ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๙๕. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑๗) โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเดินหน้าสู่ปีที่สาม  


  

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการผลิตครูเพื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล ๕ รุ่น   รุ่นละ ๓๐๐ คน   โดยรับสมัครและคัดเลือกจากนักเรียนยากจนในพื้นที่    ด้วยวิธีคัดเลือกที่พิถีพิถันมาก    ใครได้รับทุนก็สบายไปเลย เพราะนอกจากได้เรียนฟรี อยู่หอพักฟรี (กสศ. ออกให้) ยังได้รับเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนถึงเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท    แถมยังมีค่าอุปกรณ์ประกอบการเรียนอีกเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท    ได้ข่าวว่าผู้รับทุนบางคนถึงกับส่งเงินกลับไปช่วยเหลือครอบครัว

นอกจากคัดเลือกผู้เรียนเข้มข้น ยังคัดเลือกสถาบันผลิตเข้มข้นด้วย   เน้นเชื้อเชิญสถาบันที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย   ให้เสนอวิธีทำงานแล้วคัดเลือก    เพราะจะต้องเอาใจใส่งานพิเศษ ๓ ด้าน ที่แตกต่างจากการรับและดูแลนักศึกษากลุ่มอื่นๆ คือ (๑) การคัดเลือกนักศึกษา  (๒) การฝึก นศ. ให้เป็นทั้งครูและนักพัฒนาชุมชน  (๓) การสร้างวิญญาณครูรัก(ษ์)ถิ่น   

นศ. ที่คัดกรองเข้ามาไม่เน้นคนเรียนเก่ง เน้นที่ความยากจน และรักที่จะเป็นครู    สถาบันผลิตต้องจัดกิจกรรมเสริมพื้นฐานความพร้อมให้ก่อนเปิดเรียน   และดูแลใกล้ชิดในระหว่างเรียน    ให้เรียนจบออกไปเป็นครูที่ดีมีความสามารถให้ได้   

ผมมีข้อสังเกตว่า สถาบันผลิต (ตอนนี้เข้าร่วม ๑๖ สถาบัน) เข้ามาด้วยแรงจูงใจสองกลุ่ม    กลุ่มแรก เพื่อเข้ามาทำงานที่ท้าทาย ด้วยอุดมการณ์ของสถาบันผลิตครู   กลุ่มหลังเข้ามาหาเงินหรือรายได้   กลุ่มหลังนี้แม้มีไม่มาก เพราะมีการคัดเลือกแล้ว    แต่ก็ยังพอมีให้เห็น    ซึ่งสำหรับผม ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ว่า สภาพจริงของระบบอุดมศึกษาด้านการผลิตครูเป็นอย่างไร    กลุ่มหลังนี้ จะพบปัญหา ผู้รับผิดชอบโครงการของสถาบันไม่เข้มแข็ง  และผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคณะที่รับผิดชอบไม่ได้เอาใจใส่   

เราจะเห็นระดับหรือสภาพจริยธรรมของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ได้จากการเข้าไปทำงานด้วย   เป็นเรื่องของการสั่งสมวัฒนธรรมองค์กร   

ผมเขียนเล่าเรื่องข้อเรียนรู้จากการได้มีส่วนเป็นที่ปรึกษาของคณะอุนกรรมการกำกับทิศทางของโครงการไว้ที่ (๑)   ขณะนี้โครงการดำเนินมาถึงการเตรียมรับ นศ. รุ่นที่ ๓   

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครู สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่มี รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ เป็นประธาน   ผมเป็นที่ปรึกษาดังกล่าวแล้ว     มีวาระการประชุมที่สำคัญคือ (ร่าง) แผนพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ปี 2565 – 2567    โดยมีเป้าหมายผลผลิตสำคัญคือ โมเดลสถาบันผลิตและพัฒนาครูตัวอย่าง   และโมเดลการพัฒนาโรงเรียนที่มุ่งยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล   

ผมตีความว่า นี่คือการทำหน้าที่ catalyst for change ของ กสศ. ในเรื่องการผลิตครูคุณภาพสูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล       

        

วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๖๔ 

  

  

หมายเลขบันทึก: 693507เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2021 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2021 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท