Cognitive learning


 

มีคำอธิบายเรื่อง Cognitive learning แบบอ่านง่าย ที่ (๑)   ช่วยให้ผมเข้าใจว่าคำ Cognitive learning เป็นทฤษฎี    ที่ใช้อธิบายกระบวนการเรียนรู้   ไม่ใช่ “ความจริง”   และเป็นคำอธิบายที่มาก่อนความรู้สมัยใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ของสมอง (neuroscience)   

จะเห็นว่า ศาสตร์ด้านการเรียนรู้ เป็นการตีความ     ไม่ใช่ “ความจริง”   แต่ก็เป็นการตีความที่มีประโยชน์มาก   นำสู่วิธีการจัดระบบการศึกษา    แต่ก็น่าแปลก ที่ระบบการศึกษาไทยเดินสู่ความล้มเหลวทั้งๆ ที่มีนักการศึกษาไทยที่รู้ศาสตร์นี้อย่างดี   ผมยังงงจนบัดนี้   

แต่ก็เข้าใจได้ ว่าระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อนยิ่ง   ย่อมมีปัจจัยเข้ามามีอิทธิพล มากกว่าปัจจัยด้านทฤษฎีหรือหลักการด้านการเรียนรู้    ใครอยากรู้ให้ไปอ่านเอกสาร ๒ ชิ้น คือ World Development Report 2018 ที่ผมตีความมาลงที่ (๒)    และหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก (๓)   ที่เขาตีความทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างได้ผล   

ที่การศึกษาไทยคุณภาพต่ำ    ก็เพราะมีการแย่งทรัพยากร หรือแย่งผลประโยชน์ ไปจากเด็กอย่างแนบเนียน   หรืออย่างไม่รู้ตัว     

กลับมาที่ความรู้ภาคทฤษฎี ตามคำอธิบายที่ (๑)    จุดสำคัญที่ต้องตีความให้ถูกคือ การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนทำกับตัวเอง   ไม่ใช่ครูหรือผู้อื่นทำให้   ครูหรือผู้อื่นช่วยได้โดยการเกื้อหนุน ไม่ใช่สอน   วงการศึกษาไทยใช้วาทกรรมและเอกสารว่าต้องไม่สอน    แต่ในทางปฏิบัติยังเน้นสอน    ทั้งเน้นสอนนักเรียน และเน้นสอนครู   วัฒนธรรมการศึกษาไทยจึงเป็นวัฒนธรรมถ่ายทอดความรู้    วัฒนธรรมเชื่อตำรา เชื่อผู้รู้    เชื่อผู้มีอำนาจ   

วัฒนธรรมการศึกษาไทย จึงเป็นวัฒนธรรมศรีธนญชัย คือพูด (หรือเขียน) อย่างหนึ่ง    แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง    เน้นความสะดวก และผลประโยชน์ ของผู้เป็นใหญ่      

โปรดสังเกตว่า  Cognitive learning มีทั้งส่วนที่เรียนแบบรู้ตัว กับเรียนแบบไม่รู้ตัว    ผมมีความเชื่อว่า ส่วนที่เรียนแบบไม่รู้ตัวมีมากกว่า และมีอิทธิพลต่อชีวิตมากกว่า   กล่าวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้แบบรู้ตัวจากโรงเรียนไม่สำคัญ    ผมเชื่อว่าการเรียนรู้สองแบบนี้มันเสริมซึ่งกันและกัน    และหากตัวเรารู้วิธีเรียนรู้จากประสบการณ์ (ไม่รู้ตัว) ให้กลายเป็นการเรียนแบบรู้ตัวด้วยตัวเอง    เราจะเรียนรู้เก่ง หรือเรียนได้มากและลึก (มีปัญญา)   

สมัยนี้เรารู้แล้วว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์เรียกว่า experiential learning   และทำโดยการสังเกตพร้อมกับสะท้อนคิด (reflective observation)    รู้จักสะท้อนคิดหลายๆ แบบ   แบบที่สำคัญที่สุดเป็นการสะท้อนคิดสู่การสร้างหลักการหรือทฤษฎี (abstract conceptualization)  

จะเห็นว่า คนมีปัญญาต้องสามารถสร้างทฤษฎีหรือหลักการ (หรือตรวจสอบหลักการที่มีคนกำหนดไว้ก่อน) ด้วยตนเอง    คือเชื่อตัวเองมากกว่าเชื่อคนอื่น    และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ไม่ว่าเชื่อตนเองหรือเชื่อคนอื่นต้อง “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง”    คือสมาทานท่าทีสงสัยใคร่รู้ (enquiry attitude)    ซึ่งจะนำสู่การนำทฤษฎีหรือหลักการที่ตนสร้างขึ้นไปทดสอบในสถานการณ์เดิมเพื่อดูว่าผลดีขึ้นไหม   หรือเอาไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ ว่าใช้ได้ไหม    คนที่รู้จักหมุนวงจรเรียนรู้แบบนี้ จนเป็นนิสัย    คือผู้มีปัญญา    และวงจรนี้เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle

Cognitive Learning จึงเป็นเพียงส่วนเดียวของการเรียนรู้ในชีวิตของคนเรา   การเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมีพลังกว่าคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) ตาม  Kolb’s Experiential Learning Cycle   ที่ใช้ได้ทั้งต่อการเรียนรู้โลกภายนอก และเรียนรู้โลกภายในตน   ดังเสนอไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/706897   

ผมเสนอแนวคิดหลอมรวม Cognitive Learning  กับ Experiential Learning ไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/707919 

วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๖๕

  

     

 

หมายเลขบันทึก: 708271เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2022 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2022 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท