คนเรา " รู้ใหม่" ตลอดทุกครั้งไหม ๑


แต่เมื่อชาวบ้านได้รู้แบบที่เป็นของเขาเองแล้ว...มันเป็นสุดยอดของเขาในมิติหนึ่งเหมือนกัน ที่มันมีโอกาสที่จะ " งอก" งามไปสู่เรื่องต่าง ๆ ได้

ปุจฉา  อะไรทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าได้ รู้ใหม่ ตลอดทุกครั้งเพราะบางทีเราก็ไม่มีไพ่ใบไหม่ซ่อนไว้ หรือหาได้มากนัก 

วิสัชชนา เป็นคำถามที่น่าคิดและชวนให้คุ้ยหาคำตอบ

ดิฉันไม่รู้ว่า ชาวบ้านรู้สึกว่า ได้ รู้ใหม่ หรือไม่

แต่ดิฉันได้เรียนรู้ว่า งานที่วางฐานได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมภูมิภาคเขตร้อน โดยตัวชาวบ้านเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน ทำให้การเคลื่อนงานเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ยืดหยุ่น ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำงานที่ทำได้สำเร็จ หรืองานไม่มีปัญหาอุปสรรค ตรงกันข้ามงานเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา เกิดปัญหาและมีการแก้ปัญหาตลอดเวลา ต้องอ่านสัญญาณต่าง ๆ  จากชาวบ้านทุกครั้งที่ได้พบกัน ได้ประชุมกัน เพื่อปะติดปะต่อข้อมูล ความเคลื่อนไหวในพื้นที่  

 ดิฉันไม่เคยเห็นชาวบ้านฟูมฟายหรือตีโพยตีพายจนไม่ได้สติกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ไม่ว่า การสูญเสียคนในครอบครัว น้ำท่วมข้าวตายหมด ข้อทะเลาะเบาะแว้งกันในชุมชนที่มีเขาเกี่ยวข้อง การไม่ได้รับความเป็นธรรม การได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน  พวกเขาพยายามที่จะใช้วิถีแบบของพวกเขาเองในการเผชิญ ซึ่งบางทีการยืดหยุ่น การยอมรับสภาพของพวกเขาก็ทำให้เราหงุดหงิดว่า เขาไม่ยอมปกป้องตัวเอง ไม่ย่อมส่งเสียงของความขัดแย้งของตนเองให้กลุ่มหรือสังคมได้ยิน การไม่กล้าเผชิญกับความแตกต่าง หรือการแสดงว่าตัวเองต่าง  แน่นอนว่ามันเป็นทั้งจุดอ่อนแต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดแข็งให้กับเขา และจากลักษณะแบบนี้มันกลับทำให้การร่วมงานของดิฉันกับชาวบ้านเป็นไปธรรมดา ธรรมดา ทุกอย่างแก้ไขได้ ปรับได้ หยุดได้ เริ่มใหม่ได้ ทำได้ ทำไม่ได้ ได้ดีใจ ได้ไม่ดีใจ ไม่เป็นไปตามคาดไว้ ทำนองนี้ มันไม่ใช่เป็นการทำงาน แต่มันเป็นการทำชีวิต  ที่เราได้มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ และชาวบ้านก็มีความกรุณามากพอให้เราไปร่วมกับพวกเขา 

ตัวอย่างตอนที่เราเตรียมและไปดูงานที่นาอาจารย์แสวง ซึ่งเป็นการเดินทางใช้ชีวิตร่วมกันครั้งล่าสุด ก็ได้นัดหมายกันว่ามาขึ้นรถที่สำนักงาน ตอนหกโมงเช้าจะออกเดินทาง เพราะฉะนั้นแต่ละพื้นที่ต้องออกเดินทางจากพื้นที่ตีสี่ครึ่งหรือตีห้า ชาวบ้านก็ทยอยกันมา นัดหมายให้แต่ละคนต้องห่อข้าว น้ำ เครื่องนอน มุ้ง บ้านนาดีให้ตำแจ่วบองมาเผื่อเพื่อนทุกคน พวกเราที่สำนักงานเตรียมเนื้อทอด ฉันดีเตรียมส้มโอ แต่ละหมู่บ้านให้มีกล้วย ๑ เครือ บ้านกลางให้เตรียมมะละกอ ปล้าร้า พริก กระเทียม ครก ทำส้มตำกินกลางทาง ศรีสงครามเตรียมผักพื้นบ้าน และแต่ละคนให้เตรียมต้นไม้ไปฝากอาจารย์คนละ ๑ ต้น  พอครบกันแล้วก็ออกเดินทางแล้วก็คุยกันบนรถ สารพัดเรื่อง ทั้งร้องทั้งลำ ทั้งมอบหมายการบ้านให้กันทำ และซักไซ้รายละเอียดการเดินทาง การเตรียมการเป็นอย่างไรบ้าง  บางคนบอกว่า ตื่นตั้งแต่  ๖ ทุ่มบ้าง ตีสอง บ้าง ตีสามบ้าง บางคนตื่นแล้วก็เลยลุกนึ่งข้าวเตรียมการ  เป็นอันว่าการเดินทางครั้งนี้ ชาวบ้าน ต้องตื่นกันตั้งแต่ตีสอง  เดินทางแวะจุดนัดหมายพักค้างคืนที่บ้านคำบงพัฒนา  ใกล้โรงงานฟีนิกซ์ อ. น้ำพอง ไปชมแหล่งทิ้งน้ำเน่า แล้วแห่กันไปนอนที่ศาลาวัด

คืนนั้นก็มีการคุยแลกเปลี่ยนกว่าจะเสร็จ เป็นการต่อสู้ของคนสองกลุ่มระหว่างเจ้าภาพกับแขก กลุ่มเจ้าภาพก็มีประสบการณ์มากมายอยากเล่า ผู้ฟังก็อยากฟังแต่ก็เหนื่อยมากด้วยเพราะนอนดึกคืนก่อนเดินทาง ฝ่ายฟังแพ้ก่อนหลับคาการฟัง กว่าจะได้นอนก็เกือบห้าทุ่ม ยังไม่ทันทีไร ประมาณตีสามปรากฏว่าแม่ออกพ่อออกบ้านที่ได้รับผลกระทบน้ำเน่าจากโรงงานนี้ศรัทธาสูงต่อศาสนา พากันมาทำวัตรเช้า !!!!  พวกเราก็ต้องรีบลุก ทั้งที่ตายังไม่ยอมลืม (ขำก็ขำ ไปดูงานทุกครั้งต้องมีประสบการณ์พิเศษคราวก่อนก็พากันขี้แตกขี้แตนเพราะไปกินอาหารทะเล คราวนี้ถูกไล่ที่ )  เก็บข้าวเก็บของย้ายออกมาจากศาลาวัด มาปูเสื่อนอนกันเป็นวงกลมข้างรถ คุยกันสัพเพเหระทั้งเรื่องงานและชีวิต จะนอนก็นอนไม่ได้เพราะชาวบ้านมานอนรอบข้าง ก็ต้องได้คุยกัน ....

ดิฉันเห็นว่า สิ่งที่เราทำนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเนื้อกิจกรรม แต่ในเนื้อของสัมพันธภาพแล้วเป็นบรรยากาศที่เราไม่เคยทำ ได้อยู่ร่วมกันกับคนรู้ใจที่ได้รอนแรมฟันฝ่ากันมา๔-๖ ปี ได้ผจญกับความง่วงนอนและได้ลุกจากที่นอนที่นอนได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วต้องมานอนตากน้ำค้าง แต่อยู่รวมกันกับเพื่อน....เพื่อนที่ร่วมแนวคิดกันที่จะฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อไร่นาของเรา การผจญกับเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เราได้เห็นชาวบ้านวิธีปฏิสัมพันธ์แบบของเขาที่ช่วยให้เราไม่ลำบากใจ ชาวบ้านไม่ได้เห็นเป็นเรื่องลำบากใจมาก มันง่วง มันเหนื่อย แต่ก็ไม่เป็นไร พอสว่างแล้วชีวิตก็ดำเนินไป เมื่อหิวก็จอดรถข้างทาง หาที่ร่มใต้ต้นไม้ เอามะละกอมาทำส้มตำกินกัน มีพ่อค้า แม่ค้าเห็นคนอยู่เป็นกลุ่มมาขายของ พวกเราไม่ซื้อแต่เราแบ่งผักเม็ก ผักเหมือดให้เขา ของเราเอามาเยอะจนเหลือกิน ชาวขอนแก่นไม่มีผักเม็กกิน ต้องแบ่งปัน

ดิฉันรู้สำหรับตัวเองว่า งานเป็นการลื่นไหลไปไม่ใช่เรื่อง ทำนา หรือ เรื่องการทำปุ๋ยหมัก หรือการทำไบโอดีเซลหรืออื่น ๆ  แต่เพียงอย่างเดียว  แต่มันเป็นการดำเนินกิจกรรมในฐานะที่ส่วนประกอบอันหนึ่งในร้อย ๆ  กิจกรรมในวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยภูมิภาคเขตร้อน 

ในฐานะคนทำงาน ดิฉันรู้สึกเพียงว่า งานมันลงตัวดีกับตัวเอง แม้ว่าจะเหนื่อยกายไปบ้างเหมือนกันกับการเดินทาง การต้องพูดคุย อื่น ๆ  จิปาถะ แต่เหมือนมันได้รับปฏิกิริยาสนองกลับจากผู้ที่เราสัมพันธ์ได้ในทางที่มันชื่นใจ ชื่นบาน ได้สัมพันธภาพที่ดี ได้เห็นการงอกงามของเขาและในการงอกงามนั้นมีตัวเราอยู่ในนั้นด้วย

ดิฉันไม่คิดว่าสิ่งที่ชาวบ้านรู้นั้นเป็นสิ่งใหม่ เหมือนที่เคยยกตัวอย่าง เรื่องพ่อคำเดื่อง  นาธรรมชาติ ได้เคยผ่านหูผ่านตามาแล้วสำหรับบางคน การรู้นั้นมันยังไม่เพียงพอที่จะรู้สึกว่า เอ มันต้องลองทำซะแล้ว ทดลอง รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ  จากสื่อที่เยอะแยะไปหมด ทำไมมันผ่านไปเฉย ๆ   แต่ภายหลังเมื่อมารู้อีก  รู้เรื่องเก่านั่นแหละ กลับมีพลัง อยากจะทดลอง ถ้าคิดตามลำพังโดยที่ยังไม่ได้เช็คจากตัวชาวบ้าน ก็อยากจะคิด ( เข้าข้างตัวเอง ) ว่าชาวบ้านได้ถูกเตรียมฐานไว้แล้ว เตรียมโดยตัวเขาเองนั่นแหละ ปะติดปะต่อเรื่องราวเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วสามารถเชื่อมต่อ รับสิ่งที่ได้รู้ ได้ฟังนั้นลึกลงไปถึง อยากลงมือทดลองให้รู้ด้วยตัวเอง 

ความใหม่อยู่การที่เขาได้รู้ รู้ในแบบของตนเอง รู้สิ่งเก่าของคนอื่นนั่นแหละ โดยผ่านการเอาสิ่งที่รู้นั้นมาผ่านการลงมือทำแล้วเกิดรู้ขึ้นมา ดูเหมือนแนวโน้มของชาวบ้านจะเป็นการรู้แบบผ่านการกระทำ และแม้จะเป็นเรื่องเก่าสำหรับคนอื่นก็ไม่ได้มีผลอะไร แต่เมื่อชาวบ้านได้รู้ แบบที่เป็นของเขาเองแล้ว ดิฉันก็คิดว่า มันก็เป็นสุดยอดของเขามิติหนึ่งเหมือนกัน ที่มันมีโอกาสที่จะ งอก งามไปสู่เรื่องต่างๆ   ได้ มันสร้างความชื่นบานเบิกบานให้กับเขามาก

การพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง  เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยคิดว่าจะทำได้เอง

การพัฒนาตนเอง  ทำได้หรือ ถ้าไม่มีคนสอน

การพัฒนาสังคม ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ มันเป็นเรื่องไกลตัว หากินใส่ปากใส่ท้องดีกว่า

การมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง ไปสู่ความเป็นไท ต่างหากที่เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นไปได้ มันมัวแต่รอให้คนอื่นมาทำ มาช่วย มาบอก รอคำสั่ง  ดังนั้นพอตั้ง อัตตาหิ อัตตโน นาโถได้  สิ่งที่ตามมามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย แม้จะใช้คำอธิบายคำเดียวกัน

ดิฉันมีไพ่ซ่อนไว้ ?? ไม่อยากใช้คำนี้เลย เหมือนว่าจะไปหลอกล่อคน ตกลงมีก็ได้ ดิฉันมีเพียงครึ่งเดียว หรือมีเพียง หนึ่งในสาม  ที่เหลือดิฉันไปอ่านเอาในวงไพ่เลย คนร่วมเล่นไพ่ส่งสัญญาณต่าง ๆ  ให้เยอะเลย  สด ๆ  ตามความเป็นจริงนั่นแหละ ดิฉันอ่านสัญญาณเก่ง ค่ะ จนบางทีอ่านมากจนทำให้ประเด็นหลุด ไปเหมือนกัน พยายามที่จะดึงให้มันเข้าเรื่อง เข้าไปในใจคน ผู้เล่นก็กรุณาดิฉันมากโอนอ่อนไปกับดิฉัน บางทีดิฉันก็ได้ บางทีดิฉันก็เสียค่ะ 

คำถามของอาจารย์น่าตอบ เวลาตอบก็พลุ่งพล่านเลย แต่ดิฉันว่า เขียนมากเกินไปก็จะเลยขีดรู้เรื่อง คนอ่านอ่านมากไปก็ไม่น่าจะดี มันต้องค่อย ๆ  ละเลียด ทำเหมือนการเคี้ยวเอื้องของควายน่ะค่ะ จึงขอตอบเป็นโครง ๆ  ไว้เพียงนี้ค่ะ.....ติดตามตอน ๒  ค่ะ 

คำสำคัญ (Tags): #สัญญาณ#ใหม่
หมายเลขบันทึก: 70204เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

  รู้ก็คือรู้ อธิบายวิธีรู้ มันแยะยุ่งยาก

รู้แล้ว รู้อีก รู้ไปเรื่อยๆ

ความรู้มันเปื่อย มันเก่า มันตกรุ่นตลอด

ถ้าไม่รู้ใหม่ก็อยู่กับความรู้รุ่นเก่า หนังเหนียว เหี่ยวย่น

ความรู้ใหม่สดใส ทันสมัย แต่ก็ต้องติดเบรค!

เดี่ยวจะกลายเป็นรู้เตลิด รู้เกินครู รู้ไม่ดูตาม้าตาเรือ

ฝากประสานหน่อย

จะเปิดบ้านใหม่วันที่ 28 มกราคม 2550

เชิญพ่อใหญ่ เสน่ห์ให้แหน่

ได้ผลประการใดแจ้งด้วย

เจ้าฮู้ตัวบ่อว่าเขียนบล็อกได้ดีหลาย

ค่อยแอบอ่านยังชมเจ้าอยู่ได๋

ข้อเสีย เจ้าเอาแต่เขียนๆ บ่ไปเพิ่ง ไปอ่าน สะท้อน

ความเห็นแลกเปลี่ยนคนอื่นนำแหน่

ปีใหม่นี่ได๋  ข้อยขออวยพรให้เจ้าได้

โทรมือถือเครื่องแรกในชีวิต

บ่จังซั่นเจ้าก็สิติดต่อความรู้ได้ซ้าๆฮู้บ่แม่ใหญ่ตุ๊

เขียนแล่ว

เจ้าพิมพ์รวมเล่มเด้อคั่นสิเขียนคักป่านนี่

  เจ้าคือบ่เอารูปเจ้าของลงหนำแหน่

ว่าสิเป็นผู่โก้คือเก๊าบ่

รับทราบค่ะ ครูบา จะติดต่อจี๋ พรุ่งนี้ค่ะ

หาวิธีเอารูปลงอยู่ค่ะ ยังหาทางบ่ถูก

สวัสดีปีเก่า เพื่อรับปีใหม่ในอีกสองวันนี้ ค่ะ ครูบา

การรู้ใหม่ของชาวบ้าน อยู่ที่  การได้ยิน  การได้เห็น

การได้ทำจริง     การพัฒนาบางครั้งทำได้แค่ให้ชาวบ้านได้ยินหรือได้เห็น   แต่ไม่ได้ทำจริง  ดังนั้นผมเห็นว่าการได้ทำจริง ทำให้ชาวบ้าน  เกิดการรู้ใหม่

   จริง ๆแล้วความรู้เก่า หากผ่านการลองผิดลองถูกจนผ่านกระบวนการปฏิบัติหลาย ต่อหลายครั้งแล้วมันน่าจะถือว่า เก่า แต่ เก๋า มันก็ใช้ได้นะคะ หากผู้ปฏิบัตินำมันมาลงมือจริงจัง แล้วพอนำมาปฏิบัติจริงจังมันอาจจะมีอะไรที่แตกต่างเพิ่มขึ้นมาได้ เพราะมันเป็นชุดเดิมแต่อยู่ในบริบทใหม่ ซึ่งอาจจะมีอะไรทั้งดีและไม่ดีเพิ่มขึ้นมาให้เราได้ต่อยอดอีกก็เป็นได้นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท