การสื่อความหมาย


การสื่อสาร

การสื่อความหมาย
COMMUNICATION
การสื่อความหมาย คือการส่งข่าวสารความคิดเห็นระหว่างบุคคล อาจส่งผ่านทางเสียง ทำให้เกิดการได้ยินจากอวัยวะการรับเสียง เช่น เสียงพูด เสียงสัตว์ร้อง เสียงลมพายุ หรือสิ่งที่ส่งออกมาเป็นภาพ เห็นด้วยตา เช่น การเขียนเป็นหนังสือ รูปภาพ สัญญาณต่างๆเช่น สัญญาณไฟ ท่าทางต่างๆ รวมทั้งการส่งข่างสารที่ผ่านประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของ มนุษย์ด้วย
พจนานุกรมการศึกษาของ คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V. Good) ได้ให้ความหมายของการสื่อความหมายไว้ 3 ประการคือ
1. วิธีส่งความคิดเห็น ความรู้สึกจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยการแสดงท่าทาง สีหน้า การพูด การเขียน ใช้โทรศัพท์ โทรเลข วิทยุ โทรทัศน์และสัญญาณอื่น ๆ
2. การใช้เครื่องมือและกระบวนการ เทคนิคการพูดการใช้ภาษาในการสื่อความหมาย และการใช้โสตทัศน์ในการสื่อความหมาย
3. กระบวนการสังคมมนุษย์ ใช้การติดต่อสื่อสาร ความคิด คุณธรรม เจตคติ พิสัย ทักษะ ระบบสังคม วัฒนธรรม เพื่อส่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน
องค์ประกอบของการสื่อความหมาย
การสื่อสารเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่นเดียวกับพฤติกรรมอย่างอื่น เช่นการกินอยู่หลับนอน การทำงาน การเล่นกีฬา และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ซึ่งลักษณะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น อาจเกิดขึ้นทั้งการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง สื่อสารกับสัตว์อื่น ตลอดถึงการสื่อสารกับเครื่องมือ โดยเฉพาะปัจจุบันได้มีการค้นพบและนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานต่างๆ อย่างมาก จึงมีการสื่อสารรูปแบบใหม่เกิดขึ้นคือ การสื่อสารกับเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง (Human Communication) ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นความหมายที่แท้จริงของการสื่อสาร
การสื่อสารโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่ง ต้องการถ่ายทอดหรือส่งข่าวสารไปยังบุคคลอีกคนหนึ่ง ดังนั้นกระบวนการของการสื่อสารจึงต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยที่สุด 3 ส่วนคือ ผู้ส่งสาร (Sender หรือ Source) ข่าวสาร (Message)และช่องทาง(Channel) ผู้รับสาร (Reciever)
ลักษณะการสื่อสารแบบนี้ เป็นการสื่อสารอย่างง่าย และสื่อสารเพียงทางเดียว(One-Way Communication) คือเมื่อผู้ส่งสาร ถ่ายทอดสารไปยังผู้รับสารแล้ว ผู้รับสารจะมีความเข้าใจตามที่ผู้ส่งสารต้องการหรือไม่นั้น ยังไม่อาจทราบได้ ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสารมวลชนโดยทั่วไป ผู้รับสารไม่มีโอกาสแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง ดังนั้นเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของการสื่อสารอย่างสมบูรณ์ คือให้ผู้รับสารมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความรู้สึกนึกคิดตามที่ผู้ส่งสารต้องการนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการสื่อสารให้มากที่สุด นักวิชาการด้านการสื่อสารได้กำหนดองค์ประกอบและอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในกระบวนการของการสื่อสาร และแสดงเป็นแผนผังองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของการสื่อสาร ดังนี้
1 ผู้ส่งสาร (SOURCE) หมายถึงแหล่งกำเนิดสาร อาจเป็นบุคคล องค์การ สถาบันหรือคณะบุคคลที่ทำหน้าที่กำหนดสาระ ความรู้ความคิด ที่จะส่งไปยังผู้รับสาร ดังนั้นการสื่อสารจะบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ เพียงใดจึงขึ้นอยู่กับผู้ส่งสาร และสารที่ส่งเป็นสำคัญ
สาร (Message) หมายถึงเรื่องราว ความรู้ความคิดต่างๆ ที่ผู้ส่งประสงค์จะให้ไปถึงผู้รับ มีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยชี้ความสำเร็จของการสื่อสาร 3 ประการคือ
- เนื้อหาของสาร
- สัญลักษณ์หรือรหัสของสาร
- การเลือกและจัดลำดับข่าวสาร
2 ตัวเข้ารหัสสาร (ENCODER) สารที่จะส่งไปยังผู้รับนั้น ปกติเป็นความรู้ความคิดที่ไม่อาจจะส่งออกไปได้โดยตรง จำเป็นต้องทำให้สารนั้นอยู่ในลักษณะที่จะส่งได้ เช่น ทำให้เป็นคำพูด สัญญาณ ภาษาท่าทาง หรือรหัสอื่น ๆ การสื่อสารโดยทั่วไปผู้ส่งสารจะทำหน้าที่เป็น Encoder ซึ่งอาจเข้ารหัสโดยตรงโดยตัวผู้ส่งสารเช่น เป็นคำพูด หรืออาจจะใช้เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วย เช่นโทรเลข วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
3 ช่องทางการสื่อสาร (CHANNEL) ข่าวสารจากผู้ส่ง จะถูกถ่ายทอดโดยอาศัยสื่อหรือตัวกลาง(Media) ซึ่งอาจเป็นสื่ออย่างง่ายเช่น การพบปะพูดคุยกันตัวต่อตัว การเขียนแสดงกิริยาท่าทาง ไปจนถึงการใช้สื่อที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์
4 การแปลรหัสสาร (DECODER) คือการแปลความหมายของรหัสสัญญาณ ที่ส่งมายังผู้รับ ให้ผู้รับสามารถเข้าใจได้ หากผู้ส่งใช้รหัสสัญญาณ(Encode) ที่ผู้รับสามรถแปลความหมายได้เองโดยตรง เช่นใช้ภาษาที่ผู้รับเข้าใจ การสื่อสารก็จะง่ายขึ้น แต่หากผู้ส่งใช้รหัสสัญญาณที่ผู้รับไม่อาจเข้าใจได้ เช่น ใช้ภาษาที่ผู้รับฟังไม่เข้าใจ การสื่อสารก็จะเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จของการสื่อสาร
5 ผู้รับสาร (RECIEVER) เป็นจุดหมายปลายทาง(Destination)ของการสื่อสาร ซึ่งจะต้องมีการรับรู้ เข้าใจ หรือแสดงพฤติกรรม ตามที่ผู้ส่งสารต้องการ หากไม่เป็นไปตามนั้นก็ถือว่าการสื่อสารล้มเหลว ผู้รับสารจะต้องมีทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ดีเช่นเดียวกับผู้ส่งสาร จึงจะช่วยให้การสื่อสารบรรลุผลสมบูรณ์
6 ปฏิกิริยาของผู้รับสาร และการตอบสนอง (Response and Feed back) เมื่อผู้รับได้รับสารและแปลความหมายเป็นที่เข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้รับย่อมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เช่น เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คล้อยตามหรือต่อต้านซึ่งการตอบสนองของผู้รับอาจผิดไปจากที่ผู้ส่งต้องการก็ได้ ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้รับ หากได้มีการย้อนกลับ (Feed back)ไปยังผู้ส่งสารให้รับรู้จะช่วยให้เกิดการปรับการสื่อสารให้ได้ผลดียิ่งขึ้น กรณีเช่นนี้เรียกว่า การสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two-way Communication)
การตอบสนองของผู้รับสารกลับไปยังผู้ส่งสาร ย่อมจะต้องเกิดกระบวนการสื่อสาร เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้รับจะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร และผู้ส่งสารในตอนแรกจะทำหน้าที่เป็นผู้รับสารแทน ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ของการสื่อสารเช่นเดียวกับการสื่อสารในขั้นตอนแรก การสื่อสารแบบ 2 ทาง ผู้สื่อสารจึงทำหน้าที่ เป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสารไปพร้อม ๆ กัน

หมายเลขบันทึก: 69361เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนราพัดพระนครป่ะเนี่ย ทำไม อาจารย์สั่งเหมือนกันเลยอ่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท