พลังของนิทาน


รูปแบบหนึ่งของทางลัดในการสร้างสรรค์

การอุปมา เป็นการบรรจุหีบห่อชีวิตจริงในมิติที่ต่างออกไป โดยคงแก่นแท้นามธรรมไว้

นิทานที่มีคติสอนใจ เป็นการอุปมา"สถานการณ์ที่เป็นไปได้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น"

ตัวอย่างเช่นนิทานอีสป ซึ่งส่วนใหญ่พยายามบอกเราว่า ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ การตัดสินใจแบบใดที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเรื่องนอกตัว หรือเรื่องภายในตัวเราก็ได้ (เน้นสถานการณ์) (http://en.wikisource.org/wiki/Special:Search/Aesop's_Fables)

หรือกรณีของนิทานนัสรูดิน ซึ่งพยายามจะบอกเราว่า ความโง่เขลาของคนอื่นที่เรากำลังหัวเราะเยาะอยู่ มีอยู่แล้วเช่นกันในตัวเรา เพียงแต่นำมาขยายสเกล กลับหัวกลับหาง ให้ผิดรูปร่างไปเพื่อไม่ให้เราจำตัวเราเองในเรื่องนั้นได้ (http://en.wikibooks.org/wiki/Nasrudin)

นิทานที่มีคติสอนใจ เป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนยอมรับกันแพร่หลายว่าสื่อสารได้มีพลังมาก เมื่อก่อน เขาให้เด็กเล็กหัดอ่าน ได้ทั้งทักษะการอ่าน ได้ทั้งคติสอนใจ

นิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ (อีสป) สอนว่าทุนความน่าเชื่อถือทางสังคม ก็เหมือนทุนชนิดอื่น ใช้มากก็หมดได้ เปลืองเป็น ใช้จ่ายเกินตัวก็จะล้มละลาย

นิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ (อีสป) บอกถึงธรรมชาติของอันธพาลก่อนจัดการกับเหยื่อ ว่าต้องผ่านขั้นตอนการโน้มน้าวให้ตัวเองเชื่อเสียก่อนว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ชอบธรรม (rationalization)

แม้แต่ฆาตกรโรคจิต ก็ยังมีเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบไม่กลัวสีข้างถลอก (irrationalization) ว่า การทำฆาตกรรมที่กำลังทำอยู่นี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นและศรัทธา

ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกเรียกว่า "อุดมการณ์ทางการเมือง" หรือ "อุดมการณ์ทางศาสนา" หรือไม่ก็ตามที

นิทานเรื่อง หากุญแจหาย [ทำหายในที่มืด แต่หาในที่สว่าง เพราะมองเห็นชัด] (นิทานนัสรูดิน) บอกถึงธรรมชาติการแก้ปัญหาของมนุษย์ว่า มักแก้ผิดที่ เพราะมีเหตุผลซ่อนเร้นลึก ๆ อยู่โดยไม่รู้ตัว

สิ่งน่าทึ่งของนิทานเหล่านี้ก็คือ ระดับความเข้าใจ จะมีหลายระดับ ขึ้นกับวุฒิภาวะของคน ทั้งที่ดูโดยเปลือกนอกแล้ว แม้แต่เด็ก ๆ ก็ยังรู้สึกว่ารู้เรื่อง (ทั้งที่อาจยังไม่เข้าใจ) ซึ่งกว่าเมล็ดพันธุ์แห่งสติปัญญาเหล่านี้ได้งอกงามผลิบาน อาจผ่านไปนับสิบ ๆ ปี

ความจริงมีได้หลายระนาบ หลากระดับชั้น (manifold)

การจะมองเห็นความจริงในระนาบต่าง ๆ ต้องมีวุฒิภาวะพอสำหรับในประเด็นนั้น

นิทานเป็นรูปแบบน่าทึ่งที่เหมือนหีบห่อที่จะคลายตัวออกมาเองให้เรามองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ได้ ก็ต่อเ้มื่อเรา "สุกงอมพอสมควร" ในเรื่องนั้นแล้วเท่านั้น

ซื้อของขวัญให้เด็ก หาซื้อหนังสือนิทานให้ อาจเป็นของขวัญที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตของเด็กบางคนก็ได้

เพราะเป็นของขวัญมีชีวิต ที่สามารถคลี่บานอย่างงดงามได้ในตัวคน หลังจากผ่านไปเนิ่นนานหลายสิบปี
 

ลงทุนให้เด็กเล็กได้มีโอกาสอ่านนิทานมีคติสอนใจ ถือเป็นสุดยอดของการลงทุน เมื่อนึกถึงว่า เป็นการได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต โดยไม่ต้องใช้ชีวิตของตนเองไปแลกมา

หมายเลขบันทึก: 71040เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ขอบคุณข้อมูลแสนดีค่ะ
  • give and take ค่ะ

สวัสดีค่ะ

จำได้ว่า เมื่อเด็กๆ คุณพ่อเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน  และจำได้ หลายๆเรื่องที่ประทับใจจนบัดนี้

พอมีลูก ก็อ่านให้เขาฟังทุกคืนค่ะจนเขาหลับ

นิทาน เป็นอุบายในการสอนที่ดีมาก สนุก มีคติสอนใจ  น่าติดตาม และมักจบแบบhappy ending ให้นอนฝันดี

พูดเรื่องนี้ คิดถึงวัยเด็กค่ะ

นิทานเป็นกลการสอนของคนโบราณ

เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงความดีความถูกต้องกับความชั่วไม่ถุกต้อง..ให้คนได้กลัวต่อบาป..เป็นการแสดงให้รู้ว่าทำอะไรไม่ดีมีผลตอบสนองในลักษณะใด.ถ้าทำดี

ก้อจะได้รับผลอย่างไร...คือบอกว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว...เนาะ

 

เด็กคนไหนได้มีโอกาสฟังนิทานสมัยนี้ คงต้องสั่งสมบุญกุศลมาไม่น้อย...

 

 

สวัสดีครับ พี่ P  sasinanda
  • ผมเชื่อว่า การบริจาคเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่ควรอยู่ในทำเนียบทางเลือก คือการบริจาคสื่อนิทานถึงเยาวชน
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ

 

สวัสดีครับ คุณ  P  tip-in

  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ว่าคนโบราณฉลาดในประเด็นนี้มากครับ ที่ใช้นิทานช่วยเป็นเบ้าหลอมสังคม
  • เสียดายว่า เดี๋ยวนี้ เยาวชน มีโอกาสน้อยลงในการเข้าถึงนิทาน เพราะโดนสื่ออาโนเนะปัญญาอ่อนรูปแบบอื่นแย่งเวลาไปครองหมด
  • คือ จนโอกาส ในท่ามกลางโอกาส ที่มีมากขึ้น
  • นึกแล้วน่าเวทนาเหมือนกันครับ

สวัสดีครับ

ผมก็ชอบนิทาน เพราะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครับ ช่วยสร้างจิตนาการ สร้างความสนุก สร้างข้อคิด ประโยชน์...ฯลฯ

โลกนี้คงไม่สนุก หากขาดนิทานและการ์ตูน

  • สวัสดีครับ อาจารย์
  • เห็นด้วยครับ
  • ผู้ใหญ่ อาจมีส่วนช่วยตรงนี้ ด้วยการซื้อแจก หรือซื้อเก็บไว้ให้ลูกหลาน มีโอกาสเข้าถึงง่าย
  • ขอโทษที่ตอบช้า เพิ่มมาเห็นครับ

มาอ่านบันทึกนี้แล้วจึงนึกได้ว่าตัวเองเล่านิทานให้ลูกฟังวัย1-6ปี แล้วช่วงนี้ขาดตอนไปนานเลยค่ะ

มีก็ชวนเขาแต่งเอาเองมากกว่า--->แล้วมาเล่าให้แม่ฟัง

เพิ่งนึกถึง นัสรูดิน พุทธชาดก ฯลฯ ก็น่าค้นมาให้ลูกอ่านได้แล้ว

ขอบคุณค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท