เล่าเรื่อง Peer Assist เรื่องการดูแลเท้า ครั้งที่ ๒ ตอนที่ ๓


รู้สึกถึงความเป็นเพื่อน รู้สึกไม่อายที่จะบอกว่าทำไม่เป็น ทำไปไม่รู้ถูกหรือผิด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๔๕ น. เราเริ่ม AAR กิจกรรมของวันแรก ดิฉันฉายสไลด์คำถาม ๔ ข้อ ดังภาพ แล้วให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนพูดแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็น คราวนี้เราขอให้ทีมผู้แบ่งปันพูดก่อน สิ่งที่ทุกคนกล่าวออกมาแสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นทีมที่มาร่วมกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้ แต่ทุกคนก็ได้เรียนรู้จากทีมผู้ขอเรียนรู้ด้วย ตรงกับบันทึกที่อาจารย์วิจารณ์เขียนไว้จริงๆ (ลิงค์)

คุณหมอสิริเนตร เริ่มต้นเป็นคนแรก บอกว่ารู้สึกประทับใจกับการทำงานคัดกรองของทีม รพ.พุทธชินราชมาก รวมทั้งการเข้าถึงชาวบ้าน แต่ครั้งหน้าอยากให้ทีมมาเยือนพูดเยอะๆ หน่อย

คุณชนิกาตอบคำถามข้อแรกว่า "อยากรู้ว่าทีม รพ.พุทธชินราชทำอะไรบ้าง ก็บรรลุผลเกินความคาดหวัง เพราะได้อะไรที่มาก อย่างเช่น ชีวิตที่เลือกได้และ design เอง โดนใจเลย เป็นพื้นฐานความคิดที่ดีมากๆ...... ทำอะไรต้องให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย.... คุณมณีวรรณนำความรู้สู่การปฏิบัติ ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม เรียนรู้ด้วยตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และอยู่ได้อย่างมีความสุข มีหลายอย่างที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยง สำหรับคำถามข้อ ๓ ไม่มีอะไรที่บรรลุผลน้อย ส่วนข้อ ๔ คุณหมอนิพัธดูจะพูดเยอะกว่าทีม อยากให้คนอื่นพูดเยอะๆ เพราะในแง่ของการป้องกัน คนอื่นๆ น่าจะมีบทบาทมากกว่า"

คุณกิ่งเพชรบอกว่ารู้สึกประทับใจมากในกิจกรรมของทีม รพ.พุทธชินราชที่ทำและเข้าชุมชนได้ ครั้งนี้ไม่มีอะไรที่ไม่บรรลุผล แต่คราวต่อไปอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมเยอะๆ

คุณยอดขวัญบอกว่าอยากให้การแลกเปลี่ยนเยอะๆ ประทับที่ทีมพุทธชินราชเริ่มจากการอ่านหนังสือแล้วลองทำ approach ผู้ป่วยโดยใช้ active learning แต่ยังไม่เห็นการปฏิบัติจริง

อาจารย์นิโรบลพูดเสียงดังฟังชัดว่า "รู้สึกชื่นชมที่ทางพุทธชินราชเข้าสู่ชุมชน ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม ผู้ป่วยเบาหวานมีความซับซ้อน การมีเภสัชกรมาร่วมทีมจะช่วยเติมเต็ม มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้รู้ว่า รพ.เทพธารินทร์เป็น leader ในเอเซีย อยากรู้ว่าทำอะไร รพ.ในต่างจังหวัดทำอะไรบ้าง สิ่งที่ยังได้น้อยคือรายละเอียดของการปฏิบัติกับผู้ป่วย หากมีกิจกรรมแบบนี้ในโอกาสหน้า คิดว่าไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอะไร แต่อยากคนอื่นๆ ได้เข้าร่วมบ้าง"

อาจารย์ประไพกล่าวสั้นๆ ว่าได้มาเรียนรู้ว่าทีมงานในต่างจังหวัดได้ทำจนครบวงจร ที่ตนเองอยู่ยังไม่ครบวงจรเลย ครั้งนี้บรรลุผลเกินกว่าที่คาดหมาย

สำหรับทีมผู้ขอเรียนรู้ เริ่มจากน้องเล็กสุดคือคุณฐาปกรณ์ นักกายภาพบำบัด ที่อยากมาเรียนรู้แนวคิด วิธีการ จะได้เอาไปประยุกต์ สิ่งที่บรรลุผลเกินคาดคือการ share ประสบการณ์และเทคนิคบางอย่าง สิ่งที่ไม่บรรลุหรือบรรลุผลน้อยนั้นไม่มี มีความเห็นว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ อยากให้ที่อื่นได้มาบ้าง

คุณมณีวรรณ บอกว่าอยากรู้ว่าที่นี่ทำอะไร อยากได้กระบวนการ ก็ได้ตามความคาดหวัง ได้เห็นทีมงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดี ที่ได้เห็นกับตาจริงๆ คือข้าวครึ่งหนึ่งผักครึ่งหนึ่ง อยากจะรู้เรื่อง camp และอยากจะเห็นของจริง

คุณสินีนาฎ กล่าวว่ารู้สึกเครียดเพราะต้องเตรียมตัว สิ่งที่อยากได้คือการตรวจเท้า การประเมินสุขภาพเท้า ได้แต่สอน ยังตรวจไม่ได้ สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง ไม่คิดเลยว่าเทพธารินทร์จะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ได้ดี สิ่งที่ยังไม่ได้เหลือแต่ภาคปฏิบัติ

คุณอุทุมพร บอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมแบบนี้ มาด้วยใจที่อยากช่วยคนไข้ คิดว่ายังไม่มีความรู้มาแลกเปลี่ยน อยากได้รูปแบบการทำงานเชิงป้องกัน ไม่อยากให้คนไข้ถูกตัดขา เวลาเห็นคนไข้ถูกตัดขา รู้สึกเศร้ามาก ส่วนที่บรรลุผลเกินคาดคือได้วิธีการทำแผล อะไรที่บรรลุน้อยนั้น ยังบอกไม่ได้ ต้องไปดูให้เห็นของจริงก่อน

คุณอนงค์ พูดตามตรงว่างานที่ PCU กับที่เทพธารินทร์นั้น คนละเรื่องเลย แต่ตนเองเกิดแรงบันดาลใจเลยว่าจะกลับไปดูแลผู้ป่วยจริงๆ จะไปทำรองเท้า สิ่งที่ได้รับมากเกินความคาดหมาย กิจกรรมแบบนี้ดีอยู่แล้ว

ภก.สมจิตร พูดว่าทีแรกยังงงอยู่ว่าเภสัชกรจะเกี่ยวตรงไหน งานนี้จุดประกายว่าไม่ต้องทำเรื่องยาอย่างเดียว ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง อยากจะดูระบบงาน อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะไม่เป็นวิชาการเกินไป

หัวหน้าทีมผู้ขอเรียนรู้ คุณหมอนิพัธ เชื่อมั่นว่าลูกทีมเก็บเกี่ยวได้เยอะแน่ "ต้องการให้ตัวแทนของทีมได้มาเรียนรู้วิธีการแลกเปลี่ยนแบบเพื่อน คุยกันแล้วเอาไปใช้ได้จริง .....เป็นหมอ Ortho มา ๑๕-๑๖ ปี เจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องตัดขาผู้ป่วย" และยังบอกความรู้สึกด้วยว่า "เป็นความสุขของผู้รับ คุ้มค่าที่มีเพื่อนที่พร้อมจะแบ่งปัน" สำหรับโอกาสหน้าอยากให้ทีมแลกเปลี่ยนกับที่อื่นอีก ความรู้จะได้แพร่หลาย 

คุณรัชดา บอกว่าตนเองรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน รู้สึกไม่อายที่จะบอกว่าทำไม่เป็น ทำไปไม่รู้ถูกหรือผิด ต้องรอพรุ่งนี้ถึงจะรู้ว่าอะไรที่บรรลุผลน้อย

ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจที่ทุกคนตั้งอกตั้งใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไม่สนใจว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน ความรู้สึกของความเป็นเพื่อนค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดิฉันพยายามจดบันทึกความต้องการของทุกคนไว้ เพื่อหาทางจัดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความรู้สึกที่ทุกคนแสดงออกระหว่างการทำ AAR นั้น ดิฉันประเมินว่าแบบนี้แหละคือบรรยากาศของ "เพื่อนช่วยเพื่อน"

ทีมผู้ขอเรียนรู้อยากรู้เรื่องการจัดค่ายเบาหวานมาก แม้ไม่ใช่เป้าหมายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ แต่ดิฉันคิดว่าอยู่ในวิสัยที่จะจัดให้ได้ จึงไปขอให้คุณธัญญา หิมะทองคำ เตรียมตัวมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในวันพรุ่งนี้ (วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘) ประมาณ ๒๐ นาที ในช่วงเวลาระหว่าง ๑๒.๓๐-๑๓.๐๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 6959เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2005 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท