การปลดล็อกกฎหมายกัญชาติดขัดตรงไหน(3)


การปลดล็อกกฎหมายกัญชาติดขัดตรงไหน(3)

14 ตุลาคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดเป็นดาบสองคม

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า มีดีและมีเสีย แต่จากเสียงวิพากษ์เห็นว่าผลเสียจะมีมากกว่า เพราะความเป็นยาเสพติด เป็นสิ่งเสพติด มีสารเสพติด ที่มีอาการต่อจิตประสาท[2] ไม่ว่าจะเสพด้วยวิธีสูดควัน หรือรับประทานเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือใช้เป็นยา ข่าวการปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด หรือที่เรียกขานว่า “กัญชาเสรี” (Cannabis Liberation) ทำให้สายเขียวฮือฮา[3] ด้วยเป็นพืชพื้นบ้านที่มีมานานแล้ว หลายคนที่รู้จักกัญชาอาจชอบใจ ไม่ว่าจะชอบใจที่ได้เสพเสรี หรือ ได้ขายเสรี หรือ ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับกัญชาเสรี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะคนรากหญ้า ได้รักษาโรคด้วยกัญชาเสรี ล้วนเป็นที่วิพากษ์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม มีปัญหาที่ต้องผูกต้องแก้ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะกฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่จะใช้ควบคุมกัญชายังไม่มีโดยตรง ยังมีข้อสงสัยกังขาอีกมาก ที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจไปทีละน้อย เพราะ เส้นทางการปลดล็อกกัญชายังต้องรอไปอีก

 

กฎหมายกัญชาและพืชกระท่อม เป็นพืชพื้นบ้านเหมือนกัน

“กัญชา” (Cannabis) [4] เป็นพืชในสกุล Cannabis วัตถุหรือสารที่อยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม มาตรา 29 (5) [5] แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด อยู่เช่นเดิม “กัญชง” (Hemp) [6] เป็นพืชที่ใช้เส้นใยในการทอผ้า พืชที่ให้เส้นใยยาว (Fiber Crop) [7] โดยเส้นใยส่วนเปลือกต้นใกล้เคียงกับลินิน สวยงาม ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้งจะทำผ้าทอกัญชงมานานแล้ว[8] และมักจะปลูกไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เส้นใยทอผ้า แต่ฝ่ายปกครองและตำรวจถือว่าเป็นยาเสพติดเพราะกัญชงก็คือพืชเสพติด (Drugs) ซึ่งไม่ถูกต้องนัก ผลก็คือทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้งถูกจับกุม ข้อหาครอบครองยาเสพติด และต้นกัญชงที่ปลูกไว้ถูกยึดทำลาย ส่วนคำว่า “Marijuana” [9] หมายถึงกัญชาที่อยู่ในรูปที่สำหรับพร้อมใช้สูบ และอาจรู้จักกันในหลายชื่อเช่น pot, weed, harsh หรือชื่อเป็นทางการ คือ “Cannabis” สมัยสงครามเวียดนามยุค 70 กัญชาไทยโด่งดังมาก ที่ทหารอเมริกันและคนอเมริกัน หรือคนตะวันตกนิยมชมชอบมาก เรียก “Thai Stick” [10] ซึ่งเป็นกัญชาไทยชั้นดี และดีกว่ากัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศอื่นๆ แต่ในประเทศไทยกัญชากลับเป็น “สิ่งเสพติด” 

แต่เดิมนั้นมีร่างกฎหมายกัญชาและพืชกระท่อม เป็นฉบับเดียวกัน ด้วยมีจุดร่วม จุดเหมือนกันหลายประการ เป็นพืชพื้นบ้าน ภูมิปัญญาพื้นถิ่นของคนไทยมานานแล้ว ว่ากันว่าเป็น “Soft Power” [11] ด้วย กัญชาเป็น “พืชผิดกฎหมายใต้ดิน” ของคนไทย คนพื้นบ้าน คนชาติพันธุ์มาช้านาน ที่คนพื้นถิ่นชาวบ้านรู้จักดีในสรรพคุณ ทั้งการใช้ทางยา การสันทนาการ การผสมอาหาร และใช้เส้นใยจากต้นกัญชง เป็นต้น สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับกัญชามาก่อน จะสับสนในต้นกัญชา เพราะมีการแยกต้นกัญชาออกเป็น 2 ชนิด[12] ที่แตกต่างกันมาก แม้จะมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายกัน เหมือนกันก็ตาม แต่สารเสพติด และอรรถประโยชน์ที่ได้จากต้นกัญชาจะต่างกัน 

ครั้นมีการตรากฎหมายในภายหลัง ปรากฏว่ามีการแยกกันเป็น 2 ฉบับ คือ (1) ร่างกฎหมายพืชกระท่อม ซึ่งต่อมาได้ตราเป็นกฎหมาย “พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565” [13] ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 และ (2) ร่างกฎหมายกัญชากัญชง แต่ปรากฏว่า “ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. ...” กลับถูกถอนร่างออกจากระเบียบวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565[14]ทำให้ต้องกลับมาทบทวน และเริ่มต้นตรากฎหมายกัญชากันใหม่ เพื่อให้มีความรอบคอบ ครอบคลุม รัดกุมมากขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป คือ (1) ต้น ใบ ดอก ฯลฯ เป็นชิ้นส่วนที่เป็นทั้งต้น ตั้งแต่ราก ลำต้น ถึงใบ ดอก ทุกปริมาณน้ำหนักหรือทุกจำนวนต้น และ (2) สารสกัดฯ คือไม่ใช่ตัวดังเดิม ไม่ใช่ตัวเริ่มแรก แต่เป็นตัวต่อมาที่สกัดแยกสารได้แล้ว สารสกัด THC (Tetrahydrocannabinol) [15]ไม่เกิน 0.2% ที่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา พิจารณาจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565[16] ข้อ 1 กล่าวคือต้องเป็น “สารสกัด” THC เกิน 0.2% 

 

ความหวังกัญชาสู่พืชเศรษฐกิจหมื่นล้าน 

ด้วยความห่วงใยในธุรกิจอุตสาหกรรมพืชกัญชามีการศึกษาวิเคราะห์ (อ้างจาก The Active, 2565) [17] ในประโยชน์ที่จะได้รับของชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน หรือบริษัทนายทุน มีข้อมูลระบุว่าปี 2564 พบคนไทยอายุ 18-25 ปี ใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ จำนวน 1.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปี 2563 หลังกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ใช้บางส่วนของกัญชา และเริ่มมีร้านค้าขายกัญชาเป็นเรื่องปกติ แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ช่วง คือ (1) ต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกกัญชาจากไร่ (2) กลางน้ำ คือโรงงานสกัด และ (3) ปลายน้ำ คือผู้นำสารสกัดกัญชามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ธุรกิจต้นน้ำ ตัวอย่าง วิสาหกิจ​ชุมชน​เกษตรอินทรีย์​ บ้านสหกรณ์ จ.เชียงใหม่ การจะปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพมีต้นทุนค่อนข้างสูง สองแสนบาทคือมูลค่าที่ต้องลงทุนเริ่มต้นกับการปลูกสร้างโรงเรือนกัญชา 1 โรงต่อ 50 ต้น เพราะว่ากัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารเคมีและสารโลหะหนักจากดินได้ดี ดังนั้น กระบวนการปลูกจึงต้องพิถีพิถันให้ปลอดสารพิษและควบคุมสารโลหะหนัก จึงจะมีคุณภาพมากพอที่จะส่งต่อ โดยเฉพาะส่วนดอก ที่จะส่งให้กรมแพทย์แผนไทย นำไปสกัดสาร CBD (Cannabidiol) [18] ตามร่างกฎหมายกัญชา ปลูกแบบครัวเรือน หรือแพทย์แผนไทย ให้จดแจ้งภายในจังหวัด ส่วนการปลูกเชิงอุตสาหกรรม ให้ขอใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี จ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท 

ธุรกิจกลางน้ำ ตัวอย่าง บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด จ.เชียงใหม่ โรงงานสกัดกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรองรับดอกกัญชา 200 ไร่ต่อปี โรงงานสกัดมีบทบาทคล้ายพ่อค้าคนกลาง มีอำนาจในการกำหนดราคา มีโครงการจะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกัญชาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming[19] คาดว่าหลังการประกาศใช้กฎหมายกัญชาไป 1 ปี อาจเกิดภาวะกัญชาล้นตลาด คือปลูกจนเกินความต้องการภายในประเทศ และต้องหาทางส่งออก ตามร่างกฎหมายกัญชา แปรรูปสกัดสาร THC, CBD ให้ขอใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี จ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท

ธุรกิจปลายน้ำ ตัวอย่าง ผู้ผลิตร้านสมุนไพรคาเฟ่ จ.เชียงใหม่ กลุ่มสตาร์ตอัป [20] รายย่อย มองว่าการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จะเป็นก้าวแรก ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีทางเลือก หยิบกัญชาขึ้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้มีเพียงเครื่องดื่ม แต่ยังมีผลิตภัณฑ์และอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น คุกกี้กัญชา ไส้อั่วกัญชา เป็นต้น โดยหลังจากเปิดร้านมาได้ 6 เดือน มีแนวโน้มยอดขายเพิ่มขึ้น ตามร่างกฎหมายกัญชา ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกัญชา ให้ขึ้นทะเบียนคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้มแข็ง ตัดตอนการผูกขาด

อย. ได้คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกพืชกัญชา จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2564 มูลค่า 600 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าอีก 5 ปี ต้องมาในปี 2569 มูลค่าจากอุตสาหกรรมกัญชาจะสูงถึง 15,770 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 126% ปัจจุบันมีความพยายามกำหนดราคากลางของกัญชา นี่คือราคาในช่วงกัญชายังเป็นยาเสพติด ดอกกัญชาแห้งอัดแท่ง กิโลกรัมละ 10,000 – 20,000 บาท ใบกัญชาสด กิโลกรัมละ 5,900 บาท ใบกัญชาแห้ง 100 กรัม 2,200 บาท รากกัญชา 100 กรัม 2,000 บาท

 

การศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา

ในระยะย้อนหลังไปไม่เกิน 5-6 ปีที่ผ่านมา ด้วยความคาดหวังว่าจะปลดล็อกกัญชาออกจากพืชเสพติดมานานแล้ว แต่ด้วยเป็นพืชเสพติด ทำให้กัญชาเป็น “สินค้าใต้ดิน” ไม่เปิดโอกาสให้ถูกกฎหมายได้เลย ไม่ว่ากรณีใดๆ มีการศึกษารายงานการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา ช่วงปี 2561-2564 ที่น่าสนใจ ขอยกตัวอย่างผลการศึกษา 5 เรื่อง ได้แก่

(1) ประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา โดย นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ (2561) [21] ศึกษาทบทวนวรรณกรรมจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์พบว่า งานวิจัยที่เกี่ยวกับกัญชาส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในห้องปฏิบัติการหรือทำในสัตว์ทดลอง หากเป็นงานวิจัยในมนุษย์ก็มักเป็นงานวิจัยขนาดเล็กและมักเป็นการเปรียบเทียบผลการ รักษาด้วยกัญชากับยาหลอก การเปิดกว้างต่อการใช้กัญชาในต่างประเทศมีหลายระดับ ตั้งแต่อนุญาตให้ใช้ยาที่ผลิตจากสาร สกัดจากกัญชาเพื่อเป็นยาเสริม หรือใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ บางประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลาย บางประเทศลดโทษทางอาญาในการเสพและถือครอง

(2) ปัญหากฎหมายการเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทยเปรียบเทียบญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดย ศิวัช นุกูลกิจ (2563) [22] ศึกษาเปรียบเทียบปัญหากฎหมายการเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทยในการนันทนาการ ผลกระทบจากการเปิดเสรีกัญชา และมาตรการทางกฎหมายในการเปิดเสรีกัญชา ผลการวิจัยพบว่า (2.1) การเปิดเสรีกัญชาในการนันทนาการเกิดจากผู้เสพมีปัญหาส่วนตัว ครอบครัว เศรษฐกิจ (2.2) ผลกระทบจากการเปิดเสรีกัญชานันทนาการ จะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ผู้เสพจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ในญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ไม่อนุญาตให้เปิดเสรีกัญชาในการนันทนาการ (2.3) มาตรการทางกฎหมายในการเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ไม่อนุญาตให้มีการเปิดเสรีกัญชาในด้านนันทนาการ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบในสังคม แต่อนุญาตให้เปิดเสรีกัญชาทางการแพทย์ หรืองานวิจัย เป็นต้น ส่วนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลางจะอนุญาตให้เปิดเสรีกัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การศึกษา วิจัย เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด แต่มีบางรัฐฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาลกลาง โดยเปิดเสรีกัญชาในการนันทนาการได้

(3) ปัญหาการพัฒนากฎหมายยาเสพติด: ศึกษากรณีการเปิดเสรี โดย อัครพนธ์ เอี้ยวรัตนวดี (2563) [23] ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกฎหมายยาเสพติดต่อการพัฒนาการเปิดเสรีกัญชา ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า กัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่จากกระแสการปฏิรูปของนโยบายยาเสพติดในระดับนานาชาติ จึงมีความเป็นไปได้ต่อการพัฒนา เพื่อเปิดเสรีกัญชาหรือเพื่อสันทนาการ แต่ทั้งนี้ ในประเทศไทยนั้น ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการเปิด เสรีกัญชานั้นคือ ผลจากข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคีในระดับนานาชาติ[24] ประกอบกับบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการพัฒนาเสรีกัญชา ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าในการพัฒนานโยบายด้านการเปิดเสรีกัญชานั้นสามารถทำได้ในส่วนของการแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดภายในประเทศ และเจรจาต่อรองกับองค์การสหประชาชาติ โดยส่งผลดี ต่อนโยบายยาเสพติดของประเทศไทย 

(4) รายงานวิจัยฉบับ มายาคติกัญชา การสื่อสาร ความรู้ และความเชื่อของสังคมไทย: กรณีศึกษาผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ฟารีดา เจะเอาะ และ อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ (2564) [25] ศึกษาแบ่ง 2 กลุ่มใหญ่ คือ (1) กลุ่มผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ผ่อนคลาย และผู้ใช้กัญชาเพื่อบำบัด รักษา และ (2) กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับกัญชาในมิติสุขภาพ และผู้เกี่ยวข้องกับกัญชาในมิติสังคม วัฒนธรรม พบว่า ผู้ใช้กัญชาส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ใช้กัญชาในรูปแบบการสูบ รองลงมาคือการรับประทานหรือดื่ม หยดน้ำมันกัญชาที่ใต้ลิ้น และการสูดดมตามลำดับ โดยผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ผ่อนคลาย มีประสบการณ์การใช้กัญชา 10-30 ปี ส่วนผู้ใช้กัญชาเพื่อบำบัด รักษา มีประสบการณ์การใช้กัญชา 1-7 ปี และมีโรคหรืออาการป่วยที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ โรคจิตเภทหรืออารมณ์แปรปรวนจำนวน 4 คน มีเพียง 1 ใน 4 เป็นผู้ที่ขอขึ้นทะเบียนการใช้กัญชาเพื่อการรักษา ส่วนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งมิติสังคม และมิติสุขภาพส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในการใช้กัญชา แต่มีความเกี่ยวข้องกับกัญชาในบทบาทหน้าที่ เช่น การป้องกัน การปราบปราม การกำกับนโยบาย การปรุงยา การรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่คุ้นเคยและผูกพันของผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ผ่อนคลาย เป็นความหวังและความเชื่อว่าจะทำให้อาการป่วยของตนเองดีขึ้นในมุมมองของผู้ใช้เพื่อบำบัด รักษา โดยมีสถาบันครอบครัวเป็นพื้นฐานในการสร้างความชอบธรรมการใช้กัญชาในบ้านหรือในครัวและสถาบันทางวัฒนธรรมเป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการใช้กัญชาผ่านในร้านน้ำ และในงานพิธีต่างๆ เช่น งานศพ

(5) นโยบายกัญชาเสรีในฐานะพืชทางการแพทย์ (Free cannabis as a medical plant) โดย พัฒณปกรณ์ ดอนตุ้มไพร, พิพัฒน์ พันมา, มัณฑนา หน่อแก้ว และ โชติ บดีรัฐ (2564) [26] เป็นนโยบายการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันให้กัญชาเป็นพืชทางการแพทย์ ที่ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการปลูกกัญชาได้อย่างเสรี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตยารักษาโรค หรือเพื่อการรักษาทางการแพทย์ และอันจะก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นมหาศาล ก่อให้เกิดกระแสสนับสนุนและความตื่นตัวในการศึกษากัญชาจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามก็มีผลกระทบหลายด้าน ดังนั้นบทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญของนโยบายกัญชาเสรี นโยบายกัญชาเสรีในฐานะพืชทางการแพทย์ และผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีในฐานะพืชทางการแพทย์

 

ภาพแห่งความคาดหวังของเหล่าผู้สานฝันให้เป็นจริงในเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู อุดมสมบูรณ์ รายได้งาม ลอยอยู่เบื้องหน้า โดยยกประเด็นเพื่อการแพทย์เป็นหลักตามแนวทางของประเทศอารยะสากล แต่ในขณะเดียวกันอีกฝ่ายที่ไม่พิสมัยกับนโยบายนี้ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ได้ออกมาท้วงติงและขอให้รัฐชัทดาวน์กัญชา[27] ให้กลับไปสู่ “พืชเสพติดเหมือนเดิม” ยังเป็นความหวังในสองด้านทั้งด้านลบและด้านบวก และแน่นอนว่าคำทักท้วงให้ควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มงวด รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุม[28] เป็นสิ่งจำเป็นมาก นี่คือข้อกังขาที่ติดขัด


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 14 ตุลาคม 2565. https://siamrath.co.th/n/390869

[2]สาร THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ “สารเมา” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว หวาดระแวง แพนิค ความจำระยะสั้นแย่ลง สมองทำงานแย่ลงโดยกะทันหัน มีผลอย่างมากต่อระบบสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยมีผลทั้งด้านความจำ และปริมาณเนื้อสมองที่จะลดลงถึง 10% ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวช หรือมีประวัติครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการประสาทหลอนอย่างถาวร สูงถึง 20%

ดู “กัญชา” บริโภคมากเกินเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ (Sikarin), 4 กรกฎาคม 2565, https://www.sikarin.com/health/กัญชา-บริโภคมากเกินเส#:~:text=สาร%20THC%20(Tetrahydrocannabinol)%20หรือ%20“,หวาดระแวง%20แพนิค

[3]กัญชาเสรี : สายเขียวดีใจ แต่รัฐยังไม่สนับสนุนให้สูบในที่สาธารณะ โดย นนทรัฐ ไผ่เจริญ, Benar News, 9 มิถุนายน 2565, https://www.benarnews.org/thai/news/th-cannabis-legal-06092022170515.html

[4]กัญชามี 3 สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) ดู รอบรู้เรื่องกัญชา, ในกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, https://www.medcannabis.go.th/blog/สายพันธุ์กัญชา & ข้อควรรู้เกี่ยวกับกัญชา โดย ดร.องอาจ ธเนศนิตย์, ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 24 มิถุนายน 2565, https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=753#:~:text=กัญชาเป็นพืชให้ดอก,โครงสร้างโมเลกุลเป็นแบบ%2021

[5]กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม มาตรา 29 (5) แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด 

ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยมี 1) พืชฝิ่น 2) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย และ 3) สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชากัญชงที่มีค่า thc เกิน 0.2% โดยไม่ได้ระบุชื่อพืชกัญชา

ดู ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 35 ง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 8, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF

[6]ทำความรู้จัก "กัญชง" พืชฮิตติดกระแส, ห้องสมุดเพื่อเกษตรกรไทย(Thai Farmers' Library), 29 เมษายน 2564, http://thaifarmer.lib.ku.ac.th/news/608a70913c349d06158fddb4#:~:text=เส้นใยส่วนเปลือกของลำต้น,ให้ความอบอุ่นมากกว่าลินิน

[7]ดู พืชเส้นใย : กัญชง, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, http://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/50/plant/43_plant/43_plant.html

[8]ภูมิปัญญาการทอผ้าใยกัญชง ของชาติพันธุ์ม้ง บ้านป่าคาใหม่ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก, สำนักวัฒนธรรมจังหวัดตาก, 5 สิงหาคม 2565, https://www.m-culture.go.th/tak/ewt_news.php?nid=2289&filename=index & บทความ: เฮมพ์…รากเหง้าแห่งวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวม้ง โดย ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช และ กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ในวารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 3), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 7 มิถุนายน 2562, http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6131/254 & กราฟิกบนผืนผ้า อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ม้งบ้านเข็กน้อย, โดยอรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล, ในartoftraveler, 25 มกราคม 2562, https://www.artoftraveler.com/2019/01/25/ผ้าม้งบ้านเข็กน้อย/ 

[9]มาลีฮวนน่า (Marijuana) เป็นคำแสลง ที่ใช้เรียกส่วนดอก ของต้นแคนนาบิส (กัญชา)ที่นำมาสูบ ไม่ใช่ชื่อสายพันธุ์ของกัญชา

[10]คือ กัญชาพันธุ์หางกระรอก (Thai Stick) เป็นกัญชาสายพันธุ์ไทย

ดู กัญชาหางกระรอก กัญชาสายพันธุ์ไทย, INN News, 30 มีนาคม 2564, https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_72047/

[11]Soft Power กัญชาพืชผิดกฎหมายใต้ดินพื้นบ้านไทย

ดู ชัชชาติ ย้ำ กทม. คุมกัญชาแบบ Soft Power รับห่วงการเข้าถึงของเยาวชน, เนชั่นทีวี, 15 สิงหาคม 2565, https://www.nationtv.tv/news/politics/378883074

[12]กัญชาแยกเป็น 2 ชนิด คือ (1) กัญชา (Cannabis) และ (2) กัญชง (Hemp) แยกสายพันธุ์ (1) Sativa & Hemp (2) Indica ซึ่งคล้ายกันมาก ความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญคือ มีค่า THA และ CBD ที่แตกต่างกัน 

ดู อธิบายความแตกต่างระหว่างกัญชาและกัญชง, บทความท่องเที่ยว ใน ธัญ โกลบอล ทราเวล(THANglobal travel), 3 มิถุนายน 2564, http://www.thanglobaltravel.com/th/ต้นแคนนาบิส/ 

[13]พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 52 ก วันที่ 26 สิงหาคม 2565 หน้า 1-14, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/052/T_0001.PDF

[14]สภาฯ มีมติถอนร่าง พรบ.กัญชา กัญชาออกจากวาระการประชุม, INN News, 14 กันยายน 2565, https://www.innnews.co.th/news/politics/news_410124/

[15]THC เป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Cannabis Based Medicine)คือ สารออกฤทธิ์ในกัญชาที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค เป็นสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ได้แก่ เตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinol: THC) มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และกระตุ้นความอยากอาหาร

[16]ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 35 ง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 8, อ้างแล้ว

[17]กัญชาเสรี: โอกาสหรือผูกขาด, the Active, AGRICULTUREFEATURE & INTERVIEW, สำรวจธุรกิจกัญชา จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ใครได้ประโยชน์ ?, 9 มิถุนายน 2565, https://theactive.net/read/free-cannabis-local-chain/

[18]CBD คำย่อของ Cannabidiolคือสารสกัดอีกประเภทหนึ่งที่ได้จากต้นกัญชา เดิมทีต้นกัญชา หรือกัญชงที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันนั้น จัดเป็นสารเสพติดที่สามารถบรรเทาการเจ็บป่วยในบางโรคได้ แต่เนื่องจากสารสกัดตัวแรกที่นำมาใช้ก่อนหน้านี้คือ THC (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารสกัดที่ส่งผลให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม

[19]เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming)คือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืชที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา Charles Eaton and. Andrew W. Shepherd (2001) ได้สรุปประโยชน์ของการทำเกษตรพันธสัญญาในมุมมองของเกษตรกรว่าการทำสัญญากับบริษัทใหญ่สามารถอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายย่อยด้านต่างๆ เช่น เงินทุน ข่าวสาร เทคโนโลยี ตลาด สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงทางด้านรายได้ให้แก่ เกษตรกรเมื่อทำการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น ให้การผลิตมีความเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งและค่าการตลาดลดลง นอกจากนี้ต้นทุนในการควบคุมคุณภาพและความผันผวนของปริมาณวัตถุดิบลดลงด้วย ทำให้สามารถนำไปแปรรูปได้ดีขึ้น การที่บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่จะเกิดกับผู้บริโภคอีกด้วย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560

ดู การส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา (Contact farming) ของรัฐบาล, โดยกองประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, https://spm.thaigov.go.th/FILEROOM/spm-thaigov/DRAWER014/GENERAL/DATA0000/00000188.PDF

[20]วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ บริษัทสตาร์ตอัป (startup, startup company) คือ รูปแบบหนึ่งของการประกอบธุรกิจที่ริเริ่มโดยผู้ก่อตั้งหรือผู้ประกอบการรายบุคคลเพื่อคิดค้นตัวแบบที่ทำซ้ำและขยายขนาดได้ วิสาหกิจเริ่มต้นเน้นความสำคัญในการร่วมลงทุนทางธุรกิจ ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินกิจการ วัตถุประสงค์หลักของวิสาหกิจเริ่มต้นคือการพัฒนาตัวแบบธุรกิจที่มีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของตลาด และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจริงแก่ผู้บริโภค โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรม มีการจัดหาพื้นที่ให้เช่าทำงานร่วมกัน บริการจัดส่งชุดวัตถุดิบอาหารพร้อมปรุง และบริการระบุชื่อเพลงผ่านโปรแกรมประยุกต์เป็นอาทิ การลงทุนเหล่านี้มักมีขนาดเล็กโดยธรรมชาติและได้รับเงินทุนจากผู้ก่อตั้งหรือกลุ่มนักลงทุนที่เชื่อมั่นในแนวคิดของวิสาหกิจหรือผู้ก่อตั้ง : วิกิพีเดีย

คำว่าธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup)แต่คงยังมีความสงสัยหรืองงๆ อยู่ว่าคือธุรกิจอะไรกันแน่ ใช่ธุรกิจเกิดใหม่ทั่วไปเหมือนๆ กับ SMEs หรือเปล่า จริงๆ แล้วธุรกิจ Startup ได้มีคนให้ความหมายไว้ค่อนข้างหลากหลาย แต่สรุปได้คล้ายๆ กันคือ “เป็นกิจการที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็กๆ สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้โดยง่าย (Repeatable) และขยายกิจการได้ง่าย (Scalable) มีการนำเทคโนโลยี และ/หรือ นวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ มักเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน”

สตาร์ทอัพ (Startup) ถือเป็นวิสาหกิจกลุ่มใหม่ ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าว กระโดด ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อมาสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นวิสาหกิจแห่งอนาคตที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลัง สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดู Startup คือธุรกิจอะไรกันแน่, โดย ณฤทธิ์ วรพงษ์ดี, ห้องเรียนผู้ประกอบการ, ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET : The Securities Exchange of Thailand), https://classic.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=5464 & รู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพ, ห้องเรียนผู้ประกอบการ, ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET : The Securities Exchange of Thailand), https://research.kpru.ac.th/startupkpru/form/startup_business.pdf & สตาร์ทอัพ คืออะไร ต่างจาก SME หรือเปล่า และสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร, bingobook, 11 กุมภาพันธ์ 2565, https://bingobook.co/business/startup/ 

[21]ประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา โดย นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ, รพ.บ้านไผ่ สำนักงานเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ใน วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2561, http://ihppthaigov.net/DB/publication/attachdomestic/291/Full-text.pdf 

[22]ปัญหากฎหมายการเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทยเปรียบเทียบญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา* (Law Problems of Cannabis Liberalization of Thailand Compare with Japan United Kingdom and The United States), โดย ศิวัช นุกูลกิจ มหาวิทยาลัยปทุมธานี ใน วารสารปัญญาปณิธาน (Pañña Panithan Journal), ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2563) Vol.5 No.2 (July – December 2020), https://so05.tci-thaijo.org/index.php/PPJ/article/download/247558/168671/870025

[23]ปัญหาการพัฒนากฎหมายยาเสพติด: ศึกษากรณีการเปิดเสรีกัญชา. (Problems of Drug Law Development: Case Study of Cannabis Liberalization) โดย อัครพนธ์ เอี้ยวรัตนวดี, นักวิจัยอิสระด้านสาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330,ในวารสารวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2563, http://www.niti.ubru.ac.th/lawjournal/fileuploads/2-2563/บทความ--อัครพนธ์.pdf

[24]อนุสัญญาระหว่างประเทศและการควบคุมกัญชาในต่างประเทศ ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 (1961 single convention on narcotic drugs) กำหนดให้ กัญชาและยางกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 4 แต่สารสกัดจากกัญชา อยู่ในประเภท 1 ซึ่งสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้น โดยภาคีประเทศ จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันมิให้นำพืชกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด หรือทำการค้าที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศนี้ไม่ได้สนับสนุน หรือไม่อนุญาตให้ใช้เชิงสันทนาการ 

ดู ข้อควรรู้เกี่ยวกับกัญชา โดย ดร.องอาจ ธเนศนิตย์, ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 24 มิถุนายน 2565, อ้างแล้ว

[25]รายงานวิจัยฉบับ มายาคติกัญชา การสื่อสาร ความรู้ และความเชื่อของสังคมไทย: กรณีศึกษาผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ฟารีดา เจะเอาะ และ อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, สนับสนุนทุนวิจัยโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มีนาคม 2564, https://cads.in.th/cads/media/upload/1621330966-รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์-มายาคติกัญชา%20(ปิดโครงการ%2014-04-64).pdf

[26]นโยบายกัญชาเสรีในฐานะพืชทางการแพทย์ (Free cannabis as a medical plant), ThaiJo, โดย พัฒณปกรณ์ ดอนตุ้มไพร, พิพัฒน์ พันมา, มัณฑนา หน่อแก้ว และ โชติ บดีรัฐ, ใน, วารสาร Journal of Roi Kaensarn Academi ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2564, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JRKSA/article/download/246784/167197/872460

[27]แพทย์ทั่วประเทศกว่า 1,300 คน เรียกร้อง สธ. หยุด ‘กัญชาเสรี’ นึกถึงความปลอดภัย ปชช. เป็นหลัก, The Coverage (เวบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า), Movement, 19 กันยายน 2565, https://www.thecoverage.info/news/content/4027

[28]มีประเด็นมากมายในความไม่ชัดเจนในการควบคุมกัญชา อาทิเช่น การควบคุมการตรวจสอบใส่กัญชาผสมในอาหารไม่ได้, การซื้อขายกัญชาออนไลน์หรือตามที่สาธารณะ, การขายน้ำกัญชาในตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ, กัญชาไฟฟ้า, การควบคุมการปลูก การผลิตฯ, ฯลฯ เป็นต้น 

ดูข่าว "กัญชาไฟฟ้า" ขายเกลื่อนออนไลน์ กูรูเตือนผิดกฎหมาย - ห่วงเยาวชนเข้าถึงง่าย, กรุงเทพธุรกิจ, 15 กรกฎาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/social/1015669 

หมายเลขบันทึก: 708658เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2022 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท