เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง  8. กรอบ ๑.๑ วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ


 

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์ตรงของตนเอง     เป็นการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง    ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน คือครบองค์ประกอบ VASK (V = values - ค่านิยม, A = attitude - เจตคติ, S = skills -ทักษะ, K = knowledge -ความรู้)    ไม่ใช่แค่เรียนวิชาความรู้ และบางทักษะทางเทคนิคเท่านั้น   

การเรียนรู้ที่ถูกต้องจึงเน้นการฝึกปฏิบัติ    โดยครูทำหน้าที่โค้ช หรือ facilitator ของการฝึกนั้น   

แต่ฝึกเท่านั้นไม่พอ    ต้องคิดไปพร้อมๆ กันด้วย    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ครบด้านของ VASK    การคิดแบบนี้เรียกว่า “ใคร่ครวญสะท้อนคิด” (reflection  - โยนิโสมนสิการ) จากการปฏิบัติ    ครูทำหน้าที่ชวนนักเรียนใคร่ครวญสะท้อนคิด โดยตั้งคำถาม    คำถามที่ดี มีความเหมาะสม จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงครบด้านของ VASK   ครูจึงต้องเรียนรู้วิธีตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้ของศิษย์    เป็นคำถามที่เหมาะสมต่อศิษย์แต่ละกลุ่ม   การเรียนรู้เรื่องนี้ของครูควรอยู่ในเป้าหมายของกระบวนการ PLC – Professional Learning Community ของครู    เป็นการเรียนรู้ที่เป็นวงจรยกระดับสมรรถนะครูต่อเนื่อง ไม่มีสิ้นสุด

โรงเรียนจึงเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างน้อยสองชั้น คือการเรียนรู้ของนักเรียน และการเรียนรู้ของครู    โดยนักเรียนร่วมกันหมุนวงจรการเรียนรู้ของตน มีครูเป็นโค้ช   และครูก็ร่วมกันหมุนวงจรการเรียนรู้ของตน โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน (ครูใหญ่) เป็นโค้ช   

ขอย้ำว่า ทั้งสองวงจร (คือวงจรของนักเรียนและวงจรของครู) ต้องมีเป้าหมายเรียนรู้ฝึกฝนสมรรถนะครบองค์สี่ของ  VASK   โดยในปัจจุบันองค์ประกอบที่ถูกละเลยมากที่สุดคือ V – values - ค่านิยม   สำหรับครู วงจรเรียนรู้นี้ควรได้ช่วยยกระดับค่านิยมในการเป็นครู    ช่วยยกระดับศักดิ์ศรีในการเป็นครู    และสำหรับนักเรียน วงจรเรียนรู้นี้ควรได้ยกระดับค่านิยมด้านความเป็นคนดี   

วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า experiential learning    เป็นการเรียนรู้ที่เริ่มจากการลงมือทำ ตามด้วยการสะท้อนคิด (reflection)    จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า reflective learning   

เพื่อให้การเรียนรู้จากการปฏิบัตินำสู่การเรียนรู้ที่มีพลังแท้จริง    ขอแนะนำ Kolb’s Experiential Learning 

 

 

วงจรนี้เริ่มจากประสบการณ์ตรงของตนเอง (concrete experience)   ตามด้วยการสังเกตและคิดไปพร้อมกัน (reflective observation)    โดยที่การคิดนั้นไม่ใช่คิดแบบธรรมดา แต่เป็นการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือการตั้งคำถาม    จะเรียนรู้ได้ตื้น-ลึก  แคบ-กว้าง ขึ้นกับคำถามที่ผุดขึ้นหรือมีครูช่วยถาม   หากตั้งคำถามไปที่เทคนิคหรือวิธีการ ก็ได้เรียนรู้เชิงเทคนิค ซึ่งมีประโยชน์มาก   แต่จะไม่เป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง   

จะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง คำถามเพื่อการใคร่ครวญสะท้อนคิดต้องมีหลายมิติ หลายระดับ    เป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่เน้นคำตอบถูกผิด แต่เน้นคำถามที่กระตุ้นการคิดใคร่ครวญ   ที่สำคัญยิ่งคือ เป็นคำถามที่นำสู่การคิดตกผลึกเป็นข้อเรียนรู้เชิงหลักการ หรือเชิงทฤษฎี (conceptualization)  ที่ในวงจร Kolb’s Cycle เรียกว่า abstract conceptualization   

การเรียนรู้จากการปฏิบัติจึงต้องไปให้ถึงการฝึกตั้งทฤษฎีหรือหลักการด้วยตนเอง    จากการใคร่ครวญสะท้อนคิดข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติของตนเอง    นักเรียนต้องได้รับการฝึกให้กล้าคิดหลักการหรือทฤษฎีจากการปฏิบัติของตน   โดยไม่กังวลว่าจะเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง    ไม่ตรงตามตำรา    เป็นการสะท้อนคิดที่ยึดหลักฐานจากการปฏิบัติ     

นักเรียนต้องได้รับการฝึกให้ตระหนักว่า การตกผลึกทฤษฎีหรือหลักการของตนอาจถูกต้องก็ได้ หรืออาจผิดก็ได้    คือเชื่อในทฤษฎีที่ตนสร้างขึ้นแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง    ต้องมีการพิสูจน์ต่อไป ในขั้นตอนที่ ๔ ของ Kolb’s Cycle    คือ Active Experimentation    ซึ่งหมายถึงการนำเอาทฤษฎีนั้นไปทดลองใช้ ในกิจการเดิมวงรอบต่อไป     เพื่อดูผลว่า ช่วยให้ได้รับผลดีกว่าเดิมหรือไม่   หากผลดีกว่าเดิม ข้อสรุปเชิงหลักการนั้นก็น่าจะถูกต้อง   

อาจนำเอาหลักการหรือทฤษฎีนั้น ไปลองใช้ในสถานการณ์ใหม่ หรือกิจกรรมใหม่    หากได้ผลดี ก็เป็นหลักฐานว่าหลักการนั้น น่าจะถูกต้อง   

นักเรียน (ครู และคนเราทุกคน) ต้องฝึกหมุนวงจรการเรียนรู้ สู่สมรรถนะในการตกผลึกหลักการหรือทฤษฎีจากการปฏิบัติ    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle   เพื่อการเรียนรู้ในระดับลึกและเชื่อมโยง    ต้องไม่หยุดอยู่แค่ใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อเรียนรู้เชิงเทคนิคเท่านั้น   

ในเชิงลึก ครูในแต่ละโรงเรียน ควรร่วมกันตั้งคำถามว่า   ครูจะช่วยตั้งคำถามให้นักเรียนได้ตกผลึกหลักการในมิติของ V, A, S, K อย่างไร   แล้วลองนำไปใช้   และนำผลที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวง PLC ของครู    ก็จะเท่ากับวง PLC นี้ เป็นวงหมุน Kolb’s Cycle เพื่อครูทำหน้าที่ facilitator ให้ศิษย์พัฒนาสมรรถนะครบด้าน

ในมุมของนักเรียน นี่คือการเรียนรู้สามชั้น    ชั้นแรก เรียนรู้เพื่อยกระดับ VASK ของคน    ชั้นที่สอง เพื่อฝึกทักษะการใคร่ครวญสะท้อนคิด ที่เป็นทักษะสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต    และชั้นที่สาม เพื่อฝึกสมรรถนะการตกผลึกหลักการหรือทฤษฎีจากประสบการณ์ต่างๆ    ที่จะช่วยให้เป็นคนที่มีความลึกซึ้ง ไม่ตื้นเขิน     

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 704591เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2022 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2022 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท