เมตตาที่ทำให้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนmindset


              ในภาวะที่เศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้วยเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้หลายคนปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตทั้งของตนเองและสมาชิกในครอบครัว สมัยก่อนพ่อแม่มีลูกกันได้ถึง10คนก็เลี้ยงกันได้ไม่มีปัญหา ใครมีลูก3-4คนถือว่าน้อย แต่เดี๋ยวนี้หากมีแค่3คนก็ถือว่าหนักมาก เพราะค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะค่าการศึกษา สมัยก่อนไม่มีการศึกษาภาคบังคับ และหนังสือตำราก็ใช้ของพี่ได้ อุปกรณ์การสอนก็น้อยกว่า บางครอบครัวจึงคิดหนักหากจะมีลูกหลายคน ส่วนมากจึงมีกันไม่เกิน2คน

               เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่า มีผู้ชายคนหนึ่งเดินทางจากสุพรรณบุรีไปกินเลี้ยงงานวันเกิดเพื่อนที่นครสวรรค์ ขากลับเลิกงานห้าทุ่ม เนื่องจากไม่คุ้นเส้นทางจึงขับรถหลงทางจะขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ ในที่สุดเมื่อดูจากGPSแทนที่จะขึ้นสะพานกลับขับไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากถนนเป็นยูเทิร์นใต้สะพานแต่เปิดช่องให้ตรงไปได้ ซึ่งคนในพื้นที่รู้กันดีว่าช่องนี้สำหรับขนอุปกรณ์ลงน้ำ เช่นเรือหาปลา เรือแข่ง หรือบางคนนำรถมาล้างที่นี่ ชายหนุ่มอายุเพียง27ปีผู้เคราะห์ร้ายจึงขับตกลงไปและเสียชีวิตในที่สุด คุณแม่บอกว่า ลูกได้โทรศัพท์มาบอกว่าขับรถตกน้ำ จะโทรเรียกเพื่อนมาช่วย แล้วก็เงียบไป ในตอนนั้นกระแสน้ำแรง แม้จะออกจากรถได้ก็คงจะว่ายกลับเข้าฝั่งไม่ไหว คุณแม่ไปรับศพลูกในอีก3วันต่อมา ร่ำไห้พูดทั้งน้ำตาว่า “เรามีลูกคนเดียว เราอยากได้ลูกคืนมา เราสูญเสียครั้งใหญ่มาก ต่อไปนี้ครอบครัวเราคงไม่มีความสุขอีกเลย”  คำพูดของคุณแม่เมื่อต้องสูญเสียลูกเช่นนี้ใครๆก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ความทุกข์ขนาดนี้หากไม่เคยฝึกจิตใจเอาไว้บ้าง ก็คงไม่รู้ว่าจะทำใจได้เมื่อไร คงจะลำบากอีกนานทีเดียว 

                 ถึงตอนนี้จึงอยากจะสื่อสารกับหลายๆคนที่อาจจะยังไม่เคยประสบกับความทุกข์เช่นนี้ มาฝึกจิตใจกันไว้ก่อนดีกว่า จึงนำข้อคิดเรื่อง “ความเมตตา” มาปรับใช้เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนmindset คือกรอบความคิดที่เรามีอยู่แล้วให้ขยายออกไปให้กว้างกว่าเดิม ตัวอย่างเช่นเมื่อเราอยู่บนเครื่องบิน มองลงมาพื้นดิน เห็นภูมิประเทศ บ้านเรือนผู้คนต่างๆ เราจะมีความรู้สึกที่ต่างจากการที่เราลงมารวมกับผู้คนจริงๆ

                    การที่พ่อแม่รักลูกนี้ก็เป็นความเมตตาในพรหมวิหาร4 เรียกว่าเมตตาเฉพาะเจาะจง เฉพาะตัวบุคคล แต่ยังมีความเมตตาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “อัปปมัญญา4” หลักธรรมก็เหมือนกับพรหมวิหาร4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ในต่างตรงที่คุณธรรมในอัปปมัญญา4นี้ ไร้ขอบเขต ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่เลือกบุคคล (unbounded states of mind) 

                     อาศัยการที่มีเมตตาโดยไร้ขอบเขตเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ผู้นั้นมีจิตใจกว้างขวาง มีความเป็นมิตรกับทุกคน มีใจที่ให้กับทุกคน ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดการสมดุล เกิดการถ่วงดุล (balancing) ในการใช้ชีวิต คือไม่ให้ใจ ไม่ผูกใจไว้กับใครคนเดียว จะมีความรู้สึกรักผู้คนเหมือนกัน เห็นเด็กก็รักเหมือนลูกหลาน เห็นคนแก่ก็รักเหมือนพ่อแม่ นับว่าเป็นสภาพจิตใจที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า “เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” ด้วยเหตุผลนี้เอง

                    ดังนั้นหากเราจะเสียคนรัก จะเสียใจมากมายอย่างไรก็ตาม การที่คนตายจะฟื้นขึ้นมานั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ชีวิตเราต้องดำรงอยู่ต่อไป ฝึกเมตตาให้เป็นเมตตาแบบไร้ขอบเขตจะดีกว่า คนรอบข้างเราที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละเป็นบุคคลที่เราควรเกื้อกูลช่วยเหลือ กระจายการให้ กระจายความรักความเมตตาของเราออกไป ฝึกไปๆ เราจะรู้สึกเหมือนเราเป็นญาติกับคนรอบตัว (ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเป็นญาติกันมาก่อน) แล้วเราจะอยู่ได้อยู่อย่างสงบ เย็นกายเย็นใจ และได้ทำประโยชน์ด้วย และนี่ก็คือได้ตอบโจทย์กับชีวิตเราที่เกิดมาแล้วมีความหมายต่อโลกนี้แล้วมิใช่หรือ...... 

    

 

หมายเลขบันทึก: 693309เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2021 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2021 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท