เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 28 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางเก็บข้อมูลภาคสนาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด


ผู้เขียนรับงานวิจัยจากแหล่งทุนหนึ่ง และต้องมีการเก็บข้อมูลระยะที่ 1 เชิงปริมาณ 500 คน (เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และ กทม. แห่งละ 100 คน) ระยะที่ 2 เชิงคุณภาพ อิงพื้นที่จากการการศึกษาเชิงปริมาณ ระยะเวลาโครงการ 8 เดือน

ทีมได้วางแผนการลงพื้นที่ในสี่ภาค (เหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก เก็บข้อมูลภาคละ 100 คน) ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 64 ว่าจะเก็บข้อมูลสี่ภาคในเดือนมกราคม 65 โดย ทีมพนักงานสัมภาษณ์ 8 คน ผู้ควบคุมภาคสนาม 1 คน รวมพี่คนขับรถตู้ด้วย คือ 10 คนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยกัน นั่งรถตู้จาก กทม ไป ภาคเหนือ มาต่อภาคอีสาน ต่อที่ภาคตะวันออก แล้วไปภาคใต้ รวดเดียว 17 วัน เหตุที่วางแผนการเดินทางรวดเดียวเนื่องจากหากเดินทางจาก กทม. ไป ภาคเหนือ แล้วกลับมา กทม. แล้วค่อยนัดวันช่วงอื่น เพื่อเดินทางจาก กทม. ไปภาคใต้ หรือไปภาคตะวันออก จะทำให้ทีมพนักงานสัมภาษณ์เหนื่อยล้ากับการเดินทาง อีกทั้งงบประมาณที่จำกัด ทำให้ต้องวางแผนเดินทางรวดเดียว ซึ่งได้นัดประสานกับพื้นที่ เพื่อนัดแนะวัน เวลา สถานที่เพื่อลงเก็บข้อมูล

ต่อมาหลังเทศกาลปีใหม่ 2565 เกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ในหลายพื้นที่ แม้ว่าจะค่อนข้างโชคดีที่จังหวัดที่สุ่มได้นั้น ไม่มีการแพร่ระบาด ทางพื้นที่อนุญาตและยินดีให้เก็บข้อมูลได้ ทีมสัมภาษณ์ และพี่คนขับรถตู้ ตรวจ ATK ทุกสามวัน แจ้งผลให้ทางพื้นที่ทราบก่อนลงพื้น และทีมเราฉีดวัคซีนครบสองเข็มทุกคนแล้ว แต่ก็มีจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างรวดเร็ว (อันดับต้นๆ ) ทำให้ลง พท.ไม่ได้ ต้องดึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกจากแผนเดินทางก่อน แล้วปรับแผนใหม่ ในเวลาล่วงหน้าก่อนลงพื้นที่หนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบาก กับการขอให้ภาคตะวันออก และภาคใต้เลื่อนวันนัดเข้ามา ทำให้ต้องปรับแผนหลายอย่างกะทันหัน หลายอย่างไม่เป็นไปตามแผน  

ผู้เขียนจัดทำประกันอุบัติเหตุการเดินทางให้น้องๆ ทีมสัมภาษณ์ ก็ต้องแจ้งประกัน เพื่อเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางในกรมธรรม์ 

ผู้เขียนนั่งเครื่องบินไปภาคเหนือ และภาคใต้ ไม่ได้ไปภาคตะวันออกเนื่องจากติดประชุม การเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้อง scan QR code ของจังหวัดปลายทาง กรอกข้อมูลให้เรียบร้อยก่อนขึ้นเครื่อง ที่จังหวัดปลายทาง ทางภาคเหนือ ต้องแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนในหมอพร้อมด้วยนะ (ไม่เอาภาพ cap หน้าจอ เอาจากระบบหมอพร้อม)

ทีมวิจัยได้ปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างเคร่งครัดมาก นั่งสัมภาษณ์ ห่างกันคนละมุม สวมหน้ากากสองชั้น ล้างมือบ่อยๆ ไม่ทานอาหารร่วมกัน ตอนกลางวันให้ทานอาหารจานเดียว ตอนเย็นซื้อกลับมาทานที่ห้อง (พักห้องละสองคน)

ทีมสัมภาษณ์เป็นน้องผู้ชายหกคน น้องผู้หญิงสองคน เราต้องเรียนรู้ปรับตัวซึ่งกันและกัน น้องผู้หญิงสองคนนับถืออิสลาม ต้องเตรียมอาหารเอง (แวะ 7-11 เพื่อซื้อข้าวสวย) นั่งทานในรถ ขณะที่น้องผู้ชายและพี่คนขับรถ ลงไปทานอาหารในร้านช่วงกลางวัน น้องต้องละหมาดทุกวัน เราต้องปรับเวลาการเดินทางต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับทีม 

ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า ในทีมนอกจากจะมีผู้ช่วยนักวิจัย พนักงานสัมภาษณ์แล้ว  ยังต้องรวมพี่คนขับรถเป็นหนึ่งในทีมที่สำคัญด้วย เพราะต้องลงพื้นที่ หลายตำบลในหนึ่งวัน เพื่อไปส่งพนักงานสัมภาษณ์ในแต่ละที่ ที่ละสองคน แล้ววนรถกลับไปรับ ต้องดู GPS คำนวณระยะทางแต่ละที่วางแผนการเดินทางเพื่อแจ้งประสานงาน กับผู้ประสานงานในพื้นที่ ดังนั้นต้องปรึกษาพี่คนขับรถตู้ว่าระยะทางจาก ตำบลหนึ่งไปตำบลหนึ่งตาม GPS นี้ใช้เวลาเท่าไหร่ ควรขับจากตำบลไหนไปตำบลไหนก่อน ซึ่งพี่คนขับรถเป็นคนขับรถที่พาทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ลงพื้นที่มากว่าสี่ปี ทำให้ชำนาญในพื้นที่ (เรียกได้ว่า ไปทั่วประเทศมาแล้ว และในรถมีของทุกอย่าง อาทิ กาต้มน้ำร้อน)

ส่วนทีมสัมภาษณ์เป็นน้องๆ ที่สัมภาษณ์เก็บแบบสอบถามกันมา 4-5 ปี น้องผู้ช่วยวิจัย เก็บข้อมูลภาคสสนามมาแล้วถึง 13 ปี ตั้งแต่เรียน ป.ตรี จนจบ ป.โท  เมื่อลงพื้นที่ ผู้ให้ข้อมูลบางท่าน จำน้องพนักงานสัมภาษณ์ได้ ว่าน้องคนนี้เคยมาเก็บข้อมูลโครงการอื่นเมื่อปี 2562 แล้วนะ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากทีมคือการคุมงานภาคสนาม (observe ผู้คุมงานภาคสนาม) การวางแผนการเดินทาง การเก็บข้อมูล และการเตรียมพร้อมกับเหตุไม่คาดฝัน การเดินทางนั่งรถตู้ไปกับทีมตาม รพ.สต.ต่างๆ การอยู่กับน้องๆ ที่ รพ.สต.  ตลอดจนการแก้ปัญหาหน้างาน โดยเฉพาะ การที่กลุ่มตัวอย่างไม่มาตามนัด ด้วยเหตุผลบางประการเช่นติดธุระด่วน หรือป่วย หรือต้องกักตัว ทำให้ต้องวางแผนงานใหม่ ขอเบอร์ติดต่อ เพื่อโทรสัมภาษณ์ หรือบางแห่ง เมื่อลงพื้นที่แล้ว คนให้ข้อมูลบางท่านแจ้งว่าจะมาช้า ติดภารกิจอยู่ ทีมก็ต้องนั่งรอ 1-3 ชั่วโมง แต่ละพื้นที่ที่ไป ก็แตกต่างกัน ขึ้นกับพื้นที่ เช่น บางอำเภอ ผู้ประสานงานนัด ผู้ให้ข้อมูลจากตำบลต่างๆ มารวมกัน แต่บางอำเภอไม่สะดวก ขอให้ทีมไปสัมภาษณ์ทุกตำบล 

พี่ๆ ผู้ประสานงานในพื้นที่ แม้จะยุ่งวุ่นวายกับการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ก็เต็มใจจัดสรรเวลา และช่วยประสานงานให้ ด้วยเห็นว่างานจะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงนโยบายต่อไป  โดยวันที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ไม่ได้มีการจัดการฉีดวัคซีนในสถานที่นัดหมายนั้นๆ อีกทั้ง ผู้ให้ข้อมูลหรือกลุ่มตัวอย่าง น่ารักมาก มาด้วยใจ บางแห่งใส่เสื้อทีมมาเลย บางท่านปั่นจักรยานมาสถานที่นัด บางท่านก็ขี่มอเตอร์ไซด์มา ทุกท่านน่ารักมาก บางส่วนลืมพกสำเนาบัตรประชาชนมาด้วย ก็ขี่รถกลับไปเอามาจากบ้านให้ บางท่านบ้านไกล ไม่สะดวก ก็ถ่ายรูปส่งไลน์ตามมาให้ 

นอกจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ยังเกิดปัญหาการสื่อสารคลาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน ผู้ประสานงานในพื้นที่ ไม่เข้าใจ inclusion criteria นับยอดผู้ให้ข้อมูลมาหมด แจ้งครั้งแรกราว 50 คน (จากทุกตำบล) เราก็เบาใจ เก็บได้เยอะ แต่เมื่อโทรคุยอีกรอบ สื่อสาร inclusion criteria ชัดเจน กลุ่มตัวอย่างที่เข้า inclusion criteria เหลือ 25 คน ทำให้ต้องติดต่อหากลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ใหม่ (อำเภออื่น) ซึ่งฉุกละหุกมาก ที่ต้องติดต่อล่วงหน้าก่อน 1 สัปดาห์ และวันที่ขอลงไปเก็บข้อมูลก็ตรงกับวันอาทิตย์ ทางพื้นที่ขอให้ขยับเป็นวันจันทร์หรือวันอังคาร เนื่องจากจะไม่มีเจ้าหน้าที่มาเปิดอาคาร สถานที่ให้สำหรับนัดกลุ่มตัวอย่าง

ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า แผนการดำเนินงานต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งความยืดหยุ่นมาพร้อมกับงบประมาณที่ต้องจ่าย เพราะการอยู่ในพื้นที่ เกินระยะเวลาที่วางแผนไว้ หมายถึงงบประมาณที่ต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าเบื้ยเลี้ยงพนักงานสัมภาษณ์ ค่ารถตู้ที่ว่าจ้างเป็นรายวัน และความเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดจากในพื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ปล่อยให้มีวันว่างอย่างไร้จุดหมาย วันนี้วันอาทิตย์ ทีมได้ลงไปที่ตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอเดิม เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่ม เก็บได้ 11 ท่าน รวมกับวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ 41 ท่าน (เหลืออีก 59 ท่าน หวังว่า อีกสองอำเภอในวันจันทร์และวันอังคารจะได้ครบจำนวน 100 คน)

วันจันทร์ขอความร่วมมือ ไว้ 50 ท่าน เป็นอำเภอใหญ่ ต้องไปส่งน้องๆ ทีมสัมภาษณ์ ที่ รพ.สต. 8 แห่ง (จาก 11 แห่ง ขอให้บาง รพ.สต.ช่วยนัดพื้นที่ใกล้เคียงให้ด้วย) ส่วนวันอังคาร ขอความร่วมมือไว้ 30 ท่าน อีกอำเภอหนึ่ง ผู้เขียนขอเผื่อไว้เยอะหน่อย เผื่อไม่มาตามนัด

ทั้งนี้หากมาไม่ครบ เราจะขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพื่อโทรสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลให้ครบ

ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เขียนจะขอให้น้องๆ โทรสัมภาษณ์ เก็บข้อมูล 100 คน เพราะเราลงพื้นที่ไม่ได้ (กลุ่มตัวอย่างหลายท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว) 

อย่างไรก็ตาม ต้องกลับไปปรึกษากับทีมเพื่อหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาต่อไป 

 

โดยสรุป สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำวิจัยคือ

  • Budget management การบริหารงบประมาณ 
  • Effective Communication 
  • Connection
  • Human บุคลากร ทีมพนักงานสัมภาษณ์ พี่คนขับรถตู้ ผู้ประสานงานในพื้นที่ 
  • Risk management การบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19
  • Team work การทำงานเป็นทีม
  • Time Management การบริหารจัดการเวลา 

 

มุมมองส่วนตัว ผู้เขียนให้ Effective Communication สำคัญกว่า Connection เหตุเพราะ ถ้าไม่มี communication ก็ไม่เกิด connection แม้ว่าผู้ใหญ่หลายท่าน อาจจะมีทัศนคติว่า connection นั้นสำคัญที่สุด ไม่เช่นนั้นติดต่อประสานงานไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนในพื้นที่จะไม่ช่วยทำงาน ขอความร่วมมือไม่ได้ แต่ผู้เขียนขออนุญาตแย้งว่า ถ้าเช่นนั้น คนที่ไม่มี connection คนทำงานใหม่ หรือคนไม่มีพรรคพวก ก็ทำงานไม่ได้สิ (กราบขออภัยที่โต้แย้ง) และ Communication นี่สำคัญมากๆ เพราะหากสื่อสารผิดพลาด แม้จะมี connection งานก็อาจจะไม่สำเร็จ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์

 

ขณะนี้ งานวิจัยยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ขอกราบขอบพระคุณ สสอ. สสจ. รพ.สต. ผู้บริหารเขต ผู้ประสานงาน ผู้ให้ข้อมูลทุกท่าน และน้องๆ ทีมสัมภาษณ์ พี่คนขับรถ และทีมวิจัย

 

หมายเหตุ ขออนุญาตไม่ระบุจังหวัดหรือรายชื่อพื้นที่ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่จะนำเสนอผลการศึกษาในภาพรวมเท่านั้น 

 

ภัทรพร คงบุญ

16 มกราคม 2565

ที่พัก ในปั๊มน้ำมัน ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 696198เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2022 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2022 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท