๑๐๐๘. ครั้งหนึ่งของอาจารย์ภัครพล


ครั้งหนึ่งของอาจารย์ภัครพล

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕…เป็นวันที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อนุมัติตำแหน่งให้กับอาจารย์ภัครพล แสงเงิน (ลูกชายคนโตของแม่บุษ…)นับจากที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาผลงานวิชาการ และจากสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม คณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม…เป็นที่เรียบร้อย โดยได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัครพล แสงเงิน สาขาวิชาวรรณคดีไทย อนุสาขาวิชาวรรณคดีสมัยเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔…การเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการใช้เวลา ๑๑ เดือนพอดี นับว่านานพอสมควร นับตั้งแต่ที่แม่บุษ…ยังไม่ได้เกษียณอายุราชการ แต่เมื่อแม่บุษเกษียณอายุราชการแล้ว ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ก็ยังทันได้เห็นข่าวดีกับอาจารย์ภัคร

อาจารย์ภัคร…ได้ศึกษาต่อปริญญาเอกอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ คาดว่าจะทำให้จบการศึกษาในปี ๒๕๖๖…ซึ่งบอกว่า "เป็นการบริหารจัดการชีวิตตนเองที่หนักพอสมควร (เพราะไม่ได้ลาเรียน…เพียงแค่ใช้เวลาบางส่วนในการเรียนช่วงแรกที่มีการระบาดของโรคโควิด)…กับความรับผิดชอบ และการทำผลงานให้กับสาขา การดูแลบุตรสาว การทำผลงานให้กับนักศึกษา การเล่าเรียนของตนเอง และความรับผิดชอบทุกอย่างในฐานะเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทย…จนนำผลงานที่ได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล TCI ๑…เป็นเรื่องเกี่ยวกับไตรภูมิ ฯ และเกี่ยวกับการแปลตำรายาจากภาษาโบราณ…ซึ่งเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่อาจารย์ภัคร มีความชอบ + รัก เป็นทุนเดิมของการศึกษา…ซึ่งส่งเป็นงานวิจัย ๒ เรื่องตามเกณฑ์ของ ก.พ.อ. เป็นเรื่องที่แม่บุษ…ให้การส่งเสริม สนับสนุน แม้ใครจะวิพากษ์ วิจารณ์ก็ตาม แม่บุษ คอยเป็นกำลังใจให้อาจารย์ภัคร ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า เรื่องนี้ เพราะแม่บุษมองว่า ในอนาคตจะนำมาปรับ ประยุกต์ใช้กับชีวิตมนุษย์ได้ เพราะที่ผ่านมา การพัฒนามนุษย์นั้น เป็นเพียงได้ในระดับหนึ่ง

คุณประโยชน์จากวิชาการศึกษา…ความรู้ต่าง ๆ จะนำมาช่วยส่งเสริม พัฒนาในการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก เพราะในโลกใบนี้ ยังมีสิ่งที่มนุษย์ รู้ และไม่รู้จริงอีกมาก ขอเพียงแต่อาจารย์ภัครของแม่บุษ อย่าได้คิดท้อ ถอดใจเสียก่อน เป็นศาสตร์ที่เราควรนำมาศึกษา ต่อยอด ด้วยการแปลตำรายาจากภาษาโบราณ และถอดมาเพื่อส่งต่อให้กับสาขา หรือศาสตร์อื่นที่เกี่ยวกับการนำไปทดลองใช้ ประยุกต์ ซึ่งภาษาที่อาจารย์ภัครแปลนั้น คนส่วนใหญ่ยังอ่านกันไม่ค่อยได้ เพราะเป็นความรู้ ความรัก ความสนใจเฉพาะตัว…นี่คือ ศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่ยังมองกันไม่ค่อยออกว่า มีประโยชน์ต่อคนไทยอีกมากที่เกี่ยวกับความรู้ในเรื่องสมุนไพรไทย ที่นำมาใช้รักษาโรคบางโรคได้ โดยไม่ต้องพึ่งพายาเคมี เช่น การไอ เป็นหวัด ฯลฯ สำหรับศาสตร์ที่อาจารย์ภัครศึกษา คือ การทำหน้าที่แปลภาษาโบราณเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษา ค้นคว้า ต่อยอด นำไปทดลอง และประยุกต์ใช้ต่อไป

สิ่งสำคัญ…อีกสิ่งหนึ่งที่ตระกูลของเราได้สืบสานมาตลอด นั่นคือ ตำรายาของตาทวดแห ซึ่งเป็นต้นตระกูลของยายบัว ที่ทำยาที่ใช้ในการรักษาเด็ก ๆ ในสมัยก่อนที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาเคมีเช่นสมัยนี้ เช่นยาแก้แสลงหมอแห ยาเลือด ยาลม ฯลฯ สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ๆ พ่อกับแม่ยังพาผู้เขียนไปบ้านตาทวด-ยายทวด ยังได้ไปนั่งปั้นยาใส่กระด้งกับบรรดาตา ยายท่านอื่น ๆ พอขึ้นบ้านตาทวด-ยายทวดเท่านั้น กลิ่นยาสมุนไพรเตะจมูกทันที…ช่วงนั้นจะมีตาเจริญ ต๊ะตา ที่สามารถอ่านตำรายาได้คนเดียว แต่ท่านก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยไม่มีใครสืบถอดต่อเรื่องการอ่านตำรายาที่เป็นภาษาโบราณนี้ได้เลย

มาคราวนี้ ถึงคราวที่รุ่นเหลน คือ อาจารย์ภัคร ที่มีความรัก ชอบ ถนัดในเรื่องของการแปลภาษาโบราณต้องมาสืบต่อในการอ่านตำรายาฉบับนี้ออกมาเป็นหนังสือ เพื่อส่งตีพิมพ์ให้กับมนุษย์ชาติได้รับรู้เกี่ยวกับวิถีของการใช้ชีวิตของคนสมัยก่อนว่ามีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในช่วงยุคสมัยนั้น และนำมาประยุกต์ใช้ได้ต่อหรือไม่กับยุคสมัยนี้ เพราะนี่คือ การต่อยอด พัฒนาความรู้ เพื่อใช้ในการดำรงชีพของมนุษย์ในแต่ละยุค สมัย

สำหรับแม่บุษ กับพ่อจเร ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ภัครด้วยที่ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในครั้งนี้…และแม่บุษเองในฐานะทำงานด้านบุคคลมานาน มองเห็นว่า เส้นทางของอาจารย์ภัครยังอีกยาวไกลกับตำแหน่งที่จะทำสูงขึ้นอีก พร้อมกับการทำผลงานวิชาการ บทความ หนังสือ ตำรา การตีพิมพ์ในระดับชาติเพื่อนำมาประกอบการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้อีก…แม่บุษบอกเลยว่า “เป็นงานที่หนักพอสมควร แต่ถ้าหากใจใฝ่ + รัก + ชอบ + ถนัด แม่บุษบอกได้เลยว่า อาจารย์ภัครจะสามารถนำความรู้มาทำให้กับประเทศไทยได้อีกมากมาย”…พ่อจเรกับแม่บุษ ขอเป็นกำลังใจให้กับอาจารย์ภัคร เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คอยเสนอแนะ แนะนำ ให้คำปรึกษาเท่าที่กำลัง ความสามารถของพ่อกับแม่แล้วกัน เพราะนี่คือ เส้นทางของสายวิชาการที่เรามีหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ต้องทำตามเส้นทางของตัวเราเอง เป็นศาสตร์ที่ในศตวรรษหน้าจะต้องนำมาบูรณาการ ปรับ ประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ แม่บุษขอบอก…ขอจงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุดเท่าที่ตัวเราจะทำได้…สุดท้ายของชีวิต สิ่งที่ได้ คือ ความภาคภูมิใจของตัวเราเองว่า "ชาติหนึ่ง…เราเกิดมาได้ทำอะไรให้กับชาติไทยบ้าง?" นี่คือ ตัวของเราเอง…มองให้ออก มองให้ขาดและมองให้เป็นกับความคิด…การมีวิสัยทัศน์ในการใช้ชีวิตจริงลูก…หากทำสิ่งใดด้วยความมั่นใจ เชื่อมั่นในตนเองในทางที่ถูกต้อง แม่บุษบอกได้เลยว่า…อย่าได้กลัวสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น จงเก็บผลงานวิชาการให้ได้มากที่สุดเท่าที่ตัวเราจะทำได้ นี่คือ หน้าที่ของสายวิชาการ กับตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น"

***************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 710680เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณพี่แก้ว แทนอาจารย์ภัคร ด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท