สอนทักษะสร้างสรรค์  1. สู่การบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษา 


 

บันทึกชุด สอนทักษะสร้างสรรค์ : ฝึกนักเรียนให้คิดเป็นและคิดอย่างมีวิจารณญาณ นี้ ตีความจากหนังสือ Teaching  Creative Thinking : Developing learners who generate ideas and can think critically (2017)  เขียนโดย Bill Lucas  และ Ellen Spencer    ที่เป็นหนังสือว่าด้วยการคิดสร้างสรรค์ (creative thinking)   แต่ตีความเชื่อมโยงออกไปกว้างขวางมาก    และมีคำแนะนำภาคปฏิบัติ   รวมทั้งมีตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการในแนวทางที่เสนอ    ผมเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อร่วมขบวนการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แก่สังคมไทย  

เรื่องนี้เริ่มจากบทบาทของโรงเรียนที่ต้องเปลี่ยนไป    จากเป็นที่สอนวิชาความรู้และทักษะพื้นฐานสำหรับการทำมาหากินในอนาคต    ขยายสู่หน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณลักษณะสำคัญเพื่อชีวิตที่ดีในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป    ที่บทนำของหนังสือเล่มนี้เอ่ยถึง ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (creative thinking), การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking),  ทักษะความร่วมมือ (collaborative skills),    คุณลักษณะด้านการมีสติระลึกรู้ (mindfulness),  ความใคร่รู้ (curiosity),  ความกล้า (courage),  และความยืดหยุ่นปรับตัว (resilience)   

หนังสือเล่มนี้จับที่การคิดสร้างสรรค์เป็นศูนย์กลาง    โยงสู่สิ่งที่เรียกว่า non-cognitive skills  หรือ soft skills ที่มีชื่อเรียกที่หลากหลายมาก เช่น capabilities, dispositions, habit of mind, attributes, competencies   ที่ในภาษาไทยเราใช้คำว่า “คุณลักษณะ”, “ขีดความสามารถ”, “นิสัย”, “บุคลิก”, “สมรรถนะ”   และเมื่อกล่าวไปถึงรายละเอียดจะมีความเข้าใจตนเอง ความเข้าใจผู้อื่น และทักษะด้านมนุษย์และสังคมอีกมากมาย    ที่การศึกษาในยุคนี้ต้องเอาใจใส่    โดยหนังสือเล่มนี้ใช้คำรวมๆ ว่า capabilities ที่หากแปลตรงตัวน่าจะใช้คำว่า “ขีดความสามารถ”    แต่ในบันทึกชุดนี้ผมขอใช้คำว่า “สมรรถนะ”  เพราะสังคมไทยเราคุ้นเคยกว่า 

การศึกษาสมัยก่อน เน้นให้เด็กเรียนวิชาความรู้เป็นหลัก  โตขึ้นก็เรียนวิชาทำมาหากิน   แต่ในสมัยนี้การศึกษาต้องเพิ่มการฝึกทักษะและคุณลักษณะด้านความเป็นมนุษย์ และด้านอารมณ์และสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขภาวะร่วมกัน    ถึงตอนนี้ทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่า การศึกษาต้องไปให้ถึงการพัฒนาสมรรถนะ   ที่บูรณาการทั้งการมีวิชาความรู้ การมีทักษะวิชาการ และการมีทักษะภาคปฏิบัติ   ที่ตอนนี้วงการศึกษาไทยเรียกการพัฒนาอย่างบูรณาการนั้นว่า “สมรรถนะ”    และได้มีการเปิดตัว “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” (competency-based curriculum) ไปเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ (๑)  (๒)   ดังนั้นบันทึกชุด สอนทักษะสร้างสรรค์ นี้ มองในมุมหนึ่ง จะมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จของการประยุกต์ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย   โดยใช้การฝึกทักษะสร้างสรรค์เป็นศูนย์กลาง      

 

เป้าหมายยิ่งใหญ่ของการศึกษา

ในปี ค.ศ. 2015 รัฐบาลอังกฤษตั้งคำถามต่อสาธารณชนว่า เป้าหมายยิ่งใหญ่ (purpose) ของการศึกษาคืออะไร    ได้คำตอบว่า ประชาชนต้องการเป้าหมายของการศึกษาที่

ส่งผลแก่เด็กทุกคน (ไม่มีเด็กถูกทอดทิ้งโดยไม่รู้ตัว) 

เตรียมเด็กสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต  และในขณะเดียวกันก็มีคุณค่าต่อชีวิตช่วงเป็นเด็กด้วย    ผมตีความว่า หวังให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข

ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาสมรรถนะและคุณลักษณะไม่น้อยกว่าการเรียนวิชา

ให้คุณค่าแก่การศึกษาสายสามัญกับสายอาชีพเท่าๆ กัน 

สร้างเด็กที่มีความสุข

มีพ่อแม่เป็นหุ้นส่วนดำเนินการ

มีภาคธุรกิจเป็นหุ้นส่วน

ใช้วิธีการสอนและการเรียนที่ดีที่สุด

ใช้การทดสอบช่วยยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้

ให้คุณค่าและส่งเสริมครูในด้านความสร้างสรรค์และความเป็นมืออาชีพ

ส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาและประเมินตนเอง และรับผิดรับชอบต่อการประเมินภายนอก   

อ่านแล้วผมสรุปว่า เป้าหมายยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยก็ไม่หนีไปจากนี้ 

 

สมรรถนะใดสำคัญที่สุด

เขานำมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ (Heckmand and Kautz, 2013)    กับมุมมองขงนักวิจัยการศึกษา (Gutman and Schoon, 2013) มาเปรียบเทียบกัน ดังตาราง   

มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ มุมมองของนักวิจัยการศึกษา
ความมุ่งมั่นมานะอดทน (perseverance)  มุมมองต่อตนเอง (self-perception)
การควบคุมตนเอง (self-control)  แรงจูงใจ (motivation)
ความน่าเชื่อถือ (trust) ความมุ่งมั่นมานะอดทน (perseverance) 
ความใส่ใจ (attentiveness)  การควบคุมตนเอง (self-control)
ความนับถือตนเอง (self-esteem)  และความสามารถของตนเอง (self-efficacy) กลยุทธในการเรียนรู้ (metacognitive strategies) 
ความยืดหยุ่นปรับตัวสู้อุปสรรค (resilience to adversity)  สมรรถนะด้านสังคม (social competencies)
เปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ความยืดหยุ่นปรับตัวและรับมือ (resilience and coping) 
เข้าใจผู้อื่น (empathy)  ความสร้างสรรค์ (creativity) 
ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility)  
อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย (tolerance of diverse opinions)   
มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม (engaging productively in society)    

 

ซึ่งจะเห็นว่า คล้ายคลึงกันมาก   และในเวลาใกล้ๆ กัน (ค.ศ. 2012) สภาอุตสาหกรรมอังกฤษก็ต้องการให้โรงเรียนสร้างสมรรถนะต่อไปนี้แก่นักเรียน  grit (แรงผลักดัน - passion และความอดทนมานะพยายาม - perseverance), ความยืดหยุ่นปรับตัว (resilience), ความสงสัยใคร่รู้ (curiosity), ความกระตือรือร้น (enthusiasm) และความสนุกสนาน (zest), ความกตัญญูรู้คุณ (gratitude), ความมั่นใจ (confidence) และความทะเยอทะยาน (ambition), ความสร้างสรรค์ (creativity), ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility), คารวะและมรรยาท (respect and good manners), ใส่ใจต่อโลก (global concerns)    ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยการศึกษา       

นำสู่ประเด็นว่า จะจัดการเรียนรู้อย่างไร จึงจะบรรลุเป้าหมายสมรรถนะดังกล่าว     

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 693693เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2021 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2021 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท