กระบวนการดินติดเท้า


ถามว่าเมื่อไหร่จะทำจริงจังเสียทีละครับ ไม่มีคำตอบใช่ไหม ก็ไม่เป็นไร ชาวบ้านกับนักวิชาการนอกระบบนี่แหละจะช่วยกันทำให้ดู แล้วก็ช่วยดูเสียบ้างละ..

     ท่านคงเคยได้ยินนิทานเรื่องไข่ห่านทองคำมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ  วันนี้ก็จะชวนคุยเรื่องไข่ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องไข่ทองคำ มันดีกว่านั้นเสียอีก ทำยังไงหรือครับ ถ้าเราเลี้ยงไก่ไข่ประสบผลสำเร็จ เราก็จะมีเงินไปซื้อตึก ซื้อรถ ซื้อเพชรซื้อทองสักกี่กิโลก็ได้ นิทานเขาแฝงเรื่องโลภมากลาภหาย ไม่ให้อยากได้อะไรง่ายๆโดยไม่ลงมือเรียนรู้และพัฒนา ทำอย่างไรเราจะมีไข่ทองคำในชีวิตจริง ไม่ต้องไปนอนฝันลมๆแล้งๆ ไม่ต้องไปหาเงินไปซื้อไข่มาบริโภค มีตัวเลขว่าคนไทยกินไข่กันปีละประมาณ8,600ล้านฟอง ตัวเลขนี้ยังประมาณไว้น้อย คนไทยยังจะบริโภคไข่คนละ 150-200 ฟอง/ปี   

  เทคโนโลยีสมัยนี้ยังไม่ก้าวล่วงถึงขั้นปลุกเสกไข่ทองคำได้  เราทำได้แค่เอาดอกดาวเรืองแห้งมาบดผสมในอาหารไก่ เพื่อให้ไข่มีสีสวยเข้มขึ้น  นักบริโภคศาสตร์บางคนยังสร้างนวัตกรรมผลิตไข่ไอโอดีนขึ้นมา ทำให้เรื่องการป้องกันโรคแก้ได้ด้วยการกินไข่ ไข่จึงเป็นทั้งยาและอาหารป้องกันโรคไปในตัว ต่อไปเราก็อาจจะมีไข่ที่มีสารอาหารเพิ่มจากที่เป็นอยู่ปกติมากขึ้น ท่านอาจารย์ไก่เล่าว่าเดี๋ยวนี้เขาทำถึงการตัดต่อDNA.ป้องกันโรคทางพันธุกรรมไก่ได้หลายชนิดแล้ว  

  ดร.วนิดา กำเนิดเพชร จากกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ชวนปรมาจารย์ไก่ ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร ลงมาสนทนากลุ่มเพื่อวางแผนงานการวิจัยการเลี้ยงไก่ให้กับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการงานอาชีพ และยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร รวมทั้งเสนอวิธีการจัดการความรู้ในเชิงกระบวนการ กับนักจัดการความรู้ตัวจริงเสียจริงในพื้นที่   บทบาทตรงนี้สำคัญมาก เรามีนักวิชาการระดับเซียนเรียกพี่มากมายในทุกสถาบัน ด้านเทคนิคเทคโนก็แน่นพุงกันทั้งนั้น งานวิจัยและพัฒนาก็เขียนกันพิมพ์กันจนล้นหิ้ง เรื่องที่น่าเสียดายที่สุดของแผ่นดินนี้ ก็คืองานวิชาการความรู้ที่ดีๆเหล่านั้น ไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ออกสู่สังคมวงกว้างได้  เพราะขาดขั้นตอนที่เราชอบพูดล้อเล่นกันว่า เท้าไม่ติดดิน ฯลฯ 

  กระบวนการดินติดเท้าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  เพราะช่วงที่ทุ่มเทการค้นคว้าวิจัยนั้นก็เหน็ดเหนื่อยตัวเป็นเกลียว  ถ้ายังจะต้องมาทุ่มเทส่งเสริมและพัฒนางานในภาคสนามอีกมันก็ยากเหมือนกัน ติดขัดที่ระบบ ด้านแผนรองรับ ขั้นตอน กระบวนการ และงบประมาณดำเนินการ เมืองไทยส่วนใหญ่จะให้งบประมาณทำการวิจัย  งบประมาณด้านวิจัยจำกัดจำเขี่ยมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับความต้องการและแนวทางการพัฒนาคลังสมองของชาติ ส่วนงบประมาณเพื่อการส่งเสริมและขยายผลงานให้ถ่ายทอดไปสู่โลกภายนอกแทบไม่มีเลย วิจัยจบแล้วก็โบ้ยส่งต่อส่งผ่าน ..  ไปให้คนอื่นใช้หรือรับลูกต่อ ตรงจุดนี้แหละครับที่ส่อให้เห็นถึงความมักง่ายต่อการศึกษาของThailand ทำแทบตายวิจัยกันจนหัวผุสมองบวม ทำเสร็จแล้วเอาไปทิ้งไปขว้างไม่ดูดำดูดี

·        ทำเช่นนี้เพื่ออะไร

·        ต้องการอะไร

·        จะเล่นลิงหลอกเจ้ากันไปอีกนานแค่ไหน?  

   ไม่มีใครตอบใช่ไหม ไม่เป็นไร ประเทศที่มีคนชาติเชื้อไทยโทนโท่อยู่เต็มสถาบัน พอใจที่จะลอยเพสังคม ก็ทำไปเถอะ โธ่ๆๆทนๆๆกันจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ..เอาไงเอากัน  ความมักง่ายทางความคิดทั้งระบบอย่างนี้ละครับ  ที่ทำให้ประเทศนี้ถูกเขาจูงจมูกเรื่องเทคโนโลยีวิชาการใหม่  เพราะพี่ไทยวิจัยทิ้งวิจัยขว้าง ไม่สนับสนุนการขยายผลงานวิจัยให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แล้วก็โทษกันไปกันมา เรื่องนี้มันต้องคิดใหม่ทำใหม่กันตั้งแต่ระดับนโยบาย แผนแม่บทระดับชาติ การจัดสรรงบประมาณ การพัฒนานักวิจัย การต่อยอดงานวิจัย การเผยแพร่ความรู้ลงสู่การปฏิบัติจริงในภาคสนาม  เรายังทำกันในระดับลูบหน้าปะจมูก เด็กเล่นขายของทำเต็มที่แค่ไหนมันก็ยังอยู่ในกระบวนการเล่นๆเป็นจริงไม่ได้หรือก ถามว่าเมื่อไหร่จะทำจริงจังเสียทีละครับ  ไม่มีคำตอบใช่ไหม ก็ไม่เป็นไร ชาวบ้านกับนักวิชาการนอกระบบนี่แหละจะช่วยกันทำให้ดู แล้วก็ช่วยดูเสียบ้างละ..        

   การเลี้ยงไก่แบบธรรมชาติ ดูจะไม่ยุ่งยากอะไรนัก ผมเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์ ปล่อยให้คุ้ยเขี่ยแมลงกินเมล็ดหญ้า ตอนบนต้นไม้ ก็ดูจะเป็นที่พอใจของคุณไก่ทั้งหลาย แต่พอมาเลี้ยงแบบขังกรงจำนวนมากๆนี่ต้องมีความรู้ครับ ต้องจับจริตสังคมชาวไก่ให้ได้ เช่น         การให้อาหารช่วงเช้า 30% ตอนเย็นถึงตอนหัวค่ำ70% และต้องให้แสงสว่างเพิ่ม (หมายถึงการเปิดไฟช่วงหัวค่ำช่วย) อาจารย์ไก่เล่าว่าแคลเซียมจะทำงานช่วงนี้เปลือกไข่จะหนาและสมบูรณ์ คุณแม่ไข่ดกจะชอบออกไข่ช่วงกลางคืนบรรยากาศมืดๆ          ในคอกห้ามไม่ให้ทำน้ำหกเรี่ยราด เรื่องความชื้นเป็นบ่อเกิดของโรค เรื่องลมกรรโชก เรื่องอุณหภูมิ เรื่องเสียงดังทำให้ตกอกตกใจ มีความสำคัญต่อการเบ่งไข่ของคุณๆแม่ไก่ทั้งนั้น การปูพื้นด้วยแกลบ ทำความสะอาดยักไย่ตามผนังตาข่าย ให้น้ำสะอาดให้อาหารที่มีคุณค่าให้วัคซีนตามโปรแกรมถือเป็นเรื่องควรปฏิบัติสม่ำเสมอ เลี้ยงเล่นๆไม่มีวินัยปริมาณไข่จะฟ้องทันที         

  อาหาร อากาศ อนามัย อารมณ์  มีความสำคัญ แสงแดดเป็นยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดในโลก ควรล้างภาชนะใส่น้ำใส่อาหารแล้วนำไปผึ่งแดดสัปดาห์ละ1ครั้ง รางไข่ควรมีหลังคา ป้องกันแม่ไก่ปล่อยของเสียเรี่ยราดไปโดนไข่ 

   นักเลี้ยงไก่ต้องทำสถิติที่สำคัญๆ เช่น การชั่งน้ำหนักไข่ ในช่วงที่ไข่ใบใหญ่ และในช่วงที่ไข่ใบเล็ก ชั่งน้ำหนักแม่ไก่เป็นช่วงๆ ชั่งปริมาณอาหาร วิเคราะห์บริบทไก่ด้านต่างๆ น้ำหนักตัวเมื่อเริ่มไข่, น้ำหนักไข่ฟองแรก,อัตราการไข่สูงสุด, อายุไก่เมื่อไข่สูงสุด(สัปดาห์), อัตราการไข่เฉลี่ยต่อปี(%), จำนวนไข่ต่อปี(ฟอง/ตัว) น้ำหนักไข่เฉลี่ย(กรัม/ฟอง), อาหารต่อน้ำหนักไข่ 1กก. สีเปลือกไข่,สีลำตัว พันธุ์ไก่ไข่ ถือเป็นหัวใจของการเลี้ยงไก่ไข่

   ท่านปรมาจารย์ไก่เล่าว่า กว่าที่ท่านจะผสมพันธุ์ไก่ขึ้นมาได้แต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลา 5-6 ปี พันธุ์ที่ส่งมาให้เลี้ยงเพื่อการวิจัยกับมหาชีวาลัยเป็นพันธุ์ใหม่เอี่ยมอ่อง ยังไม่ได้ตั้งชื่อให้เป็นการเฉพาะ เรียกตามโค๊ตว่าCA เป็นไก่สีขาวมีลายแซมสีเทาเข้มที่ลำคอเกลี่ยสีจางๆที่ลำตัว เป็นพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์โดยคนไทย  ผมนี่นะภูมิใจมากที่ซู๊ด!! ที่ได้เลี้ยงไก่พันธุ์ไทยๆ โดยฝีมือคนไทย เข้าทำนอง ..ไทยเลี้ยง ไทยกิน ไทยสุขภาพดีทั่วหน้า.. 

   เรื่องไข่นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ เคยโกลาหลทั้งโลกมาแล้ว เช่นในวิกฤตเรื่องไข้หวัดนก หลังจากนั้นก็มีมาตรการตื่นตูมขึ้นมามากมาย  ทำเอาระบบการเลี้ยงไก่เรรวนซวดทรุดกันไปทั้งประเทศ การเลี้ยงไก่ในสวนหลังบ้าน เล้าไก่เล็กๆฟาร์มขนาดย่อมถูกระเบียบปิดประตูตาย  เรื้อคอกขายทิ้งตุรัดตุเร่ไปกันคนละทิศละทาง

  นายณรงค์ เจียมใจบรรจงงาม นายกสมาคมผู้ผลิตผู้ค่าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า รอบปี 2549 เกิดภาวะไข่ล้นตลาด ทำให้ราคาไข่ขายได้เฉลี่ยฟองละ1.70บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 1.90-2.00 บาท  ทำให้ต้องปลดระวางแม่ไก่70สัปดาห์ออกและเร่งทำการส่งออกให้มากขึ้น ปัจจุบันความต้องการไข่ในประเทศอยู่ที่ 25 ล้านฟอง ขณะที่ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 27-28 ล้านฟอง/วัน 

   ระบบการเลี้ยงไก่ถูกจับมาจัดระเบียบใหม่ ใครจะเลี้ยงต้องทำตัวให้มีฐานะรับผิดชอบทางกฎหมายได้  เห็นไหมครับเรื่องไก่ๆไม่ใช่เรื่องเล็กไปเสียแล้ว มีคำถามว่าจะชุมชนจะบริหารจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร คำตอบยังอยู่ในอากาศ  ดังนั้นเพื่อแสวงหาคำตอบ เราจึงจัดเวทีวิชาการเรื่องหัวอกของไก่ขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2550 เป็นการเปิดสารบัญการจัดการความรู้ระดับชุมชนหน้าที่1 วันนั้นเราจะชุมนุมคนที่เคยอกหักเพราะการเลี้ยงไก่ คนที่เตยโดนไข้หวัดนกทำตกเตียง คนที่เคยกินต้มไก่ ลาบไก่ ต้มไข่ และอยากเลี้ยงไก่มาเสวนากัน งานนี้จะมีพันธมิตรทางวิชาการ นักวิจัยเรื่องไก่ ปรมาจารย์ด้านไก่ นักเลี้ยงไก่กินไก่มืออาชีพ/มือสมัครเล่น จะมาช่วยกันถอนขนไก่ ท่านใดสนใจจะมาสมทบเชิญลงทะเบียนผ่านบล็อกนี้ได้ 

ประเด็นแรก

1.    คนเลี้ยงไก่

2.    คนขายไข่

3.    คนกินไก่

4.    คนบริหารจัดการความรู้เรื่องไก่ 

ประเด็นที่สอง

1.    แผนงานวิจัยการเลี้ยงไก่ไข่ในระดับครัวเรือน

2.    แผนการเลี้ยงไก่ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย

3.    แผนการศึกษาขั้นตอนการพัฒนาระบบอาชีพการเลี้ยง

   ไก่ในชุมชน

   3.1   อาชีพการเลี้ยงไก่และไข่ตลาดระดับหมู่บ้าน       

  3.2    อาชีพการเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ระดับตำบล

  3.3     อาชีพการเลี้ยงลูกไก่จำหน่ายระดับอำเภอ

  3.4     อาชีพเสริม การขายอาหาร/ปรุงอาหาร/แปรรูปอาหาร

  3.5     อาชีพด้านการผลิตอาหารสัตว์ อุปกรณ์การเลี้ยงใน

       ขั้นนี้ เราขอทดสอบทบทวนความรู้ความคิดภายใน

       กลุ่มนักจัดการความรู้ระดับชุมชน  เพื่อจะช่วยกัน

       อธิบายว่า

·       เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้

    อย่างไร

·        การพึ่งตนเองด้านอาหารจะทำได้อย่างไร

·        การสร้างเสริมอาชีพ การแก้ไขปัญหาความยากจนจะทำ

    กันอย่างไร

·        การเชื่อมโยงความรู้จะทำกันอย่างไร

  --------------------------------------------------------- 

กำหนดการ

เสวนาเรื่อง หัวอกไก่ VS.หัวอกคน

ณ มหาชีวาลัยอีสาน วันที่ 14 มกราคม 2550

สมัครเข้าร่วมการเสวนา ติดตามข่าวสารผ่าน

e-mail [email protected]

บล็อก GotoKnow.org ชื่อ มหาชีวาลัยอีสาน

จุดเด่นของงานนี้

--------------------------------------------------------------

1.    พบ ปรมาจารย์ไก่

2.    คุย กับนักวิจัยนักวิชาการมืออาชีพเรื่องไก่

3.    รู้จัก นักเลี้ยงไก่ชุมชน

4.    รู้วิธี ใช้สมุนไพรเลี้ยงไก่

5.    ชิม ต้มไก่ดำสมุนไพร ลาบไก่ ไก่อบ ฯลฯ

6.    ชม ไก่ดำ ไก่ต๊อก ไก่งวง ไก่ป่า ไก่แจ้ ไก่ไข่

7.    รับ สมาชิกที่เข้าโครงการรับไก่กลับบ้านไปเลี้ยง

8.    แจก เอกสาร และไมตรีจิตมิตรภาพชาวไก่

9.00 . ลงทะเบียน

9.30 .เจ้าสำนักกล่าวต้อนรับ                     

-แนะนำปรมาจารย์ไก่และพันธมิตรวิชาการ -แนะนำสมาชิกและอาคันตุกะกลุ่มต่างๆ -แนะนำเจ้าหน้าที่/ครูพี่เลี้ยง

9.30-12.00 ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร

แนะนำโครงการวิจัย -ให้ความรู้ ภาพรวมของระบบการเลี้ยงไก่ แนวทางส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงไก่ชุมชน                       

 ดร.วนิดา กำเนิดเพชร      

-ให้ความรู้เรื่องเทคนิคที่จำเป็นและควรทราบ-การบันทึกข้อมูล,ติดตามข้อมูล,วางระบบข้อมูล-สอบถามปัญหา 

12.00-13.00   รับประทานอาหาร

13.00-15.30   นักเรียนโรงเรียนบ้านเม็กดำชั้นป.6

-เสนอ ความคิดใหม่ที่ได้การการเลี้ยงไก่ดำในโรงเรียน 

พ่อวิจิตร สุวรรณวงศ์

-เสนอ ประสบการณ์เลี้ยงไก่ใต้ถุนบ้าน -การใช้สมุนไพรในการเลี้ยงไก่

ดร.แสวง รวยสูงเนิน คุณสมพิศ ไม้เรียง

-เสนอ มุมที่นักวิชาการมอง -ชาวบ้านควรจะวางแผนการจัดการความรู้อย่างไร-เราจะเอาความรู้ใส่ลงไปในตัวไก่อย่างไร

16.00 .  เจ้าสำนัก ชวนถ่ายภาพที่ระลึก ปิดการสัมมนา

หมายเลขบันทึก: 70127เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เม็กดำ   รับทราบและจะเตรียมการให้ดี ในการร่วมกระบวนการดินติดเท้า    ครับผม

ลงโฆษณาทางบล็อก ขนาดนี้ สงสัย งานช้างแน่เลยครับ

งานนี้กลัวค่ะ

กลัวว่าจะไม่มีไก่ให้พอขาย

เพราะงานช้องออมสินจะเป็นออมสินทองคำค่ะ

ขอบคุณค่ะ 

เรียน อ.พันดา 

มีเรื่องดีๆมาฝาก

1. อ.แสวงฝากให้เราติดตามอ่านงานของอาจารย์วรภัทร "คนไร้กรอบ" วันหลังอาจารย์จะถามว่า อ่านแล้วพบอะไร ได้อะไร ให้อธิบาย

2. การเขียนรายงานอยากให้ไปอ่านของคุณตุ๊แห่งนครพนม ผมเห็นว่ามันมีที่ไปที่มา (มีราก) ในแต่ละรายงานจะมี

2.1  แนวคิดแนวคัน

2,2  มีกิจกรรมเชิงกระบวนการที่ได้จากการลงพื้นที่

ในเขตงานที่ตัวเองรับผิดชอบ 

2.3 จับประเด็นให้ครบ เช่นคุยกับอาจารย์ไก่ ก็ไม่ควรเก็บเอาคำพูดมาบอกเล่าอย่างเดียว ควรหาสาระความรู้เพิมเติมจากการอ่าน กานค้นคว้ามาอธิบายลงในรายงาน

2.4 ลงพื้นที่อย่างมีความพร้อม ไม่ยังงั้นเราก็จะเขียนรายงานแบบแหว่งๆ ขาดๆ ต้องกลับไปเก็บใหม่

2.5 เรื่องไปทำใหม่ แก้ไขรายงานใหม่ ขอให้ถาม อ.สำเนียงตอนกลับจาก กทม. ว่าการแก้ไขงานสนุกตรงไหน หล่อเตือนแล้วนะ ช่วยเข้าใจกันหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท