จิตอาสา : ไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่ผมก็ยังไม่จำนน-ยอมแพ้)


บางอย่างถ้าจำเป็น ผมก็ลงมือนำร่องทำเป็นตัวอย่าง  บางอย่างที่ซับซ้อนเกินไป ผมก็รับหน้าที่ในการติดต่อประสานงาน ขณะที่หลายเรื่องก็ให้เจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) และนิสิตได้ร่วมกันออกแบบและสร้างขึ้นเอง  เพื่อให้รู้สึกว่า “มีตัวตน-มีส่วนร่วม” หรือการรู้สึก “เป็นเจ้าของ” ต่อการงานในครั้งนี้

 

จะว่าไปแล้วการขับเคลื่อนโครงการ “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” ระหว่างวันที่ 8 และ 15-16 มกราคม 2565 ของศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ไม่ใช่เรื่องง่าย” เลย

 

คำว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” ประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่า คณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานฯ เป็น “มือใหม่” เรียกได้ว่า “ใหม่ถอดด้าม” กันจริงๆ เกือบๆ 20 ชีวิตไม่ใช่คณะกรรมการชุดเดิมแม้แต่คนเดียว มิหนำซ้ำความใหม่ที่ว่านั้นยังรวมถึงการเพิ่งออกมาท่องโลกกิจกรรม หรือไม่มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กร หรือไม่มีประสบการณ์ด้านกิจกรรมเลยก็ว่าได้ –

 

ไม่เพียงแต่เฉพาะนิสิตเท่านั้นที่เป็น “มือใหม่” แต่ยังรวมถึง “พี่เลี้ยง” ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ก็ถือว่า “มือใหม่” ไม่แพ้กัน เพราะเป็นปีที่ผมวางมือและส่งมอบภารกิจนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ (รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง) ให้รังสรรค์งานต่อ 

 

นี่คือความใหม่ที่ซ่อนความท้าทายในหลายประเด็นไว้อย่างเงียบๆ 

 

 

และคำว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” ถัดมาก็คือการทำงานภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ประเด็น ยกตัวอย่างเช่น นิสิตไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนเป็นไปด้วยระบบออนไลน์ จะระดมคนมาทำงานในศูนย์ประสานฯ  จะระดมคนมาร่วมงาน หรือระดมทุนและสิ่งของต่างๆ เพื่อส่งมอบให้กับชุมชนก็จึงติดขัดไปหมด

 

ซ้ำร้ายพอใกล้ถึงวันจัดกิจกรรมจริงๆ คือวันที่ 8-9 มกราคม 2565 ก็จำต้องเลื่อนกิจกรรมออกไป พ่วงพาด้วยการไม่อนุญาตให้เดินทางไปจัดกิจกรรมที่พื้นที่เป้าหมายหลัก นั่นก็คือ โรงเรียนบ้านคำบอน ตำบลโคกสิลา อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร  จึงต้องหันหัวเรือกลับมาปักหมุดการจัดกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ” ในชุมชนรายชอบมหาวิทยาลัยฯ เป็นหลัก

 

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ อันเป็นภาพสะท้อนการจัดกิจกรรมของนิสิตที่เจอพิษการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” (Covid-2019) และการบริหารจัดการองค์กรบนมิติของ “ทีมใหม่” ที่ใหม่ทั้งความรู้และประสบการณ์ 

 

 

อันที่จริงโครงการ “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นระบบและกลไกของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต (กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)  กับนิสิต (ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม) เป็นหัวใจหลัก 

 

ใช่ – เป็นระบบและกลไกที่หนุนเสริมให้เจ้าหน้าที่และนิสิตเกิดความคุ้นเคยต่อกัน  เรียนรู้ไปในแบบ “สอนงาน สร้างทีม” ไปพร้อมๆ กัน  โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการภายใต้กรอบแนวคิดหลายๆ ประเด็น อาทิเช่น 

  • การทำงานแบบมีส่วนร่วม 
  • การทำงานจิตอาสาในมิติเรียนรู้คู่บริการ  
  • การทำงานโดยใช้ชุมชนและนิสิตเป็นศูนย์กลาง  
  • การจัดการความรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับเจ้าหน้าที่และชุมชน  หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับศิษย์เก่านักกิจกรรม  

 

รวมถึงการจัดการเรียนรู้ในมิติของการใช้ “สถานการณ์ของสังคมเป็นโจทย์การเรียนรู้” อันหมายถึงภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งครั้งนี้ก็หมายถึงภัยหนาว น้ำท่วม และโควิดฯ

 

 

ภายใต้กรอบแนวคิดข้างต้น ผมและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนนิสิตและศิษย์เก่าที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกัน “ออกแบบกิจกรรม” แบบง่ายๆ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของสังคมและสอดรับกับความรู้และทักษะของนิสิตที่ “มือใหม่”  เพื่อมิให้รู้สึกเหนื่อย เบื่อ สับสน ไม่สนุก 

 

บางอย่างถ้าจำเป็น ผมก็ลงมือนำร่องทำเป็นตัวอย่าง  บางอย่างที่ซับซ้อนเกินไป ผมก็รับหน้าที่ในการติดต่อประสานงาน ขณะที่หลายเรื่องก็ให้เจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) และนิสิตได้ร่วมกันออกแบบและสร้างขึ้นเอง  เพื่อให้รู้สึกว่า “มีตัวตน-มีส่วนร่วม” หรือการรู้สึก “เป็นเจ้าของ” ต่อการงานในครั้งนี้

 

และจริงๆ ก็คือ ผมเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ – ทำงานกันในแบบ “ลุยกันเอง...มีปัญหาค่อยมาปรึกษาผม”  

 

 

ขณะที่พวกเขาทำงาน ผมก็เฝ้ามองอยู่ในระยะไม่ไกลนัก เฝ้ามองแบบต่อเนื่องอย่างเงียบๆ ถ้าไม่หนักหนาสาหัส ผมจะไม่เข้าไปช่วยแก้ไข เว้นเสียแต่ไม่ไหวจริงๆ จึงจะก้าวเข้าไปแก้ไขในแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน”  เพื่อมิให้การงานสะดุด  ชะงักงัน จนนำไปสู่การยกเลิกกิจกรรม

 

ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมต่างๆ จึงกำเนิดขึ้น โดยคณะทำงานพยายามประเมินสถานการณ์ต่างๆ เป็นระยะๆ จากนั้นก็นำไปสู่การปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์จริง จนในที่สุดก็มาตกผลึกด้วยกิจกรรมอันเรียบง่าย เช่น 

 

  • กิจกรรม “ตามรอยอาสา : ต้านภัยหนาว” : ส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การเรียน หนังสืออ่านนอกเวลาไปยังโรงเรียนบ้านคำบอน ตำบลโคกสิลา อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร อันเป็นพื้นที่ที่ชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยได้ไปจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาเมื่อปี พ.ศ.2550 เป็นการส่งมอบผ่านศิษย์เก่าชมรมอาสาพัฒนา และศิษย์เก่าศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม รวมถึงอาจารย์ เจ้าหน้าที่จิตอาสาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา จังหวัดชัยภูมิ

 

  • กิจกรรม “ติดอาวุธทางความคิด” เรื่อง “หลักคิดการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์ภัยพิบัติของธรรมชาติและไวรัสโคโรน่า 2019” ระหว่างนิสิตกับเจ้าหน้าที่และนิสิตกับศิษย์เก่า 
     

 

  • กิจกรรม “เดินเท้าเข้าชุมชน” : เป็นการเรียนรู้บริบทชุมชน การเก็บข้อมูลชุมชน สำรวจความต้องการพื้นฐานของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำแผนงานการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อฟื้นฟูชุมชนผ่านมิติทางการศึกษาแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนต่อไป

 

  • กิจกรรม “สื่อการเรียนรู้” โดยส่งมอบการส่งมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนในเขตเทศบาลชุมชนขามเรียง ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามที่เคยประสบภัยน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 คือ โรงเรียนบ้านมะกอก (มะกอกวิทยาสรรค์) และโรงเรียนบ้านขามเรียงเขียบโนนแสบงดอนมัน 

 

 

ผมยืนยันว่าการงานในครั้งนี้  “ผมปล่อยให้พวกเขาลุยกันเอง...มีปัญหาค่อยมาปรึกษาผม” - 

หากแต่มิใช่การปล่อยให้ทำแบบไม่ “ปูพรม” หรือ “ติดอาวุธทางความคิด” ใดๆ ให้กับเจ้าหน้าที่และนิสิต   เพราะก่อนนั้นร่วมเดือน ผมเชิญเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักมาเรียนรู้กับผมเป็นการส่วนตัว จากนั้นให้เชิญนิสิตชุดใหม่มาร่วมรับฟังเรื่องราวต่างๆ ร่วมกัน 

 

ครั้งนั้น ผมบอกเล่าเรื่องราวอันเป็น “ประวัติศาสตร์” ที่ว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม ผ่านสไลด์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ที่มาที่ไปอันเป็น “รากเหง้า” ขององค์กรที่พวกเขากำลังก้าวเข้ามา “สานต่อ”

 



ไม่ใช่แค่บอกเล่า หรือบรรยายเท่านั้น  ผมทำเอกสารแจกให้นิสิตถือกลับไปอ่าน ปริ้นข้อเขียนใน Gotoknow.org มอบให้แต่ละคนหลายเรื่อง  นั่นยังไม่รวมเอกสารชุดความรู้เก่าๆ ของศูนย์ประสานงานฯ หรือแม้แต่หนังสืออ่านเล่น (เรียนนอกฤดู ภาคพิเศษ) อีกหลายเล่มที่บันทึกเรื่องราวของศูนย์ประสานงานฯ และเรื่องราวจิตอาสาของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม –

 

ไม่รู้แหละ ผมยืนยันว่าได้ “ส่งงาน” และ “สอนงาน สร้างทีม” อย่างเต็มที่แล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องที่พวกเขาทั้งหลายต้องเปิดใจต่อการเรียนรู้ร่วมกัน 

 

ครับ – ผมรู้ทั้งรู้ว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย”  แต่ผมก็ไม่จำนนและยอมแพ้ต่อข้อจำกัดที่ว่านั้น 

 

 

เขียน : พนัส  ปรีวาสนา (อังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565) 
ภาพ : รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง / ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

 



ความเห็น (2)

ทำหนังสือออกมาเลยครับ ได้ประโยชน์แก่ชุมชนและนิสิตมาก

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร ขจิต

ผมกำลังคิดว่าจะรวบรวมข้อเขียนจากตรงนี้ภายใต้แนวคิด “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนกนึ่งของชุมชน” อยู่เหมือนกันครับ

ไม่รู้จะไหวไหม ครับ 5555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท