เรียนอย่างมีชั้นเชิง


 

หนังสือ Learn Like a Pro : Science-Based Tools to Become Better at Anything (2021)  เขียนโดย Barbara Oakley & Olav Schewe   แนะนำวิธีเรียนอย่างได้ผล โดยมีคำอธิบายง่ายๆ โยงไปยังกลไกสมอง   

Barbara Oakley เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์  McMaster University  เขียนหนังสือด้านการเรียนรู้หลายเล่ม  เช่น Learning How to Learn    ที่ TedTalk เรื่องนี้ของท่าน มีคนเข้าชมเกือบ ๒ ล้านครั้ง (๑)    และ MOOC เรื่องนี้ของท่านก็มีชื่อเสียงมาก ดัง บล็อกของ ดร. รุจเรขา วิทยวุฒิกุลเล่าไว้ (๒)

ที่จริงหนังสือ Learn Like a Pro ก็ไม่ต่างจากที่ ดร. รุจเรขาเล่าไว้มากนัก    โดยเทคนิคแรกที่แนะนำคือ Pomodoro Technique   ที่ผมเล่าวิธีที่ตนเองใช้เรียนเมื่อ ๖๕ ปีมาแล้วไว้ที่ (๓) 

เทคนิคที่ ๒ วิธีเรียนเรื่องยาก   ให้สลับวิธีคิดสองแบบไปมา คือวิธีคิดแบบพุ่งเป้าเอาจริงเอาจัง (focused thinking)    กับวิธีคิดแบบมองภาพกว้างๆ หรือภาพใหญ่ของเรื่อง ที่ในหนังสือใช้คำว่า relaxed thinking   เป็นการใช้สมองสองแบบ คือ focused mode  กับ diffuse mode   โดยที่ Pomodoro Technique ใช้ focused mode    ที่จริงผมอ่านหนังสือโดยสลับวิธีอ่านสองแบบนี้    เพื่อใช้การมองภาพใหญ่ช่วยให้การอ่านเฉพาะตอนเข้าใจสาระง่ายขึ้น   และช่วยให้เข้าใจหรือตีความหนังสือได้ในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น   

เทคนิคที่ ๓ วิธีเรียนให้เกิดการเรียนรู้มิติที่ลึก (deep learning) โดยเร็ว    โดยการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง    โดย (๑) อธิบายให้ตัวเองฟัง (self-explanation / elaboration)   และผมขอเพิ่มเติมว่า อธิบายให้เพื่อนฟังก็ช่วย   โดยผมค้นพบผลดีนี้ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา    (๒) ผสมวิชา หรือผสมเรื่อง ผสมโจทย์ (interleaving technique)    (๓) นอนหลับให้เพียงพอ  (๔) ออกกำลังกาย 

หนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง แนะนำวิธีสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ยิ่งกว่ามิติที่ลึก คือไปสู่ระดับเชื่อมโยง (transfer) 

เทคนิคที่ ๔    ดำเนินการเคลื่อนข้อมูล (สารสนเทศ) จากความจำใช้งาน (working memory) สู่ความจำระยะยาว (long-term memory)   โดย (๑) แบ่งสิ่งที่เรียนออกเป็นส่วนย่อยๆ เรียนทีละส่วน (๒) เปลี่ยนศัพท์เทคนิคเป็นคำง่ายๆ เพื่อช่วยให้เข้าใจและจำง่าย  (๓) จดบันทึกด้วยวิธี split note method   คือแบ่งหน้ากระดาษบันทึกออกเป็น ๒ ส่วน    ส่วนซ้าย ๑/๓ ของหน้าเอาไว้เขียนข้อสรุป    ส่วนขวา ๒/๓ ของหน้า เอาไว้จดรายละเอียดตามปกติ   

เทคนิคที่ ๕ เรียนรู้ทั้งสองแบบของสำนึก   คือเริ่มต้นเรียนแบบรู้ตัว (declarative learning procedure)  ตามด้วยแบบไม่รู้ตัว (procedural learning system) คือการแก้โจทย์ หรือการฝึกปฏิบัติ    ที่เราเรียกว่าเคี่ยวกรำฝึกจนชำนาญ    ไม่ใช่แค่ทำเป็น    นี่คือ mastery learning ในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร   การเรียนรู้แบบไม่รู้ตัวนี้จะนำไปสู่สมรรถนะปฏิบัติได้ทันใดโดยไม่ต้องคิด (fast-acting intuition)   และเป็นหลักการสำคัญของสมรรถนะอนาคต    

เทคนิคที่ ๖  เตรียมตัวสอบโดยทำข้อสอบเก่า และแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อน   เพื่อเรียนรู้ประเด็นที่ครูอาจไม่เคยสอนในชั้นเรียน   เรื่องนี้ผมฝึกจนชำนาญตั้งแต่อายุน้อย    โดยเอาข้อสอบเก่าๆ มาศึกษาหาแก่นความรู้ของแต่ละวิชา   แล้วอาจคิดโจทย์ขึ้นเอง และหาวิธีตอบโจทย์ที่ตั้งเอง    ตามในหนังสือนี้ ผมน่าจะได้ฝึก procedural learning system โดยไม่รู้จักมัน

เทคนิคที่ ๗   เรียนรู้วิธีเรียน (metacognitive learner)    เริ่มจากทักษะประเมินผลงานของตนเอง   และคิดหาวิธีพัฒนางานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น   โดยสังเกตวิธีเรียนหรือวิธีทำงานของเพื่อนที่เรียนเก่ง    การเรียนรู้วิธีเรียนนี้เริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย  ตามด้วยการกำหนดวิธีบรรลุเป้าหมายนั้น   แล้วประเมินว่าบรรลุผลในระดับใด   และคิดหาวิธีเรียนให้บรรลุผลดียิ่งขึ้น    ซึ่งก็คือ ใช้ PDCA ในการพัฒนาวิธีเรียนของตนนั่นเอง   

ผมขอตีความว่า วิธีพัฒนาตนเองให้เป็น นักเรียนรู้และพัฒนาวิธีเรียน (metacognitive learner)    ทำโดยประยุกต์ Kolb’s Experiential Learning Cycle ต่อการเรียนของเรานั่นเอง   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม.ย. ๖๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 702503เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท