เก็บตกวิทยากร (68) : บ้านหลังเรียน (เดินเท้าเข้าสวนลุงวิทย์)


กระบวนการดังกล่าว ผมมีเจตนาที่ชัดเจนในการสำรวจต้นทุนของนักเรียนและนิสิตว่าพวกเขารู้จักพืชผักอะไรบ้าง หรือแม้แต่ชอบที่จะรับประทานผักและผลไม้อะไรบ้าง รวมถึงการสำรวจกรายๆ ว่าพวกเขารู้จักพืชผักผลไม้เหล่านี้จากที่ไหน จากโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน จากตลาดสด หรือแม้แต่รู้จักจากที่ปลูกไว้ในครัวเรือนของเขาเอง

วันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2565)  ผมออกแบบกิจกรรม “บ้านหลังเรียน”  โดยมุ่งให้เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่นิสิตได้เรียนรู้ “ตัวตนของตนเอง”  ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ “สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน” โดยใช้ “สวนลุงวิทย์” เป็นโจทย์การเรียนรู้ (ฐานการเรียนรู้)

 


พืชผักที่ชื่นชอบ : การสำรวจพฤติกรรมการกินปลาเป็นหลักกินผักเป็นยา
 

ผมและทีมกระบวนกร  สร้างโจทย์การเรียนรู้ง่ายๆ ให้กับนักเรียนและนิสิตภายใต้หัวข้อกว้างๆ คือ “ให้เขียนชื่อผัก ผลไม้ที่ชื่นชอบ หรือที่ชอบรับประทาน”

ทั้งนี้ให้แต่ละคนเขียนชื่อผักผลไม้ลงในสมุดบันทึกประจำตัวของแต่ละคน โดยบอกกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากสามารถวาดภาพประกอบได้ ก็ยิ่งดี” 

ในทำนองเดียวกันก็ฝากประเด็นเพิ่มเติมว่า “ถ้าสามารถเขียนชื่อผักและผลไม้ทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาอีสาน หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษได้ ก็ยิ่งดี”




กระบวนการดังกล่าว ผมมีเจตนาที่ชัดเจนในการสำรวจต้นทุนของนักเรียนและนิสิตว่าพวกเขารู้จักพืชผักอะไรบ้าง หรือแม้แต่ชอบที่จะรับประทานผักและผลไม้อะไรบ้าง 

รวมถึงการสำรวจกรายๆ ว่าพวกเขารู้จักพืชผักผลไม้เหล่านี้จากที่ไหน จากโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน  จากตลาดสด หรือแม้แต่รู้จักจากที่ปลูกไว้ในครัวเรือนของเขาเอง

นอกจากนั้น ผมยังมีเจตนาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินทักษะ “การเขียน” ของ “นักเรียน” โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็กระดับชั้นประถมศึกษา  เพื่อเตรียมผูกโยงถึงกิจกรรมในภายภาคหน้าอันหมายถึง “การอ่าน-การเขียน” 



กิจกรรมนี้ ผมเน้นให้แต่ละคน “เช็คอินอยู่กับตัวเอง” เป็นหลัก มิใช่การซักถามกันและกัน  เพื่อให้ฝึกการทบทวนชีวิตตัวเอง  สำรวจตัวเอง ประหนึ่งฝึกการการคิดวิเคราะห์ ประมวลผล หรือแม้แต่การฝึกสมาธิก็ด้วยเช่นกัน




แรกเริ่มเดิมที  ผมตั้งใจว่าจะนำมาประมวลเป็นข้อมูลและสะท้อนกลับเข้าสู่เวที ทั้งที่เป็นข้อมูลเชิงสถิติ  สรรพคุณของพืชผลผลไม้ดังสำนวนที่ว่า “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา” หรือ “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นพื้น”  

หรือแม้แต่การผูกโยงเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การฉายให้เห็นค่านิยมในการบริโภคของแต่ละคน  รวมถึงแหล่งผลิตของพืชผักผลไม้เหล่านั้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร –

แต่เมื่อประเมินเรื่องเวลาอันจำกัดและบรรยากาศในภาพรวมแล้ว  เห็นแต่ละคนกำลังสนุกและตั้งใจกับการทบทวนตัวเอง  ผมจึงชะลอกระบวนการดังกล่าวไว้ก่อน  จากนั้นจึงรีบผูกโยงกระบวนการถัดมาในทันที นั่นคือ “เดินเท้าเข้าสวนลุงวิทย์”

 



เดินเท้าเข้าสวน : สำรวจพืชผัก ผลไม้ และแมกไม้นานาชนิด
 

ด้วยความที่ผมและทีมงานใช้ “สวนลุงวิทย์” เป็นฐานการเรียนรู้ที่ว่าด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่-เกษตรผสมผสาน  ผมจึงให้โจทย์แก่นักเรียนและนิสิตว่า “ให้สำรวจว่าในสวนลุงวิทย์มีพืชผัก ผลไม้และต้นไม้อะไรบ้าง” โดยให้แต่ละคนเดินเท้าสำรวจด้วยตนเอง พร้อมๆ กับการเขียนชื่อเหล่านั้นลงในสมุดบันทึก

ผมมีกติกาง่ายๆ  เข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้ในกระบวนการดังกล่าว เช่น  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ห้ามถามทักกันและกัน  หรือแม้แต่ห้ามถามลุงวิทย์ 




แน่นอนครับ โจทย์นี้ผมยังเน้นการสำรวจต้นทุนความรู้ในตัวเองว่ารู้จักสิ่งเหล่านี้หรือไม่  แต่ก็เพิ่มทางเลือกไม่ให้เครียด นั่นคือ  ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็อนุญาตให้สอบถาม “ผู้รู้” ได้
 

จะว่าไปแล้วผมพยายามซ่อนเครื่องมือการเรียนรู้อยู่ในนั้นอย่างเงียบๆ  แต่เพราะกลุ่มคนที่เข้าร่วมหลากวัย  ผมจึงยังไม่ลงรายละเอียด  เช่น การสำรวจ การสัมภาษณ์ การสังเกต  การบันทึกข้อมูล การฟัง หรือแม้แต่ซ่อนประเด็นของการ “ทัศนศึกษา” และการเรียนรู้จาก “กรณีศึกษา” อันเป็น “คนจริง” (ผู้รู้)  และ “สถานที่จริง”  ไว้ในตัวอย่างเสร็จสรรพ





ล้อมวงโสเหล่ : แบ่งปันข้อมูล หนุนเสริมกำลังใจ


ผมให้เวลาในการสำรวจข้อมูลดังกล่าวในราว 20 นาที  -

สังเกตได้ว่ากิจกรรมนี้ ทุกคนตื่นตัวต่อการเรียนรู้อย่างมาก  บ้างเดินเท้าสำรวจคนเดียว ขณะที่บางคนไปสำรวจกันเป็นกลุ่มๆ แต่ที่เหมือนกันก็คือเสียงสรวลเสเฮฮาดังขึ้นเป็นระยะๆ ประหนึ่งการบอกย้ำว่ากระบวนการนี้  คือ “บันเทิงเริงปัญญา”  ขนานแท้ 

และในช่วงดังกล่าว “ลุงวิทย์” ผู้เป็นเจ้าของสวนก็ทำการ “ไลฟ์สด” ผ่าน “เฟซบุ๊ก” เป็นระยะๆ สร้างสีสันให้กับเวทีนี้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกลุ่มวิทยากร หรือแม้แต่เด็กๆ ที่มาร่วมเรียนรู้ 




เมื่อครบตามห้วงเวลาที่กำหนด  ผมได้เชิญให้ทุกคนกลับมานั่งล้อมวงเพื่อทำการ “โสเหล่”  โดยปรับรูปแบบการนั่งให้ทุกคนมานั่งรวมกันภายใต้ชายคาโรงเรือนที่แมกไม้กำลังเลื้อยถักทอเป็นร่มเงา - หลังคา 

ผมเปิดประเด็น “ว่าใครสำรวจได้มากที่สุด”  ซึ่งพบว่า

  • ระดับอุดมศึกษา มีคนสำรวจได้สูงสุด 58 ชนิด 
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  มีคนสำรวจได้สูงสุด 38 ชนิด 
  • ระดับประถมศึกษา มีคนสำรวจได้สูงสุด  28 ชนิด



 

ถัดจากนั้นก็ให้ผู้ที่สำรวจได้มากที่สุดขานชื่อพืชผักผลไม้และต้นไม้ให้ทุกคนได้ร่วมรับรู้  โดยมี “ลุงวิทย์” ทำหน้าที่เป็นผู้เฉลยว่า “ถูก หรือ ผิด”  จากนั้นก็ทำการ “มอบของรางวัล” เล็กๆ น้อยๆ หนุนเสริมกำลังใจให้กับผู้ที่ทำสถิติสูงสุดในการสำรวจ –

และช่วงท้ายของกระบวนการดังกล่าว  ก็ส่งมอบให้ “ลุงวิทย์”  พบปะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แรงบันดาลใจในการบุเริ่มสร้าง “สวนลุงวิทย์” ซึ่งในบางจังหวะก็ขยายความเรื่องสรรพคุณของพืชผักผลไม้และแมกไม้ให้รับรู้โดยสังเขป

 


นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน “บ้านหลังเรียน”   (บ้านหนองบัว หมู่ 9 ต.ดอนกอก อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์)

 

เขียน : จันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา

 



 



  

หมายเลขบันทึก: 702868เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2022 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2022 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท