ตัวอย่างความพยายามในการอบรมจริยธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย


ความพยายามในการอบรมจริยธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย

              ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาและวิจัยของเรา เพราะ 1) มีเอกสารพร้อมให้ศึกษากว่าประเทศใดในโลก 2) มีปัญหาและมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างเห็นได้ชัด 3) มีขั้นตอนตามลำดับขั้นของกระบวนทรรศน์ชัดเจน แต่เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงของกระบวนทรรศน์ยุคกลาง เราจึงไม่มีตัวอย่างของกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์และกระบวนทรรศน์โบราณให้ศึกษา แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะกระบวนทรรศน์ดังกล่าว เราหาตัวอย่างได้ง่าย ๆ ในสังคมไทยเรา สำหรับกระบวนทรรศน์อื่น ๆ เราพอจะมีกรณีศึกษาที่ยกขึ้นมาพิจารณาได้พอสมควร หากได้กรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกามาร่วมพิจารณาเชิงเปรียบเทียบ ก็จะช่วยให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งจนสรุปออกมาเป็นทางแก้ปัญหาเฉพาะถิ่นของเราได้เพียงพอ

              1. กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ (Primitive Paradigm) กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์แสดงออกในหมู่คนไทย โดยการปักใจเชื่อเจ้าเข้าทรง เชื่อการเสี่ยงใบเซียมซี เชื่อหมอดูในรูปแบบต่าง ๆ (ทั้งนี้ไม่รวมพวกที่ไม่เชื่อแต่ไม่อยากลบหลู่ และพวกที่เชื่อโหราศาสตร์ตามหลักวิชาการดูดวงและดูลายมือสังกัดกระบวนทรรศน์โบราณ) คนไทยกลุ่มนี้เรียนวิชาการเพื่อสอบผ่านได้ปริญญาและทำงานตามกฎเกณฑ์เพื่อรับค่าตอบแทน ในความสำนึกของพวกเขามีแต่น้ำพระทัยของอำนาจลึกลับตามที่พวกเขาเชื่อว่ามี คุณธรรมสำหรับพวกเขาคือทำตามที่รับรู้จากวิธีที่พวกเขาเชื่อถือ การอบรมใด ๆ จะไร้ผลหากไม่มีประกาศิตของเบื้องบนที่พวกเขาเชื่อถือมายกอ้างให้พวกเขากลัวหรืออย่างน้อยเกรงใจได้ คุณภาพชีวิตของพวกเขาไม่สู้จะมี และพวกเขาก็ไม่สนใจที่จะมี พวกเขาสนใจแต่เพียงความคุ้มครองจากเบื้องบนเท่านั้น และพวกเขาก็พอใจเพียงแค่นั้น สัญชาตญาณที่ครอบงำพวกเขาคือสัญชาตญาณสสาร รักษาตัวรอดเป็นยอดดีและนิ่งไว้สองไพเบี้ย ไม่คำนึงว่าใครจะเดือดร้อนหรือถูกเบียดเบียนรังแก การเชื่อเบื้องบนอย่างนี้มีอันตราย เพราะอาจมีผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมอ้างเบื้องบนเพื่อให้เขาได้ประโยชน์ได้โดยง่าย นโยบายที่มีผู้เสนออยากช่วยนิมนต์พระมาช่วยอบรมศีลธรรมในโรงเรียน หากไม่มีการอบรมพระให้เข้าใจเรื่อง “คนดีตามกระบวนทรรศน์” เสียก่อน ก็อาจจะได้พลเมืองที่มีคุณธรรมระดับดึกดำบรรพ์มาเพิ่มปัญหาแก่ประเทศชาติก็ได้ จึงต้องมีโครงการอบรมพระที่มีความรู้เรื่องกระบวนทรรศน์หรืออลีนะในทิฏฐิสูตรยังไม่เพียงพอให้เพียงพอเสียก่อน ก็จะดี

              2. กระบวนทรรศน์โบราณ (Ancient Paradigm) กระบวนทรรศน์โบราณแสดงออกในหมู่คนไทย โดยการยึดติดคำสอนคำสั่งและคุณธรรมที่เจ้าสำนักชูขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของสำนัก ซึ่งศิษย์สำนักจะพยายามท่องจำและจดจำทุกคำเพื่อเป็นมงคลประจำตัว และเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสำนักซึ่งก็ถือว่าเป็นมงคลอีกส่วนหนึ่ง คุณธรรมสำหรับคนกระบวนทรรศน์นี้คือการท่องจำและปฏิบัติคุณธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสำนักให้เคร่งครัดไว้ ยิ่งเคร่งครัดมากเท่าใดก็ยิ่งมั่นใจในความดีมากเท่านั้น การอบรมที่เป็นวาระแห่งชาติจะต้องอาศัยเจ้าสำนักสนับสนุน ซึ่งก็จะเป็นคนดีตามที่เจ้าสำนักกำหนด แต่ถ้าเจ้าสำนักไม่ให้ความร่วมมือหรือวางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อวาระแห่งชาติ นโยบายชาติก็จะล้มเหลวอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

              3. กระบวนทรรศน์ยุคกลาง (Medieval Paradigm) กระบวนทรรศน์ยุคกลางแสดงออกในหมู่คนไทยบางคน โดยการยึดติดในศาสนาของตนในระดับคลั่งไคล้ คือ อุทิศตัวให้แก่ศาสนาของตนจนลืมหน้าที่อื่น ๆ ในสังคมเสียสิ้น พร้อมจะดูแคลนศาสนาอื่นทั้งหมดโดยถือว่าได้บุญแรง คุณธรรมสำหรับพวกเขามีอยู่ข้อเดียว คือ คลั่งไคล้ศาสนา จะอบรมให้มีคุณธรรมอะไรนอกเหนือไปจากนี้จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นบาปทั้งสิ้น

              พลเมืองอเมริกันเริ่มโดยกลุ่มผู้เคร่งศาสนา (puritan) ลี้ภัยการกีดกันผู้นับถือศาสนาต่างนิกาย จึงรวมตัวกันอพยพไปตั้งหลักแหล่งเป็นอาณานิคมแรก ๆ ของผู้คลั่งไคล้ศาสนา พวกนี้พยายามตั้งสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย โดยถือเอาการอบรมศีลธรรมตามศาสนาและนิกายของตนเป็นหลัก โทนี ดีวายน์ ได้สรุปย่อวิธีอบรมคุณธรรมในสถานศึกษาของพวกเขาไว้ว่า 

“ระหว่างศตวรรษที่ 18 - 19 ระบบการศึกษาได้สอดแทรกการสอนศีลธรรมเข้าไปในทุกวิชา เช่น ในวิชาคัดลายมือ ครูจะให้คัดข้อความศีลธรรมที่ต้องการให้นักเรียนคุ้นเคย เช่น อยู่เฉย ๆ สังเวยบาป” (Tony Devine, 2000)

              ชาวตะวันตกที่พากันอพยพไปตั้งหลักแหล่งเป็นพลเมืองรุ่นแรกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ผู้เคร่งศาสนาชาวคริสต์ (Quakers, etc.) พวกเขาพยายามจัดระบบการศึกษาขึ้นตามมาตรฐานของยุโรปในขณะนั้น โดยเน้นการอบรมบ่มนิสัยผู้เขียนให้เป็นคนดีมีศรัทธาต่อศาสนาคริสต์นิกายเคร่งครัดที่ตนสังกัด พวกเขาได้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่ง เช่น ฮาร์เวิร์ด (Harvard) เพื่อสร้างผู้นำทั้งด้านศาสนา การศึกษา การเมือง และสังคม ให้ออกไปบริหารและขณะเดียวกันก็อบรมประชาชนให้เป็นคนดีตามมาตรฐานของตน โดยทำงานเป็นทีมเดียวกัน เราจึงเห็นตัวอย่างผู้นำในสมัยนั้น เช่น จอห์จ วอชิงตัน (George Washington) โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เบนจามิน แฟลงค์คลิน (Benjamin Franklin) ซึ่งโนอาห์ เว็บสเทอร์ (Noah Webster) ได้เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1790 ว่า

“การศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญที่สุดในการสร้างอุปนิสัยของประชาชน ศีลธรรมจะต้องเป็นรากฐานของการปกครอง... สร้างระบบรักษาศีลธรรมของประชาชนไว้ย่อมง่ายกว่าคอยจับผิดแก้ไขด้วยการลงโทษลงทัณฑ์ผู้ละเมิดกฎระเบียบของสังคม” (Frederick Rudolph, 1965)

              ระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น จึงเน้นให้แทรกการอบรมจิตใจเข้าไปในทุกวิชาที่สอนทุกระดับชั้นเรียน เช่น ในวิชาคัดลายมือ ก็ให้พยายามหาคติพจน์มาให้นักเรียนคัดอย่างเช่น God help only those who help themselves. Time and tide wait for no man. Early Birds catch worms เป็นต้น (Tony Devine, 2000) ทั้งนี้โดยหวังว่า การได้ย้ำข้อธรรมและคติพจน์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ จิตใต้สำนึกจะเต็มไปด้วยความสำนึกดี ๆ อันจะเป็นกรอบกำกับการดำรงชีวิตไปตลอดชีวิต ซึ่งก็สังเกตได้ว่า นโยบายการศึกษาของวัฒนธรรมอื่น ๆ ทั่วโลกที่อยู่ในช่วงกระบวนทรรศน์ที่ 3 ก็ตั้งสถานศึกษาขึ้นโดยมีเป้าหมายและวิธีการอบรมสั่งสอนคล้ายคลึงกัน การศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยในสมัยที่อยู่ในเขตวัด ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กันอย่างนี้

              4. กระบวนทรรศน์นวยุค (Modern Paradigm) ก่อนหน้านี้ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์คู่คี่กันมาในประวัติศาสตร์ แต่การวางแผนอบรมศีลธรรมนั้นต่างฝ่ายต่างพัฒนาวิธีการและกลยุทธ์เอง มิได้เลียนแบบกันแต่ประการใด แต่หลังจากนี้ไปประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำหน้าประเทศไทย เพราะประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมและปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์เป็นกระบวนทรรศน์ยุคก่อนประเทศไทย

              นักนวยุคนิยมเน้นมนุษยนิยม ดังนั้นจึงนิยามคุณธรรมว่าการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ นักจริยธรรมของกระบวนทรรศน์นี้ต่อมาแบ่งแยกกันออกเป็น 2 สายที่ต่างก็สนับสนุนการเมืองแต่ละระบบ สายแรกถือหลักการว่าปัจเจกต้องอุทิศตนเพื่อความมั่นคงของสังคม นั่นคือ ทาสต้องอุทิศความเป็นปัจเจกเพื่อให้รัฐฝ่ายใต้มั่นคง จึงสนับสนุนการเมืองระบอบสังคมนิยม สายหลังถือหลักการว่าสังคมต้องอุทิศตนเพื่อค้ำประกันเสรีภาพของปัจเจก จึงสนับสนุนการเมืองระบบเสรีประชาธิปไตย ระบบการเมือง 2 ระบอบที่แข่งขันกันนี้ตั้งป้อมข่มขู่กันจนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองจนเกือบทำลายล้างชาติและเกิดสงครามโลกจนเกือบทำลายล้างมนุษยชาติ

              ประเทศไทยในช่วงวิกฤติในทำนองเดียวกันนี้ เลือกข้างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและต้องทำการปราบพี่น้องชาวไทยที่ประกาศเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามและทำลายสงครามกองโจร ยังความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

              เนื่องจากชาวตะวันตกรู้จักและใช้วิธีวิทยาศาสตร์ล้ำหน้าชาติอื่นทั้งหลาย พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์เป็นนวยุคและปรับนโยบายการอบรมศึกษาไปด้วย ในช่วงแรกยังคงรักษาอุดมการณ์แห่งชีวิตโดยมีศาสนาเป็นเป้าหมายอยู่ดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการอบรมสั่งสอนจากการยัดเยียดมาเป็นการให้ซึมซับเข้าไปในจิตใจด้วยวิธีใหม่คือ วิธีพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์ การอบรมบ่มนิสัยจึงปรับจากวิธีสร้างศรัทธามาเป็นวิธีสร้างองค์ความรู้ให้เป็นระบบ และมีเหตุผลโยงใยกันได้เป็นระบบเครือข่าย (network) ผู้อบรมแต่ละคนจะสร้างคุณธรรมต้นแบบ (basic virtues) ขึ้นตามที่ตนเข้าใจและเชื่อว่าจะใช้อบรมได้เหมาะสมที่สุด โดยพยายามหาเหตุผลมาชักแม่น้ำทั้ง 5 เพื่อจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อตาม ใครทำเองไม่ได้ก็อาศัยผู้ที่ตนเชื่อว่าน่าจะใช้ได้ผลดีที่สุด จึงมีการจัดกลุ่มกันเป็นสำนักเหมือนผู้ใช้กระบวนทรรศน์ยุคโบราณ วิธีการอบรมดังกล่าวได้ชื่อว่า การอบรมคุณธรรม (Virtue Education) 

              ชาวสหรัฐอเมริกาใช้การอบรมคุณธรรมมาจนถึงประมาณ ค.ศ. 1960 จึงมีผู้เสนอความคิดว่าการอบรมคุณธรรมยังตอบสนองกระบวนทรรศน์นวยุคไม่เพียงพอ เพราะเมื่อศึกษาจิตวิทยาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ก็พบว่าคุณภาพชีวิตของมนุษย์ต้องการเสรีภาพมากกว่านั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นในการอบรมบ่มนิสัย ครูไม่ควรเสนอชุดคุณธรรมต้นแบบหรือแม้แต่บุคคลต้นแบบ ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้ผู้รับการอบรมลดการกระตือรือร้นที่จะคิดหาตัวเองให้เหมาะกับพรสวรรค์ของตน บทบาทของครูจึงควรจำกัดอยู่แค่กระตุ้น และชี้แนะให้ผู้รับการอบรมแต่ละคนคิด และกำหนดเป้าหมายและวิถีชีวิตของตน ครูมีหน้าที่รับรู้และบันทึกไว้ เพื่อหาคำแนะนำอย่างเหมาะสมให้แต่ละคนได้มุ่งมั่นหาวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างดีที่สุด เมื่อจบหลักสูตรครูก็จะประเมินให้คะแนนตามระดับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ วิธีอบรมบ่มนิสัยแบบนี้จึงได้ชื่อว่า Clarification Education (การอมรมแบบถ้อยแถลง)

              การอบรมแบบถ้อยแถลงได้รับความนิยมและแพร่หลายในอเมริกาอย่างรวดเร็ว 10 ปีต่อมากลายเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เขียนตำราและคู่มือประกอบการเรียนการสอนมากมาย เฉพาะ Values Clarification : A Handbook of Practical Strategies for Teachers and Students เล่มเดียวขายได้ถึง 600,000 หน่วย (Sidney Simon, 1972)

              ผลลัพธ์ด้านบวกก็คือ คนรุ่นใหม่ (จำนวนหนึ่ง) ชื่นชอบและตื่นเต้นมากที่รู้สึกว่าได้รับการปลดปล่อยจากการครอบงำโดยระบบความคิดของผู้อาวุโส พวกเขารู้สึกได้รับเกียรติและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำอะไรก็ได้รับการสนับสนุนและได้รับการยกย่องว่าดีไปหมด 

              ผลลัพธ์ด้านลบมีมากกว่าคือ เกิดกระแสการทำตามใจตัวเองอย่างถูกกฎหมายมากมาย 

              โคลเบิร์ก เขียนหนังสือลือชื่อสนับสนุนขบวนการดังกล่าว บางกลุ่มก็ยังผลกระทบที่น่าหนักใจและยังผลมาจนทุกวันนี้ เช่น กลุ่มฮิปปี้ กลุ่มฆ่าตัวตาย กลุ่มเสพยาเสพติด กลุ่มเสรีทางเพศ เป็นต้น ฮาร์มีนได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ไว้ว่า

              “การเน้นด้านปล่อยวางคุณค่า (value neutrality) ของการอบรมแบบถ้อยแถลงนั้นเชื่อได้ว่าลบล้างศีลธรรมที่เคยมีมาลงไปอย่างมาก... คิดย้อนหลังไปแล้วก็น่าเสียดายที่เราชะล่าใจปล่อยผี โดยปล่อยวางคุณค่ากันเกินไป อันที่จริงก็เป็นสามัญสำนึกที่ดีอยู่แล้วที่กล่าวได้ว่าการทำให้จริงดีกว่าการทำให้เท็จ การดูแลกันดีกว่าการทำร้ายกัน ความภักดีดีกว่าการทรยศ และการแบ่งปันดีกว่าการขูดรีด” (Merrill Harmin, 1988)

              หลังจากหนังสือ Values and Thing ของ Raths ออกเผยแพร่ไม่นาน ความสำนึกของผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมากเข้าใจประเด็นได้ทันที พากันร้องเรียนให้สภาการศึกษาแห่งชาติเปลี่ยนนโยบาย บางคนเอาบุตรหลานออกจากโรงเรียนเพื่ออบรมเอง หรือเอาเข้าไปเรียนในโรงเรียนขององค์กรศาสนาที่ยังอบรมคุณธรรมแบบเดิม ความสำนึกของผู้รับผิดชอบระดับชาติ เริ่มเปลี่ยนทิศ ค่อย ๆ มองเห็นผลร้ายที่จะตามมาหนักยิ่ง ๆ ขึ้นจากการใช้วิธีอบรมแบบถ้อยแถลงและหันมาทดลองใช้วิธี Character Education (การอบรมบ่มนิสัย) ตามคำชักชวนของ Character Education Movement ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก เพราะใช้ปรัชญาหลังนวยุคเป็นฐาน อันเป็นปรัชญาที่แพร่หลายมาจากฝรั่งเศสและเยอรมนี และได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยผู้สอนปรัชญาของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ความสำนึกที่พร้อมเพรียงกันอย่างนี้ โคว์เวย์ (Stephen Covey) เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ (shifting paradigms) ซึ่งในความหมายของโคว์เวย์นั้นคือ การเปลี่ยนจากการใช้จิตวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์เป็นฐานมาเป็นกรอบอบรมบ่มนิสัยตามปรัชญาหลังนวยุค ซึ่งต่อมาฮันทิงทันจะใช้คำเดียวกัน เพื่อหมายถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์จากการเล่นการเมืองแบบ 2 ขั้ว มาเป็นการเมืองแบบหลายขั้ว และซึ่งนักปรัชญาพยายามชี้แจงว่า มันคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของมนุษยชาติจากนวยุคเป็นหลังนวยุค

              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขบวนการนี้เป็นขบวนการใหม่ และมีผู้มีความกระตือรือร้นเข้าร่วมโครงการมาก จึงอาจจะมีผู้แสดงความคิดเห็นตามความพอใจที่อาจตรงกันข้ามบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง อย่างไรก็ตาม โทนี ดีวายน์ ขอให้ทุกคนเข้าใจให้ตรงกันอย่างน้อยในจุดนี้ว่า “การอบรมบ่มอุปนิสัยต้องให้แต่ละคนมีคุณค่าที่จะยึดถือเฉพาะตัว” (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน - ผู้แปล) (Tony Devine, 2000)

              5. กระบวนทรรศน์หลังนวยุค (Postmodern Paradigm) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักวิเคราะห์สังคมและการเมืองมากมาย พยากรณ์ถึงอนาคตของมนุษยชาติ ส่วนมากได้พยากรณ์ว่าจะเกิดสงครามล้างโลกด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือหนังสือ The Clash of Civilization เขียนโดย Huntington ที่ให้ข้อคิดว่า ทางรอดของมนุษยชาติคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ ซึ่งผู้วิจัยได้วิเคราะห์ไว้แล้วในบทที่ 2 และ 3

              ขณะนั้น ปรัชญาหลังนวยุคแบบสุดขั้ว (extreme postmodernism) จากฝรั่งเศสกำลังเผยแผ่ไปตามมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาและตามสื่อมวลชน ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งรวมตัวกันคิดหาวิธีปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา และใช้อำนาจหน้าที่จัดการการศึกษาแผนใหม่ โดยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติได้ตามคติของปรัชญาหลังนวยุคแบบสุดขั้ว ออกมาเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ตามรายงานในเอกสาร Values Clarification ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1972 ว่า “ให้ผู้เรียนตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง ความคิดของตนเอง ความเชื่อของตนเอง และระบบคุณค่าของตนเอง” นั่นคือ ในห้องเรียนศีลธรรมแทนที่ครูจะระบุว่านักเรียนพึงเรียนรู้และปฏิบัติคุณธรรมข้อใดบ้าง กลับกลายเป็นว่าครูจะต้องรับฟังและรับรู้จากนักเรียนแต่ละคนว่า เขาชอบอะไรและต้องการอะไร นักเรียนไม่ต้องรู้คุณค่าทางศีลธรรม ไม่ต้องกำหนดว่าเขาพึงประพฤติตนอย่างไรบ้าง เพียงแต่บอกว่า อยากทำอะไรบ้างก็พอแล้ว “ครูถูกห้ามมิให้วางกรอบกำหนดขอบเขตความอยากของนักเรียน นักเรียนบอกได้อย่างเสรีว่า ตนยกย่องคุณค่าใดโดยชี้แจงเหตุผลประกอบได้อย่างตามใจชอบ ครูต้องระวังตัวไม่ให้เผลอวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันขาด การสอนศีลธรรมแบบนี้รับรองได้ว่านักเรียนไม่เครียดในห้องเรียน เพราะนักเรียนจะรู้สึกว่า การเลือกความประพฤติก็เหมือนการเลือกรับประทานอาหารตามรสนิยม จิตใจปลอกโปร่งสบายดี” (William Bernett, 1994)

              ดีวายน์นิยามบทบาทของครูในการสอนศีลธรรมแบบถ้อยแถลงนี้ว่า

“ครูมีบทบาทเพียงผู้ให้ความสะดวก (facilitator) แก่นักเรียนที่จะเลือกแนวทางประพฤติของแต่ละคนเท่านั้น แม้ครูจะรู้สึกว่า นักเรียนไม่รอบรู้พอที่จะรับผิดชอบตัวเองและเลือกประพฤติอย่างไม่เหมาะไม่ควร ครูก็ต้องอดใจระงับปากไว้มิให้ตักเตือนหรือชักชวนให้นักเรียนเปลี่ยนใจเลือกใหม่ให้ดีกว่าเดิม” (Tony Devine, 2000) 

 

              ซึ่งเป็นความเห็นที่แรธ์เสริมว่าเข้าใจถูกต้องที่สุดเพราะ “แม้ในกรณีที่เห็นชัด ๆ ว่านักเรียนไม่อยู่ในทางของคุณค่าทางศีลธรรมเลย ครูก็ยังต้องแสดงความรับผิดชอบโดยส่งเสริมการตัดสินใจเลือกของนักเรียน” (Louis Raths, 1966) เบลซึ่งเห็นด้วยกับการให้เยาวชนเติบโตอย่างเสรีเต็มที่เช่นนี้ ถึงกับแถลงเป็นนโยบายว่า พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรยัดเยียดคุณค่าทางศีลธรรมแก่บุตรหลานของตน ถึงกับยุเยาวชนว่า “หากพ่อแม่ถือสิทธิ์ควบคุมมากนัก (overprotective) ก็ให้เอาหูทวนลมได้ (tune out their voice entirely)” (Ruth Bell, 1987) และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า   

           “พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์บังคับให้ลูกต้องเดินตามความคิดเห็นของพ่อแม่ เพราะลูกมีสิทธิ์คิดต่างได้ พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์อ้างอำนาจใด ๆ เหนือลูก เพราะพ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดา ๆ ทำผิดได้ อ่อนเชิงได้ มีความไม่มั่นคงได้ มีปัญหาได้ เช่นเดียวกับคนอื่นทั่ว ๆ ไป” (Samuel Huntington, 1996) 

 

ดีวายน์ ยืนยันว่า ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าการอบรมศีลธรรมแบบถ้อยแถลง เป็นวิธีที่ผิด ดังข้อสังเกตของดีวายน์ว่าความเสื่อมทางศีลธรรมและการเพิ่มสถิติพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในหมู่เยาวชนพุ่งขีดวิกฤตในทศวรรษ 1990 ถึงขนาดที่คณะกรรมาธิการมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (Commission on Excellence in Education) ในปี ค.ศ. 1993 แถลงว่า “หากอริชาติศตรูซึมแทรกเข้ามาก่อกวนด้วยวิธีนี้ต่อชาติของเรา ก็คงจะต้องปราบกันด้วยสงคราม” ขณะนี้บรรดาผู้ปกครองหลายรายให้ลูกหลานของตนลาออกไปเข้าสถานเอกชนที่ยังดำเนินการสอนแบบเดิม คือ ป้อนเนื้อหาคำสอนให้ผู้เรียน (= หลักสูตรเป็นสำคัญ) อีกบางรายก็เก็บลูกหลานของตนไว้สอนเองที่บ้าน แสดงว่านโยบายการเรียนการสอนในสถาบันของรัฐล้มเหลวอย่างน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและปรับปรุงอย่างเร่งด่วน (Tony Devine, 2000) โทมัส โซเวล วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนด้วยอีกสำนวนหนึ่งว่า

“ตามหลักสูตรมาตรฐานการสอนแบบถ้อยแถลงนั้น ผู้สอนถูกห้ามมิให้ระบุคุณค่า  ที่ตนอยากสอนออกมาตรง ๆ ผู้สอนมีหน้าที่เพียงค้ำประกันและให้ความสะดวกแก่กระบวนการที่ผู้เรียนใช้สำหรับค้นหาคุณค่าในตน วิธีสอนแบบนี้ส่งเสริมให้เยาวชนที่ยังขาดประสบการณ์และยังไม่มีวุฒิภาวะพอ ได้ผงาดขึ้นเลือกคุณค่าชีวิตให้ตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาสอนให้ก่อนเลยว่าต้องเลือกอย่างไรจึงถือได้ว่าฉลาดเลือก ณ บัดนี้ การอบรมศีลธรรมแบบถ้อยแถลงนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เน้นชี้กันว่าเป็นวิธีสอนที่ผิดพลาดอย่างหนัก เพราะดันไปส่งเสริมให้ผู้เรียนที่ยังไร้วุฒิภาวะทำตัวเป็นผู้รอบรู้ที่สามารถเป็นผู้ตัดสินหลักความดี/ชั่วได้ด้วยตนเอง มันทำให้เกิดความสับสนในเรื่องคุณค่าเสียจริง ๆ” (Thomas Sowell , 1993)

              เมื่อเกิดความรู้สึกอันตรายร่วมกันเช่นนี้ ก็ย่อมจูงใจให้มีผู้เสนอแนวทางแก้ บางคนก็แสดงความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนมากวางเฉยเกินไป ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำทองไม่รู้ร้อน อย่างเช่น โฮเวิร์ด กีร์เคนเบาว์ เขียนลงวารสารตำหนิเจ้าหน้าที่วงการศึกษาอย่างเกรี้ยวกราดว่า 

“เจ้าหน้าที่บางคนใช้กระเบื้องทนร้อนมุงหลังคาจึงไม่รู้สึกร้อนหนาวกับวิธีสอนแบบถ้อยแถลง (Some administrations today would rather be accused of having asbestos in their ceilings than of using vatues clarification in their classrooms)” (Howard Kirschenbaum, 1992)

 

              นักคิดคนเดียวกันนี้เองชี้แนวทางแก้ปัญหาว่าให้เดินสายกลาง คือ ขณะนั้นสถาบันเอกชนสอนด้วยวิธียัดเยียดความคิด (inculcation) นับว่าล้ำสมัยเกินไป ทางสายกลางน่าจะดีกว่า คือ เลือกเอาเฉพาะส่วนดีจากวิธีสุดขั้วทั้ง 2 วิธีอันเป็นวิธีที่ปรับจากแนวคิดแบบสุดขั้ว คือ ลัทธิ post - structuralism (หลังโครงสร้างนิยม) ของฝรั่งเศสผสมผสานกับแนวคิดดั้งเดิมของชาวอเมริกัน คือ ลัทธิ pragmatism (ปฏิบัตินิยม) กลายเป็นลัทธิหลังนวยุคสายกลาง (moderate postmodernism) ซึ่งเมื่อประยุกต์ใช้ในการอบรมศีลธรรม - จริยธรรมแล้ว ก็ได้ชื่อว่าการอบรมบ่มนิสัย (character education) เพื่อสร้างความดีพร้อม (integrity) ในตัวบุคคลแต่ละคน (personal) นั่นคือ ไม่มีต้นแบบ (personality) ที่ดีที่สุดสหรับทุกคน แต่ละคนจะต้องสร้างความดีพร้อมเฉพาะตัว ตนของตนแล เป็นต้นแบบให้แก่ตน ดีวายน์อ้างสตีเฟน โคว์เวย์ (Stephen Covey) เขียนหนังสือขายดีติดตลาด ชื่อว่า The Seven Habits of Highly Effective People ให้เป็นเจ้าของความคิดว่า คนปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ (shifting paradigms) คือ เปลี่ยนจากความสนใจสร้างบุคลิกภาพต้นแบบ (personality) ด้วยการ “ชนะใจเพื่อนและผู้ทรงอิทธิพล” (winning friends and influencing people) ซึ่งทุกคนรู้วาเป็นวิธีการสร้างบุคลิกภาพของ Dale Carnegie มาเป็นการอบรมบ่มนิสัยส่วนตัว 7 ด้าน ซึ่งเป็นสาระในหนังสือของตน โดยการศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่ต้องมีในตัว (personal need) จะได้วางเป้นคุณค่ารากฐาน (bedrock values) ให้เกิดความมั่นคงในชีวิต (stability to life)

              ดีวายน์สรุปสถานภาพของการอบรมบ่มนิสัยในสหรัฐอเมริกาว่า

“การอบรมบ่มนิสัยแสดงในทุกแง่ทุกมุมว่าเป็นวิธีที่เป็นที่ยอมรับโดย นักการศึกษาสายหลัก (main stream) ของสหรัฐอเมริกา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน เมื่อมีการสอบถามว่าพวกเขาต้องการอะไรจากสถานศึกษา พวกเขาพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้บุตรหลาน พูด เขียน อ่าน คิด และคำนวณได้อย่างถูกต้องเป็นอันดับแรก อันดับที่สองคือ ให้มีมาตรการดี/ชั่วที่เชื่อถือได้สำหรับเป็นแนวทางดำเนินชีวิต” (Tony Devine, 2000)

 

              ส่วนเจมส์ ลีมิง ให้ข้อสังเกตว่า “ขบวนการอบรมบ่มนิสัยยังขาดฐานทฤษฎีที่ครบถ้วน ขณะนี้มีแต่ผู้ออกความคิดเห็นเชิงสังคมวิทยา ปรัชญา จิตวิทยา และประมวลผลอย่างเป็นชิ้น ๆ อิสระต่อกัน” (James Leming, 1993) ซึ่งหมายความว่ายังไม่มีการประสานความคิดจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ให้เป็นสหวิชา เพื่อให้นักการศึกษาได้จัดการบริหารหลักสูตรและการกำหนดวิธีสอนได้อย่างสอดคล้องกัน จึงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดทำเองด้วยจากความต้องการเฉพาะถิ่นของเรา

              สำหรับดีวายน์และคณะที่ทดลองทำคู่มือขึ้นมาช่วยผู้ปฏิบัติงานด้านนี้มีความเห็นว่า การอบรมบ่มนิสัยมีส่วนสำคัญต่อไปนี้

              1. ต้องมีหลักการสากลที่มนุษย์ทุกคนยอมรับร่วมกัน มันคือ ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเหมือนกันในมนุษย์ทุกคน ทำให้มนุษย์มีเป้าหมายของชีวิตตามธรรมชาติเหมือนกัน ดีวายน์พยายามหาข้อมูลที่โดนใจนักศึกษาอเมริกัน จำเป็นต้องวิจัยหาคำอธิบายที่โดนใจคนไทยในวัยต่างกันและวุฒิต่างกัน (บทที่ 3)

              2. ทุกคนมีเป้าหมายของชีวิตเหมือนกัน คือ ความสุขแท้ตามความเป็นจริง อันได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ (บทที่ 4 - 5)

              3. ทุกคนมีการกระทำอย่างหนึ่งที่ทำทุกครั้ง พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกครั้ง อันได้แก่ CARING การดูแลทุกสิ่งให้มีความสุขตามความเป็นจริง (บทที่ 3)

              4. CARING แสดงออกเป็นการสร้างสรรค์ ปรับตัว และร่วมมือ (บทที่ 6 - 8) (ศ.กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตสาขาปรัชญา ได้เพิ่ม “การแสวหา” เข้ามาด้วย)

              5. ฝึกปฏิบัติในชีวิตจริง (บทที่ 10 - 28)

              หลักการและวิธีของดีวายน์แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่คำอธิบายและตัวอย่างที่ดีวายน์ยกขึ้นมานั้น ส่วนมากเหมาะสำหรับใช้อบรมชาวอเมริกัน ดังนั้น หากจะทำการอบรมในประเทศไทย จำเป็นต้องสร้างคำอธิบายและตัวอย่างใหม่ที่เหมาะกับสังคมของเราโดยเฉพาะ บทเรียนก็จำเป็นต้องสร้างใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงของสังคมไทย

กล่าวโดยสรุปได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาเชิงจริยธรรมในแต่ละยุคสมัย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยนักบวช นักการศาสนา นักปรัชญา นักจริยธรรม นักวิชาการทุกสาขาวิชา รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน ให้เป็นผู้ช่วยศึกษา ช่วยคิด ช่วยลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยถือเป้าหมายซึ่งกันและกันว่าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและคนในสังคมอย่างสร้างสรรค์ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดประการใด ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการร่วมกันปรับปรุง ปรับตัว เพื่อหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย พร้อมทั้งแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ด้วยวิจารณญาณ เพื่อให้สังคมเกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, ผศ. (2565). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาจริยศาสตร์ (PHE 8002). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

Bernett, William. (1994). The De- Valuing of America : The Fight for Our Children and Our Culture. New York : Simon and Schuster.

Bell, Ruth. (1987). Changing Bodies, Changing Lives. New York : Ramdom House.

Devine, T. ed. (2000). My Journey in Life : A Student Text Book for Character Education. New York : International Educational Foundation.

Huntington, Samuel P. (1996). The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order. New York : Simon and Schuster.

______. (1996). The Clash of Civilization. New York : Simon and Schuster.

Kirschenbaum, Howard (1992). “A Comprehensive Model for Values Education and Moral Education”. The Phi Delta Kappan. 73 (10).

Sowell, Thomas. (1993). Inside American Education. New York : Free Press. 

Rudolph, Frederick. (1965). Essays on Education in the Early Republic. Cambridge : Harvard University Press.

หมายเลขบันทึก: 710676เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท