คำนิยม หนังสือ  โรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ ๒  ปีการศึกษา ๒๕๖๓  เครือข่ายมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม


 

 

คำนิยม

หนังสือ  โรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่นที่ ๒   ปีการศึกษา ๒๕๖๓  เครือข่ายมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

วิจารณ์ พานิช

ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทาง โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. 

..........…………………………………………….........

 

ผมชื่นชมมากที่ทีมงานของมูลนิธิ สตาร์ฟิชคันทรีโฮม มีการทำงานเป็นโค้ช (พี่เลี้ยง) ของเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง แบบมีการสรุปบทเรียนประจำปีออกเผยแพร่    โดยได้สรุปผลงานในรุ่นแรก (ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ต่อ ๒๕๖๓) ไว้ในหนังสือ บทสรุปโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP ฉบับ Starfish    รวมทั้งได้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ School Transformation องค์ประกอบ ๙ ด้าน แห่งการพัฒนาและการปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ    โดยผมได้เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มหลัง ท่านที่สนใจ อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/681150      

ในรุ่นที่ ๒ นี้   เราได้เห็นวิธีทำงานที่ชัดเจนขึ้น    เชื่อมโยงเครื่องมือของมูลนิธิสตาร์ฟิช กับเครื่องมือ ๕ ชิ้นของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน    

จุดแข็งของทีมพี่เลี้ยงมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ คือ มั่นคงในหลักการ   ผสานกับ ยืดหยุ่นในการโค้ชให้โรงเรียนดำเนินการตามบริบทของแต่ละโรงเรียน    เน้นให้ทีมงานของแต่ละโรงเรียนเป็นตัวของตัวเองในการเรียนรู้และปรับตัวจากการดำเนินการ    เพื่อสร้างวัฒนธรรม โรงเรียนพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่อง    โดยมีทีมพี่เลี้ยงร่วมเรียนรู้และให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback)      

จุดแข็งของหลักการ ที่ทีมพี่เลี้ยงของมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ ใช้ คือมีรูปธรรม (platform) ที่ชัดเจนใช้งานง่าย    และผ่านการทดลองใช้และปรับจนได้ผลในระดับหนึ่งแล้วที่โรงเรียนสตาร์ฟิช คันทรีโฮม   ให้โรงเรียนในเครือข่ายนำไปปรับใช้   อันได้แก่ องค์ประกอบ ๙ ด้าน  กับ เครื่องมือสำคัญ ๒ ชิ้นสำหรับกิจกรรมเรียนรู้ของนักเรียน

 องค์ประกอบ ๙ ด้าน ได้แก่  (๑) ผู้นำ (๒) เป้าหมาย  (๓) ชุมชน  (๔) บรรยากาศการเรียนรู้  (๕) เทคโนโลยี (๖) หลักสูตรและการประเมิน  (๗) รูปแบบและปฏิบัติการสอน  (๘) การพัฒนาวิชาชีพครู  (๙) การเรียนรู้ของผู้เรียน   

เครื่องมือสำคัญ ๒ ชิ้น สำหรับหนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนคือ  (๑) กระบวนการ STEAM Design Process  (๒) พื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ (Makerspace)   

โดยรวมแล้วสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในโรงเรียนในเครือข่ายคือ ทีมงานของโรงเรียนพร้อมใจกันเอาใจใส่การเรียนรู้ของนักเรียน    โดยมีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน และร่วมกันกำหนดยุทธวิธีหรือวิธีดำเนินการสู่เป้าหมายนั้น  รวมทั้งมีการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะๆ เพื่อนำผลมาใช้ปรับยุทธวิธี   โดยที่พ่อแม่และผู้นำชุมชนเข้าร่วมรับรู้และร่วมคิด และร่วมสนับสนุนด้วย   

เป้าหมายลึกๆ คือการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานของโรงเรียน (School Transformation) จากยกความรับผิดชอบโรงเรียนไปไว้ที่ส่วนกลาง   เปลี่ยนจุดรับผิดชอบมาไว้ที่โรงเรียนและชุมชน โดยพ่อแม่ร่วมรับผิดชอบด้วย   ท่านผู้อ่านจะเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากสาระในหนังสือเล่มนี้    คือจะเห็นความริเริ่มสร้างสรรค์ และเรียนรู้ปรับตัวในระดับโรงเรียน   เห็นจิตวิญญาณและพฤติกรรมการเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ (agency) ในระดับโรงเรียน   ที่เป็นเป้าหมายระดับลึกของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง   

ประเทศที่ใจใส่พัฒนาคุณภาพของพลเมือง  รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น OECD กำลังเอาใจใส่กลไกสำคัญยิ่งต่อคุณภาพของระบบการศึกษา  ที่เรียกว่า ความเป็นความเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการของครู (Teacher Agency)    มีหนังสือติดอันดับขายดีชื่อ Teacher Agency : An Ecological Approach (2015) ที่ให้ข้อเสนอแนะวิธี transform ระบบการศึกษา จากเน้นควบคุมสั่งการจากส่วนกลาง ซึ่งมีส่วนทำให้ระบบนิเวศการศึกษาปิดกั้นความริเริ่มสร้างสรรค์ของครูและบุคลากรการศึกษาระดับปฏิบัติ    ไปสู่ระบบนิเวศใหม่ ที่เอื้อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูงของศิษย์   และเพื่อวิวัฒน์ระบบการศึกษาของประเทศ อย่างต่อเนื่อง 

โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มุ่งหวังให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศดังกล่าวให้แก่วงการศึกษาไทย    และเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้คือบันทึกภาคปฏิบัติ   สู่การสร้างวัฒนธรรมครูเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ (Teacher Agency) ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่าย รวมทั้งผู้บริหารในส่วนกลางของระบบการศึกษา

ผมขอขอบคุณทีมงานของมูลนิธิ สตาร์ฟิชคันทรีโฮม นำโดยท่านประธานมูลนิธิ คือ ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ที่ร่วมกันจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่ เป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนระบบนิเวศการศึกษา สู่การสร้างวัฒนธรรมครูเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ  ที่จะนำไปสู่ education systems transformation เพื่ออนาคตของประเทศไทย

วิจารณ์ พานิช

๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔    

 

หมายเลขบันทึก: 692448เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2021 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2021 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท