คุณไสยในบริบทไทย


คุณไสยในบริบทไทย

23 พฤศจิกายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก 

 

เบื้องหลังเรื่องคุณไสย

 

ท่ามกลาง “ความเห็นต่าง” หรือการยอมรับหรือไม่ยอมรับในความเห็นของผู้อื่น ที่ขอเรียกว่า "Agree to Disagree" เพราะเป็นคำที่ง่ายดี หันมามองพัฒนาการใน “ความเชื่อเรื่องคุณไสย” (Mutelu) ความเชื่อโชคลาง (Superstitious) รวมเรื่องความเชื่อในสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ เครื่องรางวัตถุมงคล ในบริบทไทยถือเป็นเรื่องที่มีมาแต่โบราณ เช่น ความเชื่อในความอยู่ยงคงกระพัน หนังเหนียว ฟันไม่เข้า เพราะนักรบไทยแต่อดีตไม่มีเครื่องเกราะป้องกันตัวเหมือนฝรั่งหรือยุโรป มีเพียงผ้ายันต์ เครื่องรางของขลัง เท่านั้น 

กำลังจะย้อนไปเรื่องความเชื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของ “สายมู” หรือ “มูเตลู” เป็น Soft Power ที่มีแนวทางส่งเสริมเพื่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมและบ้านเมือง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะความเชื่อแบบบ้านๆ ของไทย (Thai Folklore) ที่เป็นตำนานในสังคมพื้นบ้าน ที่ใช้ประเพณีเรื่องเล่า ความเชื่อสืบต่อกันมา คนเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในกลุ่มนั้นๆ แน่นอนว่าคนกลุ่มเชื้อสายไทยในภาษาสมัยใหม่ภายหลังรัฐชาติ (Nation State) ในยุคชาตินิยมได้นิยามคำว่า “ไทย” แทนคำว่า “สยาม” หรือ “เสียม” (Siam) ด้วยความมุ่งหมายรวบรวมคนกลุ่มเชื่อสาย "ไท" ทุกหมู่เหล่าเข้าไว้ด้วยกัน ในภูมิภาคย่าน “สุวรรณภูมิ” หรือ “ภูมิภาคอุษาคเนย์” (ตะวันออกเฉียงใต้) แห่งนี้ ตามหลักทฤษฎีการผสมกลมกลืน (Assimilation) ที่ไม่แตกต่างกันมากนักในเชิงวัฒนธรรม หรือไม่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติมากนัก เป็น “สังคมหนึ่งเดียว” (Homogeneous Society) ตาม แนวคิดพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) มีความแตกต่างกันน้อย จนแทบไม่เห็นความแตกต่าง เช่นสังคมชาวยิว ชาวจีน เป็นต้น 

 

จากสังคมชาติพันธุ์ชนพื้นเมือง

 

เพราะภูมิภาคย่านนี้มีสังคมที่มีความแตกต่างสังคมแบบ “พหุสังคม” หรือสังคมพหุลักษณ์ (Plural Society or Multicultural society) ที่เป็นสังคมหลากวัฒนธรรม แยกแยะกันหลายเผ่าพันธุ์ หลายชนเผ่า เดิมเรียกว่า “ชาวพื้นเมือง” (indigenous peoples หรือ aboriginal peoples) ซึ่งต่อมาปัจจุบันใช้คำว่า “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnics or Ethnicity” เป็น “สำนึกผูกพัน” ที่สืบต่อๆ กันมารุ่นสู่รุ่นในทางเชื้อชาติ (Race) เช่น สังคมประเทศมาเลเซีย ที่มีคนแตกต่างกันกลุ่มใหญ่สามเชื้อชาติ คือ มลายู จีน และอินเดีย หรือ สังคมพหุของประเทศเมียนมา (Mynmar) หรือชื่อเดิมคือ “ประเทศพม่า” (Burma) ที่เป็นประเทศคู่กรณีสงครามมาช้านานหลายทศวรรษในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 คือนับตั้งแต่หลังจากที่เกิด "อาณาจักร" ของรัฐไทยที่แข็งแกร่งขึ้น คือ อาณาจักรอยุธยา หรือที่คนพม่าเรียกว่า “โยเดีย” (Yodia) และเรียกคนไทยว่า ชาวโยดะยา (Yodaya) ที่มาจากคำว่า “ศรีอโยธยา” หรือ “ศรีอยุธยา” นั่นเอง

กล่าวถึงประวัติศาสตร์อดีตของกลุ่มชนในย่านนี้ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ “คนกลุ่มไทกะได” (Tai-Kadai) หรือในความเข้าใจอย่างง่ายๆ คือ “กลุ่มคนเชื้อสายไทย-ลาว” หรือที่เรียกกันในศัพท์วิชาการภาษาศาสตร์ว่า “ตระกูลภาษาขร้า-ไท” (Kradai) หรือ ไท-กะได (Tai–Kadai) หรือ กะได (Kadai) เป็นตระกูล “ภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์” ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของประเทศจีน ที่ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของกลุ่มที่ใช้ภาษาตระกูล “ไท-ลาว” ด้วยผลการศึกษาเมื่อราวไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมาโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes, 1886-1969 หรือ พ.ศ.2429-2512) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ (ภายหลังเป็นหอสมุดแห่งชาติ) เมื่อ พ.ศ.2461-2489 

 

มาดูแนวคิดของชาวบ้านท้องถิ่นไทย “ความเชื่อในจิตวิญญาณดั้งเดิมยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

ความเชื่อบูชาในผีบรรพบุรุษยังขายได้

 

คนไทยแต่โบราณเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ การบูชาผีบรรพบุรุษ จะเรียกว่าเป็นสังคมที่ถือผีมาก่อน พบเห็นได้ในทุกสังคมของชาติพันธุ์ไท-ลาว รวมไปถึงชาติพันธุ์อื่นที่กลมกลืนกับไทย เช่น ชาวเขมรสูงในจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ หรือชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์และอีสานใต้ แม้แต่ศาสนาพุทธ ก็เชื่อว่ามี “จิต” ฉะนั้นจึงพบเห็น การตั้งศาล การสักการบูชาบรรพบุรุษ หรือ ผี ตามความเชื่อพื้นถิ่นที่มี เช่น ศาลหลักเมือง ศาลหลักอำเภอ ศาลหลักหมู่บ้านท้องถิ่นบางแห่งจึงใช้งบประมาณในการจัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาลเจ้าและความเชื่อร่วมกับชุมชนด้วย

ประเด็นเนื้อหาของเรื่องขอยกตัวอย่างการมีของศาลเจ้าต่างๆ ตามความเชื่อ วิญญาณเจ้าที่ เทวดา อารักษ์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ท้าววิรุฬหก ที่เป็นท้าวมหาราชผู้ปกครองเหล่ากุมภัณฑ์ และเป็นโลกบาลผู้ปกครองทิศ การบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองมีทั่วไป รวมทั้งศาลแซนโดนตา ชาวเขมรจังหวัดสุรินทร์ ศาลปะกำ (ช้าง) ตามความเชื่อของชาวกุย (ส่วยเขมร) จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งการบูชาเหล่านี้ล้วนเป็น “การบูชาผีบรรพบุรุษ” ไปจนถึงศาลเจ้าชาวจีน ที่แม้จะเป็นคนไทยแต่วัฒนธรรมจีนได้เข้ามามีบทบาทสูง ทำให้คนไทยเข้ากันได้กับศาลเจ้าจีน การมีสมาคมการค้าของคนจีน คนเวียตนามที่มาตั้งมูลนิธิ จัดแห่ฉลองเจ้าพ่อหลักเมืองจึงกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยได้อย่างสนิท โดยเฉพาะที่จังหวัดภาคใต้ ที่มีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่ช้านาน

ตามความเชื่อพื้นถิ่นในศาลบรรพบุรุษที่ประจำใกล้บ้าน เช่น ศาลปะกำ (เชือกปะกำช้าง) ที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ตามความเชื่อของชาวกุย หรือชาวส่วย (ส่วยเขมร) เป็นชนคล้องช้าง จับช้างป่ามาเลี้ยง ดั้งเดิมอยู่แถวแขวงอัตตปือ สปป.ลาวตอนใต้  ชาวส่วยทำพิธีปะกำ (เชือกฟั่นจากหนังควาย) ที่ใช้สำหรับ คล้องช้าง เวลาเลี้ยงผี จะเทเหล้า ให้ล้นแก้ว เรียกเหลือกิน เหลือใช้ มีการเสี่ยงทาย ดูลิ้นไก่ ที่ต้มมางานเซ่นไหว้ ขอยกตัวอย่าง

ศาลแซนโดนตาที่สุรินทร์ ตามความเชื่อของชาวเขมร เป็นพิธี “เลี้ยงผีบรรพบุรุษ” พิธีของชาวเขมรพื้นถิ่นไทย ที่สุรินทร์ อ.สังขะ ในวันสารทเดือนสิบ ที่ลูกหลานจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย มารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ วัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หนึ่งปีมีครั้งเดียว เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือเป็นงานประเพณีท้องถิ่น มีการทรงเจ้า เชิญวิญญาณประทับร่าง

มีอุปกรณ์สำคัญใช้ประกอบพิธีคือ ดนตรี หากเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) จะใช้กลองโทน ส่วนอีสานตอนบน ใช้เสียงแคน แตกต่างกันไป แต่ละที่ใช้ดนตรีต่างชนิดกัน ไม่ว่าจะเป็นวิญญาณคน เทวดา ก็ล้วนใช้เครื่องดนตรี อาหารคาวหวาน ผลไม้ ทั้งนั้น เทวดา พรหม บางที่บูชาเป็นบทสวดมนต์

การบูชาบรรพบุรุษของชาวเขมรพื้นถิ่นดังกล่าวคล้ายประเพณีโบราณของชาวไทยอีสานอย่างวันบุญข้าวประดับดิน หรือบุญประเพณีสารทเดือนสิบของชาวใต้ หรือเทศกาลตรุษจีนของคนไทยเชื้อสายจีน สะท้อนให้เห็นความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูรู้คุณของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติ และชุมชน

พิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ หรือผีบรรพบุรุษในภาคเหนือตอนบน (จังหวัดล้านนา) มีศาล “ปู่แสะย่าแสะ” “ผีปู่ย่า” หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษที่นับทางสายมารดา“เรือนเก๊าผี” (ศาลพระภูมิผีปู่ย่า) การบูชายัญควายในงานบูชาผีป่าประจำปี “ประเพณีเลี้ยงดง” จ.เชียงใหม่ ที่เชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวลัวะเจ้าของพื้นที่เดิม มาก่อนที่คนเชื้อสายไทยจะอพยพเข้ามาอยู่

 

ประเพณีท้องถิ่นนำไปสู่การใช้งบประมาณของท้องถิ่น

 

นักวิชาการวัฒนธรรมที่กล่าวถึงเรื่องหลักเมือง ที่คนพื้นถิ่นสร้างไว้ ซึ่งต่อมาภายหลัง มีคนจีนเข้ามาร่วมแจม (ผสมผสาน)ด้วย พบว่าหลักเมืองหลายในจังหวัด อำเภอ จึงถูกนำด้วยคนจีน ที่มีมูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย ปนอยู่ด้วย เป็นจุดแข็งของทุกชนเผ่าในไทยล้วนอยากสร้างการยอมรับนับถือ การสื่อออกทางวัฒนธรรม ที่ผสมกลมกลืนเข้ากันได้กับคนที่เข้ามาใหม่ สิ่งปลูกสร้างศาลเจ้าจีน เวียตนาม จึงเกิดขึ้นในไทย ซึ่งอาจจะมีมากกว่าและใหญ่กว่าของคนพื้นถิ่นดั้งเดิม ด้วยเงินทุนที่มากกว่าหนากว่า ฉะนั้น อปท.จึงใช้งบประมาณเพื่อการจัดกิจกรรมท้องถิ่นนี้ได้ ซึ่งแต่เดิมก็จัดกันมาเป็นปกติ ให้การระดมทุนเงินบริจาคกัน ต่อมาเมื่อกิจกรรมมากขึ้นเป็นที่แพร่หลายทุนที่ใช้จ่ายย่อมมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการขอให้งบท้องถิ่น หรือ การอุดหนุนงบประมาณบางส่วนจากท้องถิ่น ถือเป็นทั้ง “รากเหง้า” เป็นทั้งความมั่นคง เป็นทั้งจิตวิญญาณ ความเชื่อของท้องถิ่น

ประเพณีเหล่านี้ในสังคมไทยๆ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งประเพณีเหล่านี้ยังคงอยู่มีอยู่ทั่วไป รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซียด้วย ที่มีวัฒนธรรมคติความเชื่อที่ผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี กิจกรรมต่างๆ ล้วนเกี่ยวโยงไปถึงบรรพบุรุษ และเกี่ยวโยงมาถึง กิจกรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาของคนในห้องถิ่น ซึ่งขยายขอบข่ายกิจกรรมออกเป็นวงกว้าง เป็นประเพณีเป็นประจำทุกปี มีการใช้เงินงบประมาณของ อปท.เข้าไปก่อสร้าง ปรับปรุง และจัดกิจกรรมร่วมด้วย นอกจากนี้แม้ในกิจกรรมงานบุญตามความเชื่อก็มีการระดมทุนตามกำลังศรัทธา แต่อาจไม่พอเพียงได้ เช่น กิจกรรมของชาวพุทธ ศูนย์ปฏิบัติธรรม พิพิธภัณฑ์หลวงตามหาบัวอุดรธานี

ขอฝากเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการจัดกิจกรรมประเพณี “ศาลเจ้าท้องถิ่นตามความเชื่อ” ได้ก้าวล่วงไปถึง การตีขอบเขตความหมายของ “ประเพณีท้องถิ่น” ให้แคบลง โดยหน่วยตรวจสอบแต่กลับตีความหมายให้กว้างขึ้น โดยผู้บริหารเงิน เพื่อให้มีเหตุของการเบิกจ่ายงบประมาณได้ ในที่นี้คือ “ผู้บริหารท้องถิ่น” ทั้งหลายว่า ควรอยู่ในระดับใด มีกิจกรรมประเภทใดบ้าง ต้องมีประกาศรับรองงานประเพณีโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเลขานุการเจ้าของเรื่องเดิมคือ ท้องถิ่นจังหวัด แต่ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของวัฒนธรรมจังหวัด

 

ความเชื่อพื้นถิ่นเป็นสิ่งรวมใจให้คนรักสามัคคีกัน

 

มองว่าความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีมูลเหตุ ที่ต้องมีคนเชื่อ สืบทอดต่อกันมาไม่ขาดสาย มันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมตามความเชื่อ เป็นการลดปัญหาขัดแย้ง เพราะกิจกรรมทำให้มีการเชื่อมสามัคคีกัน เช่น ประเพณีปู่เยอ ย่าเยอ (การบูชาบรรพบุรุษของชาวลาวหลวงพระบาง) ผีตาโขน พระธาตุศรีสองรักษ์ อำเภอด่านซ้าย จ.เลย กิจกรรมทำให้บรรพบุรุษของคนฝั่งไทยฝั่งลาวเลิกรบกันเพราะบรรพบุรุษ กลุ่มเดียวกัน มีการนับถือร่วมเช่น พระธาตุพนม พระเจ้าองค์ตื้อที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายแม้แต่พระแก้วมรกต พระสุก พระเสริม และพระใส พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง ฝั่งเขมร ก็มีปราสาทหิน หากมองมุมลึกลงไป คนสองชาติสามชาติดังกล่าวล้วนเป็นชนกลุ่มเดียวกันมาก่อนเพราะสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ตามความเชื่อพื้นที่ที่ยึดถือกันมาช้านาน เพียงแต่มีเส้น “เขตแดน” ของประเทศขีดคั่นไว้เท่านั้นเองนอกจากนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยืนยันว่าชนพื้นเมือง ไทย-ไต-ลาว คือที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ตามความเชื่อ เช่น เชื่อว่ามาจากปู่แถนย่าแถน เป็นต้น

วัฒนธรรมฮีต 12 คลอง 14 อีสานล้วนเกิดจากความเชื่อทั้งสิ้น ศาลแม่นากพระโขนง แม้แต่ศาลฮันนี่ศรีอีสานลูกทุ่งหมอลำชาวกาฬสินธุ์ที่จังหวัดอุบลราชธานีก็ยังมี เป็นการสื่อเซ้นส์ถึง วิญญาณ การทรงเจ้า เข้าผี ที่คนพื้นถิ่นเชื่อว่ามีจริง แม้ในกิจกรรมหลายอย่างจะมีของปลอมปนอยู่บ้าง มีดนตรีบำบัด ดนตรีสื่อวิญญาณ เพื่อการสร้างสีสรรของงาน ก็ยังเชื่อว่าเป็นจริงมีจริง รวมถึงเรื่องกษัตริย์บางพระองค์ เช่น ไก่พระนเรศวร

วัฒนธรรมประเพณีสิ่งแปลกใหม่ที่คนไทยยอมรับได้ ไม่เว้นแม้วัฒนธรรมอิสลาม ที่แผ่มัสยิดไปทั่วประเทศด้วยเงินทุนหนุนจากอาหรับทั้งชีอะห์ กับ ซุนหนี่ ที่เป็นเรื่องของความเชื่อในจิตวิญญาณเช่นกัน อิทธิพลคริสต์ในสังคมชนเผ่า ชาวเขา หรือชุมชนยากจน คนด้อยโอกาส ที่เป็นงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือชุมชนอีกมากมาย หลายแห่ง

 

นี่เป็นจุดแข็งจุดเด่นที่ขายได้ใน “สายมู” อย่างหนึ่งของไทย ที่ท้องถิ่นควรนำไปพิจารณาเป็นยุทธศาสตร์ต่อยอดเป็นจุดขาย เพื่อส่งเสริมการท่องเทียวในฐานะที่เป็นพลังของ “Soft Power” ก็เป็นได้

 

อ้างอิง

“มูเตลู” ในโลกธุรกิจ เมื่อคนไทยต้องการที่พึ่งช่วงโควิด. ประชาชาติธุรกิจ, 6 สิงหาคม 2564, 17:00 น., https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-732999

 

ชาติพันธุ์, Dr. Thongin Waidee, 9 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/453071 

 

คนพื้นเมือง ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ ชาวพื้นเมือง (indigenous peoples หรือ aboriginal peoples) ให้ความหมายของคำนี้ว่าเป็น "กลุ่มชาติพันธุ์" ที่มีกำเนิดในท้องถิ่นนั้น มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา เป็นของตนเอง มีเอกลักษณ์การแต่งกายที่เป็นของตนเอง อย่างไรก็ดีไม่มีนิยามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป : วิกิพีเดีย, https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81

 

อโยธยา อยุธยา โยเดีย โดย เนติพงศ์ พินิจนาม ใน GotoKnow, 5 กรกฎาคม 2560, https://www.gotoknow.org/posts/630713 

 

ประเพณีแซนโฏนตา: การสืบทอดและการดำรงอยู่ในบริบทพื้นที่ดั้งเดิม โดย สารภี ขาวดี สาขาวิชาภาษาไทย (คติชนวิทยา) ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559, https://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2017011116390375.pdf

 

การอนุรักษ์พิธีกรรมแซนปะกำช้างของชาวกูย อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ (Conservation Ritual Saenpakam Chang of Chao Kui in Tha Tum District, Surin Province) โดย พระครูพิมลกัลยาณธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ใน วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (มีนาคม - เมษายน 2563), Journal of MCU Peace Studies Vol.8 No.2 (March-April 2020), https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/239544/164506/

 

“ผีปู่ย่า” ตำนานผีล้านนาที่กำลังจะหายไป, Chiang Mai News, 5 มกราคม 2562, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/879143/ 

 

พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ตายาย : ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดพะเยา, http://www.clm.up.ac.th/project/local_database/read.php?record=114

 

ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่  (Pu SaeYa Sae with the Ritual of Spirit Worship of Chiang Mai) โดย อาสา คำภา สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน Suranaree J. Soc. Sci. Vol. 6 No. 2; December 2012 (99-122), https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sjss/article/download/20381/17699/#:~:text=ปู่แสะย่าแสะ%20เป็นชื่อของยักษ์สองผัว,เป็นยักษ์ดุร้าย%20ตามตำนาน  

 

ภูมิสังคมวัฒนธรรม : ชื่อบ้านนามเมือง (Place Name)จังหวัดเชียงใหม่, งานวิจัยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, โดย ผู้วิจัยสุจิตต์ วงษ์เทศ, สมใจ วงษ์เทศ และคณะปี พ.ศ.2549, http://research.culture.go.th/medias/nt148.pdf

 

ความเชื่อในจิตวิญญาณดั้งเดิมยังไม่เปลี่ยนแปลง : บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก, สยามรัฐออนไลน์, 26 พฤศจิกายน 2564, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/300853 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693504เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2021 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 02:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท