โควิดไม่ได้หายไปจากโลกง่ายๆ มันจะอยู่กับเราไปอีกนาน


โควิดไม่ได้หายไปจากโลกง่ายๆ มันจะอยู่กับเราไปอีกนาน

8 ตุลาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

นานาจิตตังด้วยความห่วงใยบ้านเมือง ท่ามกลางกระแสโควิดที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อใด ในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า  2019 หรือ COVID-19 (โควิด-19) เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานร่วม 2 ปี ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้นับแต่วินาทีแรก นับแต่ เริ่มจากจากจัดตั้งและอบรม “อาสาสมัครภัยพิบัติ” [2] รวมอาสาสมัคร 904 แรกเริ่มจากการระดมกันทำหน้ากากผ้าอนามัย ด้วยต้นทุนการสนับสนุนจากรัฐเพียงน้อยนิด ท่ามกลางความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดโควิด ที่ องค์การอนามัยโลก(WHO) ชี้ว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา (Delta, Delta plus) ระบาด 124 ประเทศทั่วโลกแล้ว ผู้ติดเชื้อพุ่งถึง 200 ล้าน[3]ปัจจุบันสายพันธุ์ในประเทศไทยคือ “สายพันธุ์เดลต้า” [4] นี่ยังไม่รวมสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะตามมาอีก คือสายพันธุ์แลมบ์ด้า[5] และโควิดสายพันธุ์มิว (Mu) [6] (Variant of Interest : VOI หรือไวรัสกลายพันธุ์) [7] ที่หลบหลีกเก่ง

เคยสงสัยเกี่ยวกับภาระในการแบกรับต่อสู้โควิดของท้องถิ่น อปท.ว่า แต่ละแห่งรับภาระมากน้อย ในฐานะที่เป็น “คนด่านหน้า” [8] ด้วยคนหนึ่งมากน้อยแค่ไหน เช่นว่า รพ.สนาม (Field Hospitel)[9] หรือที่พัฒนาเป็น “Hospitel” (ปรับโรงแรมเป็น รพ.สนาม) และเป็น “ศูนย์พักคอย” (Community Isolation : CI) [10]สำหรับผู้ป่วยน้อยระดับสีเขียวที่กลับบ้านมาจาก กทม.หรือพื้นที่สีแดง และ การให้ไปกักรักษาตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยน้อยระดับสีเขียว (Home Isolation : HI)[11] แม้ว่า ศูนย์พักคอย (CI) จะต่างจาก รพ.สนาม เพื่อมิให้สับสนกัน กระทรวงสาธารณสุข จึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ เป็น “ศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน”[12] (COVID-19 Care Center : CCC)

เพราะอำนาจหน้าที่ของ อปท. บางท้องถิ่นอาจเป็นหน้าที่ บางท้องถิ่น อาจไม่ใช่หน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล[13] ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ และ พ.ร.บ.จัดตั้งฯ เพราะ อปท.มีหลายระดับ โครงสร้างอัตรากำลังของ อปท.ขนาดเล็กจะไม่มี สถานบริการสาธารณสุข เช่น อบต. หรือ เทศบาลตำบล แต่ศูนย์พักพิงนี้ถือเป็นหน้าที่ได้ และนอกจากนี้ คนส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่มีหน้าและอำนาจ เป็นผู้กำกับดูแลท้องถิ่น ไม่เข้าใจในบริบทอำนาจและหน้าที่ของท้องถิ่น จึง “ชอบคิดเอาเองว่าท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่อง”

เป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งที่ว่า ท้องถิ่นตั้งขึ้นมาเพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในการรับบริการสาธารณะของประชาชน แต่ปัจจุบัน ท้องถิ่นจำนวนมาก มีขนาดเล็กเกินกว่าจะจัดบริการสาธารณะบางประเภทให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งปัจจุบันเป็น “การบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจ”[14]

 

มีความเห็นวิพากษ์ที่น่าสนในขอฝากเกี่ยวกับศูนย์พักคอย (CI)

 

(1) กรณีการตั้งศูนย์พักพิง พักคอย (CI) ระดับอำเภอ ในตำบล แรกๆ บาง อปท. ไม่ยอมเพราะกลัวว่าชาวบ้านในพื้นที่ด่า แอนตี้ แล้วการเลือกตั้งนายก อบต.ในสมัยหน้าอาจจะไม่ได้รับเลือก จึงมีนโยบายแปลกว่าผลประโยชน์พื้นที่ต้องมาก่อน ไม่รับคนพื้นที่อื่น เป็นต้น นี่เป็นปัญหาของคนบริหารที่อยู่นานกว่า 90% จะคิดแบบนี้

(2) ลองคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ภาระค่าใช้จ่าย อปท.อาจเยอะ ขณะที่รายได้ อปท.ลดลง ตรงข้ามกันเลย มหาดไทยออกนโยบายมา แต่ท้องถิ่นรับภาระหนัก บางตำบลไม่ถึงเดือนจ่ายไปหลายแสนก็มี ยังจะมี LQ (Local Quarantine) [15]ที่รับภาระอีก ที่สำคัญ คนทยอยเดินทางกลับทุกวัน บางท้องถิ่นเงินสะสมไม่มี ยิ่งหนักหนาสาหัส เจอการโยนภาระตามหนังสือ หมุนตัวไม่รอบล่ะ ยิ่ง รพ.บอกตรวจ ตั้งแต่ 3 โมงเช้า ถึง บ่ายสามโมงเย็น คนเดินทางกลับ มาถึงเกือบมืด หรือก็ต้องเข้าศูนย์พักคอยทั้งนั้น รอตรวจวันถัดไป หลายตำบลตรวจสอบคนที่จะเดินทางกลับ มีเป็นพันกว่าคนทั้งนั้น เพราะอยู่ที่เดิมมีแต่รอความตาย อปท.ใดที่บริหารงบประมาณผิดพลาด ใช้เงินมือเติบ รับรองได้ว่า อาจไม่รอด เพราะโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานๆ ลองคำนวณค่าใช้จ่าย เช่น เพียงสามเดือนถัดจากนี้ไปจะต้องจ่ายอย่างน้อยประมาณ 6 แสน เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร น้ำดื่ม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัสดุทางการแพทย์ ค่าสถานที่ ค่าน้ำมัน ฯลฯ นี่ช่วงนี้ อบต. ต้องมาเตรียมมาจัดการเลือกตั้งอีก

(3) กรณี อปท.ใดงบไม่มี เงินไม่พอให้ร้องขอไปจังหวัด เพื่อประสานขอ อบจ. ลงมาช่วยด้านงบประมาณ

(4) หากจังหวัดมีงบประมาณทำไมไม่ทำเอง จะต้องให้ อปท.ร้องขอไปทำไม จัดจุดพักคอยตามความเหมาะสมแล้วระดมเจ้าหน้าที่ทั้งจังหวัดมาช่วยงานได้

(5) ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ยังไม่รู้ว่าหลังจากเหตุการณ์งานนี้หน่วยตรวจสอบ สตง. ป.ป.ช.อปท. จะมีความเห็นต่างในการใช้งบประมาณอย่างไร ไม่เห็นด้วย จะเจอสุดท้ายว่า ไม่ใช่หน้าที่ อปท. หรือบางส่วน เบิกจ่ายไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ถูกเซ่น ถูกชี้มูลผิดวินัย ผิดอาญาแน่

(6) การเปิดช่อง เปิดระเบียบให้ท้องถิ่น อปท.ทำทุกอย่างในเรื่องโควิด[16] แต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว 

(7) รัฐบาลส่วนกลางต้องควักงบในกระเป๋าเทมาให้ท้องถิ่น เป็นภาระที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ทั้งประเทศ เมื่อแก้ไม่ได้มิใช่การโยนภาระทิ้งมาให้ อปท. คนสั่งคนนั้นต้องรับผิดชอบ คนรับคำสั่งทำได้ เท่าที่ทำได้ มิใช่การยัดเยียด เพราะขาดปัจจัยการบริหาร

(8) เจ้าหน้าที่เทศบาล อบต.ที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันโรคโควิดเสี่ยงติดโรค ในศูนย์ LQ เนื่องจากต้องทำความสะอาดเมื่อมีผู้ป่วยที่ศูนย์กักกัน LQ ผลเป็นบวก เจ้าหน้าที่บางรายมาจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง 5 ทุ่ม เที่ยงคืนก็ต้องให้เข้ามาพักที่ศูนย์กักกันรอการสวอบ (swab) จาก รพ.ในตอนเช้า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เก็บขยะมูลฝอยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากขยะติดเชื้อ ในส่วนนี้ รพ.ชุมชนและสาธารณสุขอำเภอ ต้องเข้ามาอบรม ฝึกปฏิบัติให้ถูกวิธี และควรให้ค่าตอบแทนที่สูง (มีค่าเสี่ยงภัย) เพราะมันคือสงครามเชื้อโรค สุดท้ายควรให้เจ้าหน้าที่ข้างต้น ซึ่งถือเป็น “เจ้าหน้าที่ด่านหน้า” เหมือนบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน ที่ควรได้รับวัคซีน mRNA เป็นอันดับต้นๆ และให้วัคซีนอย่างสม่ำเสมอ เพราะไวรัสโควิดมีการพัฒนาหลบหลีกภูมิคุ้มกันเก่ง เมื่อหมดภูมิคุ้มกันก็ต้องฉีดเข็มที่สาม ที่สี่ เป็นต้น หรือ การทำประกันโควิดให้แก่พวกเขาด้วยเพื่อเป็นหลักประกัน

(9) เจ้าหน้าที่ของ อปท.ที่เกี่ยวข้องกับโควิดเอาจริงๆ มีแค่ กองสาธารณสุข ซึ่ง อบต.หลายแห่งไม่มีกองสาธารณสุข หากจะตั้งศูนย์ LQ ของ อปท.เองจึงเป็นภาระที่หนัก ไหนจะเรื่องเอกสาร ไหนจะหน้างาน ไหนจะงานโดยตรง ไหนจะงานจร งานประสานงาน อีกมากมาย

(10) ประเด็น CI รพ.สนาม ตามข่าวเมื่อสองสามเดือนก่อนที่นายก อบต.ประกาศไม่เอา CI ศูนย์พักคอย[17] จึงน่าสนใจมาก เพราะคน อปท.เก็บกดจากรัฐมาก เงินงบประมาณก็ไม่มี แถมรัฐไม่ให้ แต่โยนภาระให้ อปท.เต็มๆ ที่สำคัญมากก็คือ คน อปท.ต้องมาระวังในประเด็นไม่ให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณที่ “ซ้ำซ้อน” [18]อีกระหว่างงบ สปสช. และและงบของ อปท. เพราะ สปสช.ได้โอนงบประมาณในการบริหารจัดการรักษาโรคโควิดให้แก่ รพ.แล้ว หาก อปท.เบิกจ่ายอีก ก็จะเป็นการเบิกที่ซ้ำซ้อนกัน เจ้าหน้าที่จึงเครียด ประเด็นเงินงบประมาณ อปท.ไม่มีก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะ อปท.ขนาดเล็กหลายแห่งเงินสะสมไม่มี หรือมีเหลือน้อย เพราะได้ถลุงใช้จ่ายงบไปก่อนหน้านี้มากแล้ว

 

ข้อวิตกและมาตรการที่ควรจะดำเนินการ เพื่อลดภาระ รพ. เตียงเต็ม ที่คนกล่าวกันว่า เตียงไม่พอ รพ.รับไม่ไหว ศูนย์พักคอยจะไม่เป็นกับดักของท้องถิ่น หรือการแยกตัวกลุ่มเสี่ยงออกจากกลุ่มชนจะต้องทำอย่างถูกหลักวิชาการระบาดวิทยา (Epidemiology) [19] เป็นข้อห่วงใยของคนที่มิใช่หมอ แต่เป็นห่วงบ้านเมืองเพราะสุขภาพดีต้องมาก่อน มาพร้อมๆ กับการทำมาหากิน เพื่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป หรือใครว่าไม่จริง ขอให้ทุกคนต้องรับ New Normal[20] ที่เราจะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ อย่าคิดว่ามันคือ หายนะ (New Disaster) มีบางคนบอกว่า ก็ให้ถือเสมือนว่าโควิดก็เป็นโรคหวัดชนิดหนึ่ง[21] เป็นมาติดมาก็พยายามรักษา อย่าให้ปล่อยเป็นหนัก ลงปอด เดี๋ยวก็ดีเอง แล้วโรคโควิดมันก็จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ได้เร็วๆ ว่างั้น


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 8 ตุลาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/287077  

[2]“อาสาสมัครภัยพิบัติ” เป็นอาสาสมัคร ประเภท “จิตอาสาภัยพิบัติ” ใน “จิตอาสาตามพระราโชบาย” หรือ “อาสาสมัคร 904” เป็น “จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ” แยกเป็น 3 ประเภท คือ (1) จิตอาสาพัฒนา ได้แก่กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการ สาธารณสุข ฯลฯ แบ่งตามภารกิจงานเป็น 8 กลุ่ม (2) จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติ (3) จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จ ในโอกาสต่างๆ 

ดู เรื่องควรรู้เกี่ยวกับจิตอาสา ประวัติความเป็นมา, https://www.royaloffice.th/จิตอาสา/เรื่องควรรู้/ประวัติความเป็นมา/ & ทำไมต้องมีอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน(วิดีโอ), กาชาดพังงา, ไมตรี จงไกรจักร์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท, 9 เมษายน 2564, https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=203030761586183

[3]ยอดโควิดทั่วโลก 8 ต.ค.64 ผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 237,497,753 ราย เสียชีวิตสะสม 4,848,316 ราย ดู ยอดโควิดทั่วโลก 8 ต.ค.64 ติดเชื้อเพิ่ม 436,903 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7,563 ราย, ฐานเศรษฐกิจ, 8 ตุลาคม 2564, https://www.thansettakij.com/general-news/498934   

[4]โควิดสายพันธุ์ในประเทศไทยคือ “สายพันธุ์เดลต้า” (Delta)คือ หรือที่เรารู้จักในชื่อ “โควิดสายพันธุ์อินเดีย” ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ B.1.617.2 พบครั้งแรกในประเทศอินเดียและเป็นที่น่าจับตามองในประเทศไทย ณ เวลานี้ นอกจากนี้ยังมีการพบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส (Delta Plus) ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม K417N ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย และหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี คาดการณ์ว่าในอีก 2-3 เดือนอาจมีแนวโน้มของยอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มากกว่าสายพันธุ์อังกฤษที่มีมากที่สุดในไทย ณ ขณะนี้

ดู โควิดสายพันธุ์เดลต้าคืออะไรแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วแค่ไหน, รพ.เพชรเวช, 5 กรกฎาคม 2564, https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Delta-strain-of-Covid & จับตาโควิด เดลตาพลัส กลายพันธุ์จากเดลตา ติดเชื้อแล้วกว่า 200 ใน 11 ประเทศ, ไทยรัฐออนไลน์, 18 มิถุนายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/foreign/2119180

[5]โควิดสายพันธุ์แลมบ์ด้า (Lambda)หรือ C.37 ระบาดไปแล้วประมาณ 30 ประเทศ โดยพบครั้งแรกที่ประเทศเปรูเมื่อปลายปี 2563 ดู โควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดามาจากไหนและสถานการณ์ในไทย, โดย รพ.เพชรเวช,  21 กรกฎาคม 2564, https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Lambda-strain-of-Covid 

[6]โควิดสายพันธุ์มิว (Mu)คือ ตัวกลายพันธุ์ “มิว” (Mu ตัวอักษรกรีก) กำลังถูกจับตาอย่างเข้มข้น หลังพบการแพร่ระบาดแล้วใน 42 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) ยืนยันการตรวจพบใน 49 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ชื่อรหัสว่า B.1.621 ตรวจพบครั้งแรกในโคลอมเบีย ภูมิภาคอเมริกาใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 ดู รู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์ “Mu” โดยวีรพจน์ อินทรพันธ์, 12 กันยายน 2564, https://www.thairath.co.th/news/foreign/2190986 

[7]โควิด-19 : องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อเรียกใหม่ให้โควิดกลายพันธุ์ตามอักษรกรีก แทนชื่อเรียกตามประเทศ, สำนักข่าว BBC, 1 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/international-57314235 

[8]คนทำงานด่านหน้า-งานจำเป็น ที่จะได้รับวัคซีนลำดับต้นๆ มีใครบ้าง, Bangkok Berlin blogs books : bact’ (แบ่ค), Arthit Suriyawongkul : อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, 11 เมษายน 2564, เผยแพร่ครั้งแรก 9 เมษายน 2564 บนเฟซบุ๊ก, https://bact.cc/2021/who-are-front-line-workers/ & บุคลากรด่านหน้า ภูมิเริ่มหมด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญสู้โควิด, ไทยรัฐออนไลน์, 14 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/society/2140006

[9]โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)เป็นโรงพยาบาลชั่วคราวหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ดูแลผู้บาดเจ็บ ณ สถานที่นั้น ก่อนที่จะสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสถานพยาบาลถาวรได้อย่างปลอดภัย คำนี้ได้รับการใช้ครั้งแรกในเวชศาสตร์ทหาร แต่ได้รับการสืบทอดมาเพื่อใช้ในสถานการณ์พลเรือน เช่น ภัยพิบัติและเหตุการณ์สำคัญ : วิกิพีเดีย

ดู เรื่องที่ควรรู้ ข้อปฏิบัติ และความแตกต่างของ โรงพยาบาลสนาม (Field hospital) และ ฮอสพิเทล (Hospitel), โดย OCAEN LIFE Insurance Public Company Limited., ที่มา: ศูนย์ข้อมูลโควิด 19, chulalongkorn hospital, bangkokbiznews, thairath,14 พฤษภาคม 2564, https://www.ocean.co.th/articles/fieldhospital-hospitel-covid-19 & โรงพยาบาลสนาม ต่างจากฮอสพิเทล (Hospitel) อย่างไร, ไทยรัฐออนไลน์, 19 เมษายน 2564, https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2072218

[10]แนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรกฎาคม 2564, https://drive.google.com/file/d/1YPsGETXvR3ljbdvGGhC4mSZV3Ppso0qB/view?usp=drivesdk & ตัวอย่างโครงการจัดระบบศูนย์พักคอยรอเตียงใกล้บ้านใกล้ใจ (Community Isolation), 28 กรกฎาคม 2564, https://www.gotoknow.org/posts/691693

[11]คู่มือการจัดการที่พักรักษาตัวที่บ้านของผู้ป่วยโควิด Home-Isolation, TFMA, https://drive.google.com/uc?id=1IH9YGlZCFMEjFlsSU-dJ7BUIKyCNCek9&export=download & สปสช.เผยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้ว 3.9 หมื่นราย, 29 กรกฎาคม 2564, https://www.nhso.go.th/news/3197 

[12]แนวทางการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน, กรมอนามัย 2564, อ้างแล้ว ดู บันทึกข้อความ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0211.021/15965 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เรื่อง สรุปการประชุมทางไกล (Web Conference) และข้อสั่งการ แจ้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนชื่อเรียก “ศูนย์พักคอย” (CI : Community Isolation) เป็น “ศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน” (CCC : Covid-19 Care Center)

[13]อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2560 

ดู หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.4/ว 1792 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/3/23354_1_1585562649201.pdf?time=1634221470276

[14]รัฐบาลไทยนิยมรวมศูนย์อำนาจ โดยโกวิทย์ พวงงาม, สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2561, https://siamrath.co.th/n/56035 & ยุติระบบราชการรวมศูนย์ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล, ส่วนหนึ่งจากงานแถลงนโยบายพรรคอนาคตใหม่ เปิดวิสัยทัศน์ เปลี่ยนอนาคต 16 ธันวาคม 2561 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, https://futureforwardparty.org/?page_id=2968

[15]ตัวอย่างโครงการสนับสนุนการดำเนินงานสถานที่สำหรับแยกกักหรือกักกัน (Local Quarantine), 27 กรกฎาคม 2564, https://www.gotoknow.org/posts/691692

[16]ดู ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19),  http://dn.core-website.com/public/dispatch_upload/backend/core_dispatch_258427_1.pdf

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1562 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อ้างถึง หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว4116 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) , http://dn.core-website.com/public/dispatch_upload/backend/core_dispatch_258427_1.pdf & https://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2021/08/2021-07-19...pdf

[17]อึ้งกันหมด นายก อบต.พูดชัดๆ ไม่เอาศูนย์พักคอย “ให้มาแบกรับภาระ มันหนักเกิน”, เวบ sanook, 23 กรกฎาคม 2564, https://www.sanook.com/news/8415894/?  

[18]หนังสือแนวทางการสนับสนุน CI/ HI เพื่อป้องกันการเบิกซ้ำซ้อนฯ ระหว่าง สปสช.และ อปท.ซึ่ง อปท. ต้องใช้รายละเอียดเหล่านี้ประกอบด้วย ตามกรอบของ สปสช. เพราะ HI และ CI ล้วนเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วย สีเขียว ซึ่งเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข เจ้ามือ คือ สปสช. อย่าหลงประเด็น เอามาเป็นค่าใช้จ่ายของ อปท. 

ดู ศูนย์พักคอย การใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, จากเฟซบุ๊ก, เวทีท้องถิ่นLine, 21 กรกฎาคม  2564, https://www.facebook.com/watch/?extid=SEO----&v=356345412559961

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว2343 ลงวันที่ 22 เมษายน 2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรณีการตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับพื้นที่, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/4/25311_1_1619162157663.pdf 

& หนังสือสำนักงาน สปสช. ที่ สปสช.9.34/ว04614 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564, https://ur-pk.facebook.com/9npu9/posts/3943981649046821

& บันทึกข้อความ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0211.021/15965 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เรื่อง สรุปการประชุมทางไกล (Web Conference) และข้อสั่งการ แจ้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว4281 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จัดตั้งสถานที่ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (โควิด-19), http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/7/25804_1_1627360539168.pdf?time=1627362808270 

& หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.2/ว4290 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่อง การจัดการมูลฝอยติดเชื้อชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19), https://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2021/08/2021-07-27.pdf   

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.3/ว1267 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมสภาท้องถิ่น ภายใต้ข้อกำหนดออกตามความในมาตร 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564, https://www.moicovid.com/wp-content/uploads/2021/08/144784.pdf 

[19]วิทยาการระบาด (Epidemiology)เป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชากร และเป็นพื้นฐานและตรรกะที่ทำให้เกิดแนวคิดความสนใจในสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาวิชานี้วิธีที่สำคัญพื้นฐานของงานวิจัยด้านสาธารณสุข และเกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์อิงหลักฐาน (evidence-based medicine) ในการหาปัจจัยเสี่ยงของโรคและประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด : วิกิพีเดีย

[20]ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)เป็นแนวทางที่หลายๆ คนจะต้องปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรม ในช่วงไวรัสตัวนี้ออกมาระบาดแล้วเปลี่ยนชีวิตเราไปอีกนาน ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปพร้อมกันทั่วโลก จากที่เราเคยออกจากบ้าน เพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียน เราต้องหันมาทำทุกอย่างที่บ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านไปช้อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งไปพบแพทย์ เราต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรค ต้องเว้นระยะห่างสำหรับบุคคล ล้างมือบ่อยๆนาน 20 วินาที เช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ฯ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทางด้านธุรกิจและบริการต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ การใช้ระบบซื้อขายและบริการทางออนไลน์ สิ่งนี้ เกิดเป็นวิถีใหม่ในการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อเราจำต้องปฏิบัติกันเป็นปกติต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดเป็นความพอใจ ในที่สุดทั้งหมดนี้ก็ได้กลายเป็น New Normal ในสังคมของเราท่านไปนั่นเอง

มีประเด็นดังนี้ การ Work From Home การอยู่ในบ้าน พร้อมทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ, การดำเนินการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Online Business, การเรียน Online Learning/Entertainment, การแพทย์และสาธารณสุข (ที่ปรึกษา) Online Medical Consulting, การ deglobalization เพื่อพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

ดู New Normal โดย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) : สสปท.-TOSH,ในแรงงานรู้สู้โควิด, ข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 6 พฤษภาคม 2564, https://www.tosh.or.th/covid-19/index.php/new-normal & “วช.” ชู “ศาสตร์พระราชาและพระบรมราโชบาย” สร้างความ “มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับ “ชุมชนปิยะมิตร” รองรับ Next normal, สยามรัฐออนไลน์, 28 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/266150

[21]“อนุทิน” เผยส่วนตัวมองไวรัสโคโรนา เป็นโรคหวัดโรคนึง มั่นใจไทยคุมอยู่ ขอปชช.ฟังข้อมูลรัฐ, workpointTODAY, 26 มกราคม 2563, https://workpointtoday.com/corona-virus-3/ & โควิด-19 : ไวรัสไข้หวัดธรรมดาช่วยให้ร่างกายคนเราไม่ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร, โดย เจมส์ กัลลาเฮอร์ ผู้สื่อข่าวสุขภาพและวิทยาศาสตร์, 24 มีนาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/international-56501268 & ทำไมโควิดมีพิษภัยร้ายกว่าไข้หวัด, ในวารสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 42, ฉบับที่ 503 มีนาคม 2564, ในเวบกรมสุขภาพจิต, 23 เมษายน 2564, https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2294

หมายเลขบันทึก: 692739เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2021 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2021 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท