พายเรือในอ่าง เสียเวลาเปล่าๆ


เจ้าของกิจการท่านหนึ่ง ต้องการให้ผมช่วยหาทางเน้นย้ำกับพนักงานว่า อย่าหลงทำงานตามแผนปฏิบัติการที่ถูกถ่ายทอดมาในหน่วยงานของตน จนอาจลืมไปว่า “ทำแผนปฏิบัติการไปเพื่ออะไร?”

ซึ่งจริงๆแล้วพนักงานควรรู้ว่า “การทำแผนปฏิบัติการนั้น ก็เพื่อความสำเร็จของกลยุทธ์”

 

ผมตอบว่า เห็นด้วย โดยขอเพิ่มอีกสักนิด ว่าให้เน้นย้ำพนักงานให้รับรู้ว่า “ทำกลยุทธ์ไปเพื่ออะไร?” ด้วย

เพราะคำตอบจะมีความหมายและมีความสำคัญกว่า นั่นก็คือ “เพื่อให้เป้าหมายสูงสุดขององค์กรประสบความสำเร็จ” 

 

เพราะถ้าพนักงานไม่รู้ เป้าหมายสูงสุดขององค์กร ก็เหมือนกับ “กำลังพายเรือในอ่าง” คือทำอะไรไปมากมาย โดยที่ไม่รู้ว่า “ทำไปเพื่ออะไร?”

.

การจะทำให้เป้าหมายขององค์กรประสบความสำเร็จนั้น อันที่จริงแล้ว ควรเริ่มจากการวางระบบการบริหารองค์กรอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยการจัดการหลายๆเรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบระบบงาน, กระบวนการ, รูปแบบธุรกิจ การสร้างความร่วมมือ การออกแบบตัวชี้วัดและติดตามผล สร้างระบบการปรับปรุงผลการดำเนินงาน การพัฒนาทักษะ การประเมินผลงานพนักงาน เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางข้างต้น จะเป็นหลักประกันพื้นฐานที่อาจช่วยองค์กรประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน เพราะเป็นการ “สร้างระบบ” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่กับองค์กรในระยะยาวแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลหรือผู้บริหาร ระบบก็ยังจะคงอยู่ได้

.

อย่างไรก็ตาม การวางแผนกลยุทธ์นั้น ก็อาจเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากการวางระบบการบริหารข้างต้น โดยการประเมินสถานการณ์ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเติมเต็มให้ การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสูงสุดขององค์กรมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น โดยต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารองค์กรอย่างเป็นระบบด้วย เหมือนกับการต่อจิ๊กซอที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนทำให้ได้ภาพที่สวยงามสมบูรณ์

 

การวางแผนกลยุทธ์ อาจหมายถึงการทำ “สิ่งที่ควรทำ” ให้กลายเป็น “สิ่งที่ได้ทำ(จนสำเร็จ)”

การวางแผนกลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นการ ตัดสินใจว่าจะ “ทำ”อะไรเท่านั้น ในบางกรณีอาจเป็นการตัดสินใจว่าจะ “ไม่ทำ”อะไรบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้าหมายสูงสุดขององค์กรก็ได้

.

กรณีนี้ ถ้าจะมีกลยุทธ์ “ไม่ทำ”ก็ขอเสนอกลยุทธ์ “หยุดพายเรือในอ่าง” กันเถอะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 692396เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2021 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2021 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท