ชีวิตที่พอเพียง  4207. เพิ่มพลังจิตจดจ่อ


 

หนังสือ Your Brain at Work : Strategies for Overcoming Distraction, Regaining Focus, and Working Smarter All Day Long (2009)  เขียนโดย David Rock   แนะนำวิธีเพิ่มพลังจิตจดจ่อ  พลังสมอง    เขียนจากความรู้ด้านสรีรวิทยาของสมอง 

สมองมีพลังจำกัด    เมื่อรู้สึกล้า จงพัก    เพื่อใช้พลังสมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเต็มที่ จงปิดโทรศัพท์  ปิดอีเมล์ เพื่อป้องกันสิ่งรบกวนสมอง    จงจัดลำดับความสำคัญของงานหรือกิจกรรม แล้วพุ่งพลังสมองไปยังเรื่องนั้น   

เพื่อผ่อนแรงสมอง  จงจัดระบบงานให้มีแบบแผนประจำ (routine) ซึ่งจะช่วยให้สมองทำงานแบบอัตโนมัติ   ไม่ต้องลงแรงมาก   

สมองว่องไวต่อสิ่งเร้า    จึงถูกรบกวนได้ง่าย   เมื่อสมองถูกดึงความสนใจไปยังสิ่งอื่น กว่าจะกลับมาโฟกัสเรื่องเดิมได้อีก ต้องใช้เวลา   มีงานวิจัยบอกว่า ใช้เวลาถึง ๒๕ นาที   มีงานวิจัยบอกว่า คนทำงานที่แต่ละวันมีเวลาทำงาน ๗ ชั่วโมงนั้น  สูญเสียเวลาไปกับสิ่งรบกวนสมองถึงวันละ ๒ ชั่วโมง   

สมองทำงานได้ดีที่สุดเมื่อได้รับการกระตุ้นในระดับที่เหมาะสม    และเราสามารถกระตุ้นสมองของตัวเราเองได้    สมองตื่นตัวเมื่อมีระดับสารเคมีที่เป็นฮอร์โมนชื่อ norepinephrine ในระดับที่เหมาะสม   ฮอร์โมนนี้หลั่งออกมาเมื่อเกิดความกลัว   ความกลัวในระดับที่เหมาะสมทำให้สมองตื่นตัว และจิตจดจ่อดี 

สมองจะมีความสนใจเมื่อมีระดับสารเคมีที่เป็นฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งคือ dopamine ในระดับที่เหมาะสม   โดปามีนจะหลั่งเมื่อเราเผชิญสิ่งใหม่หรือไม่คาดฝัน   

เพื่อให้สมองทำหน้าที่สูงสุด ระดับของฮอร์โมนทั้งสองต้องพอดี ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป    หากต่ำไปประสิทธิภาพการทำงานต่ำ    หากสูงไป ตัวเราเครียดเกิน    ข่าวดีคือ มนุษย์เราสามารถใช้จินตนาการกระตุ้นหรือปลุกเร้าความตื่นตัวของสมองได้    หากเรารู้สึกเฉื่อย เราสามารถจินตนการว่างานที่กำลังทำอยู่มีกำหนดเสร็จในสองวันข้างหน้า ฮอร์โมนเครียด นอร์อีพิเนฟฟรินก็จะหลั่ง และกระตุ้นพลังสมอง   ยิ่งถ้าจินตนาการว่าหากผลงานออกมาดีจะได้รางวัลอะไร โดปามีนก็จะหลั่ง   

หากเรารู้สึกเครียดเกิน เพราะสมองถูกกระตุ้นมากเกินไป   ก็สามารถลดสิ่งเร้าด้วยวิธีง่ายๆ โดยจดงานที่ต้องทำลงบนกระดาษเพื่อลดภาระของสมอง   หรือออกไปเดินเล่นชั่วครู่   

ทุกคนเคยพบทางตัน คิดไม่ออก    หนังสือแนะว่าเมื่อถึงทางตัน ให้เปิดโอกาสให้สมอง “ปิ๊งแว้บ” เอง   หนังสือเล่มนี้เรียก insight   ในบางที่เรียก intuition    ที่มีคนแปลว่า “ปัญญาญาณ”   ซึ่งผมใช้คำว่า “คิดโดยไม่ต้องคิด”    หรือปล่อยให้สมองคิดต่อเอง    โดยทำสมาธิภาวนา   ไปเดินเล่น หรืออาบน้ำให้ร่างกายสดชื่น   หนังสือแนะวิธีพูดปัญหาออกมาดังๆ ด้วย

สติภาวนา เป็นการฝึกให้สมองอยู่กับปัจจุบันขณะ และมีพลัง 

ความรู้สึกมั่นใจ  และเชื่อมั่นว่าตนเองกำกับสถานการณ์ได้ ช่วยเพิ่มพลังสมอง     เป็นสภาพที่เราฝึกตัวเองได้    ไทยเราเรียกว่าฝึกให้เป็นคนใจเย็น  จิตใจมั่นคง   บางที่เราเรียกว่าเป็นคน “นิ่ง”   

เขาแนะนำให้รู้จักควบคุมระดับความคาดหวัง (expectation) ของตนเอง    เพื่อให้ได้รับผลดีทางใจเมื่อสมหวัง    และไม่ก่อผลร้ายเมื่อไม่ได้ดังหวัง   ผมเรียกสมรรถนะนี้ว่า ความยืดหยุ่นทางใจ (resilience)   

สมองคนเราต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม    เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม    เมื่อเราอยู่ในหมู่คนคุ้นเคยชอบพอ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย    เป็นสุขภาวะอย่างหนึ่ง    และมีงานวิจัยบอกว่า ในสภาพเช่นนั้นสมองจะทนความเครียดได้ดีกว่า   ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากความเครียดคือโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง   

ในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม คนเราต้องการความเป็นธรรม (ความแฟร์)   คนที่มีความไวและเข้าใจเรื่องนี้ดี จะมีความสำเร็จในชีวิต    หนังสืออธิบายตามหลักวิวัฒนาการ ว่า คุณลักษณะนี้ช่วยการรอดชีวิตในสมัยที่มนุษย์มีชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์

เมื่อได้รับการยอมรับ ในรูปแบบใดก็ตาม ร่างกายมนุษย์จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (dopamine  และ serotonin) ออกมา   และระดับฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ลดลง    นอกจากเพิ่มความสุขแล้ว การได้รับการยอมรับยังช่วยเพิ่มพลังสมองด้วย   เพราะระดับของ โดปามีน และซีโรโทนิน ช่วยการเชื่อมต่อใยประสาท    เคล็ดลับคือ เราสามารถให้การยอมรับ (หรือให้รางวัล) ตัวเราเองได้   ว่าได้ทำสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร) 

คำแนะนำสำคัญในเรื่องปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคือ การให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) เพื่อเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันมักไม่ได้ผล หรือกลับก่อผลร้าย   คือก่อความเครียด    สิ่งที่ควรทำคือ หาทางให้เขาคิดได้เอง (เกิด insight)   

สำหรับครู มีคำแนะนำว่า วิธีช่วยให้นักเรียนปรับปรุงการเรียนของตนทำได้โดยให้คะแนนส่วนที่นักเรียนเอาคำแนะนำป้อนกลับคราวที่แล้ว ไปปรับปรุงงานของตนให้ดีขึ้น   เท่ากับฝึกให้นักเรียนคุ้นกับการมี learning loop 

ขอเล่าเรื่องส่วนตัว ว่า ผมลดสิ่งรบกวนสมองโดยหลายวิธี    (๑) จำกัดการรับรู้ข่าว ให้เหลือเท่าที่จำเป็น (๒) ปิดโทรศัพท์เวลาประชุม หรือต้องการพุ่งเป้าอยู่กับงาน    ผมพบว่าสิ่งรบกวนสมองในยุคโควิดคือ โทรศัพท์จากพนักงานส่งของ   ที่โทรมากวนเราโดยไม่จำเป็น        

วิจารณ์ พานิช 

๑ พ.ค. ๖๕ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 702502เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I put an emphasis on this “..เมื่อได้รับการยอมรับ ในรูปแบบใดก็ตาม ร่างกายมนุษย์จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (dopamine และ serotonin) ออกมา และระดับฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ลดลง นอกจากเพิ่มความสุขแล้ว การได้รับการยอมรับยังช่วยเพิ่มพลังสมองด้วย เพราะระดับของ โดปามีน และซีโรโทนิน ช่วยการเชื่อมต่อใยประสาท เคล็ดลับคือ เราสามารถให้การยอมรับ (หรือให้รางวัล) ตัวเราเองได้ ว่าได้ทำสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร) ..”?

It is a secret of being successful. Once we convince ourselves that we succeed and we are happy with our success. ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท