วันนี้...ระหว่างนั่งสนทนากับพี่ชายคนดี...ผ่านเครื่องมือสื่อสาร ในประเด็นพฤติกรรมก้าวร้าวของมนุษย์ มีคำถามหนึ่งจากปลายสายที่น่าสนใจมากและขอให้ดิฉันตอบคำถามนี้ให้ด้วย ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของคำถามที่ช่างถามเพื่อทำให้ได้คิด...ซึ่งเมื่อฟังคำถามจบก็ตอบตัวเองว่าเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ถามกันบ่อยแต่ดิฉันไม่เคยได้ตอบหรือให้ความกระจ่างกับตัวเองสักที แต่ครั้นเมื่อโดนถามดิฉันก็ตอบตัวเองว่าการที่จะหาคำตอบให้กับบางคำถามทำไมมันอยากจัง ในประเด็นที่ว่า “ทำไมสังคมจึงคิดจะแก้ไขปัญหาพฤติกรรม” นั่นซิทำไมสังคมจึงคิดแก้ไขปัญหาพฤติกรรม ดิฉันทบทวนคำถามเพื่อหาคำตอบอยู่หลายรอบ...
ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ดิฉันขอโยงไปถึงคำว่า “สังคม” สังคมประกอบด้วยสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่มีการหล่อหลอมรวมกันทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต...มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะสังคมจะสงบสุขน่าอยู่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตนของคนในสังคมที่ถูกหล่อหลอมกันมาด้วยวิธีการต่าง ๆ ความสงบสุขปราศจากความวุ่นวายคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในสังคมแสวงหาและเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา ในทางจิตวิทยาได้แบ่งพฤติกรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ พฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายในเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ เจตคติ ยกเว้นในบางกรณีที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์หรือสนิทสนมกันมากเป็นเวลานานชนิดรู้ใจกันและกันก็อาจจะเข้าใจพฤติกรรมภายในของอีกฝ่ายได้บ้างแต่เพียงผิวเผินรู้ไม่หมดหรือไม่ทะลุปรุโปร่งเท่ากับเจ้าตัว ส่วนพฤติกรรมภายนอกเป็นพฤติกรรมที่บุคคลอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวทางอากัปกิริยาประเภทต่าง ๆ พฤติกรรมการเดิน การนั่ง การยืน เหล่านี้เป็นต้น
พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในแต่ละวันนั้น พบว่า มีพฤติกรรมบางอย่างเท่านั้นที่เกิดมาจากสันชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ว่าได้ เช่น พฤติกรรมการดูด การกลืนของเด็ก และพฤติกรรมที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ส่วนพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่นั้นจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ การสังเกต การเรียนแบบ การฝึกหัดฝึกฝน และบางครั้งหากพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มีสิ่งกระตุ้นที่เอื้ออำนวยอย่างพอเหมาะพอดีพฤติกรรมเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นนิสัยไปในที่สุด หากพฤติกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นนิสัยแล้ว เมื่อนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมย่อมเป็นไปอย่างยากลำบากตามไปด้วย
เขียนมาถึงตรงนี้...ก็ยังหาคำตอบที่เข้าไปถึงแก่นของคำถามได้ยังไม่ชัดเจนสักเท่าไร จึงตั้งคำถามใหม่ขึ้นในใจว่า “พฤติกรรมอย่างไร ถึงเรียกว่าเป็นปัญหาที่เราจะต้องมาช่วยกันแก้ไข” ซึ่งดิฉันจะขอถ่ายโยงไปในบันทึกตอนต่อไปค่ะ