4 Creative Thinking


เวลาทำงานขอให้คิดแบบเด็ก แต่ให้ทำแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่คิดแบบผู้ใหญ่แต่ทำแบบเด็ก

            ความคิดสร้างสรรค์ 4 แบบ ที่ผมจะนำเสนอนี้อาจมีความแตกต่างไปบ้างจากตำราอื่น แต่ที่ผมได้นำมาใช้และเห็นว่ามีประโยชน์ โดยไม่จำแนกประเภทมากเกินไปจนจำยาก ซึ่งปัจจุบันมีการจำแนกเรื่องนี้ไว้หลายแบบ บางที่ก็เรียกใหม่ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ทางบวกหรือCreasitive Thinking แต่ในความเห็นของผมความคิดสร้างสรรค์ นั้น ความหมายในตัวของมันก็เป็นทางที่ดีหรือทางบวกอยู่แล้ว

                ความคิดสร้างสรรค์ 4 แบบที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาคนให้เกิดการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ นี้ ประกอบด้วย
                1. Integrated Thinking คิดเชิงบูรณาการ มองเป้าหมายเดียวกันไม่คิดแยกส่วน คิดอย่างเป็นกลาง รู้สภาพตามความเป็นจริง คิดกว้าง มองเห็นขอบเขตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด   มองให้ออกว่าBig picture คืออะไร   เป้าหมายสูงสุดที่ต้องการคืออะไร ทำให้มีความเข้าใจองค์การและคนอื่นๆได้ หากมองเฉพาะที่ เฉพาะจุด เฉพาะฝ่ายตนเอง อาจตีความไปอีกทางหนึ่ง แม้จะถูกเมื่ออยู่ในสถานการณ์ของเรา แม้จะทำอย่างดีได้ผลอย่างดี แต่ก็อาจจะดีเฉพาะแผนกเรา ฝ่ายเรา พอเอามารวมๆกันเป็นภาพใหญ่ องค์การอาจไมได้ดีตามไปด้วย
                2. System Thinking คิดเชิงระบบ เห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง เห็นความเชื่อมโยง ความเป็นเหตุปัจจัยกัน ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง   มองให้ออกว่าทุกหน่วยในองค์การสัมพันธ์กันอย่างไร ทุกแผนกในองค์การจะเป็นลูกค้าซึ่งกันและกัน ต้องส่งมอบงานให้กันและกันก่อนจะส่งให้ลูกค้า จึงต้องมีความคิดที่ว่า Next processes are our customers.  มองให้ออกว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน มองให้เห็นความเชื่อมโยงทางด้านสุขภาพ ว่าต้องมีอะไรบ้างจึงจะเป็นองค์รวม ต้องมีใครเข้ามีมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง
            3. Positive Thinking คิดเชิงบวก มองคนในแง่บวก คิดอย่างเข้าใจ ให้อภัย ให้โอกาสตนเอง ผู้อื่น มีทัศนคติเชิงบวกในการดำรงชีวิต หากมีคนที่ไม่ให้ความร่วมมือต้องพยายามคิดแบบเข้าใจเขา เขาอาจยังไม่รู้ ไม่พร้อมที่จะร่วมมือ มองอย่างเห็นใจเข้าใจ การคิดเชิงบวกอยู่ที่การเปลี่ยนวิธีคิดหรือมุมมอง ในสิ่งเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกันเราสามารถที่จะมองเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้ ตัวอย่างง่ายๆก็คือเมื่อมองเห็นน้ำในแก้วที่มีครึ่งแก้ว คนที่คิดเชิงลบก็จะคิดว่ามีน้ำแค่ครึ่งแก้วเอง ในขณะที่คนคิดเชิงบวกก็จะคิดว่ามีน้ำตั้งครึ่งแก้ว คนแรกคิดว่ามีน้อย ไม่พอ ในขณะที่คนหลังคิดว่ามากมีเพียงพอ ไม่ขาด หรือการที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกส่งไปอบรมคนเดียวไม่มีเพื่อนร่วมงานไปด้วย ถ้าคิดเชิงลบก็คิดแต่ทางไม่ดี กลัวเดินทางคนเดียว จะพักกับใคร จะพูดคุยกับใคร แต่ถ้าคิดทางบวกก็จะคิดว่าดีจังเลย ที่ผู้บังคับบัญชาให้ไปคนเดียวเพราะอยากให้เราฝึกเดินทางคนเดียว ให้เราได้กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตัวเอง ให้ได้รู้จักพูดคุยกับเพื่อนใหม่ๆ เป็นต้น  อัลเบิร์ต ไอส์ไตน์ ได้กล่าวไว้ว่าคนเรามีการเลือกดำเนินชีวิตได้สองแบบคือแบบที่หนึ่งมองทุกสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตไม่ได้เรื่องเลย  โหลยโท่ยหมด งานก็ไม่ดี สามีภรรยาก็ไม่ได้เรื่อง ลูกก็ไม่เอาถ่าน เพื่อนร่วมงานก็ไม่ดี ในขณะที่อีกทางหนึ่งมองว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหมด ก็เหมือนกับคำพังเพยของไทยที่ว่า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งมองเห็นดวงดาว พร่างพราวเต็มท้องฟ้า หากเราทำให้คนในองค์การคิดทางบวกต่อกันได้ ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือกันจะเกิดได้ง่ายขึ้น เข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น  ทำให้ความสัมพันธ์ดี  ขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้นการจัดการความรู้ก็จะง่ายขึ้น
            4. Lateral Thinking คิดเชิงบุก/คิดนอกกรอบ/คิดทางขวาง เป็นการคิดสร้างสรรค์ที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้   เป็นการคิดแก้ปัญหาในแนวทาง วิธีการ กรอบกติกาใหม่ที่ให้ผลดีกว่าเดิมหลุดออกไปจากกรอบที่ทำตามๆกันมา การคิดทางขวางเป็นการเรียนรู้ระดับสูง ที่Argyris & Schon เรียกว่าการเรียนรู้แบบสองวงจร (Double-loop Learning)หรือการเรียนรู้แบบรังสรรค์ (Generative Learning) ของ Senge เป็นการเรียนรู้ที่มีการทบทวนปรับปรุงธรรมเนียมปฏิบัติ นโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์การไม่ใช่การคิดแก้ปัญหาตามกรอบกติกาเดิมที่เป็นการเรียนรู้ระดับพื้นฐาน ที่Argyris & Schon เรียกว่าการเรียนรู้แบบวงจรเดียว(Single-loop Learning) หรือการเรียนรู้แบบปรับตัว(Adaptive Learning)ของSenge เป็นการการเรียนรู้ในการตรวจหาและแก้ไขข้อผิดพลาดในการทำงานประจำภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติในการดำเนินงานที่เคยมีมาหรือแก้วิธีทำงานภายใต้กรอบกติกาเดิม การคิดทางขวางหรือคิดด้านข้างจึงเป็นการคิดนอกกรอบหรือThink out of the box เช่น การแก้ไขปัญหาไข้เลือดออก ก็ใช้แต่การให้สุขศึกษาแบบเดิมๆ การใส่ทรายอะเบต การพ่นหมอกควัน ทำมากี่ปีก็ยังเหมือนเดิม จึงต้องคิดนอกกรอบเพื่อหาวิธีการใหม่ หรือที่โรงพยาบาลบ้านตากเจอปัญหาแฟ้มผู้ป่วยนอกหายบ่อยมาก ต้องคอยตามหาตามจุดต่างๆ ได้มีการรวมกลุ่มกันทำAction learning ตามแนวทาง CQI ทำไป 3 ครั้ง อัตราการหายลดลงไปครั้งละ 0.01 % นี่เป็นการแก้แบบเดิมๆที่มีแฟ้มกระดาษใช้ต้องแก้จุดที่หาย หรือการจะให้ผู้ป่วยรอบัตรไม่นานก็ต้องเพิ่มคน เพิ่มเวลาทำงานหรือเขียนเอกสารต่างๆให้เร็วขึ้น นี่ก็เป็นการแก้แบบเดิมๆ ตอนหลังเราพยายามคิดนอกกรอบ คิดหาวิธีการใหม่ๆจนสามารถแก้ปัญหาแฟ้มประวัติหายได้พร้อมทั้งเพิ่มความเร็วให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคอยทำบัตร โดยการนำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มาใช้ ไม่ต้องมีแฟ้มกระดาษ ปรากฎว่านับแต่นั้นก็ไม่ต้องมาแก้ปัญหาแฟ้มผู้ป่วยหายอีก แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ก็ต้องระวังปัญหาอื่นตามมาจากกรอบกติกาเดิมๆ ว่าถ้าต้องสำเนาแฟ้มจะทำอย่างไร ถ้าต้องไปเป็นพยานศาล ถ้า สตง.มาตรวจจะทำอย่างไร ถ้าเราติดกรอบตรงนี้ก็ปรับเปลี่ยนได้

         การคิดนอกกรอบและการนำมาปฏิบัติจริงจึงต้องอาศัยการกล้าคิดกล้าทำด้วย แต่ไม่ใช่บ้าบิ่น ผมมักยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งในการพูดถึงเรื่องการคิดนอกกรอบก็คือมีรถบรรทุกคันหนึ่งบรรทุกของมาเต็มรถ ขณะแล่นผ่านถนนลอดสะพาน ปรากฎว่ารถลอดไปไม่ได้ ติดอยู่อีกประมาณไม่ถึง 1 เซนติเมตร จะทำอย่างไรดี ในรถมีทั้งผู้จัดการ วิศวกร คนขับรถที่จบอนุปริญญา มองลู่ทางแล้วสุดท้ายก็ตกลงกันว่าจะต้องยกของชั้นบนลงก่อน ให้รถวิ่งลอดไปได้แล้วค่อยช่วยกันยกของไปขึ้นรถใหม่  ขณะที่กำลังจะยกของลงนั้นมีเด็กๆวัย 5-6 ขวบ 4-5 คน ปั่นจักรยานผ่านมาเห็นก็ร้องถามว่าน้าจะทำอะไร ผู้ใหญ่ก็บอกว่าจะยกของลงให้รถผ่านไปได้ เด็กๆก็หัวเราะแล้วก็ตะโกนบอกว่า "น้าไม่ต้องยกของลงให้หนักหรอก ปล่อยลมยางรถลงนิดหนึ่งก็ผ่านไปได้แล้ว" อึ้งไหมครับกับความคิดของเด็ก เด็กจะไม่มีกรอบกติกาในชีวิตมาก จึงทำให้เขาสามารถจินตนาการสร้างสรรค์ได้มาก ในขณะที่ผู้ใหญ่ถูกหล่อหลอมกับกฎเกณฑ์มาเยอะจะคิดอย่างโน้นก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้ คุณโชค บุลกุล เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า เวลาทำงานขอให้คิดแบบเด็ก แต่ให้ทำแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่คิดแบบผู้ใหญ่แต่ทำแบบเด็ก งานก็เละไม่เป็นท่า ไอน์สไตน์จึงบอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ มีตัวอย่างอีกมาหมายเกี่ยวกับการคิดนอกกรอบ แต่บางทีในชีวิตจริงเราไม่ค่อยได้นำไปใช้
            หากเราทำให้คนของเรามีความคิดสร้างสรรค์ได้ 4 บ.หรือ 4 แบบนี้แล้ว การพัฒนาองค์การไปสู่องค์การคุณภาพและองค์การแห่งการเรียนรู้ก็จะไม่ยาก

หมายเลขบันทึก: 7073เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท