ทำไมต้องดองเค็มการกระจายอำนาจท้องถิ่น


ทำไมต้องดองเค็มการกระจายอำนาจท้องถิ่น

17 กันยายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

พัฒนาการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ยังไม่ไปไหน

 

ผลการประชุมเตรียมการเลือกตั้ง อบต. จนยุติลงที่วันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564[2]เรียบร้อยแล้ว แต่ในความรู้สึกของคนในแวดวงท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า คน อปท.นั้น ยังมีคำถามที่ค้างคาใจมานานแสนนานร่วมกว่า 20 ปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สำหรับผู้เขียนเองได้นำเสนอข้อคิดบทวิพากษ์ต่างๆ นานามานานกว่า 7 ปี คือก่อนสมัย คสช. วนเวียนเวียนวนซ้ำๆ “การกระจายอำนาจท้องถิ่นอยู่ในวังวน” ติดล็อกนั่นนี่ ระหว่าง 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายอยาก” (กระจายอำนาจฯ) กับ “ฝ่ายดึงดัน” ชะลอ ต่อต้าน คัดค้านฯ เนื่องจากมีประเด็นหลักที่ขัดแย้งกันชนิดที่เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน ในราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น ขอยกตัวอย่างอาทิ เรื่อง กำนันผู้ใหญ่บ้านฯ (การปกครองท้องที่) เรื่องการยุบเลิกหมู่บ้านในเขตเมือง (ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ในเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร หายไป 721 คน) [3] อำนาจนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด 

และต่อมาในช่วง คสช.ก็มาเจอประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาแบบแผนเดียว (One Plan) [4] ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อท้องถิ่นมากที่ อปท.ต้องเข้าไปอยู่ในสารบบของแผนเดียวด้วย ประกอบกับ “การดองเค็ม” การเลือกตั้งท้องถิ่นที่นานแสนนานร่วม 7-10 ปี ตลอดทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. กรุงเทพมหานคร(กทม.) และเมืองพัทยา กระทบไปกันทั้งหมด นัยว่าการดองเค็มครั้งนี้มีเหตุผลที่ฝ่ายประชาธิปไตยหาเหตุผลมาได้ว่าก็เพราะ “ระบบอำนาจนิยม” (Authoritarianism) [5] ก็เพราะ “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” (Bureaucratic Polity, Centralization, An over-centralized) [6] ก็เพราะ “ผลประโยชน์ในฐานเสียงทางการเมืองของฝ่ายอำนาจนิยม” เพื่อสร้างฐานเสียง คุมท่อน้ำเลี้ยง[7] จากบนลงล่าง 

ปัจจุบันก็ยังไม่มีเหตุผลอื่นใดมาหักล้างเหตุผลข้างต้นได้ จะว่าเป็น “ระบบปกครองที่ถอยหลัง” [8] ก็ไม่ผิด กระแสการขอแยกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ออกจากกระทรวงมหาดไทยจึงมีมาเป็นระลอกๆ ในปี 2565 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “สถานการณ์เปลี่ยนผ่าน” [9] ในปีงบประมาณปีใหม่ 2565 ที่ อปท.ต้องสะสางปัญหาต่างๆ อีกมาก เพราะยังอีกไกล ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ท่ามกลางวิกฤตหนี้ประเทศ เศรษฐกิจรากหญ้าที่สาหัส ส่วนกลางต้องเลิกในผลประโยชน์ และ เลิกเชื่อลูกลิ่วในระบบราชการ ในตำแหน่งกับการเอื้อประโยชน์ที่ต่างตอบแทนแลกกัน

 

ปฐมบทการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

เริ่มจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 หมวด 9 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น[10] ที่รัฐได้กระจายอำนาจให้แก่ อปท.ทั้งในด้านการถ่ายโอนภารกิจงบประมาณ และบุคลากร อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 จนผ่านเลยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาแบบเปล่าๆ ไม่มีอะไรก้าวหน้า และมีถูกดองต่อในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นี่ก็ร่วม 4 ปี เหมือนดังเช่นช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ผิด

การกระจายอำนาจการคลังท้องถิ่น ระบบการจัดสรรรายได้ การมีอิสระในการกำหนดรายได้ (Fiscal Decentralization, Revenues Assignment) การสร้างศักยภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ความสามารถในการบริหารจัดการของ อปท.) เป็นสิ่งสำคัญมาก[11] แต่ย้อนมาดูบทบัญญัติตามกฎหมายที่มี ยังหดหู่ ตบแต่งตัวเลขข้อมูลให้พอผ่านๆ เท่านั้น

 

ค่าใช้จ่ายบริหารงานบุคคลท้องถิ่น 40% ตามมาตรา 35

 

แม้คน อปท. อยากให้ตัดคำว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นตามกฎหมายไม่เกิน 35% เป็นให้ไม่เกิน 40% เพราะหากเอาเรื่อง 35%[12] มาเป็นฐานในการกำหนดกรอบโครงสร้าง อปท.แล้ว ทำให้เกิดปัญหามากในการเติบโตก้าวหน้า (Career Path) ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำมาก การเสนอยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 35[13] แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ดังกล่าวก็ยังกระทำไม่ได้

คาดว่าในอีกไม่กี่ปี คำว่างบไม่เกิน 35% อปท.ก็จะเอาไม่อยู่ เพราะ การปรับลดตำแหน่งฝ่ายประจำที่ยากซึ่งไม่ค่อยมีหน่วยราชการองค์กรใดกระทำกัน เนื่องด้วยมี อปท.ขนาดเล็กๆ มากมาย ที่ไม่มีรายได้เพียงพอในการบริหารงาน แม้ว่าในช่วง สปท. (ปี 2558) มีข้อเสนอให้ยุบควบรวม อปท.กว่า 3,000 แห่ง แต่ก็ยุบควบรวมไม่ได้[14] ปัญหาจึงสะสมมาถึงวันนี้ ที่ผ่านมางบประมาณท้องถิ่นรัฐทำได้แค่ 27-28% ร้อยละ 29 เศษๆ มากว่า 20 ปี ยังข้ามร้อยละ 30 ไม่ได้สักปี[15] แถมยังเอางบประมาณนม อาหารกลางวัน เบี้ยผู้สูงอายุ มาแฝงไว้อีก[16]ที่สำคัญ อปท.จะพัฒนารายได้อย่างไรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตของโลกในยุคติจิทัลที่ดิสรัปชั่น (digital technology first)[17]นี้

เป้าหมายข้างหน้า คือ อปท.ต้องหาเงินร่วมกับรัฐบาล คณะกรรมการกระจายอำนาจ ให้การจัดสรรเงินภาษีที่รัฐจัดเก็บให้ เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ไม่ใช่จัดสรรให้เฉพาะเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่เหวี่ยงแห แย่งงบกันแบบไร้เป้าหมายเช่นในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

เพราะ ต่อไป อปท.ต้องเลิกคิด คำว่า สำนัก กอง งาน ได้แล้ว ปัจจุบันการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้แผนงาน เป็นหลัก ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เลิกใช้ “หน่วยงาน” แล้วแค่ใช้ “แผนงาน” เป็นหลัก ในแผนพัฒนาห้าปี อปท. เลิกใช้คำว่ายุทธศาสตร์ แล้ว จึงเขียนได้แค่ ประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องเอามาจาก แผนระดับชาติ กลุ่มจังหวัด จังหวัด ฉะนั้น เมื่อเข้าแท่งค่างานจึงสำคัญกว่าตำแหน่งที่ครอง วัดค่างานได้ด้วยความสามารถของบุคคล จึงขยายตำแหน่ง ด้วยค่างานเรียก “กลุ่มงาน” ซึ่งมีระดับขั้น ไม่ต้องเทียบ ผอ. รองผอ. รองปลัด หัวหน้ากลุ่มงาน ขึ้นระดับ เทียบเท่าปลัด อปท. ซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายประจำได้เลย Career Path จึงมีทางออกแล้ว

 

การปรับเปลี่ยนกิจกรรมสาธารณะเพราะแผนยุทธศาสตร์ชาติ  

 

หน้าที่และอำนาจของ อปท. “โดยเนื้อหาในภารกิจ” ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายจัดตั้ง กฎหมายกระจายอำนาจ และรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ และ “การถ่ายโอนอำนาจฯ” เมื่อนำมาประมวลย่อแล้ว อาจสรุปเป็นหัวข้อหลักใหญ่ได้ 3 ภารกิจ ได้ดังนี้ (1) การบริการสาธารณะ รวมกิจกรรมสาธารณะ (Public Service & Public Activity) [18] เพราะ การบริการสาธารณะเป็นกิจกรรม (Activity) ด้วย (2) การพัฒนารายได้ (3) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมแก่ท้องถิ่น 

กระบวนการบริหารตามหลัก 4 M นั้น อปท.ก็ยังใช้ได้เช่นเดียวกับการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ถึงแม้กฎหมายจัดตั้ง อปท.ได้กล่าวไว้เพียงว่า อปท.เป็น “ทบวงการเมือง”[19] ที่มีรูปแบบหลัก คือ “สภา อปท.และ นายก อปท.” กล่าวถึงเรื่องการงบประมาณ หน้าที่ และทรัพย์สินไว้ แต่ไม่ได้กล่าวถึง ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ของ อปท.ไว้มากนัก เพราะต้องไปปรากฏในกฎหมายลูก ที่มีรายละเอียดแยกต่างหาก คือ กฎหมายบริหารงานบุคคล เป็นต้น จะเห็นว่ากระบวนการดำเนินงาน ของ อปท.ได้เดินไปตามแผนพัฒนาระดับชาติที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ “แผนปฏิบัติการ 5 ปี” ซึ่งกระทรวง กรม ส่วนกลางได้ถือปฏิบัติตามแนวทางนี้ โดยกลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ และ อปท.ต่างก็กำหนด “แผนพัฒนา 5 ปี” ตามกันทั้งสิ้น สำหรับ อปท.เรียก “แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี” ซึ่งได้ยกเลิก แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 10 ปี แผน 3 ปี แผน 4 ปีไปทั้งหมดแล้ว 

ฉะนั้น ตามความเข้าใจเดิมๆ ว่า “แผนพัฒนา 4 ปี” ที่สอดคล้องกับวาระ ของสมาชิกสภา และนายก อปท.จึงหมดไปโดยปริยาย เพราะการกำหนดยุทธศาสตร์ จะเหลือแต่ระดับจังหวัด ซึ่ง อปท.จึงเลือกใช้แต่ ประเด็นยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์การพัฒนา เท่านั้น สรุปได้อย่างง่ายๆ ว่า เรื่องการกำหนดทิศทางการพัฒนาของ อปท.จึงถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์จังหวัด แล้ว อปท.จึงเลือกทำโครงการ กิจกรรมย่อย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น การจัดทำงบประมาณ ตามแผนงาน ระบบบริหาร ทุกระดับของไทย ก็ใช้วิธีเดียวกันทั้งหมด เรียกได้ว่า “แกะกล่องพิมพ์เดียวกัน” จะเห็นว่า โครงสร้างการบริหารคน โครงสร้างอำนาจหน้าที่ และการบริหารเครื่องมือ เครื่องใช้ ของ อปท. จึงเป็นรูปแบบเดียวกันกับการบริหารประเทศ และอีกทั้งยังสอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของส่วนกลางให้ไปด้วยกัน

แต่โดยบริบทแห่งหน่วยงานองค์กรแล้ว อปท.มีความแตกต่างมากจาก การบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค กล่าวคือ มีตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นลักษณะของ “การเมือง” (ท้องถิ่น) มาดำเนินการตัดสินใจใน โครงการ กิจกรรม และในบริบทสังคม สิ่งแวดล้อม พื้นที่ และกิจกรรม โครงการ ที่เลือกทำในแต่ละ อปท.ที่แตกต่างกันไป จึงมีความแตกต่างกันระหว่าง อปท.กับ ราชการส่วนกลาง และแตกต่างจากราชการส่วนภูมิภาค แม้กระทั่งราชการส่วนกลางที่ไปประจำในส่วนภูมิภาค มองในมิตินี้ อปท.และราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคจึงมีความซ้ำซ้อนกัน เกือบแทบทุกภารกิจ เช่น ภารกิจด้านการศึกษา การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สาธารณภัย สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

 

อย่าอ้างการกำกับดูแล อปท.

 

ยิ่งราชการส่วนกลางอ้างอำนาจ “การกำกับดูแล” (เดิมเทศบาลใช้คำว่า “ควบคุมดูแล”) [20] จึงมีการใช้อำนาจเลยเถิดต่อ อปท.มาเป็นผู้บังคับบัญชาเสียเอง กำกับบทบาทเสียเอง จึงมีให้เห็นอยู่ประจำ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่อำเภอและจังหวัด รวมทั้งให้ อปท.ทำภารกิจหน้าที่ต่างๆ แทนราชการส่วนกลาง เรียกว่า “ทำตามใบสั่ง” อย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในสถานการณ์ “โควิด” ในปัจจุบัน ทั้งศูนย์กักกันตัวในพื้นที่ (Local Quarantine : LQ) ศูนย์พักคอยชุมชนผู้ป่วยสีเขียว (Community Isolation : CI) หรือการให้พักคอยที่บ้าน (Home Isolation : HI) ล้วนมีแบบแผนมาจากส่วนกลาง แต่ผลงานที่เกิดขึ้น กลับเป็นผลงานของหน่วยราชการ (ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค) ในพื้นที่ แย่งซีน (scene) แย่งกันเสนอหน้าอีเว้นต์กันอย่างไม่ลดละ ทำเอาบทบาทที่ควรจะเป็นของท้องถิ่นหายไปเลย ความซ้ำซ้อนในเรื่องการจ่ายเงินงบประมาณ จึงเกิดขึ้นบ่อยๆ แม้ว่าจะมีการกำชับให้พึงระมัดระวังการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนก็ตาม เช่น ในกรณีของการเบิกจ่ายศูนย์ CI/HI เพราะที่การใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนกันได้ เป็นต้น

อปท.จึงถูกตรวจสอบ ถูกทักท้วงจากหน่วยตรวจสอบอยู่เป็นประจำ เพราะ อปท.เป็น นิติบุคคล ที่บริหารงานงบประมาณเอง ไม่เหมือนหน่วยราชการอำเภอ ที่เป็นหน่วยงานย่อยของจังหวัด กรม กระทรวง

การขอความร่วมมือ การบูรณาการงาน ที่สุดท้ายต่างก็ตกเป็นหน้าที่ของ อปท.รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณด้วย คน อปท.กว่าจะรู้ตัว ก็ถูกชี้มูล ถูกปลด ถูกสั่ง ให้พ้นหน้าที่ ทั้งข้าราชการฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมืองท้องถิ่นกันมากมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ เช่น การใช้เงินจ่าย ไม่คุ้มค่า แพงเกินจริง หรือ เบิกจ่ายไม่ใช่ภารกิจหน้าที่ หรือ เบิกจ่ายซ้ำซ้อน หรือทุจริต ก็แล้วแต่ช่องโหว่ของระเบียบ กฎหมายและข้อสั่งการของส่วนกลางที่มี เพราะ อปท.ไม่สามารถออกกฎ ระเบียบเองได้เอง การกำกับ การบังคับใช้กฎหมายของ อปท.ต้องมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย มท.) กำหนด แม้กระทั่งการออกหนังสือ กำชับ กำกับให้ อปท.ไว้แล้วเพียงใดก็ตาม ย่อมมีความผิดพลาดได้ด้วย “อำนาจดุลพินิจ” ของเจ้าหน้าที่และฝ่ายบริหารท้องถิ่น และเมื่อถูกทักท้วง ชี้มูลจาก ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. แล้ว คน อปท มักจะถูกโดดเดี่ยวให้ต่อสู้คดีด้วยตนเอง ผลสุดท้ายจบชีวิตในตำแหน่งหน้าที่ราชการหมด 

อีกทั้งปัญหาช่องว่างการบริหารของส่วนกลาง เช่น การให้ผู้ติดเชื้อโควิดกลับมารักษาที่บ้านและอาศัยอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว เพราะไม่มีที่กักตัว อาจคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่แล้วในการลดภารงาน แต่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะไร้ความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่โยนภาระปัญหาที่พึงจะเกิดขึ้นแก่ท้องถิ่น เพราะ แบบนี้ก็ติดกันทั้งหมู่บ้านสิ น่าเป็นห่วงมากเลย

 

วิพากษ์การยุบควบรวม อปท.

 

ข้อเสนอ อปท.ใกล้เคียงให้รวมกัน[21] เช่น เทศบาล และ อบต. โดยเฉพาะที่เป็นพื้นที่ตำบลเดียวกัน อาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือ (1) มีรายได้ อปท. 2 แห่งรวมกัน (2) ประหยัดงบประมาณด้านบุคลากร เมื่อควบรวมกันแล้วเช่น ค่าตอบแทนฝ่ายการเมือง เงินเดือนข้าราชการพนักงานจ้าง (3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง แต่รายได้เพิ่ม (4) แก้ไขปัญหาการปรับโครงสร้างและการเติบโตก้าวหน้าในสายงานข้าราชการ (Career Path) ได้ทุกตำแหน่งทั้งสายงานผู้บริหาร คือ แท่งบริหารท้องถิ่น และแท่งอำนวยการท้องถิ่น และสายงานผู้ปฏิบัติ คือแท่งวิชาการและแท่งทั่วไป (5) จะมีเงินงบประมาณเหลือไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ทั้งตำบล

การควบรวม อปท. เป็นแนวทางการพัฒนาแบบมุ่งเน้นพื้นที่ (Area Based Management) [22]โดยมิใช่แบบพัฒนาแบบมุ่งเน้นภารกิจ (Functional Based Management) เป็นสิ่งจำเป็น ถือเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นด้วย อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ในระหว่างท้องถิ่นต่างๆ ลง เพราะท้องถิ่นแต่ละแห่งมีพื้นที่ ประชากร ศักยภาพ การเงินการคลังฯ ที่แตกต่างกัน มีผู้สรุปว่า ประเด็นการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 2 ประเด็น[23] คือ (1) อำนาจหน้าที่ของ อปท. และ (2) การกำกับดูแล อปท. ก็น่าจะเพียงพอก่อน

 

เมื่อไหร่หนอ อปท. จะพ้นบ่วงวิบากกรรมปัญหาสารพัดที่ตนเองไม่ได้สร้างเสียที เพราะ ตลอดระยะเวลาการกระอำนาจเทียมๆ แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มากว่า 20 ปี[24] ยังมาแค่นี้เอง ยังไกลมากกว่าจะลืมตาอ้าปาก แถมพี่น้องคน อปท. ต่างหลากหลายความคิด นานาจิตตัง ทะเลาะเบาะแว้ง มีความเห็นต่างกันเนืองๆ เห็นต่างปกติธรรมดาไม่ว่า แต่อย่าเห็นต่างกัน “สุดขั้ว” แล้วกัน

 

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 17 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/281001 

[2]กกต.เคาะเลือกตั้ง “อบต.” 28 พ.ย. เปิดรับสมัคร 11-15 ต.ค., ประชาชาติธุรกิจ, 13 กันยายน 2564, https://www.prachachat.net/politics/news-759828

& เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ “เลือกตั้ง อบต.” 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ, กรุงเทพธุรกิจ, 14 กันยายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/960049

& เช็คที่นี่ กกต.เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง อบต. ชุดเดิมนับถอยหลังพ้นตำแหน่ง, แนวหน้า, 15 กันยายน พ.ศ. 2564, 16.51 น., https://www.naewna.com/politic/602355

& กกต.เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง”อบต.”, สยามรัฐออนไลน์, 16 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/280825

[3]ระบบปกครองที่ถอยหลัง, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 7 กันยายน 2562, https://www.thairath.co.th/news/politic/1654558

[4]แผนพัฒนาแบบแผนเดียว (One Plan)คือการจัดทำและประสานแผนพัฒนาในระดับพื้นที่เป็นลักษณะแผนเดียวกัน (One Plan) โดยมีการบูรณาการเชื่อมโยง แผนการพัฒนาพื้นที่ ให้มีลักษณะเป็นแผนเดียว One Plan มีการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนระดับนโยบายสู่แผนในระดับพื้นที่ (One Plan) ให้แผนทุกระดับเป็นแผนเดียวกัน เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาอำเภอ ในลักษณะเป็นแผนเดียวกัน (One Plan) 

ดู

ยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นในมิติใหม่, สยามรัฐออนไลน์, 31 สิงหาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/99974 

[5]ลัทธิอำนาจนิยม (Authoritarianism)เป็นรูปแบบรัฐบาล เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ตามปกติมักตรงข้ามกับปัจเจกนิยมและอิสรนิยม ในทางการเมือง รัฐบาลอำนาจเป็นรัฐบาลซึ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมืองกระจุกตัวอยู่กับนักการเมืองกลุ่มเล็ก : วิกิพีเดีย

ระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism/authoritarian regime) ก็คือระบอบซึ่งฝ่ายบริหารได้อำนาจมาโดยผ่านวิธีการไม่ประชาธิปไตย/ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยตรง

ดู การเมืองอำนาจนิยม : นิยามและความเป็นมา โดย เกษียร เตชะพีระ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2564, ในมติชนออนไลน์, 26 สิงหาคม 2564, https://www.matichonweekly.com/column/article_453565

[6]“การกระจายอำนาจ” (Decentralization) คำอธิบายที่ได้ย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ทัศนะมุมมอง “รัฐไทย” เน้นมุ่งการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางการปรับตัวกระชับความแข็งแกร่ง และคลี่คลายเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ และพัฒนาเป็น “รัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป” (Over-centralized state) ในรัชสมัยต่อๆ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะรวมศูนย์อำนาจการปกครองการบริหารเข้าสู่ส่วนกลางแล้วก็ยังรวมศูนย์อำนาจทุกๆ ด้านเข้ามาไว้ด้วย อาทิเช่น การศึกษา วัฒนธรรม การศาสนา เศรษฐกิจ ฯลฯ

ทว่าแล้ว แนวโน้มการกระจายอำนาจจึงเริ่มก่อรูปขึ้น ด้วยความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้พร้อมๆ กับการ ปฏิรูปการเมือง (Political Reform) “ส่วนบน” ภายหลังจากเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาฯ ปี 2535 (นับแต่เกิดกระแสรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ขึ้นมา) โดยเน้นย้ำถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับ หนึ่ง การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น สอง การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และ สาม ความเป็นอิสระของท้องถิ่นในทุกๆ มิติมากยิ่งขึ้น

ดู 

10 ปี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น(พ.ศ.2543-2552) : ฤาการเดินทางเพื่อกลับมา “หยุด” ตรงจุดเดิม, โดย ณัฐกร วิทิตานนท์, 31 ธันวาคม 2552 เผยแพร่ในประชาไท, 4 ตุลาคม 2553, https://prachatai.com/journal/2010/10/31342 

& การกระจายอำนาจการปกครอง  (Regime Decentralization) โดย สุทธินันท์ สุวรรณวิจิตร และ บุญเรือง เตชะวิวัฒน์กุล, วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์  ปีที่ 8 ฉบับที่ 5 เดือนพฤษภาคม 2564 หน้า 123-134, https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JMND/article/download/252206/168952/

[7]ปัญหาการกระจายอำนาจ, โดยหมัดเหล็ก, ไทยรัฐออนไลน์, 8 มิถุนายน 2556, https://www.thairath.co.th/content/349722

[8]ระบบปกครองที่ถอยหลัง, 7 กันยายน 2562, อ้างแล้ว

[9]คำว่า “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” (transition period) เช่น ช่วงเปลี่ยนผ่าน “อังกฤษ” หลัง Brexit (ขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) มีผล 1 มกราคม 2564 เป็นแนวคิดเรื่องช่วงเวลาเพื่อให้มีเวลาสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต การเปลี่ยนผ่าน (transition) เป็น กระบวนการที่มีระยะหรือขั้นตอน (stage or phase) เป็นต้น สรุปภาษาบ้านๆ ว่าเป็นช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นช่วงแห่งวิกฤติที่สำคัญมาก

[10]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 282–290), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/055/1.PDF

มาตรา 284 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ

การกำหนดอำนาจและหน้าที่ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยกันเอง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ

เพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการ กระจายอำนาจ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

(2) การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของ รัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองเป็นสำคัญ

(3) การจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ตาม (1) และ (2) ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่ เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวน เท่ากัน

ในกรณีที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่และการจัดสรรภาษีและอากรตาม (1) และ (2) ให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นใดแล้ว คณะกรรมการตาม (3) จะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับ แต่วันที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่หรือวันที่มีการจัดสรรภาษีและอากร แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม ของการกำหนดอำนาจและหน้าที่ และการจัดสรรภาษี และอากรที่ได้กระทำไปแล้ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจ เพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ

การดำเนินการตามวรรคสี่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงานรัฐสภาแล้ว ให้มีผลใช้บังคับได้

[11]ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปการกระจายอำนาจ (1) การกระจายอำนาจการคลังท้องถิ่น ระบบการจัดสรรรายได้ การมีอิสระในการกำหนดรายได้ (Fiscal Decentralization, Revenues Assignment) (2) การสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด (3) การสร้างศักยภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ความสามารถในการบริหารจัดการของ อปท.)

ดู ประเด็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น, เอกสาร สปช. 2558, 

http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/08/reviewการกระจายอำนาจ.pdf 

[12]การกำหนดตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นประเภทบริหารท้องถิ่น ระดับสูง ได้ โดยความเห็นชอบของ ก.อบต. จังหวัด และ ก.อบต. และผ่านเกณฑ์ประเมินด้านเกณฑ์พื้นฐาน เกณฑ์ปริมาณงานและเกณฑ์ประสิทธิภาพ การประเมินการกำหนดหรือปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ ระดับสูง เงื่อนไขการประเมิน ภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคล ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในปีงบประมาณที่ผ่านมาและปีที่ขอกำหนดตำแหน่งรวมกันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 35 โดยให้คำนวณภาระค่าใช้จ่ายตามกรอบแผนอัตรากำลัง 3 ปี รวมกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงตำแหน่งและภาระค่าใช้จ่ายซึ่งรองรับผู้ดำรงตำแหน่งเดิม (ถ้ามี) จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ ที่ขอกำหนดตำแหน่ง คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 35 

ดู มาตรา 35กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายการบริหารงานบุคคลนั้น อปท.แต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้ แต่ประกาศมาตรฐานทั่วไปการกำหนดโครงสร้างของ อปท.เช่น อบต.กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินร้อยละสามสิบห้า (35%)

อ้างจาก ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ตามมติคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล ในการระชุมครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไป เกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562

[13]มาตรา 35 ในการจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และเงินค่าจ้างของข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้าง ที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้

[14]องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนกว่า 3,000 แห่งจากทั้งหมด 7,853 แห่ง มีประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบน้อยกว่า 5,000 คน และมี อปท. จำนวนไม่น้อยที่มีประชากรภายใต้การดูแลต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งถือว่ามีขนาดที่เล็กเกินกว่าที่จะเกิดความคุ้มค่าในเชิงการบริหารจัดการ เนื่องจากงบประมาณประจำปี ส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าใช้จ่ายในรายจ่ายประจำโดยจะเหลืองบประมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อที่จะใช้ในการจัดหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนมาก ยังเป็นการทำให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานยากขึ้นในการติดตามและตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานของท้องถิ่นรวมถึงการบริหารจัดการด้านการเงิน ตลอดจนการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หากคำนึงด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กยังขาดความเป็นไปได้ในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีกว่า 150 บทบาท (แม้จะมีความทับซ้อนในหน้าที่กับหน่วยงานอื่นบ้างก็ตาม) ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ พ.ศ. 2542 การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนมากและไม่มีความชัดเจนในการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบก่อให้เกิดความทับซ้อนในการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานส่วนกลางยังคงทำหน้าที่หลักในการให้บริการสาธารณะด้านสังคมต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณสุขและการศึกษา ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ทรัพยากรที่มีไปในการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ

ดู 

รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย: รายงานศึกษาฉบับที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น (67486 v2)(เอกสารธนาคารโลกแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ), จัดทำการศึกษาโดย ดร. อันวาร์ ชาห์, ชาห์บี อาลี โมฮิบ, ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล, โรเบิร์ต บูท (ธนาคารโลก) และ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โดยได้คำชี้แนะและความร่วมมือจาก คุณวีระชัย ชมสาคร สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2554, https://documents1.worldbank.org/curated/en/219131468312352683/pdf/674860v20P14640ons0Paper0THAI0Clean.pdf

[15]สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาล (2537-2553) : ปีงบประมาณ/สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาล (คิดเป็นร้อยละ %)

2537=7.71% 2538=7.53% 2539=7.64% 2540=11.12% 2541=13.21% 2542=14.20% 

2543=13.24% 2544=20.68% 2545=21.88% 2546=22.19% 2547=22.75% 2548=23.50% 

2549=24.05% 2550=25.17% 2551=25.20% 2552=25.25% 2553=25.02% 

สัดส่วนรายได้ อปท. ต่อรายได้สุทธิรัฐบาล ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2564 (ร้อยละ %) ดังนี้

2558=27.80% 2559=28.16% 2560=29.36% 2561=29.42% 2562=29.47% 2563=29.43% 2564=29.72%

ตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ได้กำหนดสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมาตรา 30(4) กำหนดการจัดสรรภาษีและอากร เงินอุดหนุนและรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกำหนดให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 เป็นต้นไป ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 35

ดู 

10 ปี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น(พ.ศ.2543-2552) : ฤาการเดินทางเพื่อกลับมา “หยุด” ตรงจุดเดิม, โดย ณัฐกร วิทิตานนท์, 31 ธันวาคม 2552 เผยแพร่ในประชาไท, 4 ตุลาคม 2553, อ้างแล้ว

& องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในมิติปัญหาทางการคลัง โดย บรรเจิด สิงคะเนติ และ ดารุณี พุ่มแก้ว ในบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยโครงการ”ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในทศวรรษหน้า” ทุนวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ประจำปี 2559-2561, https://www.tci-thaijo.org/index.php/pajournal/article/download/111564/87107/

& รายงานการวิเคราะห์การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, รายงานการวิเคราะห์การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, มิถุนายน 2564, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=992   

[16]อปท. สะท้อนหากตัดงบฯ อาหารกลางวัน-นม-เบี้ยคนแก่ เดือดร้อนหนักแน่, ข่าวมติชนออนไลน์, 30 สิงหาคม 2563, https://www.matichon.co.th/region/news_2328190

[17]ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง เน้นปรับรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน - ภาคประชาสังคม - สถาบันการศึกษา เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างหลายอย่างที่รุนแรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภาพ (productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำและเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศอื่น  โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบดั้งเดิม มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ รวมถึงการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (technology disruption) ซึ่งกระทบต่อวิธีการทำงาน โดยเฉพาะวิธีการทำงานของแรงงานทั่วไป เพราะมีการใช้กลไกหุ่นยนต์แทนการทำงานมากขึ้น

ดร.วิรไท ได้ฝากสามคำถามสำคัญไว้ให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาครัฐพิจารณาก่อนที่จะเริ่มทำโครงการใดๆ ต้องถามตัวเองว่า (1) โครงการต่างๆ ที่จะทำจะมีผลช่วยปรับโครงสร้างและสร้างความยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ จะตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตอย่างไร (2) หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเป็นคนลงมือทำโครงการเหล่านี้เอง หรือควรมีบทบาทสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน หรือท้องถิ่นที่เก่งกว่า มีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าเป็นคนลงมือทำ และ (3) ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นกลไกในการดำเนินการหลักหรือไม่ ในโลกปัจจุบัน ทุกเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐคิดจะทำควรต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลก่อน (digital first) เสมอ 

ดู “ดร.วิรไท” ชี้ไทยต้องปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง เน้นปรับรูปแบบการทำงานร่วมกัน, แนวหน้า, 13 กันยายน 2564, https://www.naewna.com/business/601908   

[18]นนทวัฒน์ บรมนันท์ (2552) ได้อธิบายว่า การบริการสาธารณะเป็นกิจกรรม (Activity) ของฝ่ายปกครองที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประกอบด้วย การดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลมหาชนเป็นผู้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง และกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการของประชาชน

ดู จริยธรรมในการให้บริการสาธารณะของไทย โดย สถาพร วิชัยรัมย์ และคณะ, สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ ในวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) หน้า 117, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jra/article/download/178618/128703/

[19]“ทบวงการเมือง” เป็นนิติบุคคลมหาชน หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีอำนาจในการที่จะสั่งการเหนือนิติบุคคล เป็นอำนาจบางอย่างที่นิติบุคคลไม่มี เช่น อำนาจในการเรียกเก็บภาษี อำนาจในการเวนคืน โดยการใช้อำนาจเหล่านี้นิติบุคคลมหาชนสามารถใช้เพื่อบังคับกับเอกชนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 เทศบาลตำบลมีฐานะเป็นทบวงการเมืองและเป็นราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตเทศบาล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนโดยไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีหรือส่วนราชการใดๆ

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดให้ส่วนราชการต่อไปนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือทบวงการเมือง (1) ราชการส่วนกลาง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม (2) ราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด ถึงแม้ว่าราชการส่วนภูมิภาคจะแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภอ แต่อำเภอมิได้เป็นนิติบุคคล (3) ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น

ทบวงการเมือง (Public body) จึงเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งจะทำให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

ดู ทบวงการเมือง เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ทบวงการเมือง 

[20]“การกำกับดูแล” เดิมเทศบาลใช้คำว่า “ควบคุมดูแล” ซึ่งมีการแก้ไขใหม่ ตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ดู

ส่วนที่ 6 การกำกับดูแล มาตรา 71 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่ง และตามมาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคสองและวรรคสาม สำหรับเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้นายอำเภอปฏิบัติการแทนสำหรับเทศบาลที่อยู่ในอำเภอนั้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจหน้าที่ไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้”

อ้างอิง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 164-176, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0164.PDF   

[21]รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย: รายงานศึกษาฉบับที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น (67486 v2)(เอกสารธนาคารโลกแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ), 2554, อ้างแล้ว

& แนวทางการปรับปรุงฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบล โดย รองศาสตราจารย์ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพันธ์ พลรบ ในวารสารกฎหมายสุขภาพและสาธารณสุข ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2558, Public Health & Health Laws Journal Vol. 3 September - December 2015, https://phad.ph.mahidol.ac.th/journal_law/1-3/07_Chardsumon.pdf   

& ปัญหากรณีการควบรวม (ยุบ) อบต. ตามร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Problems of Merging Tambon Administration Organizations According to the Local Government Code) โดย ผศ.ขวัญกมล ทิพย์มโนสิงห์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ใน lawjournal วารสารวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2560 หน้า 105-121, http://utcc2.utcc.ac.th/lawjournal/91/104_121.pdf 

[22]การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area – based Approach)ซึ่งนำมาใช้ในแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ เป็นเป้าหมายและทิศทางการพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม “คน” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับครัวเรือน ชุมชน ก่อนที่จะขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนมุมมองการพัฒนามาให้ความสำคัญกับ”การพัฒนาเชิงพื้นที่” ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกระบวนการผลักดันการพัฒนาประเทศ โดยการพัฒนาหรือส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงใช้ความรู้ในการหาวิธีจัดการหรือแก้ไขปัญหาของตัวเอง ครัวเรือน ชุมชน และประเทศได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของการขยายแนวความคิดหรือแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เป็นการพัฒนาที่มาจากการริเริ่มของพื้นที่ (ชุมชน) อย่างแท้จริงนั้น ต้องมีการกำหนดประเด็น ปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่มีการสร้างเครื่องมือในการหาข้อมูล ความรู้ สร้างกลไกความร่วมมือ เพื่อสามารถจัดการกับประเด็นปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่ได้จริง

ดู รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่อง “การบริหารจัดการของจังหวัดที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area-based Approach)”, สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, 2559. https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_gov/download/article/article_20170405173622.pdf   

[23]ดู รัฐธรรมนูญ อุดมคติหรือขยะทางความคิด 4, โดย ภาคภูมิ อนุศาสตร์ นักวิชาการอิสระ, ใน public-law.net, 4 ธันวาคม 2554, http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=1664 

[24]ทิศทางการกระจายอำนาจการถ่ายโอนภารกิจไม่คืบหน้า, สยามรัฐ, 30 พฤษภาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/158888

& ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ.2475-2558: ปัญหาและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลาง ข้าราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“History of Thailand Decentralization and Local Government in 1932 - 2015: Problems and Relationship between Central, Regional Government Servants and Local Administrative Organizations” by Kiraphat Khianthongkul

The 2nd Khon Kean University International Conference on Public Administration (2015): กิรพัฒน์ เขียนทองกุล. (2558). ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ.2475 - 2558: ปัญหาและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลาง ข้าราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. ในรายงานการประชุมวิชาการนานาชาติ รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2558 (น. 318 - 333). ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. Khianthongkul, K. (2015). History of Thailand decentralization and local government on 1932 - 2015: Problems and relationship between central, regional government servants and local administrative organizations (in Thai), In The 2nd Khon Kaen University International Conference on Public Administration Proceedings 2015 (pp. 318 - 333). Khon Kaen: Khon Kaen University Printing House.: The 2nd Khon Kaen University International Conference on Public Administration Proceedings 2015, https://www.academia.edu/keypass/V01LWTRlTUcyb2ovVk83SXJFYVZoVVVCbVhzYU52UTIvaS81OTZjMHNtZz0tLUZVV3hHdjJOUEVYOWwraXpxK0oxUVE9PQ==--b9ee9fceff207f6f984bc56b3df708f736d7dabc/t/beP84-PRkfsu2-bdGYX7/resource/work/30661704/History_of_Thailand_Decentralization_and_Local_Government_in_1932_2015_Problems_and_Relationship_between_Central_Regional_Government_Servants_and_Local_Administrative_Organizations?email_work_card=thumbnail 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท