นี่คือหนังสือที่ได้จากการตีความการเรียนรู้ การศึกษา ความเป็นครู ด้วยมุมมองใหม่ๆ เน้นพลังที่อาจมองว่าเป็นพลังลี้ลับ (ศักดิ์สิทธิ์) หรืออาจมองต่าง ว่าเป็นพลังธรรมชาติหรือธรรมดา ที่มีอยู่ในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศรอบตัว ทั้งนิเวศกายภาพ และนิเวศนามธรรม
เป็นหนังสือว่าด้วยพลังของความเป็นมนุษย์ และพลังของการเรียนรู้
เป็นหนังสือที่บูรณาการทฤษฎีจากแหล่งต่างๆ ผสานกับทฤษฎีที่ผู้เขียนสร้างขึ้นเองจากประสบการณ์ตรงของตนเอง จึงเป็นหนังสือ จาก (from), โดย (by), และเพื่อ (for) การเรียนรู้เปี่ยมพลัง มีชีวิต และมีชีวิตชีวา และเมื่อผสานกับประสบการณ์ของผู้เขียน จึงเป็นหนังสือที่ยิ่งเปี่ยมพลัง
เป็นหนังสือชี้ทางสร้างสรรค์การเรียนรู้เปี่ยมพลังต่อเนื่อง ทั้งในด้านทฤษฎีหรือหลักการ และในด้านวิธีการ หรือกล่าวใหม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้เปี่ยมพลังเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เป็นสิ่งที่เป็นพลวัต หมุนวงจรการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างไร้ข้อจำกัด เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีพลังอยู่ภายในตนเอง และรู้จักดูดพลังจากภายนอก เข้าไปเสริมพลังการเรียนรู้ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของความยากลำบาก หรือพลังของอุปสรรค
ข้อเรียนรู้สำคัญจากหนังสือเล่มนี้คือ วงการศึกษาต้องเปิดรับและดูดซับทฤษฎีและวิธีการเรียนรู้ที่ริเริ่มจากวงการอื่นที่ไม่ใช่วงการศึกษาโดยตรง ดังตัวอย่างเรื่อง ทักษะการโค้ชเพื่อครู เป็นศาสตร์ที่ริเริ่มจากวงการธุรกิจ แต่เมื่ออ่านสาระในหนังสือแล้วจะเห็นว่ามีความสำคัญต่อครู และต่อผู้บริหารสถานศึกษาอย่างยิ่ง มีความสำคัญระดับเปลี่ยนวัฒนธรรมในระบบการศึกษา จากวัฒนธรรมความสัมพันธ์แนวดิ่ง สู่ความสัมพันธ์แนวราบ
เป็นหนังสือที่สังเคราะห์ข้อเรียนรู้จากโครงการ ก่อการครู ที่เปี่ยมคุณค่า และเปี่ยมพลังสร้างสรรค์ต่อวงการศึกษา เป็นพยานหลักฐานว่า หากสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ครูไทยสามารถสร้าง “นวัตกรรมการเรียนรู้” จากแผ่นดินแม่ได้ โดยสร้างจากประสบการณ์ตรงของตนเอง และประสบการณ์ร่วมกันของผู้ร่วมโครงการ ร่วมขบวนการ “ก่อการครู”
เป็นหนังสือที่ยืนยันว่า ครูไทยสามารถสร้างทฤษฎีและวิธีการใหม่ๆ ด้านการศึกษา (นวัตกรรมการเรียนรู้) ต่อยอดจากความรู้ในโลก ได้ ไม่จำเป็นต้องคัดลอกหรือเลียนแบบทฤษฎีและวิธีการจากต่างประเทศทั้งหมด
ผมตีความว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากทีมงานของโครงการ ก่อการครู ประยุกต์ใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle (https://www.gotoknow.org/posts/702755) นำเอาประสบการณ์จากกิจกรรมในโครงการ ก่อการครู มาใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) สู่การพัฒนาหลักการ (conceptualization) แล้วนำไปทดลองใช้ใหม่ (active experimentation) จนตกผลึกออกมาเป็นบทต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ โดยขอย้ำว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่เป็นการเรียนรู้เปี่ยมพลัง ต้องไปให้ถึงการสร้างหลักการ (concept) ไม่หยุดอยู่แค่เรียนรู้วิธีการ (method)
ผมฝันอยากเห็นระบบบริหารการศึกษาไทย จัดการส่งเสริมสนับสนุนครูไทยให้ใช้หนังสือ ก่อการครู การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : ๑๒ นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อครูหัวใจใหม่ เล่มนี้ เป็นตัวอย่างของ “ชาลาปฏิบัติงาน” (working platform) ที่เปี่ยมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ สนับสนุนให้ครูจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันใช้พลังสร้างสรรค์ของตน ปลดปล่อยแสดงออกเป็นการสร้างทฤษฎีใหม่ วิธีการใหม่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่สร้างขึ้นเองจากประสบการณ์การทำหน้าที่ครูของตน
หากวงการศึกษาไทยมีกลุ่มครูรวมตัวกันพัฒนาทฤษฎีและวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ จากการทำงานประจำของตนเอง เป็นกลุ่มๆ จำนวนหนึ่ง และสื่อสารข้อค้นพบและตกผลึกออกมาเป็นหนังสือดังตัวอย่าง ก่อการครู การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : ๑๒ นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อครูหัวใจใหม่ เล่มนี้ เราจะมั่นใจได้ว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไทยจะยกระดับขึ้นเท่าเทียมชาติที่คุณภาพการศึกษาสูงเด่นได้อย่างแน่นอน
วิจารณ์ พานิช
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
วันคล้ายวันชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ
ไม่มีความเห็น