ชีวิตที่พอเพียง ๔๑๒๐. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๒๒) การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ 


   

ช่วงเช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ของ กสศ.   ครั้งที่ ๕/๒๕๖๔   เป็นที่มาของบันทึกนี้    

ในปีแรกโครงการนี้ชื่อว่า TSQP หรือโครงการพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน    ปีที่สองเรียกชื่อว่าโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อสื่อความสำคัญของการที่โรงเรียนมีความมั่นใจที่จะริเริ่มสร้างสรรค์เอง     ปีที่สามเรียกชื่อว่าแผนงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ    สื่อว่าต้องการใช้ผลงานที่ผ่านมากระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของระบบงานทั้งระบบของโรงเรียนในโครงการก็ได้   หรือสร้างแรงกระเพื่อมไปยังโรงเรียนทั้งประเทศ หรือทั้งระบบการศึกษา ก็ได้    ผมชอบการตีความหลายๆ แบบ หรือความกำกวมไม่ชัดเจนเช่นนี้    เพื่อเปิดช่องให้โรงเรียนเลือกดำเนินการตามที่เหมาะต่อตนเอง   

การประชุมเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน มีการนำเสนอการพัฒนาเว็บไซต์ I Am Kru(ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน)    เพื่อขอรับคำแนะนำ    รวมทั้งมีวาระเรื่อง แนวทางการดำเนินงานสื่อสารสังคมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เข้ารับคำแนะนำ   สะท้อนการทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวผลงานในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา นำมา “เหนี่ยวนำ” การเปลี่ยนแปลงของระบบใหญ่    ตามนโยบายภาพใหญ่ที่คณะกรรมการบริการ กสศ. กำหนดไว้   

บันทึกนี้จึงขอสะท้อนคิด วิธีทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวผลงานในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา     นำมาใช้เป็นพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง   ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนเจ้าของผลงาน  และโรงเรียนอื่นๆ ที่ต้องการเรียนรู้และนำมาใช้พัฒนาผลงานของตน   

หลักการสำคัญประการแรก ที่ผมเสนอคือ เน้นการสื่อสารกระบวนการเรียนรู้ในน้ำหนักที่สูงกว่าการสื่อสารความสำเร็จ    ในสัดส่วน การเรียนรู้ : ความสำเร็จ เท่ากับ 60:40  หรือ 70:30   โดยเน้นสื่อสารการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติของทีมครูและผู้บริหารโรงเรียน    ที่ทำอย่างมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน  และมีการดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อย ๑ ปี    มีวงจรการเรียนรู้และปรับตัว    จนเห็นผลกระทบต่อนักเรียนชัดเจน  มีข้อมูลผลกระทบดังกล่าวที่น่าเชื่อถือ     และมีคำอธิบายว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากกลไกใดบ้าง   หากจะมีโรงเรียนอื่นนำไปใช้ พึงคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง (key success factors) 

ย้ำว่า เราต้องร่วมกันเน้นการสื่อสารการทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจนต่อเนื่อง     มีการดำเนินการแบบกัดติดต่อเนื่อง   ดำเนินการเป็นทีม   มีการกำหนดกลยุทธวิธีดำเนินการ   และมีวงจรเรียนรู้และปรับตัว    มีการเก็บข้อมูลผลงาน  และตรวจสอบผลสำเร็จว่ามีนัยยะสำคัญ และมีความน่าเชื่อถือ    ต้องไม่สื่อสารผลงานแบบแค่ show & share   ต้องเน้น show, share & learn    โดยให้ความสำคัญที่สุดที่ learn   

หลักการสำคัญประการที่สอง คือ การสื่อสารบทบาทของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง    เป้าหมายคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนไทยทั้งประเทศ ต่อการเรียนรู้ของลูกหลานของตน   ว่าต้องไม่ปล่อยให้โรงเรียนและครูทำหน้าที่แบบโดดเดี่ยว ไม่คิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องยุ่งกับการเรียนของลูกหลานของตน เพราะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนและครู   คนไทยต้องเข้าใจว่าการเรียนรู้ของลูกหลานของตนเป็นเรื่องซับซ้อน    ไม่ใช่แค่เรียนวิชาเท่านั้น   ต้องได้ฝึกฝนและพัฒนาสมรรถนะและนิสัยใจคอที่ดีหลากหลายด้าน   ที่หลายส่วนทางบ้านและชุมชนต้องมีส่วนร่วมหล่อหลอมนิสัยดีเหล่านั้นด้วย   

ควรมีการสื่อสารกรณีตัวอย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองร่วมดูแลกล่อมเกลาบ่มเพาะนิสัย (สมรรถนะ) และการเรียนรู้ด้านอื่นๆ อย่างเห็นผล  ที่สำคัญในสังคมชนบทเด็กเกือบครึ่งไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับยายตาย่าปู่    ที่เรามักคิดกันว่า เป็นคนไม่มีศักยภาพในการดูแลเรื่องการเรียนรู้ของหลาน    ทีมงานของ กสศ. ควรมุ่งหากรณีตัวอย่างที่ยายตาย่าปู่ ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา การศึกษาต่ำ ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก    แต่ดูแลเอื้อระบบนิเวศที่บ้าน ให้หลานได้พัฒนานิสัยดี ได้ผลดี   เอามาเป็นตัวอย่าง ว่ายายตาย่าปู่ท่านนั้นคิดอย่างไร  ทำอย่างไร เห็นผลอะไร   รวมทั้งถามตัวเด็กด้วย ว่าเขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ้านอย่างไร    เขารู้สึกอย่างไร   และถามทีมงานของโรงเรียนด้วยว่า โรงเรียนได้ใช้พลังของยายตาย่าปู่ที่เอาใจใส่การกล่อมเกลานิสัยของหลาน    ในการขยายผลให้ยายตาย่าปู่ท่านอื่นๆ หันมาเอาใจสภาพแวดล้อมที่บ้าน   ที่สร้างความเคยชินต่อการสร้างนิสัยดี  เพื่ออนาคตของลูกหลานอย่างไรบ้าง   

หลักการสำคัญประการที่สาม คือการสื่อสารการดำเนินการระดับชุมชนท้องถิ่น    ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนานิสัยดี (สมรรถนะ) แก่นักเรียนในชุมชน    เพื่อสื่อสารหลักการสำคัญแก่สังคมไทยว่า    ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กไทยนั้น เพียง 1/3 อยู่ในโรงเรียน    อีก 2/3 อยู่ที่บ้านและในชุมชน    ทีมงานของ กสศ. เฟ้นหาชุมชนที่มีการดำเนินการกิจกรรมหนุนการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะของเด็กอย่างน่าชื่นชม   โดยจัดทีมงานไปศึกษารายละเอียดที่มาที่ไปของกิจกรรมดังกล่าว    และประเมินผลกระทบต่อเด็ก    นำมาสื่อสาร             

กิจกรรมในชุมชน เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ที่ชุมชนในประเทศฟินแลนด์จัดคือ จัดชมรมต่างๆ ให้นักเรียนเลือกเข้าร่วมตามความสนใจของตน  เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิดว่า 2/3 ของกิจกรรมการพัฒนาเยาวชน อยู่นอกโรงเรียน     ผมเล่าเรื่องนี้ไว้ที่ (๑)  (๒)  (๓)   จะเห็นว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่เพียงเป็นการเรียนรู้วิชาเท่านั้น    แต่เป็นการเรียนรู้อย่างครบด้าน (holistic)    ที่ต้องพัฒนาทั้งด้านความรู้  ทักษะ เจตคติ และคุณค่า  หลอมรวมกันเป็นการพัฒนาสมรรถนะ (competencies)    เพื่อเป็นคนดีมีความสามารถ    ปูพื้นฐานสู่ชีวิตที่ดีในอนาคต    

  โปรดสังเกตว่า “การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ” มีนัยยะเน้นที่ระบบเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน    เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโตไปเป็นคนดีมีความสุข เป็นกำลังของการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ   ที่เป็นระบบใหญ่ ครอบคลุมทั้งโรงเรียน ระบบการศึกษา  ระบบครอบครัว และระบบชุมชน   

เรื่องนี้สามารถตีความขยายความได้อีกมาก        

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๖๔ 

 



ความเห็น (1)

I applaud การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ของ กสศ (whatever its name) for inclusion of children’s families in the project.

It seems that หลักการสำคัญประการที่สอง is based on a model of middle-class-urban family where parents have sufficiently high income, non-working hours and high education. There are many more families that do not fit this model: parents can have less education than their children (and grand-parents even lesser); children can be left at home to care for grand-parents while parents are working long and odd hours; they may have difficulties affording basic environmental setting (clean water, good lighting, mobile and internet connections, …).

Communicating ideal settings for children to their families will not be enough in many (majority of) cases in many parts of Thailand. More collaboration with other ‘family development projects/groups’ is needed. And providing many development tools to needy families can help expanding their options and capabilities to satisfy ‘multiple projects’ aims.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท