหาวิทยาลัยจะมีสมรรถนะเชิงระบบและการจัดการ แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่กับการทำงานทางเทคนิคเท่านั้น
     

 

  1. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยมีนโยบาย “ชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ” ที่ส่งนักศึกษาจากทุกสาขาวิชาไปปฏิบัติงานในชุมชนอย่างน้อย ๓ เดือน นิสิตนักศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยรวมกันมีจำนวนประมาณ ๒ ล้านคน พลังคน ๒ ล้านคนจะไปเชื่อมต่อสังคม ทำให้คนไทยรู้ความจริงของแผ่นดินไทย ไม่ใช่รู้แต่วิชาในตำรา การรู้ความจริงของแผ่นดินไทยจะเป็นพลังให้ทำอะไรได้ถูกต้อง
  2. กระทรวงอุดมศึกษาฯ มหาวิทยาลัย และองค์กรวิชาชีพทางสุขภาพต่าง ๆ มีความเห็นพ้องในการส่งนักศึกษาทุกสาขาวิชาทางด้านสุขภาพไปฝึกปฏิบัติงานในระบบสุขภาพชุมชน และร่วมวิจัยและพัฒนาให้หลักสูตรนี้สามารถผลิตบุคลากรสุขภาพ มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานในระบบสุขภาพที่มี EQE (Equity Quality Efficiency) เป็นผลสำเร็จตามอุดมการณ์ บูรณาการระหว่างการผลิต และระบบบริการสุขภาพ 

ซึ่งคือสาระของ 21st Century Health Profession Education

  1. เมื่อทั้ง ๗ องค์ประกอบข้างต้นบูรณาการกัน ก็เป็นการง่ายที่ภาคส่วนอื่น ๆ จะเข้าร่วม เช่น ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคประชาสังคม ภาคการศาสนา องค์กรอิสระ และอื่น ๆ ประเทศไทยเกิดบูรณภาพและดุลยภาพ เป็นสุขภาวะของคนทั้งมวลที่สมบูรณ์
  2. ทั้ง ๘ องค์ประกอบเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ด้วยอำนาจ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร แต่เชื่อมโยงกันด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือ PILA (Participatory Interactive Learning through Action) ในสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ในทุกมิติ ที่ยิ่งทำ 
  • ยิ่งรักกันมากขึ้น เพราะมีความเสมอภาค ภราดรภาพ และสามัคคีธรรม
  • ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น
  • ยิ่งฉลาดขึ้นและฉลาดร่วมกัน
  • เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius)
  • ทั้งหมดเป็นพลังมหาศาล ที่ฝ่าอุปสรรคทุกชนิดไปสู่ความสำเร็จ
  • ก่อความปิติสุขให้แก่ผู้มีส่วนร่วมประดุจบรรลุนิพพาน
    1. ประเทศไทยจะเปลี่ยนใหม่โดยสิ้นเชิง จากการพัฒนาแบบแยกส่วนหรือเป็นส่วน ๆ และเสียสมดุลตามขนบโลก เป็นประเทศไทยที่มีบูรณภาพและดุลยภาพ เป็นระบบสุขภาวะโดยสมบูรณ์


 

 

 

นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงทั้งโลกทัศน์ วิธีคิด ความรู้สึกนึกคิด การปฏิบัติ ความสัมพันธ์ ในสภาวะใหม่อย่างนี้ การจะปรับองค์กรใด ๆ ที่เห็นร่วมกันก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเป็น Transformative force อย่างแท้จริง

โปรดสังเกตว่า เมื่อการศึกษาของบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 อยู่ในระบบบูรณาการที่มี Transformative field อย่างนี้ จะแตกต่างจากการศึกษาแบบแยกส่วน ที่เอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง อย่างไร และเพียงใด
 

๔.

ผลของการบูรณาการระบบสุขภาพชุมชน

 

  1. เมื่อทุกส่วนเชื่อมโยงบูรณาการกัน จะเกิดประเทศไทยที่เป็นองค์รวม (Wholeness) อะไรที่มีสภาพเป็น “องค์รวม” คุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์จะผุดบังเกิดขึ้น (Emerge) เช่นเดียวกับเครื่องบิน เมื่อประกอบชิ้นส่วนกี่หมื่นชิ้นก็ตามครบเป็นองค์รวม คือ เครื่องบิน มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ คือ บินสู่ท้องฟ้าได้ ในขณะที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่มีชิ้นไหนบินได้เลย
  2. เกิดสุขภาพองค์รวม (Holistic health) เรื่อง Health Equity ก็ดี Health Justice ก็ดี ตามอุดมคติของนักคิด โดยยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในระบบบูรณาการนี้
  3. ระบบบริการสุขภาพ EQE จะสำเร็จ
  4. 21st Century Health Profession Education จะสำเร็จ
  5. โดยที่บุคลากรสุขภาพทุกสาขามีจำนวนมาก เมื่อได้ศึกษาใน Transformative learning เช่นนี้ จะกลายเป็นมวลกำลังคนที่มีศักยภาพมหาศาล นอกจากเป็นกำลังพัฒนาระบบบริการสุขภาพEQE แล้ว ยังเป็นกำลังเพื่อการพัฒนาทั้งหมด เพราะสุขภาพไม่ใช่เรื่อง มดหมอ หยูกยา และโรงพยาบาลเท่านั้น แต่บูรณาการอยู่ในการพัฒนาทั้งหมด ดังคำว่า “สุขภาพคือทั้งหมด”(Health is the whole)
  6. ประเทศไทยจะมีสันติภาวะ หรือสันติภาพ ซึ่งขาดแคลนอย่างหนักในโลก โลกปัจจุบันไร้สันติภาพ เพราะพัฒนาอย่างแยกส่วน


 

 

 

  1. ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในโลกที่พัฒนาอย่างบูรณาการได้สำเร็จ เพราะจุดแข็งในวัฒนธรรมไทย คือ ความมีน้ำใจและความเป็นชุมชน ในขณะที่ตะวันตกเน้นความเป็นปัจเจกสูง ยึดมั่นในความคิดของแต่ละคน ๆ ซึ่งยากที่จะทำ 21 HPE ได้สำเร็จ ซึ่งผู้นำเสนอเรื่อง 21 HEP ก็รู้ เขาจึงหวังว่าประเทศไทยและ ASEAN จะนำร่องได้สำเร็จและเขาตาม
  2. ประเทศไทยจะนำร่องการพัฒนาอย่างบูรณาการ และสร้างผู้นำที่มีศักยภาพใหม่จำนวนมาก จาก 21st Century Health Profession Education ซึ่งจะขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกไปสู่ยุคใหม่ของมนุษยชาติ

 

ขอเป็นกำลังใจและอวยพรให้เพื่อนคนไทย ประสบความสำเร็จในพันธกิจอันยิ่งใหญ่ เพื่อมนุษยชาติ

 

 

-----------------------------------------------------------


 

[1]โรงพยาบาลชุมชนแกนสถาบันฐานแผ่นดินไทย สร้างประเทศไทยที่มีบูรณภาพ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี 

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

[2] ดู คู่มือพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน) โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

หมายเลขบันทึก: 711240เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2023 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2023 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท