กลยุทธ์สุดยอดโค้ช : Self - Talk กับหนังสือ The Talent Code


“The Talent Code คนเก่งมาจากไหน” เป็นหนังสือดีอีกเล่มที่ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แนะนำให้เราอ่านตั้งแต่ต้นปี ดูจากปกที่เราเขียนลานเซ็นไว้ก็รู้ว่าอ่านมาเรื่อยๆตั้งแต่มีนา 64 ก็อ่านมาแบบไม่รีบ อ่านวันละห้าหน้าสิบหน้า สลับกับเล่มอื่นบ้าง 

 

นี่ก็เป็นสไตล์การอ่านของเรา คือ มักไม่อ่านรวดเดียวจบ แต่อ่านช้าๆค่อยๆซึมซับไป

 

ก็น่าจะดีกับวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง แต่คนอื่นนี่ไม่รู้นะ

 

 

เราอ่านจบน่าจะเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค.นี่แหละ เคยรับปาก อาจารย์ชัยวัฒน์ไว้ว่าอ่านจบแล้วให้เขียน Reflection ให้อ่านหน่อย คนอื่นจะได้เรียนรู้ด้วย เราก็ยินดี เหมือนเป็นการฝึกตนเองให้มีวินัยในการอ่านและสะท้อนการเรียนรู้ ซึ่งก็ดีกับตัวเองด้วย

 

แต่พออ่านจบ รู้สึกว่าถ้าเขียนสะท้อนเลย มันก็อาจจะยังสะดุดๆ คือมันน่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเคยเรียนและประสบการณ์ที่เราเคยพบบ้าง

 

เลยกลับไปอ่านทบทวนโน๊ตต่างๆที่เคยเรียนในหลักสูตร Leaders by Heart และก็โน๊ตเอาไว้ในกระดาษเป็น Concept บางอย่างที่ได้จากหนังสือที่น่าจะเชื่อมกับการเรียนรู้จากหลักสูตร Leaders by Heart ที่ผ่านมานั้น

..............................................................................................................................


วันนี้ (19 ก.ย.64) ไปอ่านไลน์กรุ๊ป Leaders by Heart เจอเรื่องราวที่อาจารย์พูดคุยกับลูกศิษย์ เรื่อง Tranformative Action Research ที่นักวิจัยต้องมองมีสติ เห็นทัศนคติ เห็นวิธีคิด ความเชื่อ สมมติฐาน รู้สึกถึงของสภาวะของตัวเองที่เชื่อมโยงกับบทบาทในการวิจัย

 

เราก็คิดว่า อืมๆ มันเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้อย่างไร อันนี้ก็เป็นโจทย์ชวนตัวเองคิด

 

โอเค กลับมาที่หนังสือก่อนจะไปตอบคำถามที่ตัวเองตั้งไว้  หนังสือ “The Talent Code คนเก่งมาจากไหน” นี่ดีหน่อยที่ไม่หนามาก อย่าง Sapiens กับ Uphealval ที่อาจารย์ก็กรุณาแนะนำมา แต่สองเล่มนั้นหนามาก เรายังอ่านไปไม่ถึงไหน เลยมาอ่านเล่มนี้ซึ่งบางกว่าจบก่อน

 

ผู้เขียนคือ Daniel Coyle นี่ก็เก่งมากเลย ไปสกัดเอาวิธีการเด่นๆของสุดยอดโค้ชในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงการการศึกษา ธุรกิจ ดนตรี กีฬา  ซึ่งวิธีการโค้ชแต่ละคนก็อาจจะต่างกันออกไปบ้าง

 

แต่สิ่งที่เหมือนกันที่ผู้เขียนพยายามขมวดเข้ามาคือ มันโยงไปสู่คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ทางสมองว่ามันเป็นการสร้างเสริมฉนวนหุ้มใยประสาทที่มีชื่อว่า “ไมอีลิน” ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อความเร็วและประสิทธิภาพในการประมวลผลการเรียนรู้ของสมอง

 

พูดง่ายๆคือ เหล่าโค้ชที่สุดยอดทั้งหลายใช้กระบวนการฝึกลูกทีม ที่นำไปสู่การสร้าง “ไมอีลิน” นี้โดยไม่รู้ตัว

 

การอธิบายของผู้เขียน ทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่า เรื่องการเรียนรู้นี่สัมพันธ์กับการเสริมสร้างสุขภาพให้กับสมองเป็นอย่างมาก ซึ่งคนไทย รวมถึงเราด้วย รู้จักสมองตัวเองจริงๆกันน้อยเหลือเกิน

 

เราจึงจัดการศึกษา การเรียนรู้ การอบรม การปรับพฤติกรรมอะไรต่อมิอะไร โดยไม่เข้าใจสมอง แต่กลับเอาปัจจัยภายนอกมากมายเป็นตัวตั้ง อันนี้เรียกว่ามืดบอดมานาน ตอนนี้ก็ยังเป็นกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยอ้างว่าใช้ประสบการณ์เดิม 

 

จริงๆก็ประสบการณ์เดิมแหละแต่ไม่ได้สนใจเพิ่ม “สมรรถนะ” แห่งประสบการณ์ 

เรื่องนี้อาจารย์ย้ำตลอด

 

จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจว่าส่วนหนึ่งของการพัฒนา“สมรรถนะ” แห่งประสบการณ์ ก็คือ ไม่เพียงแต่การพัฒนาสภาวะทางจิต ทางสังคม จิตวิญญาณต่างๆ แต่ยังรวมถึงความเข้าใจพัฒนาการและวิธีการทำงานนอนหลับพักผ่อนและอะไรต่อมิอะไรของสมอง และปฏิบัติต่อมันอย่างสอดคล้อง ดูแล ฟูมฟัก เอื้ออาทร 

 

ที่ผ่านมานี่เราก็เป็นนะ คือละเลย มองข้าม ไม่รู้ แต่พักหลัง ดีขึ้น คือ รู้ว่าสมองชอบอะไร พักผ่อนอย่างไร กระตุ้นได้ดีตอนไหน ก็จะไม่ค่อยฝืนสมองตัวเอง หาทางหลบหลีกสภาพการณ์ที่บีบให้เราเค้นสมอง ไปสู่จังหวะที่สมองทำงานได้ดี และกลมกล่อม คือ ฟิน & Flow เท่าที่จะทำได้

..............................................................................................................................

หนังสือชี้ชัดว่า สุดยอดโค้ชจะรู้จักลูกศิษย์หรือลูกทีมตัวเองเป็นอย่างดี หมายถึงไม่ได้สนใจเฉพาะแต่ในสาขาวิชาที่พวกเขามาร่วมกระบวนการหรือทำทีมด้วยกัน  หากแต่รู้ลึกถึงข้อมูลชีวิตแทบทุกด้านของเขาเหล่านั้น ก่อนจะประมวลมาเป็นกลวิธีเฉพาะ และสร้างวินัยในการฝึกฝนทำซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง  

 

เงื่อนไขปริมาณเวลาที่ใช้ฝึก ไม่สำคัญเท่ากับการหาจุดที่ฝึกได้อย่าง “กลมกล่อม” แล้วโฟกัสตรงจุดกลมกล่อมนั้น

 

อันนี้ สำหรับเรา....มันใช่เลย

 

คือไม่ใช่ ขยันแบบไม่ดูตามาตาเรือ ไม่มีตาในในการมองย้อน ทบทวน วงจรการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง (อย่างที่อาจารย์เคยสอน) มันก็จะวน Loop เดิมๆ คือ Downloading หรือ อย่างเก่งก็ Discussion/Debate ไปไม่ถึง Reflection และ Innovation แม้จะใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ก็แก้ปัญหาอะไรได้ไม่มาก หรืออาจจะไม่ได้เลย เพราะ VUCA World & Disruption รวมถึง COVID-19 และอะไรต่อมิอะไร มันจะยิ่งทำให้โลกผันผวน สุดหยั่งที่จะคาดเดาขึ้นเรื่อยๆ

 

เท่าที่เราเห็นส่วนใหญ่ ไม่ว่า ภาครัฐ หรือประชาสังคม โดยมากก็ยังใช้ วิธีการเรียนรู้และขยันๆๆ แบบเดิม ใช้วิธีคิดในระนาบเดิม ถึงจะเพิ่มไอทีเข้าไป แต่ก็ยังวนลูปการเรียนรู้เดิม

 

เห็นสุขภาพหลายคนออกอาการย่ำแย่ เป๋ เสียสมดุล เราก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะบอกใครได้มากมาย

 

ก็คิดว่าเราสอนตัวเองแล้วก็ถ่ายทอดออก Facebook บ้าง Blog แบบนี้บ้าง ก็น่าจะมีคนสนใจ

 

ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้นะครับ

 

บางคน อ่านสามบรรทัดแล้วชิ่งไปก็ไม่เป็นไร 

อย่างน้อย สักวันถ้าเขาค้นหาคำตอบ 

 

เราก็อาจจะเจอกันทางสะพานไอทีแบบนี้

..............................................................................................................................


สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่หลวงเลยสำหรับภาคประชาสังคมตอนนี้ คือ นอกจากจะติดบ่วงความขยันแต่ไม่มีเวลาพอต่อการ Reflection หรือพัฒนาวงจรการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งแล้ว บางคน ประชุมออนไลน์วันละสามสี่วง เช้ายันค่ำ 

 

จอประสาทตาจะเริ่มไป พร้อมกับตับไตไส้พุงอันเนื่องมาจากโรคจากการนั่ง หลัง ไหล่ ติดยึด ฯลฯ  

 

อันนั้นคือ สภาวะผู้นำที่ไม่รู้เท่าทันตัวเองแล้ว น่าเป็นห่วง 

และสึนามิลูกใหญ่ที่จะตามมาคือ การขาดคนรุ่นต่อไปที่จะมาสืบสานต่อยอดงานที่ทำ 

เพราะตัวเองวนอยู่แต่งานเฉพาะหน้าและการพัฒนา /เรียนรู้ ใน Loop เดิม จนไม่มีเวลาหรือมองข้ามการสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องสร้างผ่านการโค้ช ไม่ใช่อบรมแบบเดิม หรือให้คนรุ่นใหม่ฝึกแบบ On the job ไปลงพื้นที่ชุมชนกลับมาห้าปีสิบปีอย่างรุ่นตัวเอง

อย่างนั้นยุคนี้ คนรุ่นนี้ มันไม่ใช่แล้ว

เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ชี้ทางสว่างเลยนะ เรื่องการรู้จักโค้ชคน ผู้เขียนใช้คำว่า “การฝึกฝนอย่างลึกล้ำ” ทำได้ไง แบบจากคนที่ต่ำต้อยติดลบกระโจนขึ้นสู่แชมป์ได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ 

อันนี้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่โยงกับเคล็บลับในการสร้างฉนวนนำใยประสาทสมองที่ชื่อ “ไมอีลิน” ซึ่งมันเกิดจาก “การฝึกอย่างลึกล้ำ” และย้ำที่ “จุดกลมกล่อม”

 

“การฝึกอย่างลึกล้ำ” ในหนังสือที่พูดถึงการเชื่อมตนเองกับรากเหง้าบรรพบุรุษก็ดี , คนที่เป็น Idol , สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่ตนเคารพนับถือก็ดี หรือการรู้จักสังเกตและดึงเอาพฤติกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันมาปรับใช้ในการฝึกก็ดี 

เหล่านี้คือองค์ประกอบที่สุดยอดโค้ชเหล่านั้น นำมาปรุงให้ลูกศิษย์ลูกหาเกิดการฝึกอย่างล้ำลึก 

 

นี่คล้ายๆกับสิ่งที่เราได้ผ่านมาในหลักสูตร Leaders by Heart เลย 

ที่ต่างกันน่าจะเป็นที่เป้าหมายกระมัง ซึ่งหากมองในส่วนของโค้ชในหนังสือนี่ จะเห็นเป้าหมายเฉพาะบุคคลหรือทีมได้ง่ายกว่า เด่นชัดกว่า จับต้องได้ง่ายกว่า 

แต่ถ้าเป็นบรรดาภาคประชาสังคมที่เข้าโปรแกรมหลักสูตร เป้าหมายมันใหญ่ เป็นเป้าหมายทางสังคมซึ่งกว้าง ตัวแปรมาก มีความซับซ้อน และต้องใช้เวลามากกว่ามาก 

 

อย่างไรก็ตาม หากในแง่กระบวนการแล้ว The Talent Code กับ Leaders by Heart ไม่ต่างกันเลย เว้นแต่ เรื่อง “ไมอีลิน” ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ทางสมองที่ในหลักสูตรไม่ได้พูดถึง

หากอีกเรื่องที่หนังสือเล่มนี้ไม่มี แต่ Leaders by Heart มีคือการนำเอาหลักศาสนาคือ “อิทธิบาท 4” มาอธิบาย และวาดเป้าหมายกว้างกว่าตัวตนแบบปัจเจก หรือทีมเล็กๆไปสู่สังคมใหญ่ อันนี้เป็น Post-Program ไปแล้ว ถ้าใครตามอ่านไลน์กรุ๊ปก็จะเห็นว่าอาจารย์เคยนำเรื่องอิทธิบาท 4 นี่มาเปรยๆไว้ในไลน์เมื่อปีก่อนว่าถ้าได้มา Re-union กันก็จะนำเรื่องนี้มาสอน เราก็เลยลองคิดเชื่อมโยงระหว่าง เนื้อหาในThe Talent Code  กับหลักอิทธิบาท 4

..............................................................................................................................


อิทธิบาท 4 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านแปลเป็นไทยว่าทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข

 

ถ้าใครไปอ่านที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แปลไว้ จะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่สอดคล้องกับหนังสือ The Talent Code แต่ยังมีความลึกไปถึงการใช้หลักองค์ประกอบของอิทธบาท 4 แต่ละข้ออย่างเห็นความสัมพันธ์กัน ทั้งยังเริ่มที่ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ไม่ตายตัว เช่น 


บางคนจะทำอะไรใจต้องรักก่อน ก็อาจจะเริ่มที่ฉันทะก่อน 
คนไหนมีลักษณะเป็นคนมีความใฝ่ใจรับผิดชอบ เรื่องของตัวเองเกี่ยวข้องจึงทำ ก็ใช้วิธีจิตตะ 
คนไหนมีนิสัยหนักเอาเบาสู้มุมานะชอบความท้าทาย ไม่กลัวอะไรขวางหน้า อันนี้ก็เน้นไปที่วิริยะ   บางคนที่มีจริตชอบทดลองค้นคว้า ชอบทดสอบ ชอบอยากรู้อยากเห็น เริ่มที่วิมังสา

 

ซึ่งก็คล้ายกับ วิธีการที่ไม่ตายตัวของสุดยอดโค้ชทั้งหลายในหนังสือเล่มนี้


พอเราโยงหนังสือมาสู่หลักอิทธิบาท 4 ก็คิดว่าจริงๆ อิทธิบาท 4 นี่ไม่เพียงแต่เป็นหลักการ แต่ยังเป็นกระบวนการที่ไม่ตายตัวอย่างที่ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยกตัวอย่าง 

 

และถ้ามองเป็นการเรียนรู้ อิทธิบาท 4 นี่เป็นวงจรแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เป็นวงจรที่หมุนแล้วยกระดับตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆเหมือนพายุ

..............................................................................................................................

น่าเสียดาย คนไทยเราเรียนอิทธิบาท 4 มาแต่เปลือก คือท่ององค์ประกอบ แถมยังมองเป็นขั้นบันไดที่แยกส่วนกัน มองเป็นแบบแผนที่ตายตัว ไม่ได้มองว่าเป็นวงจร เป็น Loop การเรียนรู้ที่ลึกล้ำซึ่งยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆได้

 

พอ attitude วิธีคิดต่อหลักการผิดเพี้ยน การออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง รวมถึงต่อคนรอบข้าง ต่อชุมชน ก็บิดเบี้ยวตามไป (ซึ่งส่งผลต่อ “ไมอีลิน” ตามที่หนังสือระบุไว้ตามมา)

 

ก็เลยกลับมาที่ “Tranformative Action Research” อันเป็นคำที่เราเจอในไลน์กรุ๊ป Leaders by Heart วันนี้   

ว่าจริงๆแล้ว มันเป็นกระบวนการที่ตัวนักวิจัยเอง หรือถ้าคิดในแง่งานพัฒนา ก็คือ แกนนำทั้งหลายเอง มองเห็นตัวเองอย่างมีสติ มีจิตปราณีต มีความเข้าใจ มองเห็นหลักการเบื้องหลังที่เราใช้กันอยู่ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นหรือไม่อย่างไร 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้ ที่ได้รู้จักเนื้อหาสาระจากหนังสือ The Talent Code , ประสบการณ์การฝึกใคร่ครวญถึงวงจรการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งจากโปรแกรม Leaders by Heart , รวมถึงความเข้าใจหลัก “อิทธิบาท 4” ในแง่ “ทาง” หรือกระบวนการที่เป็นพลวัต 

 

เมื่อพิจารณาทั้งสามส่วนที่เขียนไว้ในบันทึกนี้แล้ว เรากลับมาทบทวนตัวเอง และสร้าง”ดวงตาใหม่” ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม เครือข่าย กันอย่างไร

 

นี่ก็เป็นโจทย์ที่อาจารย์ไม่ได้ถาม แต่ “ศิษย์มีครู” ก็ควรรู้หน้าที่ในการถามและหาคำตอบนั้นด้วยตนเอง

 

ขอบคุณท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ขยายความเรื่องอิทธิบาท 4 และ ขอบคุณอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่กรุณาแนะนำหนังสือดีๆเล่มนี้

 

ใครยังไม่เคยอ่าน โดยเฉพาะคนที่ต้องมีบทบาทในการสร้างทีม สร้างข่าย สร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายรวมแต่งาน แต่หมายถึงลูกหลาน คนใกล้ชิด

 

แนะนำครับ

หมายเลขบันทึก: 692489เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2021 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2021 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท