วิธีเข้าใจภาษาศาสนา


วิธีเข้าใจภาษาศาสนา

              

              บางท่านมีประสบการณ์ทางศาสนาแล้วไม่กล้าแสดงออกมาเป็นคำพูด เพราะกลัวผู้ฟังจะเข้าใจผิด อย่างเช่น ประสบการณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตามคติทางพุทธศาสนา บางท่านอยากจะแสดงออกแต่ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร จึงมักจะแสดงออกในเชิงปฏิเสธเท่านั้น เช่น พูดไม่ได้ (ineffable) อธิบายไม่ได้ (inexplicable) บางท่านกล้าพอที่จะชี้แจงออกมาเป็นปฏิฐานบ้าง แต่ก็เตือนให้ระวังว่าไม่สามารถอธิบายได้หมด อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า ทรงรู้เปรียบเท่าใบไม้ในป่าแต่ทรงอธิบายได้เท่าใบไม้ในกำมือเดียว หรืออย่างที่พระเยซูกำชับให้คอยรับพระจิตเจ้า และพระจิตเจ้าจะทรงดลใจให้เข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะสิ้นโลก คำสอนหรือข้อเขียนของบางท่านเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ศาสนา ภาษาคัมภีร์ศาสนา จึงเป็นภาษาของผู้มีประสบการณ์ทางศาสนาที่พยายามจะแสดงออกให้ผู้อื่นได้เข้าถึงความหมายของศาสนาเท่าที่ภาษามนุษย์จะเอื้ออำนวย

              อย่างไรก็ตาม วิชาอรรถปริวรรต (hermeneutics) ได้พยายามวิเคราะห์เพื่อความภาษาของผู้มีประสบการณ์ทางศาสนา (ศาสดา ผู้ถึงฌาน ผู้มีประสบการณ์เหนือธรรมชาติ) ได้ระดับความเข้าใจเป็น 5 ระดับ เพื่อเปรียบเทียบหาความเข้าใจเจตนาของเจ้าของคำพูดเป็นราย ๆ ไป หรือเปรียบเทียบหลาย ๆ ราย เพื่อค้นหาความหมายร่วมที่อยู่เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น

              ภาษาประสบการณ์ทางศาสนาตีความได้ 5 ระดับ

              1. ระดับผิวพื้น ได้แก่ ความหมายที่เข้าใจกันในระดับชาวบ้าน มีอารมณ์หรือรสนิยมส่วนตัวเข้ามาแทรก และมักจะมีปัญหาจากอารมณ์และรสนิยมดังกล่าว ถึงกับมีการเข่นฆ่ากันตาย และบาดเจ็บมามากต่อมากแล้ว โดยไม่ต้องนับกรณีที่เพียงแค่ผิดใจและขัดข้องหมองใจกันไป ซึ่งมีจำนวนเหลือนับ ตัวอย่างเช่นคำว่า “งู” ผู้ชอบกินงู ผู้เกลียดงู หมองู หมอรักษาพิษงู คนเลี้ยงงูประจำสวนสัตว์ ฯลฯ ย่อมมีความรู้สึกเกี่ยวกับงูต่างกันได้ และประโยชน์ก็มักจะติดตามความรู้สึกอย่างใกล้ชิดด้วย

              2. ระดับลึก ความหมายระดับนี้ ได้แก่ ความเข้าใจทางวิชาการ ซึ่งนักวิชาการมักจะเข้าใจตรงกัน แต่ครั้นมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความหมายผิวพื้นก็มักจะแทรกเข้ามาทำให้เสียงานเสียการมามากต่อมากแล้ว การศึกษาด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์จากข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ สามารถเข้าใจศาสนาได้อย่างมากก็แค่ระดับนี้เอง

              3. ระดับลึกที่สุด เป็นความหมายตามความเข้าใจของพระศาสดาในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรม ศาสดาท่านเข้าถึงด้วยวิธีเฉพาะตัวของท่าน ท่านเข้าถึงแล้วก็ปรารถนาจะเผื่อแผ่แก่มวลมนุษย์ แต่ทว่าธรรมะที่ท่านเข้าถึงนั้นเป็นธรรมะในระดับปรมัตถสัจจะ มนุษย์เราไม่อาจประดิษฐ์ภาษาไว้รับรองปรมัตถสัจจะ เรามีแต่ภาษาสำหรับใช้ในระดับสมมติสัจจะทั้งสิ้น จึงเหมาะสำหรับชี้แจงเรื่องราวที่มีประสบการณ์ได้ด้วยผัสสะ และคิดต่อด้วยเหตุผลที่มีปฐมบทเป็นพื้นฐาน ศาสดาท่านจำเป็นต้องใช้ภาษาสมมติสัจจะเพื่อชี้แจงปรมัตถสัจจะที่ท่านเข้าถึงเพื่อให้เข้าใจง่าย จะขอเปรียบปรมัตถสัจจะเหมือนกับยอดเขาที่ศาสดาท่านได้มีประสบการณ์ด้วยตัวท่านเอง ท่านพบว่าเป็นสิ่งวิเศษสุด น่ารู้และมีประโยชน์เหลือเกิน ท่านจึงปรารถนาจะบอกกล่าวให้พวกเรารู้เรื่อง หากท่านจะตรัสสอนจากยอดเขา พวกเราก็คงไม่ได้ยินเสียงของท่าน ท่านจึงต้องคิดอุบายเดินลงมาจนถึงเชิงเขาจึงสอนพวกเราได้ ศาสดาองค์ใดเดินมาจากเชิงเขาด้านใดก็ย่อมจะสั่งสอนตามสภาพของเชิงเขาด้านนั้น ๆ และนั่นคือการใช้ภาษาสมมติสัจจะมาอธิบายปรมัตถสัจจะของศาสดาทั้งหลาย ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกภาษาดังกล่าวว่าภาษาธรรม เราต้องมองให้ทะลุเปลือกนอกของภาษาคน จึงจะเข้าใจถึงแก่นอันเป็นความหมายแท้ของสภาวธรรมได้บ้าง

              4. ระดับลึกกว่า เราได้ฟังคำสอนของศาสดา หากเราเข้าใจตามความต้องการของอารมณ์และรสนิยมของเราเอง เราก็ได้เพียงความหมายผิวพื้นของธรรมะ และนี่คือที่มาของเดรัจฉานวิชา ซึ่งพบเแทรกอยู่ในทุกศาสนา ผู้ใดเข้าถึงธรรมะตามหลักตรรกวิทยา และตามหลักวิชาการต่าง ๆ ย่อมได้ความหมายระดับลึก เราพบคนที่ “มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” อยู่มากมาย เขารู้ธรรมะทุกข้อ อธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควแต่ไม่ปฏิบัติ คนประเภทนี้พบได้ชุกชุมในทุกศาสนา ศาสนิกชนที่มุ่งมั่นเข้าได้ถึงความหมายที่ลึกที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยหมั่นศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ พวกนี้กำลังมุ่งสู่ความหมายที่ลึกที่สุด แต่ก็ได้เพียงความหมายที่เรียกได้ว่าระดับลึกกว่า อนึ่ง ผู้ศึกษาคำสอนของศาสดาหลายท่าน โดยเชื่อว่าศาสดาเหล่านั้นเข้าถึงปรมัตถสัจจะเดียวกัน แต่ก็จำเป็นต้องอธิบายสั่งสอนด้วยภาษาสมมติสัจจะของแต่ละท้องถิ่น จึงพยายามมองให้ทะลุเปลือกของแต่ละศาสนาเพื่อเข้าถึงแก่นร่วมของศาสนาต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีลักษณะตรงกันอย่างน้อยในแง่ที่ว่า “สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจนถึงโลกหน้า” ก็เข้าถึงได้อย่างมากแค่ระดับลึกกว่านี้เอง

              5. ระดับวิจารณญาณ ระดับที่ 5 นี้ยอมรับว่า แต่ละระดับต่างก็มีความสำคัญสำหรับความรู้นั้น ๆ จึงควรจะรับรู้และเคารพกันและกัน และหาวิธีให้แต่ละระดับได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเต็มที่ในแต่ละระดับ ในขณะเดียวกันก็หาวิธียกระดับให้สูงขึ้นตามแต่โอกาสจะอำนวยด้วย ระดับนี้คือระดับปรัชญาหลังนวยุค ซึ่งมองเห็นว่าความหมายที่แท้จริงของศาสนาก็คือพลังที่พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์จนถึงคุณภาพที่สมบูรณ์ในชีวิตหน้า ส่วนศาสนธรรมและศาสนองค์กรเป็นวิถีสู่เป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น ศาสนธรรมจะมีความหมายก็เฉพาะที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้จริงเท่านั้น และศาสนองค์กรจะศักดิ์สิทธิ์ก็เฉพาะที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงเท่านั้น

              จากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้นทำให้เราทราบว่า แนวทางของกลุ่มที่นับถือศาสนามีอยู่หลายแนวทางทั้งทางด้านวิธีนับถือศาสนา วิธีสอนศาสนา วิธีตีความคัมภีร์ ความเข้าใจภาษาศาสนาในแต่ละระดับ ซึ่งแสดงออกตามกระบวนทรรศน์ของผู้นับถือศาสนานั้น และเมื่อประเมินค่าดูแล้วพบว่า แนวทางของกระบวนทรรศน์ที่ 5 เป็นแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาทางจริยธรรมของคนที่นับถือศาสนาได้ดีที่สุด คำว่าดีที่สุดในที่นี้หมายถึง ดีที่สุดในทางวิชาการ ไม่ได้หมายความว่าเป็นแนวทางสูงส่งที่สุด และมิได้หมายความว่าเป็นทางสู่ปรมัตถสัจจะได้ดีที่สุด แสวงหาในทางวิชาการก็เพื่อพบวิธีสื่อด้วยภาษาวิชาการระหว่างนักวิชาการด้วยกันได้ดีที่สุดนั่นเอง ส่วนการบรรลุปรมัตถสัจจะนั้นขึ้นต่อการปฏิบัติเป็นสำคัญ เมื่อมีการบรรลุจริงแล้วเราจึงพยายามวิเคราะห์กันด้วยปรัชญาเพื่อความเข้าใจให้ได้ดีที่สุดเท่าที่ปัญญาจะทำได้

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, ผศ. (2565). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาจริยศาสตร์ (PHE 8002). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

หมายเลขบันทึก: 710674เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท