ฉันเยาว์ ฉันเขล่า ฉันทึ่ง


การศึกษา
อาทิตย์สุดสัปดาห์ ครั้งที่ 7 อรรถวุฒิ ศิริปัญญา               http://gotoknow.org/profile/sundayweekly                                                e-mail [email protected]
คุยกันพาเพลินก่อนเข้าเรื่อง

                สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน อาทิตย์สุดสัปดาห์ ก็มาพบท่านผู้อ่านอีกแล้ว ครั้งนี้ได้นำเอาบทความที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2549 มาพิมพ์ลง เนื่องจากตอนที่เขียนแล้วเก็บต้นฉบับเอาไว้แล้วก็เลยทำให้หาต้นฉบับไม่เจอ มาพบอีกทีก็ปี 2550เข้าแล้วครับ ครั้งนี้เขียนเรื่อง  ฉันเยาว์ ฉันเขล่า ฉันทึ่ง


 

                      เรามักชมชอบกับชัยชนะ เรามักไม่ชมชอบกับความพ่ายแพ้ เพราะชัยชนะมาพร้อมกับชื่อเสียงไชโยโห่ร้อง เพราะพ่ายแพ้มาพร้อมกับความหดหู่ เศร้าหมอง มาพร้อมกับหยดน้ำตาที่หยาดไหล น่าสนใจก็ตรงที่ชัยชนะมากับความสำเร็จ น่าสนใจก็ตรงที่ความพ่ายแพ้มากับความล้มเหลว จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกที่ผู้คนจะชมชอบชัยชนะ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ผู้คนจะไม่ชมชอบความพ่ายแพ้ กระนั้นการเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ การเรียนรู้จากความล้มเหลวจึงทรงความหมายอย่างยิ่ง 

                การก้าวย่างเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยอาจเป็นดั่งชัยชนะของใครต่อใครหลายๆ คน หรืออาจเป็นความพ่ายแพ้ของใครของใครต่อใครหลาย ๆ คน แปลกก็ตรงที่ใครจะก้าวย่างเข้าสู่มหาวิทยาลัยจะพบกับคำว่า ชนะ หรือ พ่ายแพ้ ที่ต่างกัน

 

                   ชีวิตในมหาวิทยาลัยของใครบางคนอาจเป็นชีวิตที่แปลกแตกต่างจากใครอีกหลายคน แปลกก็ตรงที่ใครบางคนกำลังค้นคว้าหาคำตอบระหว่างคำว่าพ่ายแพ้กับชัยชนะ ชีวิตในช่วงระยะเวลากลางเดือนพฤษภาคมอันเป็นช่วงระยะเวลาของภาคเรียนที่ 1  จึงสะท้อนถึงเรื่องราวหลาย ๆ อย่างให้คนบางคนต้องคิดต้องก้าวเดิน ในบางครั้งทางเดินในมหาวิทยาลัยก็เป็นเส้นทางของการบังคับ ว่า ต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ อย่างในกิจกรรมรับน้องบางกิจกรรมเป็นการจรรโลงไว้ซึ่งอำนาจของรุ่นพี่มิให้เสื่อมสลาย หรือ ในบางครั้งอาจมีเส้นทางที่สามารถเลือกได้โดยมิต้องถูกบังคับ เช่น กิจกรรมการค้นคว้าหาศาสตร์และศิลป์ในมหาวิทยาลัย หรือจะเป็นการค้นคว้าหาคำตอบบางประการเพื่อตอบว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมควรแก้ไขอย่างไร

                กิจกรรมรับน้องได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาก่อนที่สถานะอันก่ำกึ่งระหว่างนักเรียนนักศึกษา หรืออาจเปรียบเสมือนหนึ่งว่าจะเป็นนักศึกษาก็มิได้เพราะรุ่นพี่ไม่ยอมรับจะเป็นนักเรียนก็มิได้เพราะจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมาแล้วซิ  และประการที่สำคัญคือ กิจกรรมรับน้องนี้มิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ หากแต่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการจรรโลงเรื่องราวอะไรบางอย่างเอาไว้ ถึงกระนั้นแล้วกิจกรรมรับน้องคงเป็นกิจกรรมที่ทำให้ใครต้องครุ่นคิดอย่างหนักว่าอะไรคือนัยยะที่แท้จริงของกิจกรรมรับน้อง

                     สิ่งหนึ่งที่จะพบเห็นในกิจกรรมรับน้องคือเรื่องราวที่แบ่งออกเป็น 2 ภาคคือ ภาคของความบันเทิงรื่นเริงใจ และ ภาคของการบังคับ

                     ในภาคของความรื่นเริงบันเทิงใจนั้น ก็คงเป็นเรื่องราวของความสนุกสนาน เสมอเหมืนว่าการที่นักเรียนคนหนึ่งได้ย่างก้าวเข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยมาเป็นนักศึกษา เป็นเรื่องราวที่น่ายินดีปรีดาอย่างหาที่สุดมิได้แล้วนั้น หรือ คงจะเป็นเรื่องราวดังชัยชนะที่ทุกคนจะยืนดีไชโยโห่ร้อง

                 ในภาคของการบังคับนั้น เป็นการบังคับรุ่นน้องหรือคนที่ไร้สถานะภาพ และเรื่องราวของกิจกรรมในภาคนี้อย่างเช่น พิธีกรรมว๊าก การลงวินัย การพูดจาประชดประชัน ที่สำคัญกิจกรรมในภาคนี้คงทำให้ใครต่อใครหลากหลายคนคงต้องปวดหัวเป็นแน่แท้ เพราะมิอาจค้นคว้าหาคำตอบถึงนัยยะที่แท้จริงของกิจกรรมในภาคนี้

                   ถึงกระนั้นแล้วเราคงมิอาจที่จะทึกทักเอากันเองอย่างๆลอยว่า กิจกรรมในภาคของการบังคับนั้นคือการจรรโลงไว้ซึ่งอำนาจอันเด็ดขาดของรุ่นพี่เพื่อจะสามารถใช้อำนาจนั้นในการชี้นำรุ่นน้องที่ไร้สถานะและไร้อำนาจได้ก้าวเดินตามทางที่รุ่นพี่ได้กำหนดเอาไว้

                    ประการที่สำคัญประการหนึ่งนั้นคือ เรื่องราวของความขัดแย้งในภาคกิจกรรมการบังคับคือว่า ธงของรุ่นพี่ที่มีอำนาจอย่างเหลือล้นคือต้องการให้รุ่นน้องมีความรักมีความสามัคคี  ก็คงขัดก็ตรงที่มิเห็นเลยว่าจะมีใครสามัคคีอย่างแนบแน่นแน่แท้หากพ้นกิจกรรมในภาคบังคับไปแล้ว แปลกก็ตรงที่ทำไมนักศึกษาในยุค ตุลาคม 2514 2519 กลับสมัครสมานสามัคคีกันมากโดยมิต้องมีพิธีกรรมการบังคับกดขี่อะไรเลย

                    ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องราวที่แปลก แปลกก็ตรงที่ธงของการจัดกิจกรรมในภาคบังคับ มิอาจนำนักศึกษาผู้เป็นปัญญาชนไปสู่การตอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ปัญหาทางสังคมที่ระอุขึ้น ณ ทุกหนทุกแห่งทุกวันนี้มิค่อยจะเห็นพลังปัญญาชน อย่างนักศึกษาเข้าไปตอบเข้าไปแก้

                           กิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือประมาณภาคเรียนที่ 1 ที่มิอาจหาคำตอบอะไรได้อย่างแน่แท้ว่า อะไรคือนัยยะของกิจกรรมรับน้องที่กำลังเกิดขึ้นในแหล่งผลิตปัญญาชน จนกระทั้งทำให้ผู้เขียนต้องตรึกตรองถึงคำพูดที่ว่า ฉันเยาว์ ฉันเขล่า ฉันทึ่ง  

              

 

 

หมายเลขบันทึก: 71016เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท