โควิดชายแดนใต้ปลาย พ.ศ. 2564 ตอนที่ 1 สภาพการระบาดและการเสียชีวิต โดย ศ. ดร. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์


ถ้าโรคลดลงในเดือนสองเดือนนี้ก็คงจะลดลงจากธรรมชาติของโรค ไม่ใช่ลดลงจากการฉีดวัคซีน

โควิดชายแดนใต้ปลาย พ.ศ. 2564 ตอนที่ 1 สภาพการระบาดและการเสียชีวิต

วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

22 ตุลาคม 2564

 

รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค ส่วนหน้า เพื่อควบคุมการระบาดของโรคนี้ในสี่จังหวัดภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ในฐานะของนักวิชาการด้านระบาดวิทยาในพื้นที่ ผมขอให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะเบื้องต้นดังนี้นะครับ


 

 

สถานการณ์และแนวโน้มด้านการระบาด

ระดับของการระบาดที่คิดต่อจำนวนประชากรแสนคนทั้ง 5 จังหวัดไม่เท่ากัน ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส มีการระบาดที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ส่วนจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราชมีระดับสูงใกล้เคียงกับจังหวัดในภาคตะวันออก คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และตราด แต่จังหวัดภาคตะวันออกเหล่านั้นอยู่ในแนวโน้มขาลง ขณะที่จังหวัดภาคใต้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น นอกจากห้าจังหวัดนี้แล้ว จังหวัดภาคใต้อื่น ๆ เช่น พังงา ก็อยู่ในการระบาดระดับเดียวกับนครศรีธรรมราชและอยู่ในขาขึ้นด้วย หวังว่าเหตุการณ์ในจังหวัดอื่น ๆ จะดีขึ้น และเราคงไม่ต้องขยาย ศบค. ส่วนหน้าไปครอบคลุมจังหวัดอื่น ๆ 

 


 

 

อัตราการเสียชีวิตจากโควิด

 

อัตราการเสียชีวิตสะท้อนปัญหาได้ดีกว่าการติดเชื้อ เพราะรายงานการติดเชื้อขึ้นกับความพยายามในการค้นหาผู้ติดเชื้อ ส่วนการเสียชีวิตมีการรายงานที่ผิดพลาดน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตโดยเฉลี่ยจะห่างจากการติดเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์

ระดับและแนวโน้มของอัตราการเสียชีวิตของห้าจังหวัดไม่เหมือนแนวโน้มการระบาด แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของสามจังหวัดชายแดนอยู่ในระดับสูงต้น ๆ ของประเทศ ก็ไม่ได้สูงเด่นเป็นพิเศษ กล่าวคือยังใกล้เคียงกับหลายจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น ชัยนาท สระบุรี ตราด ระยอง นนทบุรี สมุทรปราการ และทั้งหมดนี้ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดสงขลาอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับปานกลางของประเทศ อัตราตายจากโควิดเป็นเพียงเกือบหนึ่งในสิบของอัตราในกรุงเทพมหานครมาตลอด จนถึงปัจจุบันอัตราตายที่สงขลาก็ยังต่ำกว่าที่กรุงเทพราว 5 เท่า สงขลาในขณะนี้มีอัตราตายใกล้เคียงกับจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น น่าน พิจิตร กาฬสินธุ์ เชียงราย

สำหรับแนวโน้ม สามจังหวัดชายแดนมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ในแนวโน้มคงที่ (side way) สงขลามีแนวโน้มขาลง แต่ นครศรีธรรมราช อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจนมาก

ถ้าตัวเลขเหล่านี้ของกระทรวงสาธารณสุขถูกต้อง ศบค. กำลังเลือกพื้นที่มีการเพิ่มขึ้นของการระบาดชัดเจน แต่อัตราตายไม่ได้เพิ่มขึ้น (ยกเว้นนครศรีธรรมราช) ตัวเลขกลาง ๆ ที่ผมไม่มีและไม่ได้วิเคราะห์ คือ จำนวนผู้ป่วยหนัก แต่ก็อาจจะอนุมานเบื้องต้นได้ว่าถ้าตายมากน่าจะป่วยหนักมากมาก่อน

ทำไมการระบาดหนักในภาคใต้ ไม่ตามด้วยการเพิ่มของอัตราตาย

ส่วนนี้อาจจะอธิบายทางระบาดวิทยาด้วยลักษณะของสายพันธุ์และภูมิศาสตร์

โดยสถิติเกือบสองปีที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดน เป็นเสมือน”บ้าน” ของโควิด เช่นเดียวกับที่กรุงเทพ และปริมณฑล

การระบาดหนักที่กรุงเทพและปริมณฑล และ บริเวณชายแดนใต้ น่าจะมีกระบวนการต่างกัน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกัน 

เมื่อเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าเข้ากรุงเทพ ฯ และปริมณฑล การระบาดก็ลุกลามอย่างรวดเร็วในช่วงที่ประชากรยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากนัก จนถึงขั้นมีคนตายในบ้านและตายข้างถนน และแล้วการระบาดก็ลดลง ก่อนความครอบคลุมของวัคซีนจะถึง 30% เสียอีก การระบาดทิ่อินเดีย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ก็พุ่งขึ้นรวดเร็วแล้วลดลงก่อนการเพิ่มขึ้นของการฉีดวัคซีนเช่นกัน

ความจริงชายแดนใต้มีโควิดระบาดประปรายก่อนการระบาดที่กรุงเพท ฯ แต่ไม่รุนแรงนัก อาจจะเป็นเพราะว่าสายพันธุ์ของเชื้อโควิดในชายแดนมีสัดส่วนของเดลต้าต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศมาก ในเดือนกรกฎา-สิงหา ขณะที่กรุงเทพ ฯ และจังหวัดใกล้เคียงมีเดลต้าในสัดส่วนถึง 80-90% ชายแดนใต้มีเดลต้าไม่เกิน 15% ตามรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สัดส่วนของเดลต้าในชายแดนใต้เพิ่งจะมาสูงจริงจังเมื่อตุลานี้เอง ปรากฎการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเดลต้าซึ่งมาถึงช้ากว่าที่อื่น (delayed arrival of delta serge) อธิบายการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจคือ delta serge ในชายแดนใต้ ไม่ค่อยเหมือนที่เห็นในกรุงเทพ ฯ เสียทีเดียว ถึงแม้อัตราติดเชื้อจะพุ่งสูงปี๊ดชายแดนใต้ก็ยังมีอัตราตายต่ำกว่าอัตราในตายในช่วงสูงสุดของ กทม. 

อัตราตายที่ต่ำ อาจจะมาจากเหตุที่ว่าพื้นที่แห่งนี้มีการแพร่กระจายของโควิดมาแล้วเรื้อรัง จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) แล้ว นิยามของพื้นที่ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นก็คือมีโรคนั้นอยู่ในพื้นที่ตลอดทั้งปี ซึ่งสองปีที่ผ่านมาภาคใต้ก็ยังพอมีระยะเว้นช่วงเมื่อปีกลายนี้อยู่บ้าง

ด้านที่ไม่ดี คือ โควิดที่เป็นโรคประจำถิ่นของชายแดนใต้มีเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การมีเชื้ออยู่ในพื้นที่กระจัดกระจายทำให้ยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวทางการเมือง การกวาดล้างโรคให้หมดไปไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ เลย

อย่างไรก็ตาม การมีโควิดเป็นโรคประจำถิ่นไม่ใช่สิ่งเร็วร้ายไปเสียทั้งหมด เราเห็นตัวเลขและกราฟแล้วว่าการระบาดในชายแดนใต้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตมากมายเหมือนการระบาดใน กทม. การระบาดประปรายที่ผ่านมาผสมผสานกับการที่ประชากรกว่าครึ่งได้วัคซีนไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้การเจ็บป่วยและเสียชีวิตไม่รุนแรง ความสูญเสียแม้จะเรื้อรังก็อาจจะไม่รุนแรงนัก

 

เรื่องระดับภูมิต้านทานโควิดของพื้นที่ระบาดภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในภาคใต้ ควรชักชวนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ห้าจังหวัดดังกล่าว ทำวิจัยวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อในตัวแทนประชากร เพื่อให้เข้าใจต้นทุนของภูมิคุ้มกันในปัจจุบันว่ามีมากน้อยเพียงไร

ในบางเมืองของอินเดียมีรายงานว่าประชากรมีภูมิคุ้มกันหลังการระบาดถึง 90% ถ้าปัจจุบันในห้าจังหวัดเขตระบาดมีผู้คนจำนวนมากกำลังติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และส่วนหนึ่งก็เพิ่งจะติดเชื้อไปใหม่ ๆ คนเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากนัก กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จริงจัง คือ คนที่ไม่เคยรับเชื้อมาแม้แต่น้อยและไม่มีภูมิต้านทานเลย

การจะระบุว่าคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเหล่านี้เป็นใครอยู่ที่ไหนคงทำได้ยาก ในทางปฏิบัติ เราคงได้แต่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนและไม่มีประวัติติดเชื้อโควิดเลย ให้พวกนี้ได้ฉีดก่อน สำหรับผู้ที่เคยป่วยหรือตรวจพบเชื้อก็ควรจะรอให้ครบสามเดือนขึ้นไปจึงจะฉีดกระตุ้นให้

เรายังไม่เห็นแนวโน้มในขณะนี้ว่าการติดเชื้อในชายแดนใต้จะลดลงเมื่อไร สมมติไม่มีวัคซีนเพิ่มเติมมาเลยการติดเชื้อก็อาจจะลดลงได้เองเหมือนในอินเดียและอินโดนีเซียก็ได้

อย่างไรก็ตาม วัคซีนคงมาถึงชายแดนใต้และเริ่มระดมฉีดกันอย่างจริงจังในเร็ววันนี้ ทั้งห้าจังหวัดรายงานว่ายังมีประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียวอยู่เกือบครี่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด กว่าจะฉีดให้ได้ครบสองเข็มได้เกิน 90% ของประชากร (ต้องเป็น 90% จึงจะระงับการระบาดของเดลต้าได้ 70% ไม่พอ) คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้นถ้าโรคลดลงในเดือนสองเดือนนี้ก็คงจะลดลงจากธรรมชาติของโรค ไม่ใช่ลดลงจากการฉีดวัคซีน

 

ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มต่าง ๆ ที่จะได้รับวัคซีน

หมายเลขบันทึก: 692960เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2021 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2021 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท