ความรู้และการแสวงหาความรู้ในแบบตะวันตกและตะวันออก : เท่าทันเพื่อเปลี่ยนผ่านจากภายใน


“คนไทย” มักเชื่อว่า ความรู้คือความจริง (โดยไม่ต้องตั้งคำถาม)
คนที่เรียนเยอะๆ ก็เป็นคนมีความรู้ เราก็เลยเหมารวมง่ายๆว่า เขาเป็นผู้รู้ความจริง (อย่างน้อยก็มากกว่าชาวบ้านจบ ป.3 ป.4)

“ความรู้” อาจจะไม่ใช่ “ความจริง” 

หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ ระเบิดความคิดได้กระแทกใจหลายคน รวมทั้งผม เลยเป็นที่มาของความตั้งใจเขียนขมวดปมความคิดที่ได้จากพ็อคเกตบุ๊คเล็กๆแต่ทรงพลังเล่มนี้ เผื่อไว้ทบทวน และแชร์กับผู้สนใจ ได้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง

 

 

ในเมื่อ “ความรู้” อาจจะไม่ใช่ “ความจริง”แล้วเราจะรู้ว่าจริงได้อย่างไร 

ถ้าคิดแบบสมัยใหม่ หรือไปทางการศึกษาที่เรารับมาจากฝั่งตะวันตก เราจะเน้นไปที่หลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงกระบวนการแบบ ตรรกะวิทยา คือ มีหลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นรอง มาพิสูจน์กันเป็นขั้นๆ สังเกตได้ว่า ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย เราใช้ระบบความคิด ในการแสวงหาความรู้ แบบนี้กันมาทั้งนั้น นี่เป็นกระแสหลักเลย ซึ่งก็มีจุดอ่อนอยู่

 

ทีนี้กลับมาดูรากเดิมของเราในฝั่งตะวันออก เอาเฉพาะในทางพุทธ ถ้าจะดูเรื่องความรู้ ก็ต้องไปดูว่า ในพุทธศาสนา จำแนกความรู้ไว้เป็นสามอย่าง ตามลักษณะของประโยชน์


คือ ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน (ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์) , ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในอนาคต (ภพหน้า) หรือ สัมปรายิกัตถประโยชน์ , และความรู้สูงสุด (นำไปสู่การหลุดพ้น หรือไม่มีภพชาติต่อไป) หรือ ปรมัตถประโยชน์

เราก็ต้องตั้งสติ ใคร่ครวญดูก่อนว่าความรู้ที่ว่านี้ เป็นไปเพื่อสิ่งใดก่อน

นั่นหมายความว่า มีความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ ความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ก็มีอยู่ ก็คัดออกไปก่อน แล้วเราค่อยจำแนกต่อว่า ความรู้ที่เราเห็นอยู่นี้เป็นความรู้แบบใด

ซึ่งความรู้ดีที่สุด ที่เราควรแสวงหา ก็คือ ความรู้สูงสุด (นำไปสู่การหลุดพ้น หรือไม่มีภพชาติต่อไป)
อันอื่นๆก็รองลงมา

………………………………………………………………………………………………………..

ทีนี้จะแสวงหาความรู้กันอย่างไร?


ในหนังสือพูดถึงการแสวงหาความรู้ในสองแนวทางใหญ่ แนวทางแรกคือ แบบตะวันตก ซึ่งเป็นความรู้ที่มุ่งมองออกไปนอกตัว ซึ่งระยะหลังก็จะถูกวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการมองแบบแยกส่วนสุดโต่ง หนำซ้ำยังถูกทุนนิยมครอบ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย

แนวทางที่สอง แบบตะวันออก เป็นความรู้ที่มุ่งมองกลับเข้ามาในตัวเอง กลับไปหาความดั้งเดิม ภูมิปัญญา ถ้าเอาแนวพุทธไปจับคือ ใช้ไตรสิกขา คือ มีศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจึงขยายออกไปสู่ส่วนรวม

ศีลนี่เราพอรู้แล้ว แต่สิ่งที่หนังสือเน้น คือ สมาธิ เพราะประเทศเราถือในเรื่องศีลมากจนลืมสมาธิภาวนา  จุดนี้สำคัญ ฝั่งพุทธเรียกจิตสิกขา นอกจากจะรู้เพิ่มแล้ว ยังบอกได้ว่า ความรู้นั้นเจือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือไม่ จากนั้น จึงนำไปสู่ปัญญา ที่สามารถถอดรหัสความหมายที่ซ่อนอยู่ได้ อันนี้เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้แบบพุทธ ที่ต่างจากการแสวงหาความรู้ในกระแสหลักที่ครอบงำชีวิต การเรียน การทำงานของเราๆท่านๆอยู่มาก

ถ้าเราไม่ตระหนักถึงผลลบจากความรู้ และวิธีแสวงหาความรู้แบบกระแสหลัก ถึงเราจะเจตนาดีอย่างไร เราก็สามารถสร้างความดีงามอะไรได้จริง ตราบเท่าที่เราเผลอๆจะผลิตซ้ำปัญหาเดิมๆ ในรูปแบบใหม่ๆ

เหมือนที่ ไอน์สไตน์เคยบอกเลยนะ “เราไม่อาจแก้ปัญหา ได้ด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่สร้างปัญหานั้นขึ้น”
คนทั่วไป อาจจะตีประโยคนี้ไม่แตก จริงๆ ประโยคนี้ลึกนะ เพราะวิธีคิด นี่ก็คือ วิธีการได้มาซึ่งความรู้ นั่นเอง

 

ภาพจาก https://hilight.kapook.com/view/74709

 

นอกจากนี้ จะต้องมีครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตรมาช่วยเกื้อหนุน ซึ่งหมายรวมถึง สรรพชีวิตทั้งหลาย ไม่ได้หมายความแต่ครูอาจารย์ที่อยู่ในสถาบันต่างๆเท่านั้น

อันนี้ เอาไว้สอบทานตัวเองได้เสมอๆ

นี่ก็เป็นภาพรวมๆ ที่ อาจารย์สุลักษณ์ กล่าวไว้   สุดท้ายท่านบอกให้ผสมผสานทั้งตะวันตกและตะวันออก ที่ตะวันตกเด่นในการใช้เทคโนโลยี วิทยากรในการพิสูจน์หลักฐาน แต่ทางตะวันออกมีหลักจิตสิกขา มีเมตตา ที่เมื่อความรู้ ความเชื่อแตกต่าง แต่เราคุยกัน ตกลง มีสันติร่วมกันได้  

 

ยิ่งในพักหลัง เส้นแบ่งระหว่างตะวันตก-ตะวันออกก็เลือนลางลง วิทยาศาสตร์ในยุคหลังๆก็ให้ความสำคัญกับพลังของสติ สมาธิ หันมาให้น้ำหนักกับการพัฒนาจิตแบบตะวันออกมากขึ้น แม้ว่าในประเทศไทย เรายังทิศอยู่มาก คือยังสมาทานความรู้และการได้มาซึ่งความรู้โดยวิธีการแบบเก่า แต่เมื่อทางโลกตะวันตกเขารู้ว่าพลาด เขาปรับแล้ว ก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีที่เราจะน้อมกลับมาดูตัวเองด้วย

 

 


ผมไม่ได้สปอยล์หนังสือนะครับ แต่อยากสนับสนุนว่าอ่านจากหนังสือได้อรรถรสกว่า  เล่มบางๆราคาแค่ร้อยต้นๆ ( ซื้อเหอะ รับรองคุ้ม ) ผมแค่เก็บความหลักๆมาไว้ทบทวน

..................................................................................................

อีกสองท่านที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ท่านอาจารย์อุทัย ดุลยเกษม นี่ท่านก็จั่วหัวในคำนำมาเลย ว่า โลกเปลี่ยนเร็ว ความรู้ก็เปลี่ยนเร็วตาม เพราะความรู้มันเกิดขึ้นตามบริบท หากแต่วิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือที่เรียกว่าวิธีแสวงหาความร็นั้นเปลี่ยนช้ากว่า และมันอยู่เบื้องหลัง มันช่วยให้เราตรวจสอบความรู้นั้นได้ด้วย

ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้  มีความรู้มาก นั่นไม่พอ 
เพราะความรู้ที่ว่า อาจจะไม่ใช่ความจริง  
ความรู้นั้นจะมีผลอย่างไร นั่นเราต้องรู้ถึงที่มาของความรู้ วิธีการได้มาซึ่งความรู้นั้นๆด้วย 
(ตรงนี้ อ.สุลักษณ์ท่านเสนอให้ต้องมีสมาธิ มีจิตสิกขา มีการฝึกจิตเข้าไป มากกว่าแค่การดูหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเดียว ดังที่ผมพิมพ์ไว้ก่อนหน้า)

จุดนี้ ท่านอาจารย์ลือชัย ศรีเงินยวง ก็ได้เติมวิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเข้าไป คือ การตั้งคำถามถึงที่มาของความรู้ โดยมองว่า ในเมื่อความรู้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ มนุษย์เองก็มีการใช้อำนาจ หรือมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกันเรื่อยมาทุกยุคสมัย คำถามก็คือ ถ้าเราจะใช้ความรู้นั้นอย่างมีวิจารณญาณ ก็ต้องวิเคราะห์สืบค้นว่า ใครเป็นผู้ประกอบสร้างความรู้นั้น ความรู้นั้นเกิดขึ้นในบริบททางเศรษฐกิจการเมืองสังคมวัฒนธรรมแบบไหน  

มองให้เห็นความซับซ้อนของความรู้ ระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ตัวแปรต่างๆที่เข้ามาผลิตความรู้ สอดแทรก สั่งสม บ่มเพาะจนมันเป็นระบบปฏิบัติการอัตโนมัติในหัวของเรา

พอเปิดมุมอบ่างนี้แล้ว อืม  เราน่าจะเริ่มตระหนักว่า หลายอย่างเราไม่รู้ ไม่พอ หลายอย่างเรารู้มาแบบผิดๆ เราคิดว่าเรารู้จริง แต่จริงๆเรารู้ไม่จริง

ไม่รวมถึง รู้แล้ว “ดี ”และ “งาม” หรือ “ดีงาม” ไหม
ซึ่งตรงนั้น อาจารย์สุลักษณ์ได้เสนอแนวทางไว้ข้างต้นแล้ว
ที่เหลือคือ เราๆท่านๆต้องปฎิบัติด้วยตนเอง

(เก็บความจากหนังสือ บทสนทนาว่าด้วยความรู้ และการแสวงหาความรู้ โดย ส.ศิวรักษ์ คำนำโดย อุทัย ดุลยเกษม , คำชวนคิดโดย ลือชัย ศรีเงินยวง , จัดพิมพ์โยสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย พ.ศ. 2564)

หมายเลขบันทึก: 698670เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2022 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2022 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท