คู่มือพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ สู่แผ่นดินศานติสุข  โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี


 

คู่มือ

พัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ

สู่

แผ่นดินศานติสุข

(ประดุจสวรรค์บนดิน)

โดย

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี

ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

 

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)


 

เมื่อมีการออกแบบระบบและโครงสร้าง

ทุกคนและทุกองค์กรก็ร่วมสร้างแผ่นดินศานติสุข

ได้โดยง่ายด้วยความรื่นรมย์

 

อำเภอศานติสุข อำเภอสุขภาวะ คุณภาพชีวิตระดับอำเภอ คือ สิ่งเดียวกัน

 

ได้แก่

การที่คนทั้งอำเภออยู่ดีมีสุข มีความปลอดภัย มีภูมิคุ้มกัน มีปัญญา 

มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาอำเภอ

และได้รับผลของการพัฒนาอย่างเป็นธรรม

 

เกิดจาก

คนทั้งอำเภอ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เป็นภูมิพลัง หรือพลังแผ่นดิน

มีความมุ่งมั่นร่วมกัน และมีการจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการสู่องค์รวมที่สมดุล


 

การพัฒนา คือ การเชื่อมโยง

 

การแยกเป็นส่วนๆ หรือการชำแหละให้ขาดจากกัน เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นชีวิต

ชีวิตคือการเชื่อมโยง การเชื่อมโยงทำให้มีชีวิต

ทุกเซลล์และทุกอวัยวะในร่างกายของเราเชื่อมโยงหรือบูรณาการเป็นองค์รวม คือ ความเป็นมนุษย์ของเรา

 

องค์รวมเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์

 

ปัญหาที่ผ่านมา คือ การพัฒนาแบบแยกส่วน แยกจากกันเป็นเรื่องๆ การพัฒนาใหม่ คือ การพัฒนาอย่างบูรณาการ

 

ถ้าทรัพยากรทั้งหมดบนพื้นที่อำเภอเชื่อมโยงกัน บูรณาการเป็นองค์รวมอำเภอ อำเภอจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์

 

๑.

ทรัพยากรมหาศาลในพื้นที่อำเภอ

เพียงพอที่ทุกคนจะอยู่ดีมีสุข

 

พื้นที่อำเภอกว้างขวางพอสมควร ประกอบด้วยประมาณ ๑๐ ตำบล และ ๑๐๐ หมู่บ้านหรือชุมชน ประกอบด้วยทรัพยากรมากมายหลายชนิด คือ

 

ทรัพยากรธรรมชาติ            ได้แก่ ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ถ้าจัดการใช้อย่างเป็นธรรม ก็เพียงพอที่คนทุกคนจะมีปัจจัย ๔ ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน

 

ทรัพยากรคน                    แต่ละหมู่บ้าน         มีประชากรประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ คน

แต่ละตำบล           มีประชากรประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน

แต่ละอำเภอ          มีประชากรประมาณ ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ คน

มีผู้นำตามธรรมชาติ  ประมาณหมู่บ้านละ ๕๐ คน ตำบลละ ๕๐๐ คน อำเภอละ ๕,๐๐๐ คน

ทรัพยากรทางสังคม            สังคมคือการอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัว เป็นชุมชน เป็นท้องถิ่น เป็นเมือง หากมีความเป็นธรรม มีความอบอุ่น มีความพอเพียง มีปัญญา มีความสมดุล ย่อมเป็นทั้งปัจจัยและผลของอำเภอศานติสุข

ทรัพยากรทางวัฒนธรรม      วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ประกอบด้วยความเชื่อร่วมกัน คุณค่าร่วมกัน การทำมาหากินที่คุ้นเคยและถ่ายทอดกันมา ภาษา อาหาร เครื่องแต่งตัว ที่อยู่อาศัย ขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน การดูแลรักษาสุขภาพ การจัดการความขัดแย้ง สุนทรียกรรมต่างๆ ศาสนาที่เป็นความเชื่อร่วมกันก็เป็นวัฒนธรรมด้วย

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมในแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมจึงมีความหลากหลายไปตามถิ่นต่างๆ ไม่ถือว่าวัฒนธรรมใครดีกว่าใคร ต่างมีความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมจึงง่าย เพราะใครๆ ก็ปฏิบัติกัน เช่น ภาษาเด็กๆ ก็เรียนรู้อย่างง่ายดาย แต่ผู้ใหญ่เรียนภาษาต่างประเทศได้ยากเย็นแสนเข็ญและเจ็บปวด

จึงมีคำกล่าวว่า “การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมนั้นง่ายและรื่นรมย์” การศึกษาและภูมิปัญญาที่คัดสรรและถ่ายทอดกันมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม จนคำว่า “ภูมิปัญญา” หรือปัญญาที่ติดแผ่นดิน หมายถึงวัฒนธรรม

ทรัพยากรทางศาสนา  โดยเฉลี่ยอำเภอหนึ่งๆ มีวัดประมาณ ๕๐ วัด ในครั้งโบราณวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน การพัฒนาปัจจุบันทำอย่างแยกส่วน วัดจึงหมดบทบาทในการพัฒนา

แต่ในการพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเชื่อมโยงวัดเข้ากับชุมชน มัสยิดและโบสถ์ในศาสนาอิสลามและคริสต์ก็เช่นเดียวกัน

ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่อำเภอมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินมากมาย

ทรัพยากรภาครัฐ      ทั้งของท้องถิ่น ท้องที่ และของกระทรวงต่างๆ มากมาย

ทรัพยากรทางพลังงาน ทั้งที่มาจากที่อื่น เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเบนซิน และพลังงานชุมชน

ทรัพยากรทางการสื่อสาร เก่าๆ เช่น โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ใหม่ๆ เช่น ระบบดิจิทัล

ทรัพยากรทางการศึกษา แต่ละอำเภอมีโรงเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐ โรง มีระบบการศึกษานอกโรงเรียน อาจมีวิทยาลัยบางชนิดตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอ

แต่ควรมองระบบการศึกษาใหม่ว่า คือ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริงของคนทั้งอำเภอ ในการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติของคนทั้งอำเภอ ทรัพยากรทุกประเภทที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนทั้งมวล (All For Education/Education For All/Education For All Purposes)

อำเภอทั้งอำเภอจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

อำเภอเป็นสังคมอุดมปัญญา

อำเภอจึงเป็นสังคมอุดมสุข

 

ทรัพยากรจากภายนอกอำเภอ

ในประเทศยังมีทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมายที่อำเภอสามารถดึงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกระทรวงต่างๆ เป็นทรัพยากรทางนโยบาย ถ้าอำเภอมีความสามารถจะดึงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอำเภอได้อย่างมหาศาล

ฉะนั้นในแต่ละอำเภอควรมีการจัดตั้งกลุ่มพัฒนานโยบายของอำเภอ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอำเภอยังมีอื่นๆ อีก

ควรมีการสำรวจทำแผนที่ (Mapping) ทรัพยากรเพื่ออำเภอโดยละเอียดว่ามีอะไรบ้าง ข้อมูลมีความสำคัญมากต่อการคิดและการวางแผนพัฒนาอำเภอ

ฉะนั้น ควรมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและข้อมูลอำเภอ เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้และรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาอำเภอ

ในการนี้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหนึ่งในพื้นที่จะมีประโยชน์มาก


 

๒.

ความสำคัญของการออกแบบระบบและโครงสร้าง

 

เรามีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามาก แต่ขาดความคิดเชิงระบบและการจัดการ ทรัพยากรและเครื่องมือต่างๆ จึงกระจัดกระจายอยู่อย่างเปะปะ โดยไม่มีระบบและโครงสร้าง จึงไม่สำเร็จประโยชน์

ถ้าเราต้องการอะไรที่วิ่งไปบนถนนได้                    ก็ต้องออกแบบ                                                            รถยนต์

ถ้าเราต้องการอะไรที่ลอยน้ำได้                           ก็ต้องออกแบบ                                                            เรือ

ถ้าเราต้องการอะไรที่บินได้                               ก็ต้องออกแบบ                                                            เครื่องบิน

ถ้ามีแต่วัตถุปัจจัยและเครื่องมือ แต่ไม่มีการออกแบบ เราก็ไม่มีวันมีรถยนต์ หรือเรือ หรือเครื่องบิน

รูปที่ ๑ การออกแบบรถยนต์หรือเครื่องบิน

 

ถ้ามีแต่วัตถุปัจจัยหรือชิ้นส่วน แต่ไม่มีการออกแบบระบบและโครงสร้าง ก็ไม่มีทางจะสำเร็จประโยชน์

ระบบและโครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ

ถ้าระบบและโครงสร้างเป็นรถยนต์ มันก็วิ่งไปบนถนนได้

ถ้าระบบและโครงสร้างเป็นเครื่องบิน มันก็บินสู่ท้องฟ้าได้

รถยนต์และเครื่องบินเป็นองค์รวม ของส่วนประกอบทั้งหมด

เมื่อเป็นองค์รวม มันเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์

คือวิ่งไปบนถนนได้ หรือบินได้ โดยชิ้นส่วนแต่ละชิ้นไม่มีอะไรบินได้เลย แต่พอประกอบกันเป็นองค์รวม คุณสมบัติใหม่ก็ผุดบังเกิดขึ้น (Emerge)

ปัญหาในการพัฒนาที่ไม่ได้ผล เพราะการคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน ส่วนต่างๆ ก็ต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการกันเข้ามาเป็นองค์รวมประเทศไทย


 

ฉะนั้น คนไทยจึงได้แต่ลิ้มรสของชิ้นส่วนเท่านั้น ไม่เคยมีประสบการณ์องค์รวมประเทศไทยที่บินได้เลย เป็นเหมือนประเทศตาบอดคลำช้าง คือ ไม่เห็นช้างทั้งตัวแล้วเลยทะเลาะกันใหญ่ระหว่างผู้ที่รู้เป็นส่วนๆ การทะเลาะเอาเป็นเอาตายถึงเข่นฆ่ากันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ก็เพราะคิดแบบแยกส่วนนั่นเอง แต่ถ้ามีทัศนะแบบองค์รวม เหมือนความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ต้องมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวา เครื่องบินที่เป็นองค์รวมก็ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา มีปีกใดปีกเดียว มันก็เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าเราออกแบบระบบและโครงสร้างประเทศไทยและประกอบชิ้นส่วนให้ครบเป็นองค์รวม[*]บ้านเมืองก็จะลงตัว เกิดประเทศไทยที่มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ ประดุจประเทศไทยที่บินได้ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา หรือระหว่างฝ่ายใดๆ อีกต่อไป เพราะพ้นสภาพตาบอดคลำช้าง ส่วนต่างล้วนเป็นของช้างตัวเดียวกัน

 

 

 

๓.

การออกแบบระบบและโครงสร้างประเทศไทย

ให้เป็นแผ่นดินศานติสุข

 

วัตถุประสงค์กำหนดระบบและโครงสร้าง

ดังตัวอย่างที่กล่าวมาในตอนที่ ๒ ถ้าวัตถุประสงค์เป็นอะไรที่บินได้ ระบบและโครงสร้างของมันก็ต้องเป็นแบบเครื่องบิน ไม่ใช่ระบบรถยนต์หรือระบบเรือ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างกัน

วัตถุประสงค์ประเทศไทย คือ เป็นแผ่นดินศานติสุข

ซึ่งมีการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม

ความสมดุล ทำให้เกิดความสงบ ความปรกติ ความปรกติสุข และความยั่งยืน

ความไม่สมดุล ทำให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง และวิกฤตการณ์

วิกฤตการณ์ คือ การไม่มีศานติสุข

ความสมดุลเกิดจากบูรณาการ การเสียสมดุลเกิดจากการแยกส่วน

ดูตัวอย่างร่างกายของเรา ที่ประกอบด้วยเซลล์เป็นล้านๆ เซลล์ และอวัยวะต่างๆ อีกจำนวนมากและหลากหลาย แต่ทั้งหมดบูรณาการเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน ร่างกายของเราจึงมีความสมดุล สุขภาพดี และอายุยืน

เซลล์มะเร็ง เป็นตัวอย่างของเซลล์ที่สูญสำนึกแห่งองค์รวม มันทำตัวแยกส่วนเป็นเอกเทศ ทำให้ระบบเสียสมดุล ป่วย และตาย

การพัฒนาแบบแยกส่วนจึงเป็นการพัฒนาแบบมะเร็ง อะไรๆ ก็ทำแบบแยกส่วน เศรษฐกิจก็ทำแบบแยกส่วน การศึกษาก็ทำแบบแยกส่วน คือเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แม้แต่ธรรมะก็ทำแบบแยกส่วน คือเอาหลักธรรมเป็นตัวตั้ง แต่แท้ที่จริงธรรมะบูรณาการอยู่ในทุกส่วน

เมื่อพัฒนาแบบแยกส่วน ประเทศจึงเสียสมดุล ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤต เหมือนคนเป็นมะเร็ง

ฉะนั้น ประเทศไทยที่จะเป็นแผ่นดินศานติสุขต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ ที่ทั้ง ๘ มิติ บูรณาการอยู่ในกันและกัน นั่นคือ

เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม - สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย

 

ที่ผ่านมามีความพยายามพัฒนาทั้ง ๘ เรื่อง แต่ทำแบบแยกส่วนเป็นเรื่องๆ จึงไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย อย่างเช่น การศึกษา ใครๆ ก็รู้ว่าสำคัญยิ่ง มีความพยายามปฏิรูปการศึกษาหลายครั้งหลายคราด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่ได้ผล เพราะยังเป็นการมองการศึกษาแบบแยกส่วน

ระบบการศึกษาบูรณาการ คือคำตอบ

 

การศึกษาต้องบูรณาการอยู่กับอีก ๗ เรื่อง ทำเรื่องการศึกษาก็ได้ผลอีก ๗ เรื่อง ทำ ๗ เรื่องก็ได้ผลการศึกษา เพราะทั้ง ๘ เรื่องบูรณาการอยู่ในกันและกัน

ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ทำมาเกือบ ๑๐๐ ปีก็ไม่ได้ผล เพราะมองประชาธิปไตยแบบแยกส่วน เลยกลายเป็นเพียงกลไกเท่านั้น ไม่ใช่ระบบ ระบบประชาธิปไตยต้องบูรณาการอยู่กับอีก ๗ เรื่อง

ที่ผ่านมา ทั้งโลกล้วนพัฒนาแบบแยกส่วน คือ ทั้ง ๘ เรื่องแยกจากกันเป็นเรื่องๆ คือ

เศรษฐกิจ      ก็เอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้ง จึงเกิดความเหลื่อมล้ำสุดๆ

จิตใจ           พระก็สอนธรรมะแบบแยกส่วน คือเอาธรรมะเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นตัวตั้ง เมื่อเสียสมดุลก็ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง ทะเลาะกันมาก ขัดแย้งกันมาก จิตใจก็ไม่สงบและพัฒนาไม่ขึ้น

สังคม           พัฒนาไม่สำเร็จ ถ้าขาดการพัฒนาอย่างบูรณาการ

สิ่งแวดล้อม    ถ้าแก้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ก็ไม่มีทางรักษาสิ่งแวดล้อม

วัฒนธรรม     ก็มองแบบแยกส่วน เห็นแต่เรื่องร้องรำทำเพลงและศิลปวัตถุเท่านั้น แต่วัฒนธรรมองค์รวม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ซึ่งที่แท้ก็คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลนั่นเอง การพัฒนาจึงต้องเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง

สุขภาพ         ก็มองแบบแยกส่วน เป็นเรื่องมดหมอหยูกยา โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ที่จริงสุขภาพเกิดจากบูรณาการของทั้งหมด เช่น ถ้ายากจนและเหลื่อมล้ำสุดๆ จะมีสุขภาพดีได้อย่างไร

การศึกษา      ก็แยกส่วนไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิต คือทั้งหมด

ประชาธิปไตย ก็มองแต่ว่า คือการเลือกตั้ง แท้ที่จริงเป็นกระบวนการของการพัฒนาอย่างบูรณาการ ดังจะได้เห็นต่อไป

 

ฉะนั้น การพัฒนาอำเภอให้เป็นแผ่นดินศานติสุข ต้องไม่พัฒนาแบบแยกส่วน แต่พัฒนา ๘ มิติให้บูรณาการ

ทั้ง ๘ เรื่องที่บูรณาการกันมีจุดคานงัดหรือแกนอยู่ที่การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นปัจจัยให้บ้านเมืองลงตัว ดังจะได้กล่าวต่อไป รูปที่ ๒ แสดงธรรมจักรแห่งการพัฒนาอย่างบูรณาการ


 

รูปที่ ๒ ธรรมจักรแห่งการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นแกน

 

ระบบและโครงสร้างของอำเภอเป็นแผ่นดินศานติสุข คือ

๑. ทุกหมู่บ้านประมาณ ๑๐๐ หมู่บ้าน สามารถจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ

๒. ทุกตำบลประมาณ ๑๐ ตำบล สามารถจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ

๓. อำเภอมีความสามารถในการจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่

พื้นที่อำเภอทั้งอำเภอมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ที่เศรษฐกิจดี จิตใจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี วัฒนธรรมดี สุขภาพดี การศึกษาดี ประชาธิปไตยดี มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน)

เมื่อเราออกแบบระบบและโครงสร้างของการพัฒนาอย่างบูรณาการและประกอบเครื่องได้แล้ว ระบบ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ก็เข้ามาเสริมแต่งให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น คุณภาพดีขึ้น สวยงามมากขึ้น

เหมือนเมื่อขึ้นโครงสร้างรถยนต์หรือเครื่องบินได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็เข้ามาตกแต่งให้มันมีคุณภาพดีขึ้น สวยงามมากขึ้น โดยไม่ทำลายความเป็นรถยนต์หรือความเป็นเครื่องบิน

แต่ ถ้าเราทำแต่ส่วนที่ตกแต่ง เช่น เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ โดยปราศจากโครงสร้างที่บูรณาการ การตกแต่งต่างๆ ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง หรือวุ่นวายมากขึ้น หรือทำลายของเก่าจนแตกกระจายอย่างที่เรียกว่า disruption และนิยมกันว่าดี แต่ที่จริงมันเหมือนลูกระเบิดลงที่ทำให้ของเก่าพังพินาศและปั่นป่วนวุ่นวาย

แต่ถ้าระบบและโครงสร้างมันเป็นองค์รวมแล้ว เช่น รถยนต์หรือเครื่องบินที่ประกอบเครื่องสมบูรณ์ ทุกชิ้นส่วนก็จะอยู่ในที่ของมัน ทำหน้าที่เชื่อมโยงและกำกับซึ่งกันและกัน ไม่มีส่วนไหนแตกแถวเป็นเอกเทศ การระเบิดน้ำมันในเครื่องยนต์ของรถยนต์หรือเครื่องบิน ซึ่งรุนแรงยิ่ง ก็ไม่เป็นอันตรายกับผู้ใด แต่เป็นพลังขับเคลื่อนระบบ

แต่ถ้าการระเบิดน้ำมันนั้นเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ในระบบ มันคือลูกระเบิด

ฉะนั้น ประเทศไทยเมื่อประกอบเครื่องตามระบบและโครงสร้างได้แล้ว ทุกอย่างก็จะเข้าที่ ความรุนแรงก็กลายเป็นพลังขับเคลื่อนระบบ ประเทศไทยที่เป็นองค์รวมก็จะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ ทั้งน่าอยู่และสวยงาม


 

๔.

การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่

ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข และศีลธรรม

 

ที่ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ ๕๐-๖๐ ปีที่แล้ว เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ดีงาม คือ การลักขโมย การพนัน และยาเสพติด พระจะสอนเท่าใดๆ ก็แก้ปัญหาไม่ได้

ต่อมามีเจ้าอาวาสองค์ใหม่เป็นพระหนุ่มชื่อ ชุบ กล่อมจิตร ซึ่งต่อมาเป็นพระครูสาครสังวรกิจ สังเกตว่าชาวบ้านยากจนมาก จึงศึกษาเรื่องการสร้างอาชีพและส่งเสริมให้คนทั้งตำบลปลูกมะพร้าว และทำน้ำตาลมะพร้าวขาย ปรากฏว่าขายดีมาก ทุกคนในตำบลมีรายได้วันละ ๒๐๐-๕๐๐ บาท (สมัยนั้น) เมื่อมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินสดในมือ สุขกาย สุขใจ ไม่มีใครอยากมีพฤติกรรมไม่ดี การลักขโมย การพนัน ยาเสพติด หายไปหมด

ในขณะที่การสอนศีลธรรมได้ผลน้อยมาก การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นบ่อเกิดของศีลธรรม สุขภาวะ และความร่มเย็นเป็นสุข

มีเรื่องเล่าทำนองเดียวกันในพระไตรปิฎก ในกูฏทันตสูตร พระพุทธเจ้าเล่าถึงเรื่องพระราชาองค์หนึ่งชื่อ พระมหาวิชิตราช มีโจรเกิดขึ้นในแผ่นดิน ก็จะทรงส่งกองทัพไปปราบ ปุโรหิตกราบทูลว่า เมื่อกองทัพยกไป โจรก็หลบไป เมื่อกองทัพกลับ โจรก็กลับมาใหม่ วิธีแก้ไขที่จะได้ผลถาวร คือ พระองค์ควรบำรุงอาชีพกสิกรรมและโครักขกรรม พานิชกรรม และรับราชการ สมัยนั้นมีอาชีพเพียง ๓ ชนิด เมื่อบำรุงอาชีพเต็มพื้นที่

  • บ้านเมืองของพระองค์จะร่มเย็นเป็นสุข
  • โภคทรัพย์จะเกิดขึ้นในท้องพระคลัง         =       เศรษฐกิจดี
  • ราษฎรจะไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่           =       ไม่มีการลักขโมย
  • จะยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก                   =       ครอบครัวอบอุ่น

ข้อสังเกต :

๑. การพัฒนาเศรษฐกิจขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ทำได้ และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นด้วย เพราะมีอำนาจซื้อและการบริโภคเพิ่มขึ้น ถ้านักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ก็จะสามารถขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้

๒. เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่จะสำเร็จได้อย่างไร ถ้าพ่อแม่ยากจนเกินไป หาเช้าไม่พอกินค่ำ ต้องไปรับจ้างไกลบ้าน พ่อแม่ลูกต้องพลัดพรากจากกัน แต่ถ้ามีสัมมาชีพในพื้นที่ เต็มพื้นที่ ครอบครัวก็จะอบอุ่น พัฒนาการของเด็กปฐมวัยก็จะเป็นไปได้

๓. ทางการสาธารณสุขไม่ต้องการเห็นเด็กแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะมันบ่งว่าเด็ดขาดอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทารกเช่นนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อายุประมาณ ๔๐-๕๐ ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน เป็นมะเร็ง เป็นโรคหัวใจ ขณะนี้ยังมีอัตราทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ ๑๐ การสาธารณสุขแบบแยกส่วนไม่มีทางจะทำได้ ถ้าประชาชนยังยากจนเกินไป เรื่องสุขภาพจึงต้องบูรณาการกับการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

๔. การศึกษาแบบแยกส่วนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เกิดปัญหาสารพัด รวมทั้งความยากจนของครู ของนักเรียน และผู้ปกครอง แต่ถ้าการศึกษาบูรณาการกับทั้งหมด โดยมีการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ครูก็หายจน นักเรียนก็หายจน ผู้ปกครองก็หายจน เช่นนี้เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ต้องเป็นเป้าหมายร่วมของทุกคน ทุกฝ่ายในพื้นที่และนอกพื้นที่

ถ้ากำลังทุกฝ่ายทุ่มไปสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ก็ไม่มีทางที่จะไม่สำเร็จ


 

๕.

การสื่อสารให้เกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน

หรือเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน

 

ถ้าคนทั้งอำเภอมีความมุ่งมั่นร่วมกัน หรือมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ก็เสมือนจูนคลื่นแสงรวมกันเป็นแสงเลเซอร์ ซึ่งมีพลังทะลุทะลวงสูงยิ่ง ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ นั่นคือ อำเภอเป็นแผ่นดินศานติสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน)

การสื่อสารให้เกิดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมเป็นหน้าที่ของผู้นำ ดังมีคำพูดว่า “Great leader is great communication” นายอำเภอเป็น Great leader ได้ทุกคน การมีนายอำเภอดีๆ ๘๐๐ กว่าคนทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากผู้นำที่เป็นปัจเจกแล้วควรมีการนำร่วม (Collective leadership) ผู้นำตามธรรมชาติในพื้นที่มีจำนวนมากและคุณภาพสูง

  • ในแต่ละหมู่บ้าน   มีผู้นำตามธรรมชาติประมาณ   ๕๐ คน
  • ในแต่ละตำบล      มีผู้นำตามธรรมชาติประมาณ   ๕๐๐ คน
  • ในแต่ละอำเภอ     มีผู้นำตามธรรมชาติประมาณ   ๕,๐๐๐ คน

ผู้นำตามธรรมชาติเหล่านี้ประกอบด้วยผู้นำกลุ่มอาชีพ ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน ผู้นำกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้นำกองทุน ครู พระ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน หรืออื่นๆ

เรียกว่า ผู้นำตามธรรมชาติมีในทุกภาคส่วนทางสังคม

โดยเป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวม สุจริต รอบรู้ช่างคิด สื่อสารเก่ง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ผู้นำตามธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติสูงกว่าผู้นำที่เป็นทางการโดยทั่วๆ ไป และกระจายกันในทุกภาคส่วนของสังคม มากกว่านักเลือกตั้งซึ่งมาจากกลุ่มคนคล้ายๆ กัน

ควรมีสภาผู้นำตามธรรมชาติ ๓ ระดับ คือ

๑. สภาผู้นำชุมชน ในระดับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน

๒. สภาผู้นำตำบล

๓. สภาผู้นำอำเภอ

สภาผู้นำทั้ง ๓ ระดับเชื่อมโยงรู้ถึงกัน โดยการสื่อสาร ๒ ทาง การสื่อสารผ่านสภาผู้นำอำเภอ จะไปสู่ตำบลและหมู่บ้านโดยทั่วถึง และกลับกัน

นายอำเภออยู่ในฐานะที่ดี ที่จะส่งเสริมให้เกิดสภาผู้นำทั้ง ๓ ระดับ และเกิดเครือข่ายทางสังคมเพื่ออำเภอ เช่น

๑. เครือข่ายพระสงฆ์            เพื่ออำเภอ...

๒. เครือข่ายครู                   เพื่ออำเภอ...

๓. เครือข่ายศิลปิน               เพื่ออำเภอ...

๔. เครือข่ายศิลปิน               เพื่ออำเภอ...

๕.เครือข่ายนักธุรกิจ             เพื่ออำเภอ...             ซึ่งอาจรวมกันตั้งมูลนิธิ

๖. เครือข่ายอาชีพต่างๆ         เพื่ออำเภอ...

๗. เครือข่ายสื่อมวลชน          เพื่ออำเภอ...

๘. เครือข่ายอื่นๆ                เพื่ออำเภอ...

 

ทั้งสภาผู้นำ ทั้งเครือข่ายเพื่ออำเภอต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นเต็มอำเภอ จึงเป็นภูมิพลังหรือพลังแผ่นดินอำเภอ

นอภ. จึงเป็น นัอำนวยภูมิพลัง โดยแท้

และภูมิพลังนี้แหละจะสร้างอำเภอให้เป็นแผ่นดินศานติสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน) ได้โดยมิยาก

เมื่อคนทั้งอำเภอมีความมุ่งมั่นร่วมกันแล้วก็ไม่มีอะไรยากอีกต่อไป เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม คือ 

  • ทุกคนมีจิตสำนึกองค์รวมของอำเภอ
  • พัฒนาอย่างบูรณาการให้ทุกอย่างเชื่อมโยงไปสู่การอยู่ดีมีสุขของคนทุกคนในอำเภอ


 

๖.

การบริหารจัดการพื้นที่อำเภอ ๓ ระดับ

๑๑๑ หน่วยจัดการ

 

การบริหารจัดการพื้นที่ ๑ อำเภอ มี ๓ ระดับ คือ

(๑) ระดับชุมชน หรือหมู่บ้าน           มี ๑๐๐ หน่วยจัดการ

(๒) ระดับตำบล                          มี   ๑๐ หน่วยจัดการ

(๓) ระดับอำเภอ                         มี     ๑ หน่วยจัดการ

     รวม       ๑๑๑ หน่วยจัดการ

ระดับหมู่บ้านหรือชุมชนเป็นเรื่องของประชาชนล้วนๆ ไม่มีองค์กรของรัฐ แต่ระดับตำบลและอำเภอมีองค์กรของรัฐ การบริหารจัดการจึงแตกต่างกันในแต่ละระดับ การบริหารจัดการทั้ง ๓ ระดับ เชื่อมโยงหนุนซึ่งกันและกัน หรือบูรณาการกัน

 

                    (๑) การบริหารจัดการในระดับชุมชน

 

ในหมู่บ้านหรือชุมชนมีประชากรเพียง ๕๐๐-๑,๐๐๐ คน ทุกคนจึงมีส่วนร่วมได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยทางตรง (Direct democracy) เมื่อไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง ประชาธิปไตยชุมชนจึงเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูงกว่าประชาธิปไตยระดับบนและเป็นฐานของประชาธิปไตยระดับชาติ กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง เป็นหัวใจของการพัฒนา ถ้าช่วยกันทำความเข้าใจ ชาติจะหลุดออกจากสภาวะวิกฤต

กระบวนการชุมชนประกอบด้วย

(๑) สภาผู้นำชุมชน ผู้นำตามธรรมชาติในชุมชน ซึ่งมีประมาณ ๔๐-๕๐ คน ดังกล่าวในตอนที่ ๕ ก่อตัวกันเป็นสภาผู้นำชุมชน โดยไม่ต้องมีใครแต่งตั้ง เป็นการก่อตัวเอง (Self-organized) ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เพราะเป็นของจริงแท้

(๒) สำรวจข้อมูลชุมชน สภาผู้นำชุมชนจัดให้มีการสำรวจข้อมูลชุมชน ขั้นตอนนี้ข้ามไม่ได้ เพราะข้อมูลทำให้เกิดความคิด ถ้ามานั่งพูดกันเฉยๆ โดยไม่มีข้อมูล จะไม่ก้าวหน้า

(๓) ทำแผนชุมชน จากข้อมูล สภาผู้นำชุมชนทำแผนชุมชน ตามลำดับความสำคัญที่ชุมชนคิดกันเอง ที่ดีคือ เป็นแผนพัฒนาอย่างบูรณาการที่ ๘ มิติ เชื่อมโยงกัน ดังกล่าวในตอนที่ ๓อันได้แก่

เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ - การศึกษา – ประชาธิปไตย

โดยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นจุดคานงัด

(๔) เสนอสภาประชาชน สภาประชาชนหรือสภาชุมชน คือ ที่ประชุมของคนทั้งหมู่บ้าน เป็นประชาธิปไตยทางตรง สภาประชาชนพิจารณาแผน ดัดแปลง เพิ่มเติม ตัดทอน ตามแต่จะเห็นร่วมกัน ในที่สุดสภาประชาชนมีมติรับรองแผน

(๕) คนทั้งชุมชน ขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผน เนื่องจากเขาทำมากับมือ จึงเข้าใจและปฏิบัติได้

(๖) ติดตามสนับสนุนการปฏิบัติ สภาผู้นำชุมชนจัดให้มีคณะติดตามการปฏิบัติ แก้ไขอุปสรรคขัดข้องให้ปฏิบัติได้

(๗) การประเมินผลการปฏิบัติตามแผน สภาผู้นำชุมชนจัดให้มีกลุ่มประเมินผลการปฏิบัติ ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด ผลประเมินเป็นข้อมูลป้อนกลับไปที่ข้อ (๒) ข้อมูลชุมชน เกิดเป็นวงจรการจัดการ (management loop) ที่เมื่อวนไปแต่ละรอบทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ

 

กระบวนการชุมชนที่กล่าวนี้ทรงพลังมาก ไม่มีทางจะไม่สำเร็จ

เมื่อชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการที่ ๘ มิติ เชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน ก็จะเกิดชุมชนองค์รวมที่

 

 

กระบวนการชุมชน ๗ ขั้นตอนสู่การสร้างชุมชนให้เป็นสังคมศานติสุขนี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ควรทำความเข้าใจให้ดี เมื่อเข้าใจแล้ว ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกองค์กร สามารถเข้าไปสนับสนุน และร่วมสร้างแผ่นดินศานติสุขได้

โดยเข้าไปร่วมในแผนชุมชน โดยเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ผู้เข้าไปร่วมได้เรียนรู้จากความเป็นจริง และนำความรู้ความชำนาญที่ตนมีเข้าไปทำให้กระบวนการทั้งหมดดีขึ้น

ประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ ๘๐,๐๐๐ ชุมชน ซึ่งอาจเพิ่มเป็น ๑๐๐,๐๐๐ ชุมชน ถ้ามีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ทั้ง ๑๐๐,๐๐๐ จะเป็นฐานชีวิต ฐานเศรษฐกิจ ฐานสังคม ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ประเทศไทยลงตัวทุกทาง


 

                    (๒) การบริหารจัดการระดับตำบล

 

องค์กรบริหารส่วนตำบล คือ อบต. หรือเทศบาลตำบล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด

การบริหารจัดการที่ดีควรมี ๓ องค์ประกอบ เชื่อมโยงกันที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งหมายถึงเขยื้อนสิ่งที่ยากได้ คือ

๑. การสร้างความรู้              ควรมีศูนย์วิจัยตำบล

๒. สังคม                          ได้แก่ สภาผู้นำตำบล

๓. องค์กรของรัฐ                 อบต./เทศบาลตำบล

 

 

รูปที่ ๓ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

 

การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่

๑. สนับสนุนกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ทุกชุมชนในตำบล ซึ่งมีประมาณ ๑๐ ชุมชน

๒. ส่งเสริมให้ทั้ง ๑๐ ชุมชน มีการประชุมร่วมกันเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทุกชุมชนเก่งขึ้นเรื่อยๆ

๓. ทำสิ่งที่แต่ละชุมชนทำไม่ได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและพัฒนาองค์รวมของตำบล คือ ระบบต่างๆ เช่น ระบบพลังงานชุมชน ระบบการเงินชุมชน โดยส่งเสริมให้มีสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล ซึ่งถ้าทำให้ดีจะมีเงินหมุนเวียน ซึ่งบริหารโดยประชาชนกว่า ๑๐๐ ล้านบาทต่อตำบล เป็นเครื่องมือเชิงสถาบันของชุมชนอันจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นทุกๆ ทาง ระบบการศึกษา ระบบศาสนา ระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น

๔. พัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ให้อุดมสมบูรณ์และมีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

๕. ดึงทรัพยากรต่างๆ นอกตำบล รวมทั้งนโยบายเข้ามาสนับสนุนตำบล


 

                    (๓) การบริหารจัดการระดับอำเภอ

 

ที่ระดับอำเภอ นอกจากคณะกรรมการอำเภอแล้วยังมี พชอ. (คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ควรมี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เช่นเดียวกับระดับตำบล ซึ่งควรมี

ศูนย์วิจัยอำเภอ

สภาผู้นำอำเภอ

เข้าร่วมกับกลไกของรัฐซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน ควรมีมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งร่วมทำงานวิชาการกับอำเภอ

การบริหารจัดการอำเภอมีหน้าที่

๑. สนับสนุนตำบลเข้มแข็งและชุมชนเข้มแข็งในทุกตำบลและทุกชุมชนในอำเภอ

๒. ส่งเสริมให้มีการประชุมร่วมระหว่างตำบล เดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต่อยอดการพัฒนา

๓. ทำในเรื่องที่แต่ละตำบลทำไม่ได้ ได้แก่ ระบบต่างๆ ซึ่งใหญ่ขึ้น สนับสนุนตำบลได้มากขึ้น

๔. จัดให้มีธนาคารน้ำ ๓ ระดับ อันได้แก่ ระดับพื้นดิน ระดับเหนือพื้นดิน และระดับใต้ดิน 

ธนาคารน้ำระดับพื้นดิน ได้แก่ สระน้ำประจำครอบครัว ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้ทั้งปี เป็นเครื่องมือแก้จนที่ชะงัดมาก เพราะสามารถเลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ได้อย่างครบวงจร

ธนาคารน้ำระดับเหนือพื้นดิน ได้แก่ ความเป็นป่าที่มีต้นไม้หนาแน่นเต็มพื้นที่ ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้มาก ป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน และปล่อยน้ำออกมาป้องกันความแห้งแล้งในฤดูแล้ง

ธนาคารน้ำใต้ดิน คือเทคโนโลยีการเก็บน้ำไว้ใต้ดินเป็นน้ำบาดาลในฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วม และนำขึ้นมาใช้ในฤดูแล้ง ทำให้มีน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ อำเภอต้องแสวงหาความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีที่ทำธนาคารน้ำบาดาลให้ได้

ถ้าทำธนาคารน้ำทั้ง ๓ ระดับได้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เป็นเครื่องมือแก้จนได้อย่างวิเศษ

๕. ดึงทรัพยากรจากนอกอำเภอ เช่น ความรู้ เทคโนโลยี ระบบเงิน และนโยบาย เข้ามาใช้ในอำเภอ 

ฯลฯ

 


 

 

รูปที่ ๔ โครงสร้างการพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ

 

โครงสร้างการพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการที่เชื่อมโยง ๑ อำเภอ ๑๐ ตำบล และ ๑๐๐ หมู่บ้าน และระหว่างกัน พื้นที่ทั้งอำเภอมีการพัฒนา ๘ มิติ คือ เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย บูรณาการอยู่ในกันและกัน โดยมีสัมมาชีพเป็นจุดคานงัด เมื่อทั้งหมดบูรณาการกันเป็นองค์รวมอำเภอเช่นนี้ ก็เกิดเป็นแผ่นดินศานติสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน)


 

๗.

เมื่อมีการออกแบบระบบและโครงสร้างแผ่นดินศานติสุข

ทุกคน ทุกองค์กร ทุกเครื่องมือ ก็เข้ามาสนับสนุนได้

 

เรามีทรัพยากรและเครื่องมือเพื่อการพัฒนามากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่มีการออกแบบระบบและโครงสร้าง ทรัพยากรและเครื่องมือต่างๆ ก็ทำงานไม่ถูก ก็ต่างคนต่างทำตามเรื่องตามราว ไม่สามารถประกอบเครื่องได้

แต่ถ้ามีการออกแบบระบบและโครงสร้างดังกล่าว ทุกคน ทุกองค์กร ทุกเครื่องมือ สามารถเข้าไปสนับสนุน ณ จุด และไปเรื่องที่เหมาะสม เช่น ที่หมู่บ้านก็ได้ ตำบลก็ได้ อำเภอก็ได้ ในเรื่องเศรษฐกิจก็ได้ ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม ในเรื่องการสื่อสาร หรือในเรื่องใดๆ ก็ได้

ซึ่งล้วนทำให้ระบบและโครงสร้างสมบูรณ์ขึ้น แข็งแรงขึ้น สวยงาม น่าอยู่มากขึ้น เท่ากับคน องค์กร สถาบัน ความรู้ และเทคโนโลยีทั้งหมดเชื่อมโยงกัน สร้างประเทศไทยให้เป็นแผ่นดินศานติสุข (ประดุจสวรรค์บนดิน)

 


 

๘.

พื้นที่อำเภอกลายเป็นสถาบันการเรียนรู้แบบใหม่

ที่ทรงพลังและตอบโจทย์ทุกเรื่อง

 

การร่วมพัฒนาพื้นที่อำเภออย่างบูรณาการทั้ง ๑๐๐ หมู่บ้าน ๑๐ ตำบล และมีการบริหารจัดการระดับอำเภอ โดยคนและองค์กรทั้งหมดในพื้นที่และการสนับสนุนจากภายนอก ทำโดย “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง”

การเรียนรู้แบบนี้ต่างจากการเรียนรู้โดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งมาก วิชายังไม่ใช่ความจริงและไม่ใช่การปฏิบัติ

แต่การเรียนรู้แบบใหม่นี้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริงให้ได้ผลจริง

สถานการณ์จริง คือ ความเป็นจริง หรือภูมิสังคมที่มีหลายมิติซับซ้อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและพลิกผัน เข้าใจไม่ได้ด้วยการท่องวิชา แต่ในการปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้ผลในสถานการณ์จริงที่ดังกล่าว ต้องเรียนรู้ทุกแง่ทุกมุมของความเป็นจริง และในการปฏิบัติให้ได้ผล มีคนและองค์กรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยจำนวนมาก

ทั้งหมดเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จและความล้มเหลว จะเรียนรู้คนเดียวก็ไม่สำเร็จ ต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งหมดในการปฏิบัติให้ได้ผล ต้องใช้ความรู้อะไรก็ได้ที่จะทำให้ได้ผล เป็นความรู้ที่เชื่อมโยงกันจนไม่รู้ว่าเรียกว่าวิชาอะไร มีทั้งความรู้ในตัวคนแต่ละคนที่ร่วมปฏิบัติ และความรู้นอกตัวที่ได้มาจากที่ใดก็ตาม

ความรู้นอกตัวอยู่ในฐานวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ในตัวคนอยู่ในฐานวัฒนธรรมหรือความรู้จากวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ

การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวจึงมักไม่ได้ผล

แต่การเรียนรู้ในการปฏิบัติที่ใช้ทั้งความรู้จากฐานวิทยาศาสตร์และความรู้จากฐานวัฒนธรรมร่วมกัน ทำให้มีพลังแห่งความสำเร็จมากกว่า

การเรียนรู้ใหม่หรือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ดังต่อไปนี้

๑. เกิดการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนมีความสำคัญต่อความสำเร็จ

ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่นำไปสู่สิ่งที่ดีงามหลายอย่าง เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความเป็นธรรม 

ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำไม่สำเร็จด้วยการปฏิวัติทางการเมือง โดยการศึกษาหรือเทศนาต่างๆ แต่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ

๒. เกิดการเคารพความรู้ในตัวคน ตามปรกติจะเคารพความรู้ในตำรามากกว่าความรู้ในตัวคน 

ความรู้ในตำราได้มาจากการค้นคว้าวิจัยหรือมีฐานอยู่ในวิทยาศาสตร์ แต่ในตัวคนทุกคนมีความรู้ที่แฝงเร้นอยู่ ซึ่งได้มาจากประสบการณ์และการทำงาน

ถ้าสังคมเคารพแต่ความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีศักดิ์ศรีไม่มีเกียรติ ชาติจะไม่แข็งแรง ในการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ต้องใช้ความรู้ในตัวคนทุกคนที่ร่วมปฏิบัติด้วย คนทั้งหมดจึงมีเกียรติ ทำให้ชาติเข้มแข็ง

๓. เกิดความเอื้ออาทร เชื่อถือ ไว้วางใจกัน (trust) ซึ่งมีค่าอันหามิได้

๔. เกิดสามัคคีธรรม เพราะความเสมอภาคและภราดรภาพที่เรียกว่า รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ทำให้พลังร่วมอันมหาศาล

๕. ทุกคนจะเป็นคนฉลาดหมดและฉลาดร่วมกัน คนเราถ้าอยู่เดี่ยวจะคล้ายเป็นคนโง่ เรียนรู้อะไรได้ยาก แต่ถ้าเรียนรู้ร่วมกันแล้วจะง่าย กลายเป็นคนฉลาดหมดทุกคน

๖. เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) อัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius) และนวัตกรรม เป็นมวลปัญญาใหญ่

๗. ทั้งหมดทั้ง ๖ ข้อที่กล่าวมาเป็นพลังมหาศาลที่ทำให้ฝ่าความยากทุกชนิดไปสู่ความสำเร็จ

๘. ทั้ง ๗ ข้อข้างต้น ทำให้ทุกคนเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

 

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ทั้ง ๘ ประการดังกล่าวนี้ เป็นไปในทุกมิติของชีวิตและสังคม ตั้งแต่จิตสำนึก อารมณ์ความรู้สึก ศีลธรรมหรือสัมพันธภาพ ปัญญา สมรรถนะในการร่วมทำสิ่งยากให้สำเร็จ รวมทั้งความสุข จึงเป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่ทรงพลังมหาศาล

พื้นที่อำเภอทั้งอำเภอจึงเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน อันทำให้สำเร็จประโยชน์ เป็นยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยแบบที่มีอยู่ทั่วไป ว่าเป็น มหาวิชชาลัยอำเภอ

วิชชา (ช.ช้าง ๒ ตัว) เป็นศัพท์ทางพุทธ หมายถึงปัญญา คำว่ามหาวิชชาลัย พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก แปลว่า ที่อยู่แห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่

พื้นที่อำเภอเป็นที่อยู่แห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่ เป็นสังคมอุดมปัญญาโดยแท้และตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย

การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งไม่เคยทำสำเร็จ เพราะคิดถึงการศึกษาแบบแยกส่วน แต่ในเมื่อการศึกษาบูรณาการอยู่ในทุกมิติ ในการพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการเช่นนี้ การปฏิรูปการศึกษาก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยการมีส่วนร่วมของคนทั้งหมด กลายเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนทั้งปวงร่วมกันในการปฏิบัติ

“มหาวิชชาลัยอำเภอ” จะให้คำตอบเรื่องคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะพื้นที่อำเภอทุกอำเภอที่ดำเนินการเช่นนี้ จะสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ที่ดีและเก่งจำนวนมาก ที่ผ่านการทำงานจริง มีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ จะเป็นผู้นำระดับประเทศต่อไป ไม่ใช่ผู้มีตำแหน่งด้วยอำนาจเงิน แต่ไม่เคยพิสูจน์ตัวเองว่าทำงานเป็น ทำงานเก่ง และเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต


 

๙.

สู่ประเทศไทยแผ่นดินศานติสุข

 

ระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล คือ ร่างกายมนุษย์ หรือร่างกายของท่านเอง

ระบบร่างกายมนุษย์นั้น ซับซ้อนและวิจิตรสุดประมาณ มีคุณสมบัติมหัศจรรย์ ที่มีความรู้สึกนึกคิดและศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สามารถเรียนรู้ให้บรรลุความดีงามอย่างใดก็ได้

ระบบที่วิจิตรดังกล่าว เริ่มมาจากเซลล์เซลล์เดียว

แต่เซลล์เริ่มต้นต้องมีความถูกต้องทุกประการ จึงจะเจริญแบ่งตัว และวิวัฒนาการไปเป็นเซลล์ประเภทต่างๆ รวมกันเป็นอวัยวะและระบบต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่ความหลากหลายทั้งหมดบูรณาการเป็นองค์รวมเดียวกัน คือ ความเป็นคนที่มีสุขภาวะและอายุยืน เพราะความสมดุลในตัว

การออกแบบประเทศไทยแผ่นดินศานติสุข ที่กล่าวมาตามลำดับนั้น เอาตัวอย่างมาจากระบบที่ดีที่สุด คือ ร่างกายของเรา ไม่ใช่คิดเอาโดยตรรกะ เพราะธรรมชาติเป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่ตรรกะ

หน่วยย่อยพื้นฐานของร่างกาย คือเซลล์

หน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม คือชุมชนขนาดเล็ก

ชุมชนสามารถออกแบบให้มีความถูกต้องทุกประการได้ ในขณะที่ไม่มีใครสามารถเสกสังคมใหญ่ที่ซับซ้อนให้มีความถูกต้องขึ้นมาจากข้างบนได้ แต่ชุมชนที่มีความถูกต้องข้างล่าง สามารถก่อตัวเป็นองค์กรและระบบต่างๆ ขึ้นมาจากข้างล่างได้

จนพูดเป็นอุปมาอุปมัยว่า พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน พระเจดีย์สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงๆ เนื่องจากไม่มีฐานรองรับ

โครงสร้างอะไรที่จะมั่นคง ฐานจะต้องกว้างและแข็งแรง เช่น พระเจดีย์ พีระมิด หรือตึก

ประเทศไทยที่จะเป็นแผ่นดินศานติสุขจึงต้องประกอบด้วยชุมชนเข้มแข็ง เสมือนเป็นคอนกรีตบล็อก

ชุมชนเข้มแข็ง คือชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการและมีความสมดุลในตัวเอง

พื้นที่อันประกอบด้วยชุมชน – ตำบล – อำเภอ – จังหวัด ที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ จึงเปรียบเหมือนฐานพระเจดีย์ประเทศไทย (หมายเลข ๑ ตามรูปที่ ๕)

 

รูปที่ ๕ พระเจดีย์ประเทศไทย 

 

พระเจดีย์ประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย

๑ = ฐานพระเจดีย์ = ชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ทั่วประเทศ

๒ = องค์พระเจดีย์ = ระบบต่างๆ

๓ = ยอดพระเจดีย์ = การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล

ระบบต่างๆ (๒) ต้องเชื่อมระหว่างฐานกับยอด

ยอดพระเจดีย์ (หมายเลข ๓) ชี้สู่เบื้องสูง คือ ความถูกต้อง เป็นธรรมของการอยู่ร่วมกัน หรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล

เมื่อทั้งหมดบูรณาการเป็นองค์รวมประเทศไทย หรือพระเจดีย์แห่งการพัฒนาประเทศไทย ก็ไม่มีใครหรืออะไรดำรงอยู่แยกส่วนเป็นเอกเทศ

เช่น ระบบเศรษฐกิจมหภาคก็เชื่อมโยงกับฐาน คือการพัฒนาอย่างบูรณาการที่ฐานของประเทศ กับยอดพระเจดีย์ คือสิ่งสูงสุดหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล

ไม่มีใครหรืออะไรเป็นปฏิปักษ์กับใครหรืออะไร เหมือนเซลล์และอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในองค์รวมเดียวกัน เป็นแผ่นดินศานติสุข

เมื่อมีการออกแบบและโครงสร้างประเทศไทยอย่างนี้ คนไทยทุกคน ทุกองค์กร ทุกสถาบัน ก็ช่วยกันประกอบเครื่องประเทศไทยได้ด้วยความสุขและความสร้างสรรค์ โดยไม่ยากอะไร

นายอำเภอทุกคนก็สามารถร่วมกับคนไทยทุกคนในอำเภอและนอกอำเภอ เพื่อพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุข

คนไทยทุกคนล้วนอยากให้ประเทศไทยดี ถ้านึกไม่ออกว่าจะมีส่วนร่วมอย่างไร ก็ให้ไปหานายอำเภอ จะร่วมที่ชุมชนหรือหมู่บ้านก็ได้ หรือที่ตำบลก็ได้ ที่อำเภอก็ได้ ที่โรงเรียนหรือในเรื่องใดๆ ก็ได้

ทุกคนมีคุณค่าและมีประโยชน์หมด มีเกียรติมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกัน

คนไทยสามารถร่วมกันสร้างแผ่นดินศานติสุขได้จริงๆ


 

คำอุทิศ

 

ขอมอบคู่มือพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการสู่แผ่นดินศานติสุขนี้ไว้ให้เพื่อนคนไทย และเมื่อได้ลงมือปฏิบัติไปๆ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ที่ดีกว่านี้

ก็นำความรู้ใหม่มาปรับปรุงคู่มือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เหลือโฉมเก่าก็ได้

กลายเป็นคู่มือของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย สืบต่อไปชั่วกาลนานและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ในประเทศอื่นๆ อีกครับ

เพราะล้วนอยู่ร่วมโลกเดียวกัน

 

 

ขอให้เพื่อนคนไทยมีความสวัสดี

ประเวศ วะสี

๑๙ มกราคม ๒๕๖๕

 

โหลดไฟล์ PDF 20220519201444.pdf 


 

[*] หนังสือยุทธศาสตร์ประกอบเครื่องประเทศไทย สู่การสร้างสังคมศานติสุขและสันติภาพโลก : ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

หมายเลขบันทึก: 702713เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท