ชีวิตที่พอเพียง 4183. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๓๗) บริหารโครงการ หรือบริหารความสำเร็จ 


        

กสศ. มุ่งทำหน้าที่ catalyst for change  เพื่อพัฒนาคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศ    ยุทธศาสตร์การทำงานมีทั้งเอาเงินเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษโดยตรง   จัดโครงการนำร่องเพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จ สำหรับนำเหลักการและวิธีการออกเผยแพร่ขับเคลื่อนหรือกดดันการเปลี่ยนแปลง    และสนับสนุนการวิจัยระบบภาพใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลเสนอแนะสู่การเปลี่ยนแปลง   มาตรการหลังนี้มักร่วมมือกับหน่วยงานหรือทีมวิจัยภายนอก ทั้งในต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และภายในประเทศ   

การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยยากแค่ไหนเป็นที่รู้กันอยู่   

ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนำร่อง หนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้คุณภาพสูงแก่นักเรียน    ที่ตอนนี้เรียกว่า โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ    ดำเนินการเข้าปีที่ ๓  และกำลังจะสิ้นสุดโครงการ   และจะต้องหาทางสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในโรงเรียนเกือบ ๗ ร้อยโรงเรียนในโครงการ    รวมทั้งใช้ความสำเร็จและการเรียนรู้จากโครงการ เอาไปขับเคลื่อนการขยายผล และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ 

 หัวข้อบันทึกนี้ผุดขึ้นมาระหว่างอ่านเอกสารเตรียมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เช้าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕  ผมเกิดคำถามว่า ในขั้นนี้การบริหารโครงการนี้ ควรดำเนินตามแบบเดิมที่ทำมาเกือบ ๓ ปี   หรือควรปรับเปลี่ยนอย่างแรง โดยหันไปบริหารความสำเร็จ โดยเก็บเกี่ยวเรื่องราวความสำเร็จพร้อมข้อมูลหลักฐานยืนยันผลกระทบต่อนักเรียน    และการตีความเชิงหลักการหรือเชิงทฤษฎี   ว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากการดำเนินการโดยยึดหลักการ และแนวทางอย่างไรบ้าง    สำหรับนำออกสื่อสารสังคม และเสนอแนะเชิงนโยบาย   รวมทั้งใช้โค้ชโรงเรียนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง       

วิจารณ์พานิช    

๑๘ ก.พ. ๖๕  

 

 

 



ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท