การศึกษากับการเรียนรู้


 

มีคนถามว่า การศึกษากับการเรียนรู้เหมือนและต่างกันอย่างไร   คำถามนี้มีคำตอบได้เป็นสิบ   แต่ที่ผมอยากตอบคือ การศึกษามีการจบ   แต่การเรียนรู้ไม่มีวันจบ   เพราะการศึกษามีลักษณะเป็นทางการ มีการให้วุฒิ    เราเลยเผลอพูดกันติดปากว่า “เรียนจบปริญญา”    แล้วเผลอต่อว่าไม่ต้องเรียนอีกแล้ว    เพราะเรียนจบแล้ว    จะเห็นว่าในชีวิตจริงคนเราใช้สองคำนี้แบบเป็นไวพจน์กัน    แต่ถ้าคิดให้ลึกเชื่อมโยงกับชีวิตของเราเอง เราต้องใช้สองคำนี้ต่างกัน    เพื่อให้เราเป็นอิสระจากการถูกครอบงำโดยการศึกษา    ที่ระบบการศึกษาเอาอำนาจการให้วุฒิมาครอบงำเรา   

แต่การเรียนรู้เป็นอิสระของเราเอง    เราเรียนรู้เอง คนอื่นมาเรียนรู้แทน หรือป้อนความรู้ให้เราไม่ได้    การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ขึ้นกับวุฒิ    แต่ขึ้นกับความสนใจใคร่รู้ (inquiry) ของเราเอง    ความสนใจใคร่รู้นำไปสู่การตั้งคำถาม และหาคำตอบ    โดยที่คำตอบมีทั้งในตำรา และในครูหรือผู้รู้   กับคำตอบที่เราคิดขึ้นเองจากประสบการณ์ตรงของเรา     การคิดแบนี้เรียนว่า “คิดใคร่ครวญไตร่ตรอง”  หรือ “สะท้อนคิด” (reflection)

ทักษะการสะท้อนคิด เป็นทักษะที่นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต   โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าเรียนตามระบบก็ได้ หรือดีกว่าการเข้ารับการศึกษาในระบบด้วยซ้ำไป 

เมื่อพูดคำว่า “เข้ารับการศึกษา” มันชักนำสู่มิจฉาทิษฐิว่าด้วยการเรียนรู้ทันที    เพราะมันชักนำให้เราคิดว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องของการรับความรู้จากภายนอก  ซึ่งความรู้ใหม่ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และศาสตร์ด้านการเรียนรู้ บอกเราว่าความเชื่อดั้งเดิมว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการรับถ่ายทอดความรู้จากภายนอกเข้าใส่ตัวนั้น ผิด   การเรียนรู้ที่แท้ต้องเป็นการสร้างความรู้ใส่ตัว    ผ่านการทำกิจกรรมที่ใช้ความรู้นั้น    คือคนเราจะสร้างความรู้ต่อเมื่อต้องใช้ความรู้นั้น    และเราเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า “การเรียนรู้ขาออก”   

การเรียนรู้ขาออกทรงพลังกว่าการเรียนรู้ขาเข้านับร้อยเท่า    และยิ่งกว่านั้น มันกำหนดบุคลิกหรือตัวตนของบุคคล   ว่าเป็นคนเฉื่อย หรือเป็นนักริเริ่มสร้างสรรค์   

การศึกษา โดยธรรมชาติตกอยู่ใต้ระบบของทางการ มีการจัดการเป็นขั้นตอน มีระบบระเบียบ   จนในที่สุดระบบการศึกษามีบุคลิกของความเป็นทางการสูง มีความแข็งตัว    ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อสร้างมนุษย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง (และเคารพผู้อื่นเป็น)    ดังนั้น ประเทศใด เน้น “ระบบการศึกษา” คุณภาพของการศึกษาจะมีแนวโน้มคุณภาพต่ำ   

ประเทศที่ต้องการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง    จึงต้องเน้นจัดสภาพแวดล้อมในสังคมให้เอื้อต่อ “การเรียนรู้” ของเด็ก เยวชน และพลเมืองทุกรุ่นอายุ   เน้นการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการ หรือการเรียนรู้อิสระ ให้มาก    จะเห็นว่า สังคมไทยเราอ่อนด้อยในเรื่องนี้    หากต้องการเห็นการจัดสภาพแวดล้อมในสังคมอย่างที่ผมกล่าว ให้ไปดูที่สิงคโปร์    ผมเข้าใจว่าจีนก็กำลังทำแบบเดียวกัน   

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาจผิดทั้งหมดก็ได้    เพราะคนเราต้องการ “ความรู้พื้นฐาน” หรือ “สมรรถนะพื้นฐาน”  สำหรับเป็นตัวต่อการเรียนรู้จากความสงสัยใคร่รู้ของเรา     คือคนเราจะเรียนรู้ได้ ต้องมีชุดความรู้เดิมมาเป็นตัวตั้งต้น   ดังนั้น “การศึกษาพื้นฐาน” ของประเทศ จึงมีความสำคัญมาก    สิ่งที่พึงระวังคือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตกอยู่ใต้ระบบที่เป็นทางการ ที่มีความแข็งตัว   สร้างพื้นฐานของมนุษย์ที่มีจิตอิสระได้ยาก   เพราะครูก็ติดกรอบและถูกครอบอยู่อย่างไม่รู้ตัว    จึงมีแนวโน้มจะจัดบรรยากาศของการเรียนรู้ติดกรอบ    ทำให้ระบบการศึกษามีแนวโน้มจะสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่อ่อนแอ    

ระบบการศึกษา มีแนวโน้มจะเป็นเหตุให้การเรียนรู้อ่อนแอ    เป็นข้อย้อนแย้งระหว่างการเรียนรู้กับการศึกษาที่น่านำมาถกเถียงกัน      

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 693021เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2021 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2021 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท