รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกร


รูปแบบการบริหารงานวิชาการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกร

             ยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ โดยคนไทย มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา             มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและ  มีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ  มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็น           ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3  และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้            และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด                    ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่ และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง นำมาสู่นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง (สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฉบับย่อ 2560 :5)  จากการที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติดังที่กล่าวมา สิ่งที่จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาได้ตามเป้าหมาย ของยุทธศาสตร์ชาติได้คือการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ ( Creative Thinking ) รวมทั้งการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่21 ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงเราพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 แบบนี้ ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C3R คือ Reading (อ่านออก) (W) “Riting (เขียนได้), และ(A) Rithemetics (คิดเลขเป็น)7C Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะใน การแก้ปัญหา Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์) Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)  Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) 

          และในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่อมาเราพูดถึง Hard Skill และ Soft Skill เนื่องจากความรู้ต่างๆ ในยุคนี้มักอยู่ในรูปแบบ “VUCA” ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจาก V-Volatility (การเปลี่ยนไว), U-Uncertainty (ความไม่แน่นอน), C-Complexity (ความซับซ้อน) และ A-Ambiguity (ความคลุมเครือ) ความรู้ต่างๆ จึงมีลักษณะของความไม่แน่นอนสูง พยากรณ์ได้ยาก และคลุมเครือ ซึ่งเป็นความจริงที่พวกเราและผู้เรียน ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน             ทุกวันนี้ ความรู้นอกจากจะถูกค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายจากทุกสถานที่และทุกเวลาที่ต้องการเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ยังมีอายุที่สั้นลงและล้าสมัยได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องสอนให้ผู้เรียน เข้าใจว่า “ความรู้ถูกสร้างมาได้อย่างไร และรู้ว่าแม้วันนี้ความรู้จะถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็อาจถูกล้มและเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” และยังมีสิ่งอื่นอีกที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ นั้นคือ “ทักษะ” (Skills) ซึ่งเป็นสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติเพื่อประยุกต์สิ่งที่ได้รู้มาในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือสามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้เพื่อประกอบอาชีพและประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้  โดยทั่วไป เราอาจสามารถแบ่งทักษะได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. Hard Skills คือ ทักษะหรือความสามารถที่ใช้ในการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ การทำบัญชี การเล่นกีฬา การเขียนโปรแกรม การวาดภาพ การวิจัย การทำอาหาร การใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้น
  2. Soft Skills คือ ทักษะหรือความสามารถเฉพาะบุคคลที่ใช้เครื่องมือวัดหรือประเมินเป็นระดับคะแนนได้ยาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้นำ การบริหารเวลา มนุษยสัมพันธ์ การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ เป็นต้น

สำหรับวิธีการแยกแยะว่า ทักษะใดเป็น Hard skills หรือทักษะใดเป็น Soft skills โดยทั่วไปแล้ว อาจใช้หลักการ ดังต่อไปนี้

  • Hard skills เป็นเรื่องของวิชาชีพ (Professional) ในขณะที่ Soft skill มีความเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality) 
  • Hard skills เป็นทักษะซึ่งสามารถใช้เครื่องมือวัด ประเมิน หรือทดสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนกว่า Soft skills 
  • การใช้  Hard skills จะเป็นการใช้ทักษะกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่การนำ Soft skills มาใช้จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 

อ่านบทความเกี่ยวกับ “Soft Skills ที่ต้องมีในยุค AI”เพิ่มเติมได้ที่ www.marketingoops.com/reports/industry-insight/ibm-research-soft-skills-in-digital-disruption-world/

        Professor Kar Yan Tam คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) ได้คาดการณ์ว่า กว่า 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 นั้น เราอาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า มันจะเป็นอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไรบ้าง แต่ทักษะของงานเกิดใหม่ในโลกอนาคตจะเป็นการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ รวมถึงการอาศัยความชำนาญด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราต่อการเรียนรู้และการทำงาน แล้วเราจะเตรียมเด็กๆ ของเราให้เข้ากับโลกอนาคตที่ไม่หยุดนิ่งและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร แนวโน้มในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเพื่อการศึกษาแห่งอนาคต [อ้างอิงจาก thematter.co/social/7-trend-in-education/40365 ] อาจสามารถสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้

          Coding literacy : การเข้าใจเรื่องระบบและการเขียนโค้ด

         ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการบรรจุวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะการพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ มีความสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทั้งโลก จะเป็นทักษะสำหรับทุกคนที่ไม่อยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์

         Students as creators : การสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นนักคิดสร้างสรรค์

โลกยุคใหม่ผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) มาเป็นผู้สร้าง (active) ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนสามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ โดยปราศจากข้อจำกัด และการปิดกั้นทางความคิดจากกรอบการเรียนแบบเดิม

        Empathy and Emotion Understanding : การสร้างความรู้สึกนึกคิดและความเข้าใจผู้อื่น

การศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ทักษะแบบมนุษย์ เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ การส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุคแห่ง AI ซึ่งหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้

       Collaborative Learning : การเรียนรู้ร่วมกัน

        โลกของความสำเร็จ การทำงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ในแต่ละส่วนงานคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทแทบทุกแห่งได้กำหนดไว้ในทักษะสำคัญในการรับเข้าทำงาน คือ สามารถทำงานเป็นทีมและร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี

      Individualized Learning: การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้เรียนที่แตกต่างกัน

       นักการศึกษาสมัยใหม่ต่างให้ความเห็นว่าความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อพัฒนาจุดแข็งหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน จะเน้นพัฒนาทักษะทางสังคม (Soft skill) หรือทักษะที่จะทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร เช่น การใช้ภาษา การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี บุคลิกและการแสดงออกทางสังคม ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ

      Family and Community Involvement: การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน

       ครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบข้างล้วนมีผลกับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยตรงการอบรมและให้การศึกษาไม่ได้เป็นภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์แต่ทั้งครอบครัวและชุมชนรอบข้างของเด็กๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้รอบด้าน

      Redesigning learning Spaces: การออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

โรงเรียนของไทยมีลักษณะที่เป็นแบบแผน มีครูมายืนหน้าชั้นและพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียว ห้องเรียนในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกคิดและออกแบบใหม่ไปสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระ และสุดท้าย เราคงต้องสอนเด็กๆ ว่า “จงอย่าเก่งแค่ด้านเดียว แต่จงเป็นผู้มีความรู้แบบตัว T” เพราะ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแท้จริงจะมีทักษะโดยรวมแบบแขนของอักษร T ซึ่งแสดงถึงความกว้างของการรอบรู้เรื่องราวต่างๆ และขาของตัว T จะเป็นตัวแทนของความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานในอนาคตจะเป็นโลกของคนที่มีทักษะหลากหลายและมีความรู้แบบข้ามสายงานจนสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นได้ งานประจำแบบเป็นกิจวัตร หรือ Rountine job สำหรับมนุษย์จะค่อยๆ หมดไปและถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ สถาบันการศึกษายุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่สอนเป็นรายวิชาและขาดการเชื่อมโยงถึงกันเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่ไม่มุ่งแต่การให้องค์ความรู้ตามเนื้อหาของรายวิชาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เน้นไปที่การพัฒนาทักษะประเภท Hard skills ในรูปแบบของฐานสมรรถนะโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะประเภท Soft skills เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความเอาใจใส่และเข้าใจ (Empathy) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง 

เรียบเรียงโดย อาจารย์ธิติ ธีระเธียร ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาครูและนักเทคโนโลยีทางการศึกษา

StarfishLabz และ Starfish Academy มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

          จากการที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงวิถีการเรียนรู้  วิถีการทำงาน วิถีการดำเนินชีวิต และสิ่งที่เราจะช่วยให้ผู้เรียนเราสามารถปรับตัวในมุมมองของผู้เขียนที่เคยบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน,การศึกษาอาชีวศึกษา และในปัจจุบันบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาบริหารการศึกษา ทำให้มีมุมมองในด้านการจัดการศึกษาในทุกระดับที่จะต้องมุ่งเน้นทักษะกระบวนการคิด Soft skills ทุกด้าน เช่น คิดวิเคราะห์, คิดวิพากษ์, โดยเฉพาะคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นการคิดที่เป็นการคิดขั้นสูงหากผู้เรียนหรือเยาวชนของประเทศไทย,คนส่วนใหญ่หรือประชากรในประเทศไทยมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์จะสามารถทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้อย่างแน่นอน 

        ความหมายของความคิดสร้างสรรค์

          ความคิดสร้างสรรค์มีผู้ให้คำนิยามไว้มากมายเนื่องจากสามารถมองได้หลากหลายแง่มุมซึ่งนักการศึกษาหลายๆท่านได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ไว้ในหลายประเด็นเป็นต้นว่า  เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2545, หน้า3-4) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ในความคิดแง่บวกคือการพูดแง่บวกโดยไม่ได้มีนัยที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างหรือแปลกใหม่ความคิดสร้างสรรค์ในการกระทำที่ไม่ทำร้ายใครคือการมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างให้ดีขึ้นคิดเชิงเสนอแนะมากกว่าตำหนิติเตียนความคิดสร้างสรรค์ในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง สมศักดิ์  ภู่วิภาดาวรรธน์ (2544, หน้า 2) ยังกล่าวเสริมอีกว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนยากแก่การให้คำจำกัดความที่แน่นอนตายตัวถ้าพิจารณาความคิดสร้างสรรค์ในเชิงผลงานผลงานนั้นต้องเป็นงานที่แปลกใหม่และมีคุณค่ากล่าวคือใช้ได้โดยมีคนยอมรับถ้าพิจารณาความคิดสร้างสรรค์ในเชิงกระบวนการกระบวนการคิดสร้างสรรค์คือการเชื่อมโยงสัมพันธ์สิ่งของหรือความคิดที่มีความแตกต่างกันมากเข้าด้วยกันถ้าพิจารณาความคิดสร้างสรรค์เชิงบุคคลบุคคลนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความแปลกเป็นตัวของตัวเองเป็นผู้ที่มีความคิดคล่องมีความคิดยืดหยุ่นและสามารถให้รายละเอียดในความคิดนั้นๆได้

          สรุปได้ว่าความคิดสร้างสรรค์หมายถึงความสามารถในการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมไปสู่สิ่งใหม่โดยอาศัยกระบวนการคิดสร้างสรรค์ซึ่งทำให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแปลกใหม่มีคุณค่ามีความหมายต่อผู้เป็นเจ้าของความคิดและจะต้องเป็นที่ยอมรับว่ามีความถูกต้องในสังคมมีความดีงามน่าชื่นชมและมีสุนทรียภาพ

         กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์

        กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์เป็นการแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนหรือลำดับการเกิดความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนถึงระยะที่ได้ความคิดหรือไอเดียตามทัศนะของ (Wallas, 1926 อ้างมาจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Creativity#Graham Wallas) มี 4 ขั้นตอนดังนี้

            1) ขั้นการเตรียมตัว (Preparation) เป็นขั้นที่เราจะเชื่อมโยงสัมพันธ์ความคิดหรือสิ่งที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน

            2) ขั้นฟักตัว (Incubation) เป็นขั้นที่พยายามลืมเรื่องที่ต้องการคิดให้หมดสิ้นเพื่อหาเรื่องใหม่

            3) ขั้นรู้แจ้ง (Illumination) เป็นขั้นที่เกิดการหยั่งเห็นหรือพบคำตอบ

            4) ขั้นการตรวจสอบ (Verification) เป็นขั้นที่ทบทวนตรวจสอบจนพึงพอใจในผลงานแล้วนำเสนอ

             สรุปได้ว่ากระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ทั้ง 4 ขั้นตอนของ Wallas เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในตัวบุคคลเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆซึ่งต่อมาไรลี่และเลวิช (1987, อ้างในสมศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์, 2544, หน้า19-22) ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์อีกลักษณะหนึ่งคือ

               1) ขั้นเห็นปัญหา (Perceiving Problem) คือการมองเห็นปัญหาจากชีวิตประจำวันในมุมมองหนึ่งที่ตนสนใจ

               2) ขั้นขยายปัญหา (Modifying the Problem) คือการมองปัญหาในแง่มุมต่างๆเพื่อหาสาเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแง่มุม

               3) ขั้นการประวิงคำตัดสิน (Suspending Judgment) เป็นการเปิดใจกว้างไม่สนใจต่อคำตัดสินเพื่อให้ผลเป็นไปจินตนาการ

               4) ขั้นผลที่เกิดจากการฟักตัว (Incubation Effect) คือการที่สมองหยุดคิดแต่ฟักตัวของปัญหาเงียบๆแล้วเกิดแวบคำตอบขึ้นในเวลาต่อมา

               5) ขั้นความแนวแน่ในความคิด (Sticking with an Idea) คือการไม่ยอมละทิ้งแนวทางหรือแนวคิดของตนกลับพยายามพิสูจน์แนวคิดนั้นจนสำเร็จ

               6) ขั้นการมองเห็นภาพพจน์ในผลงาน (Envisioning Results) คือการสร้างจินตนาการ

ขั้นสามารถเลือกข้อสรุปที่ดีที่สุด (Selecting the best Conclusion) คือการตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุด

                 7) ขั้นเต็มใจทำในสิ่งที่ตนตัดสินใจ (Willingness to Facilitate a Decision) คือการยอมรับในงานของตนไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคหรือคำคัดค้านจากผู้อื่น

                8) ขั้นการยอมรับในความไม่แน่นอน (Acceptance of Uncertainty) คือการสนใจใน

โครงสร้างที่ไม่แน่นอนไม่กระจ่างชัดเพราะรู้สึกสนุกท้าทายและทำให้เกิดความคิดใหม่

                9) ขั้นความยากลำบากในการจัดระบบของสิ่งที่ไม่เป็นระบบ (Hazards of Systematizingthe Unsystematic) ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถให้คำตอบหรือคำอธิบายที่แจ่มชัดมีระบบระเบียบได้เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่มีการจำกัดขอบเขตเป็นการค้นพบที่ไม่สิ้นสุด จากแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการของคิดสร้างสรรค์ที่กล่าวในข้างต้นสรุปได้ว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการพัฒนาการคิดของบุคคลอย่างเป็นขั้นตอนโดยการคิดหาเหตุผลหรือจินตนาการเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นผสมผสานกับประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลเพื่อให้เกิดความคิดและสิ่งใหม่ๆซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 710797เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2022 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2023 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท