6 Mindsets “เวทีสามแม่” : สร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน


เช้าวันนี้ (11 ก.ย.64) กับเวทีสามแม่

แม่ญิงชาติพันธุ์ จากอำเภอแม่วาง เชียงใหม่ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ชายที่ทำประเด็นล่ามชุมชนหรือนักสื่อสารสุขภาวะแม่ญิงชาติพันธุ์ จากแม่ฮ่องสอน

ตลอดเวลาสามชั่วโมงของการพูดคุย เรารู้สึกถึงความเป็นแม่ ที่ไหลเวียนอยู่ในเวที


ไม่ว่าจะเป็นแม่วาง , แม่ฮ่องสอน , แม่ญิง(ผู้หญิง) เราต่างรวมอยู่ในพื้นที่อ้อมกอดแห่งรักอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยคำว่า “แม่”

คนอื่นจะรู้สึกไหม ไม่แน่ใจนะ แต่ผมรู้สึก และสื่ออกไปในคำพูด น้ำเสียง สีหน้า แววตา

เนตบ้านผมล่มเสียก่อน ผมไม่ทันได้ AAR หรือพูด Check Out ในเวที

เลยถือโอกาสมาบอกเล่า ความรู้สึกนึกคิดรวมถึงประเด็นที่ผมคิดว่าโดนๆกันตรงนี้

+.......................................................+.............................................................+

 

จริงๆวันนี้ วาไรเอ็ตตี้ หลายเรื่องมาก 
ทีแรกคิดว่าทำเพาเวอร์พอยต์ไว้ก่อนดีไหม แต่คิดๆไป ถ้าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนหน้างาน เราชวนพูดคุยตั้งคำถาม แล้วถ้าจำเป็นค่อยเอารูป เอาคลิปประกอบ น่าจะเป็นประโยชน์กับเขามากกว่า

ผมก็เลยแค่เก็บสิ่งเป็นสื่อเตรียมนำเสนอเผื่อไว้สำรอง เพราะอยากให้ผู้เข้าร่วมได้ความสดใหม่ ไม่ต้องจำกัดกรอบว่าต้องดูต้องเชื่อ ต้องเพ่งสไลด์จนอาจจะเกร็งหรือคิดว่านั่นเป็นคำตอบมากไป

อดแปลกใจไม่ได้ ที่หมอสุพัฒน์ วิทยากรอีกท่านก็ใจตรงกัน

สงสัย กระแสจิต ช่วงนี้แอบนินทาหมอบ่อย 555

+.......................................................+.............................................................+

Mindset ที่ 1 ชีวิตและงาน ล้วนเป็นดั่งกันและกัน

 

 

หลังจากแนะนำวิทยากรแล้ว หมอสุพัฒน์ซึ่งเป็นวิทยากรคู่กับผมก็เปิดฉากได้ดี คือ เล่าเรื่องตัวตน แม้จะไม่ลึกมากเพราะเวลาน้อย แต่ก็ทำให้พอเห็นได้ว่า ที่ปางมะผ้า เมืองแม่(ฮ่องสอน) แห่งนี้ เราใช้กระบวนการที่เชื่อมชีวิตด้านในกับชีวิตด้านนอกอยู่จนเป็น Core-Culture หรือวัฒนธรรมของกลุ่มงานล่ามชุมชน /นักสื่อสารสุขภาวะชาติพันธุ์

ด้วย วิธีคิด หรือ Mindset แบบนี้ เราจึงเชื่อมโยง สื่อสารกันในทีม ไม่เฉพาะแต่เรื่องงาน แต่ยังรวมถึง ครอบครัว สุขภาพ การเงิน ของสมาชิกแต่ละคน และเราไม่ยัดเยียดว่าต้องทำงานนี่นั่นโน่น แต่เราใช้การสร้างความเข้าใจ ให้เกิดความสมัครใจ หากแต่คอยดูแลกันและกันไม่ให้ชิวิตแต่ละคนเสียสมดุล

ผมคิดว่า อันนี้เป็น Mindset ที่สำคัญอย่างแรก เหมือนที่ผมเล่าว่า ผมมีตัวตนอย่างไร มีประสบการณ์ตรงทั้งในการศึกษา การใช้ชีวิตกับแม่ญิงชาติพันธุ์อย่างไรมาบ้าง กว่าจะมาเป็นผมในฐานะผู้ประสานงานโครงการสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ที่แม่ฮ่องสอน ในวันนี้

+.......................................................+.............................................................+

Mindset ที่ 2 สภาวะจิตแห่งการเรียนรู้ เป็นบ่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง อันส่งผลต่อการพัฒนาทุกมิติ

 


“มองไปข้างนอกแล้ว ต้องหันกลับมามองข้างในตัวเองบ่อยๆ” อันนี้เป็นประโยคที่ผมสะท้อนเช้านี้ 
แต่การมองกลับมาที่ตัวเองได้นั้น ต้องมีจิตปราณีต หรืออีกนัยหนึ่งคือมีจิตนุ่มนวล
ภาษาท่านพุทธทาส ใช้คำว่า “จิตนุ่มนวล ควรแก่งาน”

เท่าทันความคิด อารมณ์ของตัวเอง หมั่นสังเกต หมั่นถามตัวเองว่า “เฮ้ย ตอนนี้ใจว้าวุ่นไหม” “อารมณ์ขณะนี้เป็นไง” อันนี้เป็นระบบคิดที่ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เรียกว่า “The System see itself”

เราจึงมีกระบวนการพัฒนาสติอยู่ตลอด ซึ่งแกนนำอย่างหมอและผมทำจนเป็นวิถี 
ซึ่งการเจริญสติก็สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ และเป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิต ไม่ยึดติดกับศาสนา ใครๆก็ทำได้

เหล่านี้ มีผลต่อการเรียนรู้ ต่อพลังแห่งการสื่อสารที่ส่งต่อไปยังลูกทีมอย่างมาก

ซึ่งการถอดบทเรียนงานพัฒนาส่วนใหญ่ ไปไม่ถึงจุดที่เป็นมิติจิตวิญญาณที่เชื่อมนอกกับในแบบนี้

+.......................................................+.............................................................+


Mindset ที่ 3 ออกแบบวิธีเรียนรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ต้องคิดในมุมมองและบริบทของผู้เรียนเสมอ

 


พื้นที่ปางมะผ้า รวมถึงการขยายงานไปอำเภออื่นๆในแม่ฮ่องสอน ในโครงการสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ อย่างปัจจุบันนี้  มีจุดนึงที่ไม่พูดไม่ได้เลย คือ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ คนเป็นผู้ประสานงาน เป็นคนจัดการความรู้อย่างผมบอกได้เลยว่า โคตรยาก

ที่ยากคือ เราเลือกวิธีการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเป็นแกนหลัก ส่วนการเรียนรู้แบบห้องประชุม ห้องอบรม เป็นเรื่องรองลงมา

เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของบุลากรภาครัฐ โดยเฉพาะฝั่งโรงพยาบาลว่า แต่ละนาทีมีความหมายต่อชีวิตคนไข้ จะมาประชุม เรียนรู้อะไรทั้งวันก็ยากมาก บุคลากรในหน่วยงานก็น้อย มาประชุมกับโครงการอย่างเราได้จริงๆ ครึ่งวันนี่ก็ถือว่าบุญแล้ว

เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของแกนนำผู้หญิง ที่ยังมีภาระงานบ้าน งานดูแลลูกเต้า คนเฒ่าคนแก่ งานในไร่นาสวนก็อีก จะเดินทางจากดอยลงมาพบปะกันก็ลำบาก ก็เสี่ยงเพราะเป็นผู้หญิง

เราเลยต้องออกแบบการเรียนรู้ผสมผสาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น ในพื้นที่ออนไลน์คลิปวิดีโอ ไลน์ เฟสบุ๊ค รวมถึงงานประเพณีต่างๆ ทั้งหมดเป็นกระบวนการเอาใจใส่แบบโค้ช เป็นไลฟ์โค้ชด้วยนะ คือ โค้ชชีวิตด้วย ไม่ใช่โค้ชแต่งาน อันนี้ไม่ใช่แบบครูที่สั่งสอน แต่ทำให้เป็น โค้ช แอนด์ แคร์  ต้องก้าวข้ามการสั่ง การสอนแบบเดิม ทำให้เค้าเรียนรู้อย่างมีความสุข อันนี้ผมคิดตลอดเลยนะ ก็ยังถือว่าไม่เซียน ก็พยายามฝึกอยู่ ชาวบ้าน เครือข่ายช่วยสะท้อนให้ผมปรับปรุงด้วยก็จะดีมากๆ

บุคลากรฝั่งราชการก็หลากหลาย ชาวบ้านเองก็มีจริตการเรียนรู้ มีข้อจำกัดต่างๆที่หลากหลาย จะออกแบบให้เข้าถึง ต้องเข้าใจตัวตนของพวกเขาแบบปัจเจกด้วย ม่ใช่เข้าใจแบบกลุ่มๆ อย่างนั้นไม่พอ ผมจึงต้องตามดูเพจแต่ละคน เรียนรู้ความเคลื่อนไหว รสนิยม ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกแต่ละท่าน ตรงนี้ก็ทำแบบเป็นธรรมชาตินะ ถามว่ายากไหม ถ้ามือใหม่อาจจะมองว่าโคตรยาก เพราะมันลื่นไหลตลอดเลยคำว่าคนเนี่ย หากแต่เป็นโคตรยาก....แต่โคตรดี

เพราะนี่คือนวัตกรรม ทำให้เราเก่ง และเมื่อเราเก่ง เราถ่ายทอด คนอื่นก็พลอยได้อานิสงฆ์ไปด้วย

+.......................................................+.............................................................+


Mindset ที่ 4 เล่นกับพื้นที่ทางวัฒนธรรม เข้าใจภูมิสังคม แล้วนำสู่สุขภาวะองค์รวม

 

 

ประเด็นสุขภาพ หรือแม้แต่ปัจจุบันหันไปใช้คำว่า “สุขภาวะ” หรือสุขภาพองค์รวม อะไรก็แล้วแต่ แต่โดยมาก เกินเก้าสิบเปอร์เซนต์ก็จะวนอยุ่กับสุขภาพกายกับจิต พักหลังเริ่มมีแตะๆสังคม ส่วนปัญญา ที่หมายรวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆนั้น อยู่รั้งท้ายเลย ตรงนี้สะท้อนอะไร?

มันอาจจะสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับ Non-Health Sector น้อยมาก คือเอา Non-Health Sector เข้ามา แต่ก็ใช้ในแบบการแพทย์สมัยใหม่เกือบหมด วิถีภูมิปัญญา ความร่ำรวยทางวัฒนธรรมประเพณีที่จริงๆแล้วเป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ตรงนี้ เราไปไม่ถึง หรือให้ความสำคัญไม่มากพอ จะด้วยขาดข้อมูล นโยบายไม่เอื้อ มีอคติ หรือมองข้ามไปก็ตามแต่ แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่ทางวัฒนธรรมพื้นบ้านกับการจัดการระบบสุขภาพ(ที่นำโดยกลไกของรัฐ) มีช่องว่างมหาศาล

ทางปางมะผ้า แม่ฮ่องสอนเรามองเห็นจุดนี้ เราก็พยายามลดช่องว่าง และนำกลับมา Remix ผสมผสานปรับใช้นะครับ แต่ก็ไม่ถือว่าทำเป็นระบบชัดเจน แต่มีการทำในกิจกรรมเล็กๆ เช่น จัดพิธีสืบชะตาให้กับหมอและภรรยาที่อุทิศตัวในงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ , หรือบ่อยครั้งที่หมอ พาทีมงานในโรงพยาบาลไปร่วมพิธีกรรมต่างๆของชาวบ้าน อันนี้คือความสัมพันธ์ที่มันย้อนกลับมาก่อให้เกิดการเชื่อมโยง เรามองเห็นแล้ว เพียงแต่เรายังไม่สบโอกาสมากพอที่จะยกระดับมันให้เด่นชัดขึ้น ไม่แน่ในเฟสหน้าจะเติมเรื่องนี้ลงไปให้มาก เพราะนี่เป็นจุดแข็งของพื้นที่

ที่ใดมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่นั่นมีขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมประเพณีที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะองค์รวมได้

+.......................................................+.............................................................+

Mindset ที่ 5 มุ่งปัญญาแล้วสิทธิจะตามมาอย่างนุ่มนวล

 

อันนี้อาจจะกระทบกับขบวนการขับเคลื่อนงานเรื่องสิทธิต่างๆสักหน่อย ถ้ามีเคืองก็ขออภัย
ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไม งานขับเคลื่อนสิทธิต่างๆในสังคมไทย ซึ่งก็รวมถึงสังคมพหุชาติพันธุ์ต่างๆจึงไม่ค่อยไปถึงไหน

บางประเด็นก็อบรมวนๆๆ อยู่นั้นเป็นสิบๆปี  เหมือนมันไปต่อไม่ได้ เมล็ดมันไม่งอก

จิตใจและความทุ่มเทของแกนนำสิทธิเหล่านั้น เป็นผมนี่กราบเลยนะ ทุ่มสุดตัว บางคนทุ่มเทจนเสียศูนย์ แต่ผลกลับไปไม่ถึงไหน

เมล็ดไม่งอกในดิน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เมล็ดหรือดิน หากแต่น่าจะเป็นที่วิธีคิดของคนเพาะปลูก

วิธีคิดเรื่องสิทธิ จำนวนมาก เรารับจากตะวันตก แน่นอนว่ามาจากกระแสเสรีประชาธิปไตย แต่ในอีกด้านมันก็เพาะพันธุ์เติบโตมากับยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่ถูกครอบด้วยวิธีคิดแบบแยกส่วน

ครั้นเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดเหล่านั้น มาสู่บ้านเรา ซึ่งมีความหลอมรวม เป็นอะไรๆแบบผสมผสาน เป็นองค์รวมอยู่ในวิถีชีวิตแต่ต้น มันก็เกิดการปะทะกันทางความคิด เกิดการลักลั่นกัน คืออาจจะเห็นด้วยในแนวคิดเรื่องสิทธิ แต่ไปต่อในระดับชุมชนไม่ได้เพราะชุมชนเชื่อมร้อยด้วยประวัติศาสตร์อันมีวิถีวัฒนธรรมเดิมเป็นฐานราก

ตรงนี้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” เป็นตัวเชื่อม 
“สิทธิ” เป็นเหมือนความรู้ โดยหลักการก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่ปัญญาร่วม ก็เหมือนเราปลูกทุเรียนไว้เรามีสิทธิในทุเรียน แต่เราไม่มีปัญญาปอกกิน และไม่มีปัญญารู้พอว่ากินเนื้อแล้ว เม็ดทำอะไรได้บ้าง เปลือกทำอะไรได้บ้าง

การขับเคลื่อนงานของเรา จึงไม่ได้พูดถึงสิทธิตรงๆ แต่เราโฟกัสไปที่ปัญญามากกว่า

ปัญญาเป็นมากกว่าความรู้ เป็นมากกว่าสิทธิ เป็นมากกว่าการยึดติด แม้แต่อัตตาตัวเอง
แต่เป็นเรื่องจริยธรรม ความรักความเมตตา เห็นใจกัน เห็นความเชื่อมโยง สุข ทุกข์ที่ส่งต่อกันทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต

เป็นเรื่องที่ข้ามพ้นไปจากการเอาแต่ครุ่นคิด แต่เป็นความรู้สึก เป็นเรื่องของความงาม ลึกไปกว่านั้นยังเป็นเรื่องของความเบิกบาน ความหลุดพ้น

เหล่านี้เป็นปัญญาปฏิบัติ พูดยาก เขียนถอดความยาก ผู้ทำจะสัมผัสเอง แต่ชุมชนจะรู้ได้จากพลังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครับ

+.......................................................+.............................................................+


Mindset ที่ 6 สร้างนิเวศสังคม เป็นลมใต้ปีก เครือข่ายไร้รอยต่อ

 

 

เขียนมายาวพอสมควร แต่คิดว่ามาถึงจุดนี้น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

มาถึงเรื่องสุดท้าย คือ นิเวศสังคม อันนี้จะว่าไปมันก็เหมือนกับ “ทฤษฏีฝูงห่าน” ที่ห่านทั้งฝูงเมื่อกระพือปีกไปด้วยกัน อยู่เคียงขนานกัน มันจะเกิดกระแสลมพัดดันทั้งฝูงให้ลอยขึ้น อันนี้คือ ความหมายของ “ลมใต้ปีก”

ลมใต้ปีก หรือ นิเวศสังคมของคนทำงานจึงมีความสำคัญมาก เพราะเรื่องที่เราทำนี่นับวันตัวแปรยิ่งเยอะ มีความยาก ซับซ้อน ลื่นไหล เป็นพลวัตมากขึ้นเรื่อยๆ

ลำพัง เราจะเป็นยอดมนุษย์ทำอยู่ฝ่ายเดียว ลุยเดี่ยวก็หมดแรงตายซะก่อน

เครือข่ายสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ ไม่มีทางจะยั่งยืนได้ ถ้าเราไม่ไปสานกับเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร  , เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า , เครือข่ายภูมิปัญญา , เครือข่ายการศึกษา , เครือข่ายสื่อ ฯลฯ

“ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร?

หากย้อนนึกไปถึงสิ่งที่ในหลวง ร.9 ตรัสไว้ ท่านให้ข้อคิดว่า
การที่เราจะทำหน้าที่ได้ดี ต้องรู้ว่าหน้าที่คนอื่นเป็นอย่างไร แล้วออกแบบ จัดการตัวเองให้ไปเสริมกับหน้าที่คนอื่นๆด้วย จึงจะเรียกว่าทำตามหน้าที่ได้ดี

อันนี้คือการขยับอย่างเป็นระบบ รู้จังหวะจะโคน เห็นประโยชน์ของกันและกัน 
ไม่เอาประเด็นตนเป็นตัวตั้ง แต่ให้มองภาพรวม แล้วจัดวางกำลัง จังหวะ วาระ

“อย่าเอาแต่รอเวลา อย่ามัวแต่ใช้เวลา แต่จงสร้างเวลา”

+.......................................................+.............................................................+

ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนการที่ผมได้คุยกับตัวเอง ทบทวนกับตัวเอง เป็น AAR ฉบับยาวที่ไม่ใช่เล่าแบบโรแมนซ์ แต่เป็นแบบ Self-Talk ที่ผมคิดว่ามันมีความจริงใจ และทำให้คนอ่านเห็นตัวตนของผม และงานที่ทำ ชีวิตที่เป็นจริงๆ

และทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมอยากมอบไว้ให้กับใครบางคน หรือ หลายๆคน ที่สนใจศึกษา ต่อยอด หรือจะวิจารณ์ โต้แย้ง ให้เกิดสุขภาวะองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุขภาวะทางปัญญาต่อไป

ขอบคุณทางพี่หน่อเอริ แกนนำสตรีชาติพันธุ์แถสหน้าของเมืองไทย (และของโลก) ที่เชื้อเชิญผู้ชายอย่างผมได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แถมค่าวิทยากรมาให้แบบใจป้ำอีก

ก็เลยอยากคืนกำไรให้ผู้จัดเวทีออนไลน์ ด้วยบันทึกฉบับนี้ไปพร้อมกัน

รวมทั้งขอบคุณผู้อ่านที่สนใจติดตามบันทึกของผมด้วยครับ 

หมายเลขบันทึก: 692372เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2021 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2021 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท