เก็บตกวิทยากร (67) ละลายพฤติกรรมแบบบันเทิงเริงปัญญาผ่านจดหมายน้อย สมุดบันทึกและกระดานความรู้สึก


การจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้มีพื้นที่ หรือช่องทางของการปรับตัวเข้าหากันอย่างหลากหลาย ทั้งโดยวิธีการของวิทยากร และปล่อยให้พวกเขาได้เสาะแสวงหาพื้นที่แห่งการเรียนรู้กันและกันตามวิธีการที่เขาชื่นชอบและถนัด

การจัดเวทีการเรียนรู้ 2 เวทีล่าสุด ผมและทีมงานนำกระบวนการ “จดหมายน้อย” และ “กระดานความรู้สึก” หรือแม้แต่ที่ “ชาวค่าย” ชอบเรียกว่า “สมุดบันทึก”  (สมุดกระจก) มาใช้กับผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ 

 

เวทีแรกคือการสัมมนาพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2564 เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ณ จังหวัดสุรินทร์

ส่วนอีกหนึ่งเวทีคือกิจกรรมเตรียมความพร้อมนักเรียนใหม่ (มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) ของโรงเรียนเทศบาล 2 อีสาณธีรวิทยา ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2565 ณ จังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ทั้งสองเวทีมีความแตกต่างกันพอสมควร  เวทีแรกเป็นผู้นำนิสิตในระดับอุดมศึกษา อีกเวทีเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา แต่ในความต่างก็มีลักษณะร่วมกัน คือ ทั้งสองเวที มีไม่น้อยที่ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ยังรู้สึกเขินอายต่อกัน บ้างรู้จักกันลึกซึ้ง บ้างรู้จักกันผิวเผิน หรือแม้แต่ไม่รู้จักกันเลย

 

โจทย์ของการละลายพฤติกรรมภายใต้เวลาอันจำกัด  ผมวิเคราะห์ว่าคงไม่ต้องเสียเวลาจัดกิจกรรม “สันทนาการทั้งวัน” เพราะนั่นไม่ใช่วิธีคิดแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ในแบบฉบับของผม

 

 

 

ผมมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ได้  การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดใจและใส่ใจต่อปรากฏการณ์รอบตัว หรือการมีฐานคิดอันสำคัญดังเช่นวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดมายาวนานว่า 

  • ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้
  • ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่าและตำนาน  
  • ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ เว้นเสียแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้

 

และนั่นจริงๆ ก็หมายถึง ผมมองว่า การจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้มีพื้นที่ หรือช่องทางของการปรับตัวเข้าหากันอย่างหลากหลาย ทั้งโดยวิธีการของวิทยากร และปล่อยให้พวกเขาได้เสาะแสวงหาพื้นที่แห่งการเรียนรู้กันและกันตามวิธีการที่เขาชื่นชอบและถนัด

 

 

ด้วยวิธีคิดเช่นนั้นครับ ผมและทีมงานจึงไม่ลังเลที่จะใช้กระบวนการ “จดหมายน้อย-กระดานความรู้สึก-สมุดบันทึก” มาเป็นระบบและกลไกในการเชื่อมโยง หรือละลายพฤติกรรมของคนที่เข้าร่วมเวที –

 

 

 

สมุดบันทึก : สมุดกระจก

 

ทั้งสองเวที (ทั้งสองค่าย)  ทีมงานแจกสมุดบันทึกฉบับ “ทำมือ” (มือทำ) ให้กับนิสิตและนักเรียนทุกคน โดยย้ำให้พวกเขาตกแต่งสมุดบันทึกด้วยตนเอง บริหารจัดการทรัพยากรบนฐานคิดของการพอเพียงและแบ่งปันต่อกัน  พร้อมๆ กับการเน้นย้ำว่า การตกแต่งสมุดนั้น “ควรให้สมุดบ่งบอกความเป็นตัวตนของเราให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะพึงตกแต่งได้”

 

 

แน่นอนครับ  การตกแต่งสมุดบันทึกให้บ่งบอกความเป็นตัวตนของเจ้าของสมุด คือการฝึกให้เจ้าตัววิเคราะก์ตัวเอง ถ่ายทอดความเป็นตัวเองลงในสมุด และนั่นยังหมายถึงการเป็นโจทย์ให้คนอื่นได้คิดวิเคราะห์ตามไปด้วยว่า “สมุดเล่มนี้ของใครกันนะ – สมุดเล่มนี้เหมือนหรือไม่เหมือนตัวตนของเจ้าของ” 

และนั่นก็มีกลิ่นอายของการสร้างทักษะ หรือเครื่องมือการเรียนรู้ผ่านการ “สังเกตการณ์” ไปในตัวอย่างง่ายๆ 

 

 

ตกแต่งเสร็จ ก็สร้างกระบวนการให้แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มได้รับรู้  ฝึกการถ่ายทอด-สื่อสารสร้างสรรค์ ฝึกการรับฟังกันและกันไปในตัว  มีบางจังหวะที่ทดสอบการสื่อสารและรับสารดังกล่าวด้วยการถามบางคนในทำนอง “ชอบสมุดบันทึกของใคร เรื่องราวเป็นอย่างไร ทำไมถึงชอบ”

 



 

 

จดหมายน้อย : เขียนความรู้สึกถึงใครสักคน

 

สองเวทีล่าสุดนั้น “จดหมายน้อย” ดูเหมือนจะเป็นกระบวนการที่ประสบความสำเร็จมากกว่า “สมุดบันทึก” เพราะไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก แถมยังสมารถสื่อสารได้ตามความถนัดของแต่ละคน  ใครใคร่เขียนก็เขียน ใครใคร่วาดก็วาด  บางคนจ่ายหน้าซองถึงใครสักคนชัดเจน  ขณะที่บางคนสื่อสารในแบบไม่เปิดเผย แต่ชวนให้คิดเองว่ากำลังสื่อสารถึงใคร 

กระบวนการนี้ผู้เข้าร่วมเวทีสามารถเขียนได้ตลอดเวลา  คำว่าตลอดเวลาหมายถึง “ใช้เวลาว่าง” มาขีดเขียน  ครั้นเขียนเสร็จก็หย่อนลงในกล่องจดหมาย  หรือถ้ากล้าหาญพอก็นำไปส่งให้เจ้าตัวด้วยตนเองก็ยิ่งดี 

 

 

ผมให้ทีมงานนำจดหมายน้อยมาอ่านสร้างบรรยากาศเป็นระยะๆ เช่น  ก่อนแยกย้ายไปพักรับประทานอาหาร  อ่านก่อนกลับบ้าน รวมถึงใช้เป็นกระบวนการของการนำเข้าสู่การเรียนรู้ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการนี้สร้างสรรค์บรรยากาศได้เป็นอย่างดีเยี่ยม  

 

จดหมายบางฉบับที่จ่ายหน้าซองถึงใครชัดเจน  ผมย้ำให้ทีมงานเชิญเจ้าตัวออกมารับไปเก็บไว้เป็นความทรงจำของเขาเอง หรือแม้แต่ท้าทายให้เจ้าตัวตามหาคนที่ส่งสารมายังเขา –

 

 

ผมยืนยันว่ากระบวนการนี้ประสบความสำเร็จสูงมาก  “จดหมายน้อย” ฉายชัดถึงความสุข ความสนุกอย่างไม่ต้องสงสัย และดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือในการละลายพฤติกรรมเชื่อมโยงผู้คนให้ขยับเข้าหากันได้ไม่แพ้การ “ตี กลอง ร้องเต้น” 

 

 

 

กระดานความรู้สึก  : เอาที่สบายใจ รู้สึกอย่างไร จัดมา !

 

ต้องยอมรับว่าเวทีล่าสุดที่จังหวัดบุรีรัมย์ กระดานความรู้เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการใช้เป็นเครื่องมือของการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมการเรียนรู้   

 

เพราะความที่ไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ยังไม่คุ้นเคยกันมาก กระดานความรู้สึกก็กลายมาเป็นชานชลาให้ผู้คนพบปะกัน – ฝากข้อความ – ฝากเบอร์ – ฝากเฟซบุ๊ก – ฝากไอจี ฯลฯ  ให้แก่กัน  ซึ่งมีฝากถึงวิทยากรด้วยก็เยอะ

 

 

บางคนสื่อสารด้วยข้อความ บ้างสื่อสารด้วยภาพ  บ้างเน้นสนุก บ้างเน้นสาระ บางคนแนะนำสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดตัวเอง เช่นเดียวกับบางคนก็ถามวิทยากรถึงเรื่องราวของ “มหาสารคาม” หรือ “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”  แต่ทั้งปวงนั้นก็ไม่มีถูกไม่มีผิด  เรียกได้ว่า “คิดอย่างไรก็ร่ำระบายออกมาได้อย่างเต็มที่”

 

เอาจริงๆ เลยนะ ผมรู้ว่าบางคนอาจมองว่ากระบวนการเหล่านี้ดู “ไร้สาระ” แต่สำหรับผมแล้วมันคือกระบวนการเรียนรู้แบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ที่ผมถนัด 

 

 

 

แน่นอนครับ ผมยืนยันว่ากระบวนการเหล่านี้ช่วยละลายพฤติกรรมของผู้คนในเวทีเข้าหากันได้เป็นอย่างดี  แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เป็นพลังบวกหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้กันและกันได้มหาศาลเลยทีเดียว โดยไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนเวลาของกระบวนการอื่นๆ 

 

และที่สำคัญ ถ้าเราใส่ใจต่อข้อความ หรือสารที่พวกเขาส่งมา เราจะเห็นกระทั่งมุมมองที่เขามีต่อกิจกรรมที่กำลังเรียนรู้ประหนึ่งประเมินการเรียนรู้ไปในตัวเลยก็ว่าได้  

รวมถึง การมองเห็นทัศนคติการใช้ชีวิตของเขา  เห็นถึงการรู้เท่าทันสื่อของพวกเขา ฯลฯ

ลองดูครับ – ลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับกลุ่มวัยที่อยู่ในเวที แล้วคุณจะรู้ว่า “บันเทิงเริงปัญญา” แบบนี้  ไม่เหนื่อยเปล่าอย่างแน่นอน

 

เขียน : อังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / สุริยะ  สอนสุระ

 

 

หมายเลขบันทึก: 702772เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2022 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีมากครับ…ขอบคุณหลายครับ

สวัสดีครับ พี่แก้ว

ผมมองว่ากระบวนการนี้ ง่ายงาม เป็นกันเอง เป็นธรรมชาติ และเข้ากับ “วันวัย” ของผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในเวที ครับ

แถมยังชวนให้พวกเขารำลึกวิธีสื่อสารผ่านการเขียน ที่มิใช่ การส่งข้อความสื่อสารผ่าน “มือถือ”

สวัสดีครับ คุณครูสามัญชน

เห็นปฏิกริยาตอบสนองที่ดีของนักเรียนต่อกระบวนการเหล่านี้ก็ชื่นใจครับ และหวังว่าทางโรงเรียนจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ หรือให้แกนนำสภานักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท