นวัตกรรมท้องถิ่นไทยที่บิดผันผิดเพี้ยน?


นวัตกรรมท้องถิ่นไทยที่บิดผันผิดเพี้ยน?

13 มกราคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ท่ามกลางการคิดสูตรในการจัดบริการสาธารณะ (Public Service) แบบไปเรื่อยๆ จะเรียกว่าแบบลองผิดลองถูก (trial and error) หรือแบบโครงการนำร่อง (Pilot Project) โครงการคิดค้นขึ้นเอง (Innovation) หรือส่วนกลางสั่งให้ทำ หรือขอความร่วมมือให้ทำ หรือให้งบประมาณมาทำ หรือจะเป็นกิจกรรมโครงการแบบใดก็แล้วแต่ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ และ การจัดกิจกรรมสาธารณะแก่ท้องถิ่นที่มีแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสูตรสำเร็จ โดยเฉพาะการชี้นิ้วสั่งการจากส่วนกลาง จาก “รัฐราชการรวมศูนย์” (Centerized) [2] ก็ตาม เป็นสิ่งที่ อปท. หรือ ท้องถิ่นทุกประเภท ทุกหน่วยจะต้องหันมาทบทวน และถอดบทเรียนกัน เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงดองเค็ม 7-9 ปี (2554-2562)[3] ที่ผ่านมา มันมีประสบการณ์แปลกๆ ที่คนท้องถิ่นต้องจำไว้เป็นบทเรียนในหลายสิ่ง กล่าวในรายละเอียดมีมากมาย แต่ในสาระสำคัญมีอยู่เพิ่งสิ่งเดียวคือ “การปลดล็อกท้องถิ่น” [4] ปลดล็อกการกระจายอำนาจแก่ อปท. ให้มากขึ้นจนอยู่ในระดับอารยสากล อันจะก่อให้เกิดสำนักรับผิดชอบแก่คนในท้องที่/พื้นที่ในการขับเคลื่อนท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มิใช่เพียงอ้างการปฏิรูปแบบถอยหลังลงคลอง แบบหยิบยื่นให้ แบบสั่งการ แบบไม่ส่งเสริมในระบบ 4M หรือมีการฉุดรั้งพัฒนาการประชาธิปไตยด้วยประการอื่นใด

 

ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation)

สิ่งกีดขวางที่ต้องก้าวข้าม โดยที่ “ประเทศไทย 4.0” เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับ ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” หรือ “Value–Based Economy” [5] โดยมีดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงมากหรือเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คุณลักษณะของทรัพยากรมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” จึงมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสาร (communication) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ความร่วมมือประสานงาน (collaboration) และความสามารถในการปรับตัว (adaptability/ Transformation) อันเป็น “Soft Skill” พื้นฐานของยุคดิจิทัลอันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน หาใช่ความฉลาด (talent) หรือความสามารถในการทำงานตามคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตไม่ ดังนั้น การพัฒนาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลรองรับ เพราะคนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการบริหาร (4M) [6] ที่สำคัญ

ย้อนดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) [7] ได้เสนอแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ การนำทุนของประเทศ ที่มีศักยภาพมาใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลกัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทุนทางสังคม เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยให้สังคมไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน และในปัจจุบันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) [8] มุ่งต่อยอดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจกระแสใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้กระบวนทัศน์ที่กำลังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน 

 

นวัตกรรมท้องถิ่น (Local Innovations) คืออะไร

“นวัตกรรม” [9] เป็นคำศัพท์ที่สะดุดตาสะดุดใจผู้อ่าน โดยเฉพาะคนนอกวงการท้องถิ่น นอกวงการ “การบริหารการพัฒนา” [10] (Development Administration : DA or AD) จะพยายามค้นหาความหมาย และแปลความหมายได้ต่างๆ นานา เพราะคำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) นี้ได้ถูกนำมาใช้บ่อยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนา ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) 

อันที่จริงคำว่า “นวัตกรรม” มีบัญญัติความหมายในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542[11] ว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ หมายถึง การนำสิ่งใหม่ๆ อาจเป็นแนวความคิด หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย สรุปคือ เป็นการกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น 

ไม่ว่านวัตกรรมจะมีความว่าอย่างไร คน อปท.ก็ไม่ได้ใส่ใจนัก แถมยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่แท้จริงอีกด้วย ถือเป็นความเสื่อมประการสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรท้องถิ่นที่ควรแก้ไข สาเหตุอาจเป็นเพราะการขาดในสำนึกความรับผิดชอบที่ถูกต้องในท้องถิ่น หรือขาดการสนับสนุนในปัจจัยการบริหารจัดการ 4M ก็สุดจะคาดเดา แต่ผู้เขียนเห็นว่า 4M สำคัญที่สุด เพราะสองสิ่งในนั้นก็คือ “คน” และ “เงิน” ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน เคยมีนักศึกษาได้สอบถามความหมายจากผู้เขียน เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ว่า “นวัตกรรมท้องถิ่น” คืออะไร จะค้นหาได้แหล่งใดบ้าง เพราะว่าได้พยายามค้นหาความหมายแล้ว แต่ค้นคว้ามากเท่าไหร่ ก็ยังไม่สามารถสรุปนิยามความหมายที่กระชับว่ามันคืออะไร และมีอะไรบ้าง 

ฉะนั้นคำศัพท์ “นวัตกรรม” นี้จึงใช้เสียส่วนใหญ่ในแวดวงวิชาการเพื่อการศึกษาวิเคราะห์วิจัย เป็นคำศัพท์ “Technical Term” (คำศัพท์ใช้เฉพาะทาง) ปัจจุบันมีการใช้คำว่า “นวัตกรรม” นี้ในการสื่อความหมายมากขึ้น บ่อยขึ้น หากจะนับเวลาใช้ก็ราวปี 2546 เป็นต้นมา และมีการใช้คำนี้มากขึ้นราวปี 2555 เป็นต้นมา เมื่อมีการใช้คำศัพท์ “นวัตกรรม” นี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาการพัฒนาชุมชน การพัฒนาชนบท และการปกครองท้องถิ่น ต่างได้ศึกษาและรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมท้องถิ่นไว้เป็นเล่มหนาถึง 400-500 หน้า[12] เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษา ถอดบทเรียน แต่เชื่อว่า เป็นบทเรียนที่ไม่รู้จบ เพราะจะมีบทเรียนใหม่ๆ ตามมาตลอด เพราะตราบใดที่ อปท.ยังคงดำเนินกิจกรรมบริการสาธารณะต่างๆ อยู่ก็จะมีนวัตกรรมที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่ากิจกรรมโครงการอาจซ้ำๆ กัน หรือ ไม่ซ้ำก็ได้ แต่เชื่อว่าจะทำให้เป็นข้อสรุปในผลงานของ อปท.ได้ ในระดับที่ต้องดีกว่าเดิม เพราะ อปท.มีมิติความหลากหลายในขนาด ในพื้นที่ ทรัพยากร และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน สูตรสำเร็จเสื้อโหล (One size doesn’t fit all) [13] จึงใช้ไม่ได้กับการพัฒนา อปท. กล่าวคือ ย่อมจะแตกต่างกันในนวัตกรรมของทุกพื้นที่ไป อปท.ไม่เป็นการตลาดแบบ Mass Marketing[14]

วีระศักดิ์ เครือเทพ (2556) [15]นิยามความหมายว่า “นวัตกรรมท้องถิ่น” เป็น A good practice for a local government เป็น “การริเริ่ม คิดค้น พัฒนาการแก้ไขหรือจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน” ที่ต้อง (1) สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะ การพัฒนาการเมืองการปกครอง และ/หรือการบริหารจัดการ (2) เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นที่เห็นชัดเป็นรูปธรรม (3) สามารถถ่ายทอดหรือขยายผลให้แก่ อปท.ซึ่งผลการศึกษารวบรวมเมื่อปี 2546-2548 พบว่า ช่วงระหว่าง พ.ศ.2543-2546 มีประเภทและจำนวนนวัตกรรมท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจำนวนมากมาย รวบรวมกรณีตัวอย่างนวัตกรรมได้จำนวน 529 เรื่อง กระจายตัวอยู่ทุกจังหวัดของประเทศ และครอบคลุมภารกิจต่างๆ ของ อปท.ซึ่งนวัตกรรมท้องถิ่นนั้น (1) ไม่จำเป็นต้องเป็นเลอเลิศสมบูรณ์ (2) ไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดแรกของโลก (3) ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือลงทุนสูง แต่เป็น (1) เรื่องที่ใช้แก้ไขปัญหาได้จริง (2) การริเริ่มใหม่ๆ ในชุมชนท้องถิ่น (3) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สมเหตุสมผล (ของถูกก็ดีได้)

ภาวิณี ลักขษร และกฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ (2562) [16] ได้วิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมท้องถิ่นของ อปท. ทั้งหมด 90 เรื่อง (พ.ศ.2549-2558) จำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ (1) นวัตกรรมด้านการบริหาร (2) นวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ และ (3) นวัตกรรมด้านบริการ

ความหมายกระชับยิ่งขึ้นเมื่องาน 20 ปี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง (26-27 ตุลาคม 2563) [17] “นวัตกรรมชุมชน” หมายถึง การคิดทางใหม่ๆ นวัตกรรมไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นการหาหนทางใหม่ๆ ในการไปสู่เป้าหมาย ซึ่งก็คือ การกินดีอยู่ดี ความผาสุกของประชาชน มีการศึกษาสังเคราะห์สรุปนวัตกรรมชุมชนใน 30 พื้นที่เด่น จัดได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ในเชิงประเด็นได้แก่ (1) ประเด็นทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ที่อยู่อาศัย (3) เศรษฐกิจฐานราก (4) สังคมสูงวัย (5) ความมั่นคงทางอาหาร

 

วัฒนธรรมแนวคิดความเชื่อโบราณมีผลต่อนวัตกรรมไทย

การพยายามหาสูตรสำเร็จในนวัตกรรมมานานแล้ว เพื่อเจอของดี ในความหมายนี้ก็คือ พยายามหาสูตรเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไป หาใช่การหาสูตรสำเร็จเพื่อใช้เป็นการทั่วไป (One size fits all) [18] ไม่ ประเทศที่เก่าแก่มีวัฒนธรรมแบบแผนที่หล่อหลอมมายาวนาน เช่น จากวัฒนธรรมตะวันตก (กรีกและโรมัน) วัฒนธรรมตะวันออก (จีนและอินเดีย) อันเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมโลกจะพบว่า ชนชาติวัฒนธรรมหลักดังกล่าวมีทฤษฎี มีเอกลักษณ์ มี Soft Power ที่ชาญฉลาด สามารถปรับตัวกลมกลืนกับความเชื่อ แหล่งทำมาหากิน อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดเผยแพร่ไปยังกลุ่มพื้นที่ใกล้เคียงได้นำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันตามความเชื่อมมากน้อยตามแต่ละชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในวัฒนาธรรมที่ต่างกัน แต่มีจุดร่วมในวัฒนธรรมหลักเหมือนกัน 

วัฒนธรรมความเชื่อแบบพราหมณ์ฮินดูอินเดียกลมกลืน ครอบงำศาสนาพุทธ จนพุทธในอินเดียสิ้นสูญไป และแผ่ขยายแนวคิดความเชื่อแบบอินเดีย มาย่านสุวรรณภูมิแหลมทองเอเซียอาคเนย์ ไทย พม่า เขมร ลาว นับตั้งแต่แนวคิด “เทวสิทธิ์”[19] (สมมติเทพกษัตริย์) แนวคิดกาลามสูตร[20]  ภารตะ[21]  รวมทั้งตำรับตำรา หรือปรัชญาต่างๆ รวมทั้งการค้าขายเชิงพาณิชย์ ดึงหลอมชนชาติอื่นๆ เข้ามาเป็นพวก ทำให้ลดความแตกต่างในความเป็นต่างพวกลงได้ เป็นการครอบงำแบบอิทธิพลของ Soft Power มิใช่การใช้สงคราม กำลังบีบบังคับ ให้เข้ารีต (Force) ซึ่งใช้ไม่เป็นผล โดยเฉพาะในสังคมโลกปัจจุบัน ในย่านสุวรรณภูมินี้อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียได้ฝังรากลึกมาแต่โบราณเกือบสองพันปีตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 6-7-8[22]ถึงปัจจุบัน ได้แก่ (1) อาณาจักรฟูนัน (Funan) ต่อมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา เป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนา ต่อมาอาณาจักรฟูนันพ่ายแพ้รวมกับอาณาจักรเจนละ (Chen-la) อาณาจักรตอนกลางลุ่มน้ำโขงในปี พ.ศ.1082 และ (2) อาณาจักรลังกาสุกะ (Langkasuka) ตั้งแต่บริเวณปลายคาบสมุทรมลายูถึงตอนบนคาบสมุทรและถึงอ่าวเบงกอล ซึ่งก่อนหน้าเป็นของอาณาจักรฟูนัน และ (3) อาณาจักรจัมปา (Champa)

วัฒนธรรมจีนก็เช่นเดียวกัน แต่แนวคิดความเชื่อแบบจีนในลัทธิ ขงจื้อ เล่าจื้อ เต๋า และคนจีนโพ้นทะเลเพิ่งหลั่งไหลมาไทยมากในช่วงยุครัตนโกสินทร์ ย่านค้าขายพาณิชย์คนจีนมายึดครองตลาด และสร้างความเชื่อหลักไว้ตามย่านต่างๆ จนชุมชนเติบใหญ่กลายเป็นผู้นำในพื้นที่ คนจีนและคนไทยปรับตัวเข้าหากัน จนเข้ากันได้ดีกับคนไทย กลายเป็นคนไทยไปโดยปริยาย นี่คือคนจีนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ (Identity) [23] ของสังคมไทยในการผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรม[24] (assimilation) สังคมไทยจึงมิใช่สังคมพหุนิยม[25] (Pluralism) กล่าวคือ ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้ปกติแทบจะไม่เห็นความต่าง แม้จะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน

ดังนั้นแหล่ง และกิจการค้าสำคัญๆ ในไทย มักมีคนเชื้อสายจีน และอินเดีย ถือครองเป็นส่วนใหญ่

ผู้นำจีนในอดีต ได้พัฒนาประเทศ โดยพัฒนาคน พัฒนางาน ในเวลาต่อมาสินค้าจีนจึงทะลักออกสู่ตลาด เข้ามาถือครองตลาดไทย แม้ในระยะแรกสินค้าจีนเหล่านี้จะถูกด้อยค่าในคุณภาพ แต่ก็พอใช้ได้ เช่น สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องจักรกล เสื้อผ้า และที่สำคัญจีนยังก็อปปี้สินค้าดังๆ ทุกชนิดทั่วโลกเอาไว้ จีนส่งเหล็กมาขายในไทยเป็นรายใหญ่[26] ปัจจุบันจีนมีนโยบายงดส่งออกเหล็กขายต่างประเทศ หันมาทำเครื่องจักรกล และสร้างทางรถไฟ ยาวไปทั่วโลก ผ่านประเทศใด ประเทศนั้นต้องสร้างหนี้ลงทุนสร้างทางรถไฟ โดยจีนออกให้ก่อน เช่น one belt one road[27] นัยยะว่าเป็นการขยายเขตเศรษฐกิจการค้า การระบายสินค้า และในทางกลับกันเป็นการนำกลับสินค้าไปเลี้ยงคนจีนเช่นเดียวกัน เป็นการนำคนในประเทศออกไปทำมาหากินในต่างประเทศ ควบคู่กับสร้างทางรถไฟ และไปลงทุนอุตสาหกรรม การค้า การเกษตร เพื่อสินค้าที่จะนำกลับไปป้อนตลาดจีนได้

ในเชิงลึกพบว่า เมื่อย้อนไปราว 10-20 ปี จีนมีการสร้างคอนเนกชั่นไทยในเรื่องกิจการส่วนรวม เช่น โรงไฟฟ้าขยะ ภาคการลงทุนอุตสาหกรรม การค้า แม้แต่สถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ก็เข้าไปดำเนินการถือหุ้นใหญ่ ใช้วิธีการกลมกลืน ครอบงำ เพื่อเป็นเจ้าของ และเป็นผู้นำในที่สุด เช่นใน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ทุนจีนเข้าไปดำเนินการก่อนหน้าแล้ว นี่เป็นคำอธิบายอย่างง่ายถึงปรากฏการณ์ของ “ทุนจีนเทา” เพราะ จีนมีทรัพยากรคนมากมาย แถมมีทุนอีกต่างหาก 

 

นวัตกรรมสินค้าเพื่อการจำหน่ายและการบริโภคในตลาด 

มองต่างมุมในในเรื่องผลงานวิจัยไทย เป็นเพียงนวัตกรรมเพื่อเป็นผลงานสำเร็จการศึกษา หรือเพื่อการเลื่อนระดับ ตำแหน่ง ในเรื่องเนื้อหาที่วิชาเรียน ปริญญาโท ปริญญาเอก และในข้าราชการครู/ข้าราชการสายงานวิชาการที่จะเลื่อนระดับตำแหน่ง เช่น ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ เป็นต้น เห็นว่าเกี่ยวข้องหรือนำไปใช้กับการพัฒนาประเทศน้อย แต่ในทางวิชาการศึกษาเล่าเรียนถือเป็นการสร้างหลักการ ทฤษฎีปรัชญาในสาขาต่างๆ นั้นได้ เปรียบเสมือนการสร้างองค์ความรู้ในปรัชญาวิทยาการเหมือนยุโรป จีน อินเดีย ในอดีต มหาวิทยาลัยไทยในท้องถิ่น เช่น ราชภัฏ จึงไม่ตอบโจทย์ ความต้องการท้องถิ่นและการพัฒนาประเทศ แต่เน้น จบหลักสูตร หรือเลื่อนตำแหน่งเท่านั้น[28] ปัจจุบันประเทศต่างๆ เน้นศึกษาวิจัย นวัตกรรมที่เป็นเรื่องพัฒนาประเทศ เช่น จีนสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิจัยเชื้อโรค วิจัยอวกาศ หรือวิศวกร รถไฟ ดีที่สุดในโลก วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เครื่องจักรกล แม้แต่นวัตกรรมธุรกิจ การค้า เช่น แจ็ค หม่า, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, อีลอน มัสก์ เป็นต้น

ภาคราชการไทย อยู่ได้ด้วยการเก็บภาษีและการกู้เงิน จึงไม่ตอบโจทย์ การสร้างจักรกล การพัฒนาประเทศแต่อย่างใด ยังหลงใหลอยู่กับเงินทอน เช่น เงินทอนซื้ออาวุธ ในภาคการผลิตเครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรง ปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นของภาคเอกชน แถมเป็นเอกชนโดยทุนต่างชาติทั้งสิ้น ดังนั้น นวัตกรรมสินค้าของไทยทำเองจึงไม่มีตลาดรองรับ ขายไม่ออก สำหรับภาคท้องถิ่นนั้น ทุนรัฐเข้าไปดำเนินการในนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อเป็นสินค้าสู่ตลาดได้ยาก เพราะเกิดปัญหาอุปสรรค รอบด้านใน 4M ที่ไม่เอื้อ ขาดๆ ไม่พอดี ไม่มี มีการแทรกแซง ขาดการตรวจสอบ เป็นจุดอ่อนของ “นวัตกรรมท้องถิ่นไทย”

 

ข้อสรุปเหล่านี้เป็นผลพวงจาก “วัฒนธรรมรวมศูนย์ของไทย” เป็นความบิดผันผิดเพี้ยน[29] ของนวัตกรรมไทยนั่นเอง โดยเฉพาะนวัตกรรมท้องถิ่นไทยที่จำกัดจำเขี่ย อรรถประโยชน์น้อยแทบจะนับหัวได้เท่านั้น ไม่เชื่อลองพิจารณาหาสิ่งดีๆ จากนวัตกรรมเหล่านี้ดูก็ได้ เช่น โคกหนองนา ถังขยะเปียก สงครามยาเสพติด การแก้ไขปัญหาอุทกภัย การแก้ไขปัญหาปศุสัตว์ โรคโควิด การคัดแยกขยะ การทำบ่อขยะรวม การสร้างโรงงานเผาขยะ ฯลฯ เป็นต้น ว่ามีสิ่งอะไรดีบ้าง ขนาดโรงงานไฟฟ้าจากขยะชุมชน ที่เห็นว่าดีมีประโยชน์ยังไม่พ้นถูกประท้วง คัดค้าน[30] นี่คือผลพวงของนวัตกรรมท้องถิ่น แล้วอนาคตนวัตกรรมไทยหละจะอยู่ตรงไหนกัน 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 13 มกราคม 2566, https://siamrath.co.th/n/414674 

[2]หรือ การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization)ลักษณะสำคัญของการรวมศูนย์อำนาจปกครองเป็นการรวมอำนาจไว้ที่เดียว กล่าวคือ เป็นการรวมอำนาจตัดสินใจในภารกิจหลักๆของรัฐ อาทิ เช่น กำลังทหาร ตำรวจ : ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

[3]เพราะว่า คสช.รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง อปท.มาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง อปท.ครั้งสุดท้ายนับจากรัฐประหารมาจนถึงปี 2562 รวมเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี ดู ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 หน้า 12-14, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/134/12.PDF

[4]คำว่า “ปลดล็อกท้องถิ่น” เป็นคำเปรียบเปรยว่า “ท้องถิ่นมีพันธนาการที่ปิดกั้นปิดล็อก (Locked) เจตจำนงเสรี (Will) ของประชาชนเอาไว้” ตามหลักสิทธิและเสรีภาพที่มีประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคนท้องถิ่นในการแสดงความคิดเห็น (Free Speech) ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การปกครองท้องถิ่น” (Local Government) ที่ต้องมี “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) อันเป็นวิถีทางดำเนินการไปสู่เป้าหมายแห่งการปกครองท้องถิ่นนั้น (Means to Ends) : โดยผู้เขียน

[5]การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” จัดทำโดย ผู้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง: ผู้บริหารส่วนราชการ (นบส. 2) (รุ่นที่ 9) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 สำนักงาน ก.พ., https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/page/raayngaanwichaakaar_runthii_9.pdf 

[6]ทรัพยากรการบริหาร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยพื้นฐานของการบริหารที่นำมาใช้ในการบริหารอันสำคัญมีอยู่ 4 ประการ คือ คนหรือบุคคล (Man) เงินหรืองบประมาณ (Money) วัสดุสิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์ (Material) และการบริหารจัดการ (Management) หรืออาจ เรียกง่ายๆ ว่า 4M's การที่จัดว่าปัจจัยทั้งสี่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการบริหารก็เพราะว่าในการบริหารเกือบทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัย คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการทั้งนั้น : สมพงศ์ เกษมสิน, 2536 

[7]กระบวนทัศน์กระแสทางเลือก : ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสังคมไทย (Paradigm of Alternative Flow : Strategies to Drive Creative Economy in Thai Society), โดย ทิพย์วรรณ สุขใจรุ่งวัฒนา (Tippawan Sukjairungwattana) อาจารย์ ดร. ประจำภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-เมษายน 2561, https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/118560/90908/306675

[8]ทิพย์วรรณ สุขใจรุ่งวัฒนา, 2561, อ้างแล้ว

[9]นวัตกรรม Innovation หมายถึงการทำงานสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล (Mckeown, 2008)

ดู Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร? และมีความหมายว่ายังไงบ้าง, by Tiger in Management, 8 มกราคม 2564, โดย tiger, https://thaiwinner.com/innovation/

& สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA : National Innovation Agency) เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดู ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ นวัตกรรมไทยเป็นอย่างไรในสายตาของผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดย อริญชัย วีรดุษฎีนนท์, GQ Thailand, 14 กันยายน 2564, https://www.gqthailand.com/views/article/vision-of-tomorrow

[10]การบริหารการพัฒนา (Development Administration : DA) เป็นการปรับกระบวนการบริหารให้เข้ากับจุดมุ่งหมายของโครงการรัฐบาล ซึ่งหมายความว่า เราต้องทราบถึงความต้องการของรัฐบาลก่อนว่ามีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอย่างไร แล้วจึงนำการบริหารเข้ามาช่วยปฏิบัติการให้สำเร็จผลตามจุดมุ่งหมายนั้น

การบริหารการพัฒนา (Development Administration) หมายถึง สาขาวิชา และยังหมายถึงกิจกรรมหรือกระบวนการ การบริหารการพัฒนา ยังหมายถึง การพัฒนาการบริหาร (Development of Administration / D of A) และการบริหารเพื่อการพัฒนา (Administration of Development / A of D) ดู เอกสารประกอบการเรียน รายวิชา การบริหารการพัฒนา, บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา, โดย อาจารย์กรรณิการ์ กาญจนวัฏศรี, รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, http://pws.npru.ac.th/kannika/data/files/การบริหารการพัฒนา/บทที่%201%20ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา.pdf

[11]ความหมาย “นวัตกรรม” ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ดู บทที่ 1 ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการพัฒนา, เทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร : techno.pnru.ac.th, 2555, http://techno.pnru.ac.th/tong/Technology.pdf

[12]ตัวอย่างเอกสารตำราวิชาการนวัตกรรมท้องถิ่น เช่น หนังสือ “นวัตกรรมการบริหารงานท้องถิ่น” (Local Administration Innovation) โดย ผศ.ดร.อนุจิตร ชิณสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, 2563 & หนังสือ “นิเทศศาสตร์นวัตกรรมท้องถิ่น” (Communication & Local Innovation) หลักการแนวคิดนวัตกรรม โดย อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว, คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, สำนักพิมพ์นาคร : Nakorn Publishing, 2564 (254 หน้า) & พลิกโฉมท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมเพื่อคนไทยทุกช่วงวัย โดย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา, วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, การประชุม Symposium เพื่อเผยแพร่ผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2562, พิมพ์ 2563, (79 หน้า), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:182572

[13]คำว่า One size doesn’t fit allตรงข้ามกับคำว่า "One size fits all"ที่หมายถึงเสื้อผ้าขนาดเดียว "เสื้อโหล" ใส่กันได้ทุกคน ในความหมายนี้คือ “ไม่ใช่เสื้อโหลที่ใส่ได้ทุกคน” การตลาดแบบ One Size Fits All หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า mass marketing ดู One Size Doesn't Fit All โดย รศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช, 10 พฤศจิกายน 2557, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/107649 

[14]Mass Market (ตลาดมวลชน) เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก มีความต้องการซื้อสูง ทำให้ผู้ขายเข้ามาในตลาดนี้เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเน้นผลิตจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม, อ้างจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม : DIPROM, 31 กรกฎาคม 2563 & mass marketing อธิบายอย่างง่ายๆ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยก็คือ การตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทุกกลุ่ม ใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง เช่น ใช้โฆษณาวิทยุ โทรทัศน์ ออกอากาศทีเดียวได้คนดูคนฟังเป็นล้าน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร เป็นต้น ดู One Size Doesn't Fit All โดย รศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช, 10 พฤศจิกายน 2557, อ้างแล้ว

[15]นวัตกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: พลังขับเคลื่อนสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2556, http://intra.polsci.pn.psu.ac.th/add_doccument/doccufile/04-01-2013_16-38-51.ppt 

[16]เงื่อนไขการเกิดนวัตกรรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย (Conditions Conducive to Local Government Innovation in Thailand) โดย ภาวิณี ลักขษร และกฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ (Pavinee Lukkhasorn and Grichawat Lowatcharin), Received: July 12, 2018 Revised: August 28, 2018 Accepted: October 3, 2018, ในวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) : 109-126, https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polscicmujournal/article/download/134048/158114/ 

[17]สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. (Community Organizations Development Institute (Public Organizations)) เป็นองค์การมหาชนของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543

ดู ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง โดย สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร, เนื่องในโอกาส 20 ปี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), กันยายน 2563, https://web.codi.or.th/wp-content/uploads/2020/09/community-innovation_case_compressed.pdf

[18]อ้างแล้ว, เป็นคำตรงข้ามกับคำว่า One size doesn’t fit all คำว่า one size หรือ ไซส์เดียว คำเต็มคือ "one-size-fits-all" หมายถึงเสื้อผ้าขนาดเดียวที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับสรีระร่างกายของผู้คนที่หลากหลายให้สามารถสวมใส่ร่วมกันได้ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เสื้อโหล" ที่สวมใส่กันได้ทั่วไป 

[19]แนวคิดเทวสิทธิ์ เป็นคติความเชื่อเรื่องกษัตริย์คือสมมติเทพ กษัตริย์อยุธยาทรงรับลัทธิเทวราชา มาจากเขมร คือเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้าที่อวตารมาเป็นผู้ปกครองมนุษย์ เป็น "ลัทธิเทวสิทธิราช" ฝ่ายตะวันตกเรียกว่า Divine Right of Kings เป็นหลักความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ภายใต้อำนาจใดภายในโลกียวิสัยเพราะทรงเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจโดยตรงจากพระเจ้า ฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ทรงอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชน ขุนนาง หรือสถาบันใดใดทั้งสิ้น : วิกิพีเดีย

[20]หลักกาลามสูตร (Kalama sutra)คือ วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ สอนว่า “อย่าเชื่อใคร แม้แต่ตัวเอง แต่ให้เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจาก การปฏิบัติจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น” กาลามสูตรเป็นหลักพิจารณาก่อนเชื่อในพุทธปรัชญาเถรวาท พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกาลามะ โดยตรัสสอนมิให้เชื่อเหตุ 10 ประการ คือ 1) โดยฟังตามกันมา 2) โดยนำสืบกันมา 3) โดยตื่นข่าว 4) โดยอ้างตำรา 5) โดยนึกเอา 6) โดยคาดคะเน 7) โดยตรึกตามอาการ 8) โดยพอใจว่าชอบด้วยความเห็นของตน 9) โดยเห็นว่าพอเชื่อได้ และ 10) โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเราแต่ทรงสอนให้สอบสวนให้รู้ด้วยตนเอง

[21]ภารตะมีความหมายกว้างที่รวมความถึงวัฒนธรรม ภารตะ(Bharat)มาจากภาษาสันสกฤตว่า Bharatvarsha เป็นชื่อที่มาจากคัมภีร์โบราณ หมายถึง ชาวอินเดียมักเรียกประเทศตนว่า Bharat มากกว่าเพราะให้ความหมายทางวัฒนธรรม ส่วนชาวต่างชาติมักใช้คำว่า India มากกว่า ดู 69. ภารตะคืออินเดีย โดย โสภนา ศรีจำปา, เวบ Gotoknow, 11 กรกฎาคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/275363 

[22]บทที่ 2 รัฐและอาณาจักรโบราณบนคาบสมุทรมลายู, มหาวิทวิยาลัยสงขลานครินทร์, http://dc.oas.psu.ac.th/dcms/files/03146/Chapter2.pdf

[23]คำว่าเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ความหมายคล้ายคลึงกัน 

เอกลักษณ์ (Uniqueness) หมายความว่าลักษณะที่เหมือนกันหรือร่วมกัน โดยทั่วไปแล้วเอกลักษณ์มักจะถูกใช้งานมากกว่าคำว่าอัตลักษณ์ : ราชบัณฑิตยสถาน 

สรุปเอกลักษณ์ (Uniqueness) หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่สะท้อนให้เห็นเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งของสถานศึกษา : winnsoftstudio 

อัตลักษณ์ (Identity) หมายถึง ผลผลิตของผู้เรียนตามปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร เช่น สถานศึกษา ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด 

สรุปอัตลักษณ์ (identity) หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ คือ อัตลักษณ์ขององค์กร (Corporate Identity : CI or Brand Identity) หรืออัตลักษณ์ของตราสินค้า (Brand Identity) หรือแบรนด์ต่างๆ เป็นภาพลักษณ์ ความคิดและรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคได้รับจากตราสินค้า

ดู Unique กับ Identity ต่างกันอย่างไร, winnsoftstudio, 12 กรกฎาคม 2554, https://www.wynnsoftstudio.com/อัตลักษณ์_เอกลักษณ์ 

& Brand Identity โดย ผู้ช่วยศาตราจารย์ กาลัญ วรพิทยุต, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 

http://utcc2.utcc.ac.th/localuser/brandthaicenter/doc/Brand_Identity.doc 

[24]การกลืนกลายทางวัฒนธรรม หรือ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม (cultural assimilation) คือการโต้ตอบทางการเมืองต่อสถานการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ที่เป็นนโยบายในการส่งเสริมการกลืนชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนหมู่มาก การผสานทางวัฒนธรรมเป็นปรัชญาที่ตรงกันข้ามกับปรัชญาของการยอมรับความแตกต่าง (affirmative philosophy) เช่นในปรัชญาคตินิยมวัฒนธรรมหลากหลาย (multiculturalism) ที่เป็นปรัชญาที่แสวงหาการดำรงความแตกต่างของชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม การกลืนกลาย (assimilation) มักจะเป็นคำที่ใช้กับชนอพยพ เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ 

เพื่อให้เกิดความกลมกลืนทางวัฒนธรรม หรือการผสมผสาน ทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมถึงปรากฏการณ์ ทั้งหลายที่เป็นผลเนื่องมาจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีวัฒนธรรม ต่างกัน มีการติดต่อกันโดยตรงเป็นระยะต่อเนื่องกัน อัน เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแบบวัฒนธรรม ดังเดิมของกลุ่มหนึ่งหรือทั้งสองกลุ่ม แนวคิดเรื่องการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม เป็นนโยบายที่รัฐบาลไทย พยายามใช้ เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยเข้าผสมกลมกลืนกับชนกลุ่มใหญ่ ทำให้มีการกลืนกลายทางวัฒนธรรม หรือ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม (cultural assimilation) คือการโต้ตอบทางการเมืองต่อสถานการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ดู วิกิพีเดีย

[25]พหุนิยม (Pluralism)เป็นหนึ่งในบรรดาคำหลายๆ คำที่ถูกหยิบยกไปใช้อย่างกว้างขวางในแทบจะทุกสาขา แต่โดยรวมแล้วจะมีนัยหมายถึงชุดของแนวคิดที่รับรู้ว่ามีความแตกต่างด้านแนวคิดอยู่ในสังคม และสนับสนุนในความแตกต่างหลากหลายทางแนวคิดเหล่านั้น รวมไปถึงต่อต้านการผูกขาดการตีความ หรือ การครอบงำโดยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเพียงแนวคิดเดียว เช่น พหุวัฒนธรรม (cultural pluralism): วิกิพีเดีย

[26]กำลังการผลิตเหล็กที่สูงเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศจีน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากจีนขยายตัวและแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันและส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กในประเทศต่าง ๆ อย่างมาก จนทำให้เกิดการใช้ anti-dumping duty (AD) เพิ่มขึ้นจากหลายประเทศ รวมถึงไทยที่มีการออกและต่ออายุมาตรการ AD บนสินค้าเหล็กนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ดู มองอนาคตและผลกระทบจากภาวะเหล็กจีนล้นตลาด, โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, SCBEIC, 8 กรกฎาคม 2558, https://www.scbeic.com/th/detail/product/1418

[27]โครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปลายปีค.ศ. 2013 เพื่อจุดมุ่งหมายในการ เชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ในเส้นทางสายไหมหลักทั้งสองเส้น ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ วงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก จุดหมายปลายทางของทางบกนั้นสิ้นสุดที่ยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เริ่มใช้ในปี 2556 คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2592 ดู รุกคืบ: การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนในอาเซียนและภูมิภาคอื่น, เอกสารหมายเลข 3-โครงการ The One Belt One Road, https://www.inclusivedevelopment.net/wp-content/uploads/2017/03/3.-One-belt-One-road-initiative-TH.pdf

& การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) ช่วยเชื่อมจีนกับสังคมโลกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญบางประการของจีนให้หมดไป และสร้างเส้นทางอนาคตใหม่ให้กับจีนและสังคมโลก ดู เส้นทางสายไหมใหม่ เส้นทางการค้าแห่งอนาคต โดยสุมาลี สุขตานนท์, สถานีขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มีนาคม 2562, http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html

[28]มหาลัยออกนอกระบบต้นเหตุช็อปปิ้งงานวิจัย, ใบตองแห้งOnAir, YouTube, VOICE TV, 13 มกราคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=7P7FJp00E_E & “ช็อปปิ้งงานวิจัย” อาชญากรรมทางวิชาการไทย?, ใบตองแห้งOnAir, YouTube, VOICE TV, 12 มกราคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=jKS3vTF_n0w & นักวิชาการไทยซื้อวิจัย สะท้อนอะไรในประเทศ?, YouTube, The MATTER, 12 มกราคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=E1mb7_aNakI & ตีแสกหน้าคอรัปชั่นทางวิชาการ?, ใบตองแห้งOnair, YouTube, VOICE TV, 11 มกราคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=VGGHpLYYk8U & ยุกติ มุกดาวิจิตร: เมื่อมหา’ลัยไทยกลายเป็นโรงงานขายวิชา ค้าวิจัย รีดไถแรงงานอาจารย์, waymagazine, 9 มกราคม 2566, https://waymagazine.org/yukti-mukdawijitra-thai-university-crisis/

[29]“ความบิดผันผิดเพี้ยน” ในที่นี้ผู้เขียนมองในมิติของ “อำนาจ” เทียบคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “abusive” or “abuse power” ที่ในทางปกครองหมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือ แปลแบบตรงตัวว่าเป็น "การบิดผันการใช้อำนาจ" : ผู้เขียน

[30]ชาวบ้านลุกฮือ ต้านโรงงานไฟฟ้าขยะ จี้ พ่อเมือง ตรวจสอบ หวั่นมลพิษกระทบวิถีชีวิต, ข่าวสด, ทุกทิศทั่วไทย, 9 มกราคม 2566, 14:28 น., https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7450513



ความเห็น (1)

Thanks for the dissertation of ‘นวัตกรรม’.

I personally think the word is overused because people think it has steroid hormones to pump up whatever… ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท