สมุนไพรไทยโอกาสการแพทย์ทางเลือก


สมุนไพรไทยโอกาสการแพทย์ทางเลือก

10 กันยายน 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

การแพทย์แผนตะวันออกการแพทย์ทางเลือก “สมุนไพร” (Herbs) คืออะไร

 

นอกจากแพทย์แผนไทยแล้ว แพทย์แผนจีน ถือเป็นสมุนไพรเป็น "การแพทย์แผนตะวันออก" เป็น "การแพทย์ทางเลือก"[2] (Alternative Medicine) ที่นำมาใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบัน ประเทศไทยใช้สมุนไพรเพื่อการรักษามานานแต่บรรพบุรุษที่สั่งสมองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง มีร้ายขายยาแผนโบราณ ทั้งแผนจีน และ แผนไทย ปัจจุบันมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข คุ้มครองตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ 198 ตำรา และตำรับยาแผนไทยของชาติ 30,000 ตำรับ ตำรายาสมุนไพรที่สำคัญ เช่น “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” สมัยรัชกาลที่ 5 กว่า 1,200 ตำรับ ตำรายาวัดโพธิ์ สมัยรัชกาลที่ 3[3]

สมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี ในที่นี้จะเน้นเฉพาะสมุนไพรที่เป็น “พืช” เพราะคำว่าสมุนไพรนั้น มีความหมายรวมไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่พืชด้วย สมุนไพรนั้นจะหมายรวมถึง[4] ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุง ร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ หากนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า ยา ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย

แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทคุณค่าของสมุนไพรภูมิปัญญาโบราณก็ถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งไป แต่โบราณมาสมุนไพรไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าใช้ประโยชน์ได้จริงที่ใช้ได้อย่างกว้างขวาง เพราะแต่ก่อน และบ้านนอกชนบทไม่มีสถานพยาบาล หรือ อยู่ไกล ส่วนใหญ่สถานพยาบาลจะมีอยู่ที่ตัวเมือง ตัวจังหวัดเท่านั้น

 

สมุนไพรไทยได้รับการยอมรับในคุณค่าแล้ว

 

         จุดเริ่มเมื่อภาครัฐเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยด้วยการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535[5] ว่า  “ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม” ในช่วงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP : One Tambon, One Product) [6] ก็มีการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรไทยด้วย ตามได้กำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ พ.ศ.2544 แบ่งหมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 ประเภท คือ 1. อาหาร 2. เครื่องดื่ม 3. ผ้า เครื่องแต่งกาย 4. เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง และ 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก และ 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา

          ในที่สุดได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562[7] ที่กำหนดบทนิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” [8] ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้สำหรับการรักษา บรรเทา ป้องกันโรคหรือให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงกำหนดนิยามคำว่า“สมุนไพร” “ยาแผนไทย” “ยาพัฒนาจากสมุนไพร” “การแพทย์แผนไทย” ด้วย ซึ่ง สมุนไพรในที่นี้จะไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กล่าวคือกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายว่าด้วยอาหาร แต่อย่างใด มีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร หวังในระดับสากลการส่งออกด้วย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 55[9] ว่าด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยในการบริการสุขภาพ โดยบัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ มาตรา 69[10] ว่าด้วยเรื่อง การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับ ประเทศ และการสร้างนวัตกรรมยาสมุนไพรก็นับเป็นโอกาสทองของคนไทย

          

สมุนไพรไทยสุดฮอตที่สำคัญ

 

​          พืชสมุนไพรไทยมีหลายชนิด หลายประเภทหลายแขนง สมุนไพรอยู่คู่ครัวเรือน ชุมชนไทยมาหลายร้อยปี สำหรับคนบ้านนอกช่วง 40-60 ปีที่ผ่านมา จำความได้จากผู้เฒ่าผู้แก่เคยใช้สมุนไพรในท้องถิ่น ด้วยคุณแม่นำมาใช้บำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของคนในครอบครัวและในชุมชน พืชสมุนไพรที่จำได้คือ ใบกะเพราให้ความร้อนแรงฆ่าเชื้อโรคในลำไส้ในกระเพาะอาหาร หอม, ขิง, ข่า, ตะไคร้, มะนาว มีประโยชน์ช่วยเพิ่มวิตามินซี ใช้ปรุงในอาหารต้มยำต่างๆ มีสรรพคุณช่วยในเรื่องเหน็บชา แก้ร้อนใน พลูกับเหล้าขาวบดผสมให้ละเอียดช่วยแก้ผดผื่นและงูสวัด ใบขี้เหล็กใช้มาทำยาทำอาหารทำแกงขี้เหล็กมีความขมเป็นยา ต้นหางจระเข้ใช้ทาสมานแผล ต้นใบหมามุ่ยใช้ทำยาเป็นเม็ดลูกกลอนเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ พืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กระชาย กัญชา และใบกระท่อมเพื่อสรรพคุณประโยชน์ ที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วงการแพทย์ ทดลองแล้วผู้คนรู้จักกันโดยทั่วไปว่า เป็นพืชสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคโควิด-19 แต่ก่อนคนบ้านนอกจะมีการสุมโปงยา - ยาสุม (รมไอน้ำ) สมุนไพรต่างๆ ด้วยวิธี “สุมยาหรือโปงยา” [11]

ในเมื่อสมุนไพรมีความสำคัญแล้ว ทำไมรัฐไม่ส่งเสริม เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ การทำลายสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่รู้จักสมุนไพร เด็กที่เติบโตในสังคมเมือง สังคมคอนกรีต ไม่รู้จักชนบทท้องไร่ท้องนา ป่าเขา ธรรมชาติบ้านนอก ฯลฯ เพราะพืชสมุนไพรเป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่คนรู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ เป็นยา เพื่อการรักษาโรคโรคภัยไข้เจ็บมาตั้งแต่โบราณแล้ว เป็นอาหารพื้นบ้าน เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง หรือประโยชน์อื่นใดก็ได้หลายอย่าง

ประโยชน์ที่เห็นๆ ของสมุนไพร เช่น (1) สามารถรักษาโรคบางชนิดได้ โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งบางชนิดอาจมีราคาแพง และต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งอาจหาซื้อได้ยากในท้องถิ่นนั้น (2) ให้ผลการรักษาได้ดีใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน และให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้มากกว่าแผนปัจจุบัน (3) สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นเพราะส่วนใหญ่ได้จากพืชซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท เป็นต้น

สมุนไพรไทยนั้นเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ขออ้างอิงสมุนไพรไทยยอดฮิตตามข่าวการแยกแยะต่างๆ กัน ขอยกตัวอย่าง ที่จะมีการจัดอันดับหรือการยกย่องลำดับเด่นจาก “สรรพคุณ” ที่มีชื่อสมุนไพรไทยต่างๆ ซ้ำๆ กัน เริ่มจาก ปี 2557 ก่อน

5 ชนิดผลักดันสมุนไพร (Thailand Champion Herbal Products : TCHP, 2557) [12] โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ 1. กวาวเครือขาว 2. กระชายดำ 3. ลูกประคบ 4. ไพล และ 5. บัวบก

20 ชนิดสมุนไพรยอดฮิต[13] ที่คนไทยทุกคนรู้จักชื่อดี มีประโยชน์มากมาย ได้แก่ 1. ว่านหางจระเข้ (วุ้นในใบสด) 2. ขมิ้นชัน 3. ทองพันชั่ง 4. กะเพรา 5. กระชายดำ 6. ว่านชักมดลูก 7. กระเจี๊ยบแดง 8. มะขามป้อม 9. ฟ้าทะลายโจร 10. ย่านาง 11. มะรุม 12. ชุมเห็ดเทศ 13. บอระเพ็ด 14. เสลดพังพอน 15. มะแว้ง(มะเขือพวงขม) 16. รางจืด 17. กระวาน 18. กานพลู 19. หญ้าหนวดแมว และ 20. บัวบก

10 พืชผักสมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค[14] ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ มีสารอาหารที่ดีมากมายสำหรับร่างกาย ได้แก่ 1. พลูคาว(ผักคาวตอง) 2. มะกรูด 3. ขิง 4. ไพล 5. ใบบัวบก 6. ผักแพว 7. ฝักเพกา(ลิ้นฟ้า) 8. ผักเชียงดา 9. ผักคะน้า และ 10. มะรุม 

10 สมุนไพร ต้านโควิดที่ต้องมีติดบ้าน[15] ได้แก่ 1. ขิง 2. มะขามป้อม 3. สมอพิเภก 4. สมอไทย 5. พลูคาว หรือผักคาวตอง 6. ตะไคร้ 7. กระชายขาว 8. ฟ้าทะลายโจร 9. หูเสือ และ 10. กะเพรา

6 สมุนไพรไทย สมุนไพรพื้นที่บ้านช่วยต้านโควิด 19[16] ได้แก่ 1. ฟ้าทะลายโจร 2. กระชายขาว 3. ขิง 4. มะขามป้อม 5. กระเทียม และ 6. ขมิ้นชัน

5 ชนิดฮอต[17] ได้แก่ 1. ฟ้าทะลายโจร 2. ขิง 3. มะขามป้อม 4. ขมิ้นชัน 5. กระเทียม

          8 ชนิดขึ้นแท่นโปรดักต์แชมเปี้ยนสมุนไพรต้านโควิด รพ.อภัยภูเบศร[18] ได้แก่ 1. ฟ้าทะลายโจร 2. กระชาย 3. ขมิ้นชัน 4. ขิง 5. มะขามป้อม 6. กระเทียม 7. สันพร้าหอม และ 8. สายน้ำผึ้ง

 

ฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรไทยอื่น

 

ก่อนหน้านี้ช่วงการแพร่ระบาดโควิดมีข้อสงสัยว่า “สมุนไพรไทยกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เกี่ยวกันหรือไม่” จะใช้สมุนไพรรักษา หรือป้องกัน ได้หรือไม่ เพราะโรคโควิดยังไม่มียารักษา และในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบใช้ยาฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ[19]เพราะฟ้าทะลายโจรมีสารแอนโดร-กราโฟไลด์ (Andrographolide) มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunostimulant) ในขณะเดียวกันก็มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน (Iimmunomodulator) โดยมีผลปรับการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันหลายชนิดในร่างกาย และมีฤทธิ์ต้านไวรัส “ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวเชื้อโควิด” เข้าไปสู่เซลล์ร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่ช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อโควิดได้

ข่าวดีนิมิตหมายว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามความร่วมมือ อัปเกรดคุณภาพสมุนไพรไทยสู่สากล[20] ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากมีการส่งเสริมให้เรือนจำเป็นคลังสำรอง “สมุนไพร” หวังทำฮับสมุนไพร ตั้งศูนย์วิจัยครบวงจร[21](เป้าหมายประเทศไทยคือประเทศสมุนไพร) ข่าวฟ้าทะลายโจรมีไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ[22] ข่าวจีนเดินหน้าทำการเพาะปลูกขยายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรนับพันไร่[23]ข่าวเภสัชฯ จุฬาฯ ผลิต “วัคซีนใบยา” (ยาสูบ) [24] ข่าวผลวิจัยวิธีใช้ใบพืชสดและผงบดฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดด้วยตนเอง[25] ข่าวคู่แข่งฟ้าทะลายโจรคือกะเพราที่ไม่มีอันตรายใดกินได้อย่างต่อเนื่อง[26] ข่าวสมุนไพรใบดีหมี หรือ ป่าช้าเหงา หรือ หนานเฉาเหว่ย (สมุนไพรช่วยคุมน้ำตาลในเลือด) กินทีละใบ ใบเดียวกับน้ำผึ้งใช้รักษาโควิด[27] ข่าวประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรฟ้าทะลายโจร (เมื่อ 4 มิถุนายน 2564) [28] ข่าวอินเดียเอาโควิดสายพันธุ์เดลต้าอยู่[29] ได้กลายจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่นในอินเดียไปแล้วเพราะอาจสืบเนื่องมาจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้ว คนอินเดียเกิดภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติไว เพราะคนอินเดียมีความต้านทานดี เช่นจากอาหารการกินสมุนไพร ฯลฯ เป็นต้น

ข่าวไม่ดีเริ่มจากข่าวเก่าปี 2557[30]ข่าวการเปิดเออีซี อนาคต "สมุนไพรไทย" น่าห่วงเพราะ "วัตถุดิบ" สู้อาเซียนไม่ได้ อีกทั้งเจอกฎหมายบีบซ้ำ ข่าวไทยขาดวัตถุดิบสมุนไพร[31] ต้องนำเข้าจากจีน ข่าวเกาหลี-ญี่ปุ่น ลงทุนปลูกในไทยแล้วขนกลับไปแปรรูปขายทั่วโลก

ข่าวปัจจุบัน เกรงว่าฟ้าทะลายโจรจะเป็นปมใหม่ค้าน “CPTPP” หวั่นครอบครองสิทธิในสายพันธุ์[32]  ข่าวเกษตรกรถูก โจรตระเวนขโมยสมุนไพร “ข่าเหลือง” [33] ข่าวกระชายรักษาโควิด ขิงป้องกันโควิด ขาดตลาด ราคาแพง[34]ข่าว “ผู้คนแห่ซื้อกักตุน” จนฟ้าทะลายโจรสกัดแบบแคปซูล กระชายสกัดยาแคปซูล วิตามินบำรุงร่างกาย ยาเขียวสรรพคุณขับสารพิษหาซื้อไม่ได้[35] ข่าวพาณิชย์แจ้งจับร้านค้าที่โก่งขายฟ้าทะลายโจร[36]ข่าว อย.ตรวจพบผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรปลอม” แอบอ้างใช้เลข อย.ผลิตภัณฑ์อื่น[37]ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข่าวปลอม[38] (Fake News) หรือข่าวที่ไม่เป็นความจริงมีมากมายในโลกโซเชียลออนไลน์ ทำให้การเผยแพร่ข่าวสารโควิดที่ยังไม่มีการยืนยันรับรอง จะถูกแบน ถูกปิดกั้น ทำให้ข่าวจริงบางอย่างอาจไม่ได้รับการเผยแพร่ เพราะที่จริงข่าวก็คือข่าว 

 

แม้ว่าไทยจะมีวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ มีสารสกัดแปรรูปยาสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง แต่ก็ติดปัญหา การขาด Know-How (เทคโนโลยีสูง) มีปัญหาการตลาด ในขณะที่ยาเคมีกำลังประสบปัญหา ก็มีข้อจำกัดในประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น ปัจจุบันมีคนป่วยด้วยไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs[39] ฉะนั้น ด้วย “สถานการณ์วิกฤตโควิด” ช่วงนี้ จึงเป็นโอกาสของ “สมุนไพรไทย” เพื่อเปิดวิกฤตให้เป็นโอกาส ความหวังเป็นหนึ่งในอาเซียน เป็นฮับอาเซียนด้านสมุนไพร[40]เป็นความหวังสุดๆ ที่ไม่ไกลเกิน คนไทยจะได้ลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจได้บ้าง

 

 

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 10 กันยายน 2564, https://siamrath.co.th/n/278988   

[2]การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เป็นศาสตร์เพื่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรคที่นอกเหนือจากศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นการปฏิบัติใดๆ ที่ถูกหยิบยกว่ามีผลในการรักษาโรคอะไรก็ตามที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ”หลักฐาน”ที่มีการเก็บรวบรวมโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มันประกอบไปด้วยความหลากหลายของการดูแลสุขภาพ, วิกิพีเดีย

คำว่า “ทางเลือก” เทียบกับ “ทางหลัก”จะเข้าใจว่า เป็นอีกทางหนึ่ง ที่นำมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจที่จะใช้ทางไหน ทางหลัก คือทางที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ส่วนทางเลือก เป็นทางใหม่ หรือทางอื่น ที่เป็นตัวที่จะเลือกใช้ หากคนยอมรับและใช้กันมากก็จะกลายเป็นทางหลักไปอีกเช่นกัน ความหมายของการแพทย์ทางเลือกนั้นขึ้นกับเวลา และสถานที่ ในระยะเวลาแตกต่างกันความหมายก็แตกต่างกัน เช่น ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้น มีหมอฝรั่งนำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาใช้ในสยามประเทศ เราเรียกการแพทย์แผนตะวันตกในตอนนั้นว่า การแพทย์ทางเลือก ในสถานที่ต่างกันจะมีความหมายแตกต่างกัน เช่น ในประเทศอินเดีย จะใช้การแพทย์แผนอินเดีย เป็นการแพทย์หลักของประเทศอินเดีย เช่น การแพทย์อายุรเวชถือเป็นการแพทย์แผนปัจจุบันของอินเดีย ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะประชาชนทั้งประเทศยอมรับที่จะใช้เป็นหลัก ประเทศจีน มีการใช้การแพทย์แผนโบราณของจีนเป็นหลัก ถือเป็นการแพทย์กระแสหลักของจีนเช่นเดียวกัน

การแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) คือ การแพทย์ที่ไม่ใช่การแพทย์กระแสหลัก (conventional medicine) ไม่ใช่การแพทย์พื้นบ้านไทย หรือการแพทย์แผนไทย (Indigenous or Thai Traditional medicine)

* ถ้าใช้การแพทย์ทางเลือก “เสริม” การแพทย์กระแสหลัก เราจะเรียกว่า การแพทย์เสริม (Complementary Medicine)

* ถ้าใช้การแพทย์ทางเลือก “ร่วมกับ” การแพทย์กระแสหลักจะเรียกว่า การแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative medicine) 3% ถ้าใช้การแพทย์หลากหลายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสหลักแผนไทย และทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยทั้งตัวไม่ใช่รักษาเฉพาะโรคหรืออวัยวะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลหมดทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะเรียกว่า การแพทย์แบบองค์รวม (Holistic Medicine) -

การแพทย์ทางเลือก ทั่วโลกมีมากกว่า 300 ชนิด ซึ่ง NCCAM (National Center of Complementary and Alternative Medicine, USA 2005) ได้จำแนกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

(1) Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการใช้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่างๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น

(2) Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี้กง เป็นต้น

(3) Biologically Based Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้สารชีวภาพสารเคมีต่างๆ เช่น สมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy, Ozone Therapy หรือแม้กระทั้งอาหารและโภชนาการ เป็นต้น

(4) Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้หัตถการต่างๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy, Chiropractic เป็นต้น

(5) Energy Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

ดู การแพทย์ทางเลือก คืออะไร โดย นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผอ.สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ในวารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก ฉบับปฐมฤกษ์ กันยายน-ธันวาคม 2551, https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2019/07/การแพทย์ทางเลือกคืออะไร.pdf 

[3]การพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก ไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมแข่งขันหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ, สารรังสิตออนไลน์, 1 กรกฎาคม 2562, https://www2.rsu.ac.th/sarnrangsit-online-detail/herb01 

[4]ดู พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 4 “สมุนไพร” หมายความว่า ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์จุลชีพ หรือแร่ที่ใช้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร

[5]ดู พืชสมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานับพันปี แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรา, ในเฟซบุ๊ก เรื่องดีๆๆ, 26 ธันวาคม 2555, http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_200.htm & พืชสมุนไพร, ในศูนย์สารสนเทศการวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), 16 มีนาคม 2558, http://irdc.nrct.go.th/Pr/detail/104 

[6]ความเป็นมา หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP, โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา, 9 มีนาคม 2560, https://phangnga.cdd.go.th/services/ความเป็นมา-หนึ่งตำบล-หนึ  

[7]พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 56 กวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2562 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2562 เป็นต้นไป

ดู พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562, โดย กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/Law01-Herbal-Act-01.pdf 

[8]ดู มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ 

“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร”หมายความว่า

(1) ยาจากสมุนไพร และให้หมายความรวมถึงยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร ยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือยาตามองค์ความรู้การแพทย์ทางเลือกตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดเพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือการป้องกันโรค

(2) ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญที่เป็นหรือแปรสภาพจากสมุนไพร ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

(3) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร

(4) วัตถุอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรความตาม (1) (2) หรือ (3) ไม่หมายความรวมถึง

(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตร การอุตสาหกรรม หรือการอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด

(ข) วัตถุที่จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ อาหารสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ เครื่องกีฬา เครื่องมือเครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางเครื่องมือแพทย์ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษ วัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด

“ยาแผนไทย”หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรง หรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพร ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ตามศาสตร์องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นยาแผนไทย

[9]มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[10]มาตรา 69 รัฐพึงจัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ให้เกิดความรู้ การพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคม และเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ

[11]การสุมยา คือการสูดดมไอระเหยของสมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะผ่านไอน้ำ ที่มีความร้อนในภาชนะ โดยก้มหน้าอังไอน้ำในภาชนะใช้ผ้าคลุมศีรษะและภาชนะให้มิดชิด การสุมยา สามารถช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูกน้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก อาการไอจาม ลดอาการหอบหืด และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดลม ลดอาการตื้อศีรษะ มึนงงได้อีกด้วย สมุนไพรที่นำมาใช้ในการสุมยาจะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ อาทิ เช่น หอมแดง ตะไคร้ ขิง ใบโหระพา หรือผิวมะกรูด ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในครัวเรือน, อ้างจากเฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร, 11 กันยายน 2561, https://www.facebook.com/abhaiherb/posts/1942471155817948/

[12]เปิดเออีซี-อนาคต “สมุนไพรไทย” น่าห่วง “วัตถุดิบ” สู้อาเซียนไม่ได้-เจอกม.บีบซ้ำ, โดยชุลิพร บุตรโคตร, ศูนย์ข่าว TCIJ Podcast, ทำความจริงให้ปรากฏ, 16 พฤษภาคม 2557, https://www.tcijthai.com/news/2014/16/scoop/4227

[13]สมุนไพรไทยยอดฮิต 20 ชนิดที่ทุกคนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันดีว่าแต่รู้จักสรรพคุณครบถ้วนแล้วหรือยัง, http://www.midscaleoff3.com/km/information/012/01/K0036.pdf 

[14]10 พืชผักสมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค, ใน Frasers Property (Thailand), 10 เมษายน 2563, https://www.goldenland.co.th/Blog-Detail/EN_10--พืชผักสมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค--

& โควิดคร่าชีวิต”น้าค่อม”ทำความรู้จัก 10 พืชผัก 'สมุนไพร' ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส, กรุงเทพธุรกิจ, 30 เมษายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/935239

1. ฟ้าทะลายโจร 2. ขมิ้นชัน 3. มะกรูด 4. ขิง 5. ตำรับตรีผลา คือ สมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม 6. กลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 7. กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง  8. มีสาร quercetin สูง เช่น หอมแดง มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล 9. มีสาร hesperidin & rutin สูง เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า กะเพรา 10. สารพัดเห็ด

[15]10 สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันได้ประโยชน์ ห้างไกลโรค,  BigC blog, 29 กรกฎาคม 2564, https://www.bigc.co.th/blog/th/สมุนไพร-ต้าน-โควิด-19/   

[16]แนะ 6 สมุนไพรไทย สมุนไพรพื้นที่บ้านช่วยต้านโควิด 19 ได้ โดย PPTV Online, 12 กรกฎาคม 2564, https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/151474 

[17]แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย : สมุนไพรไทย-สินค้าโลก พ.ศ.2556-2560 มุ่งการพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Thailand Champion Herbal Products : TCHP พร้อมกับผลักดันสมุนไพร 5 ชนิด ใน เปิดเออีซี-อนาคต “สมุนไพรไทย” น่าห่วง “วัตถุดิบ” สู้อาเซียนไม่ได้-เจอกม.บีบซ้ำ, 16 พฤษภาคม 2557, อ้างแล้ว

[18]สมุนไพรต้านโควิด! อภัยภูเบศร ฟันธง 8 ชนิดขึ้นแท่นโปรดักต์แชมเปี้ยน, ในเส้นทางเศรษฐีออนไลน์, 25 มิถุนายน 2564, https://www.sentangsedtee.com/health-beauty/article_153881

[19]ครม.เห็นชอบ ใช้ “ฟ้าทะลายโจร” บรรเทาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ, ไทยรัฐออนไลน์, 27 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2150674 

[20]วศ.ลงนามความร่วมมือ อัปเกรดคุณภาพสมุนไพรไทยสู่สากล, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 25 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/2176345

[21]เปิด “คุก” เป็นคลังสำรอง “สมุนไพร” EP.3 ตอน หวังทำฮับสมุนไพร-ตั้งศูนย์วิจัยครบวงจร, ไทยรัฐออนไลน์, 22 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/2170311

[22]“สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” เผยผลวิจัยฟ้าทะลายโจรไม่มีผลต่อตับ โดย ผู้จัดการออนไลน์, 7 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000077465  

[23]ประเทศจีน ปลูกฟ้าทะลายโจร ที่มณฑลกว่างซี, เฟซบุ๊ก หนังสือพิมพ์ข่าวเด็ด ตาคลี, 12 สิงหาคม 2564, https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2890578521159568&id=1695306970686735&m_entstream_source=timeline 

[24]“วัคซีนใบยา” จากจุฬาฯ พิสูจน์ฝีมือคนไทย กันยายนนี้, 20 กรกฎาคม 2564, https://www.chula.ac.th/highlight/48907/ 

[25]ผลวิจัยวิธีใช้ใบพืชสดและผงบดฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด19ด้วยตนเอง, โดยหมอสันต์, 28 สิงหาคม 2564, https://m.youtube.com/watch?v=qj8QBZKzoOQ&feature=youtu.be 

[26]คู่แข่งฟ้าทะลายโจรคือกะเพราที่ไม่มีอันตรายใดกินได้อย่างต่อเนื่อง, รายการเจาะเลนส์ข่าว, 30 กรกฎาคม 2564,  https://ms-my.facebook.com/เจาะเลนส์ข่าว-1775370062707535/videos/คู่แข่งฟ้าทะลายโจรคือกะเพราที่ไม่มีอันตรายใดกินได้อย่างต่อเนื่อง/984140702156233/

[27]ข่าวนี้เริ่มเผยแพร่มาจากคนกัมพูชา อ้างว่าใช้ใบดีหมีรักษาโควิดด้วยตนเองมา และต่อมามีการเผยแพร่โดยพระภิกษุ ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันถึงประสิทธิภาพ เพราะสรรพคุณคือการรักษาเบาหวาน แม้จะเป็นพืชกลุ่มเดียวกับฟ้าทะลายโจร พญายอ ก็ตาม มีลักษณะเป็น Fake News ดู ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใบหนานเฉาเหว่ย สามารถรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หายได้, ANTI-FAKE NEWS CENTER THAILAND, 3 สิงหาคม 2564, https://www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ใบหนานเฉาเหว่ย-สามารถรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19-หายได้/

[28]ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564

ดู ฟ้าทะลายโจร : เรามีงานวิจัยสนับสนุนที่เพียงพอหรือยังด้านการรักษา-ป้องกันโควิด โดยสมิตานัน หยงสตาร์, ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย, 12 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-57451194 & คู่มือการใช้ยาสมุนไพรในยาบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 โดย สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2555 

[29]ถอดบทเรียน อินเดียคุมโควิดได้ ด้วยวิธีอะไร โดยสำนักข่าว Springnews, 11 สิงหาคม 2564, https://www.youtube.com/watch?v=o5rcpww2oGE

[30]เปิดเออีซี-อนาคต “สมุนไพรไทย” น่าห่วง “วัตถุดิบ” สู้อาเซียนไม่ได้-เจอกม.บีบซ้ำ, 16 พฤษภาคม 2557, อ้างแล้ว

[31]ไทยประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพร, โดย hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ, 13 มิถุนายน 2558,  https://www.hfocus.org/content/2015/06/10169

[32]กรอบการเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) องค์กรผู้บริโภคทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านการเข้าร่วม เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าจะไม่ผลักดัน หรือนำเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ หากยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การจัดซื้อโดยรัฐ ยาและสิทธิบัตร เป็นต้น

ดู ฟ้าทะลายโจรปมใหม่ค้าน “ซีพีทีพีพี” หวั่นครอบครองสิทธิในสายพันธุ์, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 25 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/business/economics/2176291

[33]เกษตรกรสุดเซ็ง โจรตระเวนขโมยสมุนไพร “ข่าเหลือง” ต้องลงทุนกางเต็นท์นอนเฝ้า, ไทยรัฐออนไลน์, 9 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2161611

[34]“กระชาย-ขิง”ราคาพุ่ง-ขาดตลาด-เชื่อรักษาโควิด-19 ได้, เนชั่น, 11 กรกฎาคม 2564, https://www.nationtv.tv/news/378828850 

[35]สมุนไพรไทยสู้โควิด ทางรอดรักษาอยู่บ้าน, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 30 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/society/2152508

[36]พณ.แจ้งจับ 11 รายโก่งขายฟ้าทะลายโจร-ชุดตรวจโควิด “ลาซาด้า-ช้อปปี้”โดนด้วย คุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท, สยามรัฐออนไลน์, 13 สิงหาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/271083 

[37]เตือนระวัง “ยาฟ้าทะลายโจรปลอม” ขู่ฟันหลอกขาย-ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม, ไทยรัฐออนไลน์, 7 สิงหาคม 2564,  https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2160117

[38]คำว่า Fake News อาจจะดูแคบเกินไป เพราะอันที่จริงแล้ว Fake News ไม่ได้หมายถึงข่าวที่ไม่จริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริงด้วย Claire Wardle จาก First Draft ซึ่งเป็นองค์กรทำงานต่อต้านข่าวลวงและข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความไว้วางใจและความจริงในยุคดิจิทัล ทำงานร่วมกับหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนา ในระดับสากล รวมถึงเฟซบุ๊กด้วย บอกว่า การที่จะเข้าใจระบบนิเวศของการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารผิดๆ ออกไปนั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของข่าวสารข้อมูลเท็จ แรงจูงใจของคนทำ และเนื้อหาเหล่านั้นแพร่กระจายไปได้อย่างไร

ดู Fake News ลวงให้เชื่อ หลอกให้แชร์, โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ.(Electronic Transactions Development Agency: ETDA), 30 ตุลาคม 2562, https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/knowledge-sharing/articles/IFBL/FakeNews.aspx

[39]จาก ภก.รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต, ในสารรังสิตออนไลน์, 1 กรกฎาคม 2562, อ้างแล้ว 

[40]ในสารรังสิตออนไลน์, 1 กรกฎาคม 2562, อ้างแล้ว & นักออกแบบนโยบาย เสนอจัดตั้ง “เฮิร์บฮับ” หลังทั่วโลกยอมรับสมุนไพรไทยคุณภาพสูง เชื่อเพิ่มมูลค่า 5 แสนล้านใน 5 ปี, สยามรัฐออนไลน์, 5 สิงหาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/268496 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท